ฉัตรสุมาลย์ เล่าเรื่อง จาก ASEAN ไปสู่ ASIAN การประชุมนานาชาติชาวพุทธอาเซียน

ท่านอาจารย์พรหม

งาน ABC คือ ASEAN Buddhist Conference หรือ งานประชุมนานาชาติชาวพุทธอาเซียน ครั้งที่ 1 ผ่านไปแล้วด้วยดี

เราเคยรายงานที่คอลัมน์นี้มาแล้วนะคะ

คราวนี้จะเล่าในรายละเอียด เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดแล้ว คราวก่อนเล่าแบบคาดว่า เพราะเล่าเรื่องในอนาคต คราวนี้เล่าเรื่องในอดีต

อดีตก็ 4 วันที่ผ่านมานี้แหละค่ะ

 

จัดงานที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม หอประชุมปิ่นเกลียว หรูมากขอบอก จุคนได้เป็นพันค่ะ หน่วยงานของราชภัฏที่ทำงานกับเราโดยตรงคือหน่วยวิจัยพุทธพัฒน์ แต่พอทำงานจริง อาจารย์จากภาควิชาภาษาอังกฤษก็ส่งนักศึกษามาช่วย ต้องรับแขกต่างชาติชนิดอดหลับอดนอน ก็ต้องไปรับถึงดอนเมืองและสุวรรณภูมิโน่นแหละค่ะ

อาจารย์ที่สอนการโรงแรมและท่องเที่ยวก็ส่ง น.ศ. มาช่วยเสิร์ฟของว่างแก่แขกในงาน 56 คน เรียกว่าเป็นงานที่จัดดูดีมากเลย ยิ่งกว่าโรงแรมหรูๆ หลายแห่งค่ะ

ดร.กาญจนา สุทธิกุล ในฐานะตัวแทนของมูลนิธิพุทธสาวิกา กล่าวรายงาน ก่อนที่ท่านรองอธิการบดีจะกล่าวเปิดงาน ลั่นฆ้องอย่างเป็นทางการ

จากนั้น ท่านธัมมนันทาอัญเชิญพระดำรัสขององค์ทะไลลามะ ที่ทรงมีมาถึงที่ประชุม อ่านให้ที่ประชุมฟัง

 

ท่านอาจารย์พรหมวังโส หรือท่านเจ้าคุณวิสุทธิสังวรมหาเถระ กรุณามาเป็นองค์ปาฐกให้ท่านได้รับเชิญจากรัฐบาลอินเดียในเวลาเดียวกัน แต่ท่านเลือกที่จะมางานชาวพุทธอาเซียน น่ารักสุดๆ ขอกราบ 3 ครั้ง

ท่านเจ้าคณะจังหวัด พระเทพมหาเจติยาจารย์ ในเมื่อมีชาวพุทธมาถึง 22 ประเทศ ท่านก็เท่ากับเป็นเจ้าของบ้าน ท่านก็ต้องรับมาร่วมงานด้วย ท่านเป็นผู้มอบของที่ระลึกให้กับองค์ปาฐก

ตอนที่ท่านอยู่บนเวทีก็มีเรื่องขำๆ พอท่านอาจารย์พรหมท่านรับมอบแล้ว ท่านก็หาของที่จะถวายท่านเจ้าคุณ ปรากฏว่า เป็นตุ๊กตาจิงโจ้ตัวน้อยที่ท่านอุตส่าห์ใส่ย่ามมาจากออสเตรเลีย หลวงพ่อท่านเจ้าคุณท่านก็ยิ้ม คงขำเพราะไม่เคยมีใครถวายตุ๊กตาแก่ท่านแน่ๆ เลย

ท่านอาจารย์พรหมท่านบรรยายเรื่อง เราอยู่บนหน้าที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์ ท่านเรียนมาทางวิทยาศาสตร์ ท่านจึงมีตัวอย่างทางวิทยาศาสตร์มาเล่าว่า เวลาค้นพบอะไรใหม่ๆ ตอนแรกๆ ก็ไม่ได้รับการยอมรับ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็ปรากฏว่า สิ่งนั้นกลายเป็นความถูกต้อง

