ต่างประเทศอินโดจีน : เวียดนามกับจีน

การชุมนุมและเดินขบวนประท้วงของคนเป็นเรือนพันเกิดขึ้นในหลายหัวเมืองใหญ่ๆ ไล่เลี่ยกัน และเกิดขึ้นเป็นรายสัปดาห์ อาจไม่ใช่เรื่องแปลกในที่อื่น แต่ที่เวียดนามไม่เพียงแปลก ยังผิดกฎหมายอีกต่างหาก

การชุมนุมเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน และเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ในหลายหัวเมืองใหญ่ของเวียดนาม รวมทั้งฮานอยและโฮจิมินห์ซิตี้ เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ มีการจัดการ เตรียมการ วางแผนประสานงานมาเป็นอย่างดีอีกด้วย

ทั้งหมดนั่นแสดงให้เห็นว่า การสร้างประชามติและการขับเคลื่อนกระแสคัดค้านต่อต้านในเวียดนามทำได้ง่ายดายเพียงใด หากมีองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้อง

นั่นคือ ประเด็นนั้นต้องเกี่ยวข้องกับ “จีน”

 

การชุมนุมและเดินขบวนประท้วงดังกล่าวนั้นเป็นไปเพื่อคัดค้านการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่ขึ้นมา รัฐบัญญัติที่ว่านี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติของเวียดนาม

ร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ว่านี้ไม่ได้ระบุถึงจีนเอาไว้ แต่เชื่อกันว่าเขตดังกล่าวจะเป็นตัวเปิดทางให้นักลงทุนจากจีนเข้ามายึดครองดินแดนของเวียดนาม ในแบบของสัญญาเช่าระยะยาว 99 ปี

ทั้งๆ ที่เรื่องดังกล่าวต้องขึ้นอยู่กับความตกลงในอนาคต แต่นักวิเคราะห์บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า คนเวียดนามตัดสินเอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่ากฎหมายนี้ตราขึ้นมาเพื่อเอื้อต่อจีน

“ต้องไม่ให้คอมมิวนิสต์จีนเช่าที่ดินแม้แต่วันเดียว” ข้อความบนแผ่นผ้าประท้วงสะท้อนชัดเจนถึงความเชื่อของผู้ชุมนุม

เมอร์เรย์ ฮิบเบิร์ต ผู้เชี่ยวชาญเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการต่างประเทศศึกษาในวอชิงตัน บอกว่ารัฐบาลเวียดนามประเมินความรู้สึกต่อต้านจีนของคนทั้งประเทศต่ำเกินไป

ยิ่งนาน คนเวียดนามยิ่งรู้สึกมากขึ้นว่า ทางการไม่ได้ทำอะไรๆ มากพอเพื่อปกป้องอธิปไตยของประเทศ

 

การเร่งก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างทางทหารในพื้นที่ขัดแย้งทะเลจีนใต้ของจีนไม่ได้ช่วยให้ความรู้สึกถูกคุกคามข่มเหงจาก “พี่เบิ้ม” ที่เป็นเพื่อนบ้านทางเหนือลดน้อยลงแต่อย่างใด

สื่อใหม่ๆ อย่างเฟซบุ๊ก ซึ่งกว่าครึ่งของชาวเวียดนาม 90 ล้านคนใช้งานเป็นประจำ ทำให้ความรู้สึกที่ว่านี้ “แรงขึ้น” และ “ยากต่อการควบคุม” มากขึ้นกว่าเดิม

การประท้วงแพร่ออกไปในหลายหัวเมือง ถึงขนาดทำให้สภาเวียดนามต้องตัดสินใจชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวออกไปเป็นเดือนตุลาคม

ลักษณะของการประสานงานเห็นได้ชัดจากการประท้วงเมื่อ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งโผล่ไปเกิดขึ้นที่จังหวัดฮา ตินห์ จนได้ ทั้งๆ ที่รัฐบาลเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดเพื่อป้องกันการเกิดเหตุแล้ว

การประท้วงเมื่อ 10 มิถุนายน ส่วนใหญ่แล้วเป็นไปอย่างสงบ

ยกเว้นที่จังหวัดบินห์ ทวน ที่ลามปามกลายเป็นเหตุรุนแรง ถึงขั้นเผารถ ขว้างปาก้อนหินใส่และปะทะกับเจ้าหน้าที่

 

จังหวัดนี้สั่งสมความรู้สึกกราดเกรี้ยวต่อจีนเอาไว้ยาวนาน ชาวประมงจากที่นี่ถูกโจมตีอยู่บ่อยครั้งและเชื่อว่าเป็นฝีมือของกองกำลังจีน ที่ดินที่นี่ปนเปื้อนสารพิษ ก็ว่ากันว่าเป็นฝีมือของโรงไฟฟ้าและเหมืองแร่จีน

ตรัน ฟู่ ไห่ นักกฎหมายเวียดนามเชื่อว่า กรณีนี้ไม่ได้สะท้อนถึงอารมณ์ความรู้สึกต่อต้านจีนเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังแสดงถึงความไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะรัฐบาลในท้องถิ่นอีกด้วย

เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมักถูกมองว่าฉ้อฉลและพร้อมเสมอที่จะตกเป็นทาสรับใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าของชาวจีน แลกกับผลประโยชน์ส่วนตน

โดยไม่กังวลห่วงใยใดๆ กับปัญหาของประชาชนแต่อย่างใด