ท่านให้กำลังใจโดยเฉพาะภิกษุณีที่มาในงานครั้งนี้ เฉพาะภิกษุณีสามเณรีไทยและต่างชาติมาร่วมงานกว่า 50 รูป เป็นการให้กำลังใจตอกย้ำว่า เดินมาถูกทางแล้ว ขอให้เพียงมั่นคงในพระธรรมวินัย

หลายคนมาร่วมงานในพิธีเปิดเพียงเพื่อมาฟังปาฐกถาของท่านอาจารย์พรหมค่ะ ขอกั๊กไว้ก่อน เราจะได้ถอดเทปออกมาอีกครั้งเป็นภาคไทย

มีคนเสนอว่า ทำไมไม่มีแปล การแปลจะเสียอรรถรสมากค่ะ เอาเป็นว่า ฟังท่านบรรยายแล้วเรามาถอดความเอาทีหลัง

จากนั้น ภิกษุณีที่มีอาวุโสสูงสุดของอาเซียน 3 รูป บรรยายในบริบทของแต่ละประเทศ ท่านสันตินีเถรี จากอินโดนีเซีย ท่าน ดร.หลิวฟับ จากเวียดนาม และท่านธัมมนันทาเถรี จากประเทศไทย

สำหรับท่านธัมมนันทาไม่ได้พูดเกี่ยวกับภิกษุณีไทย แต่อธิบายถึงความสำคัญของการอุปสมบทภิกษุณีสายเถรวาท พ.ศ.2541 ลงไปในรายละเอียดเพื่อให้เห็นว่า สายการอุปสมบทของภิกษุณีเถรวาทนั้นถูกต้องตามพระธรรมวินัยอย่างไร

จุดนี้สำคัญมาก เพราะภิกษุณีทั้งสามรูปที่นั่งบนเวที เป็นผลพวงของการอุปสมบทครั้งนั้น

 

เนื่องจากการประชุมเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด เฉพาะบทความของคนไทย 5 บทความมีแปลไทยและแจกหน้างานด้วยเพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจระดับหนึ่งสำหรับคนไทยที่ฟังภาษาอังกฤษไม่ออก

บทความนี้ ยังขอได้ฟรีที่ 0-3425-8270 ค่ะ

มีการถ่ายรูปหมู่กันบนเวทีเพราะท่านอาจารย์พรหมอยู่กับเราเพียงถึงบ่าย 2 โมง จากนั้น ท่านตรงไปสนามบินกลับออสเตรเลีย

ในช่วงเช้านี้ มีพระเณรมาร่วมเป็นร้อย บรรยากาศคึกคักและอบอุ่น โต๊ะจีนที่จัดเตรียมไว้ 320 ที่นั่ง

ในช่วงพักกลางวัน มีบู๊ธที่น่าสนใจของวัตรทรงธรรมฯ คือการแสดงขั้นตอนของการนำวัสดุที่ทิ้งแล้วกลับมาใช้ ได้รับความสนใจมากทีเดียว ท่านอาจารย์พรหมกรุณาเขียนคำปรารถนาบนใบไม้ที่ติดที่ต้นกุศลพฤกษ์ด้วย

บู๊ธนาวิลิต ของ คุณวิลิต เตชะไพบูลย์ มีวัว 3 ตัวมาร่วมงาน แสดงให้ดูถึงการทำนาวิถีพุทธ ข้าวชนิดต่างๆ ผลิตภัณฑ์จากฟาร์ม

ขอขอบคุณและโมทนาอย่างยิ่ง

 

เนื่องจากตอนเย็นมีการแสดงโขนจากวิทยาลัยนาฏศิลป์สุพรรณบุรี ตอนหนุมานถวาย ที่หน้างานมีคัตเอาต์นางสีดา เจาะหน้าเอาไว้ ใครอยากเป็นนางสีดา ก็เอาหน้าโผล่ออกมาตรงนั้น ได้บรรยากาศทีเดียว โขนตอนนี้ หลายคนประทับใจทศกัณฐ์ค่ะ ท่ารำสง่างามมาก ไม่เสียชื่อวิทยาลัยนาฏศิลป์สุพรรณบุรี

หลายคนบอก ขออีก ขออีก

ในตอนบ่าย เนื่องจากมีบทความเข้ามามากถึง 44 บทความ ก็เลยต้องแบ่งเป็น 2 ห้อง ทั้งบ่ายช่วงแรก และบ่ายช่วงที่สอง

หัวข้อที่มีผู้นำเสนอมากกว่าหัวข้ออื่น คือ พุทธศาสนากับสตรี ในบริบทสังคมปัจจุบัน ต้องแตกออกเป็น 3 ห้อง น่าสนใจทั้งสิ้น

มีทั้งในประเทศไทย ศรีลังกา พม่า ทิเบต ญวน บังกลาเทศ ฯลฯ

 

พูดถึงความตั้งใจของคนที่มาร่วม น่าประทับใจมาก หลวงพ่อ ดร.วรสัมโพธิ เป็นชาวบังกลาเทศ ท่านให้การบรรพชาสามเณรี แล้วภิกษุบังกลาเทศที่สืบสายมาจากพม่าไม่พอใจลงพรหมทัณฑ์ท่าน คือประกาศไม่ยุ่งกับท่าน เรื่องพรหมทัณฑ์ ขอเว้นวรรคไว้ น่าจะได้เล่าให้ฟังในรายละเอียดอีกครั้ง

ที่อยากจะเล่าตรงนี้ คือ ท่านวรสัมโพธิรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลในไทย แต่วีซ่าอินเดียขาด ท่านต้องบินกลับไปต่อวีซ่า แล้วเดินทางเข้ามาเช้าวันที่เราประชุม มาถึงตอนสายของวันที่ 22 ท่านต้องเสนอบทความตอนบ่ายค่ะ เรียกว่าเฉียดฉิว

วันที่ 21 คือวันที่ผู้เข้าร่วมประชุมเดินทางเข้ามาไทย เราก็มีเรื่องลุ้น คือองค์ทะไลลามะส่งสามเณรีมาร่วมประชุมด้วย 1 รูป คือสามเณรีเท็นซิน นัมดอล เครื่องลงเวลา 6 โมงเช้า 9 โมงแล้วยังไม่ได้ออกมา ติดอยู่ที่ ตม.

ท่านโทร.กลับไปอินเดีย ที่อินเดียโทร.กลับมาหาเรา ปรากฏว่าท่านเดินทางโดยเอกสารชาวทิเบต ซึ่งเป็นปัญหาทางการเมือง ตม.ไทยถือว่าไม่มีสัญชาติ เข้าเมืองไม่ได้

ก็เลยต้องส่งท่านขึ้นเครื่องบินกลับไปวันนั้น

 

พอถึงตอนนำเสนอผลงานของท่าน ท่านธัมมนันทาก็เลยต้องทำหน้าตาเป็นชาวทิเบตเล่าเรื่องความทุกข์ยากของสามเณรีชาวทิเบตให้ฟัง ที่ไม่สามารถจะข้ามไปได้ แม้ว่าท่านเองไม่ได้มา เพราะในพระราชสาส์นขององค์ทะไลลามะนั้น รับสั่งว่า ท่านเข้าใจว่า ในที่ประชุมของเราจะมีการพูดถึงสถานการณ์ของสามเณรีในทิเบต

หลายท่านคงจำได้ว่า ริชาร์ด เกียร์ ดาราฮอลลีวู้ดที่เป็นชาวพุทธนั้น เป็นชาวพุทธในนิกายวัชรยาน มีความใกล้ชิดกับชาวทิเบตมาก หลายปีก่อน ผู้เขียนไปฟังคำสอนประจำปีขององค์ทะไลลามะ ริชาร์ด เกียร์ ก็จะมาร่วมด้วยเสมอ องค์ทะไลลามะท่านสอนต่อเนื่องกันเป็นอาทิตย์ ชาวพุทธนานาชาติก็จะอยู่กันตลอด

ริชาร์ด เกียร์ ได้ริเริ่มโครงการสนับสนุนให้บันทึกเรื่องราวของชาวธิเบตที่หนีออกมาได้ เรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนได้แปลเป็นไทยคือเรื่องของอานิปาเช็น

เมื่อแปลเสร็จทราบว่าท่านอยู่ที่ธารัมศาลานั่นเอง คือที่เดียวกับที่เราเดินทางไปฟังธรรมบรรยายประจำปีจากองค์ทะไลลามะ พอติดต่อไป ปรากฏว่าท่านเพิ่งมรณภาพในปีนั้นเอง

ความงามของชีวิตของอานิปาเช็นคือ ความมุ่งมั่นว่า จะต้องมีชีวิตอยู่จนกว่าจะได้กราบองค์ทะไลลามะ ความหวังเช่นนั้นเอง ที่ทำให้ท่านรอดชีวิตมาจากการจองจำนับ 20 ปี

 

เราชาวพุทธ เมื่อมาอยู่ด้วยกัน ในพื้นที่เดียวกัน ได้เรียนรู้ธรรมะของพระพุทธเจ้าในภาคปฏิบัติ ในชีวิตจริง เราก็มีกำลังใจที่จะฟันฝ่าอุปสรรคไปได้

แม่ชีตัวเล็กๆ ชื่อ ยสนันที เป็นชาวพม่า แต่ทำงานสอนแม่ชีในอินเดียเหนือ ที่เมืองอรุณาจัล ก็สร้างความประทับใจให้กับที่ประชุมในงานของเธอที่สามารถสร้างความศรัทธาให้แก่เด็กสาวๆ ชาวอินเดียจนออกบวช และเรียนรู้ธรรมะร่วมกันที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมโคตมี

ท่านอภัย ภิกษุที่เป็นอาจารย์สอนแม่ชีที่นั่น ก็มาร่วมด้วย ท่านเป็นชาวอินเดีย แต่ไปบวชมาจากพม่า ให้ความอนุเคราะห์เกื้อกูลกันดีมาก

อีกท่านหนึ่ง เป็นชาวอเมริกัน เราเรียกว่า ลุงบ็อบ เป็นพระนิกายเจซูอิตที่ทำงานในเขมร ตั้งแต่เขมรแตก จนปัจจุบัน เสนอผลงานเรื่องการก้าวเดินอย่างมีสติ ตามงานของสมเด็จมหาโฆษนันทะที่มรณภาพไปแล้ว ลุงบ็อบยังคงเดินอยู่อย่างมีสติ พวกเราให้คะแนนการนำเสนอว่ามาอันดับ 1

 

ในตอนท้าย เราจับกันเป็นวงใหญ่ เพื่อฟังความคิดเห็นจากรอบวง พระภิกษุพี่ชาย กลับมาเป็นผู้ให้ทิศทางอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม

ท่านสรณังกร ชาวศรีลังกา เป็นพระมหาเถระจากมาเลเซีย แนะนำว่า ทำอย่างไรที่เราจะช่วยให้น้องพี่ที่ใส่สีชมพู (แบบพม่า, เนปาล) ใส่สีขาวแบบแม่ชีไทย หันมาเป็นลูกสาวของพระพุทธเจ้าใส่ครองจีวร ให้ถูกต้องตามพระวินัย

หลวงพี่ดุษฎี ให้ทิศทางการอบรมพระวินัยและการปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอนแก่ภิกษุณี และพระอาจารย์ ดร.ทองรัตน์ บอกว่ามีความสุขมากที่เห็นผู้หญิงออกบวชเป็นภิกษุณี

ผู้เขียนเองปลื้มใจที่ได้เห็นสามัคคีธรรมของภิกษุณีไทยทุกรูปที่มาร่วมในงานครั้งนี้ เป็นหมายว่า ภิกษุณีไทยได้พัฒนาคุณภาพ ได้พัฒนาทั้งด้าน ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ

ลืมอธิบายที่ขึ้นหัวข้อไว้ ASEAN มีแค่ 10 ประเทศ จากการประชุมคราวนี้เราตกลงเป็นเอกฉันท์ว่า เราจะขยายเป็น Asian จะครอบคลุมหลายประเทศมากกว่า

หมายความว่าประเทศอื่นๆ นอกเอเชียอยากจะเข้ามาร่วมก็ไม่รังเกียจกัน

แต่เราไม่ทำพุทธศาสนาโลก เพราะมีหน่วยงานประมาณนั้นมากอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น เราก็ยังใช้ ABC ได้เหมือนเดิม

คราวหน้าเราจะไปเวสาลีค่ะ 2018

เกาะติดสถานการณ์!