วิถีไม่เซฟโซน-เรื่องต้องกล้า! และวิธีปิดฉากทะเลาะกับภรรยา ของ ‘ป๋อ ณัฐวุฒิ’

นอกเหนือจากการเป็นพิธีกรรายการ “The Best of All เลขระทึกโลก” ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 อากาศทุกวันเสาร์ เวลา 18.20 น. แล้ว

ป๋อ-ณัฐวุฒิ สกิดใจ ก็ว่าเขามีงานละครอยู่อีกเรื่อง ชื่อ “ด้ายแดง” ผลงานของผู้จัด อ้อม-พิยดา จุฑารัตนกุล ที่เขาแฮปปี้นัก เนื่องจากจะได้ร่วมงานกับทั้งนก-สินจัย เปล่งพานิช, ธัญญาเรศ รามณรงค์, จอย-รินลณี ศรีเพ็ญ, ชาย-ชาตโยดม หิรัญยัษฐิติ ฯลฯ ที่ “แต่ละท่านเป็นนักแสดงในดวงใจของเรา”

เรื่องนี้เขารับบทเป็น “หลงเว่ย” ลูกรักของ “แม่ใหญ่” เมียซึ่งครองอำนาจเหนือบรรดาเมียทั้งปวงของเจ้าสัว เสียก็แต่เพราะซินแสทำนายว่าเขาคือตัวซวยของตระกูล จึงกลายเป็นลูกชังในสายตาพ่อ

ขณะเดียวกันพล็อตเรื่องยังเข้มข้น จากความวุ่นวายของผู้คนมากมายในตระกูลที่มีทั้งการแย่งทรัพย์สมบัติ การชิงรักหักสวาท และอีกต่างๆ นานา

“เป็นบทที่น่าสนใจ แล้วเราต้องเล่นตั้งแต่เด็กจนแก่ ซึ่งเรื่องแก่นี่ไม่ยากเลย แต่เด็กเริ่มยากแล้ว” นักแสดงวัย 44 ปีบอกพลางหัวเราะขำ

ดังนั้น จึงคาดว่าอาจจะต้องมีการคุยกันว่า ตามบทที่ต้องระบุให้เล่นเป็นเด็กมัธยมน่ะ ขยับมาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยจะดีไหม

กับการรับงานที่แต่ไหนแต่ไรเขาก็พยายามคัดสรรนั้น ป๋อว่าหลักๆ ที่เขาดู ไม่ใช่ว่าจะได้เล่นเป็นพระเอกหรือไม่ แต่ “อย่างแรกคือตัวละครตัวนี้มีอะไรให้แสดงไหม มีบทให้เราเล่นสนุกหรือเปล่า ไม่จำเป็นต้องเป็นบทที่ใหญ่มาก หรือเป็นพระเอก ที่เรามาถึงวันนี้ เราไม่ได้ยึดติดกับคำว่าพระเอกด้วยซ้ำ มันอาจจะเป็นบทเล็กในละครเรื่องหนึ่ง แต่ในความรู้สึกของเราคือ จะทำยังไงกับบทที่มีโอกาสได้แสดง และมันต้องเป็นละครที่เราชอบ อ่านแล้วเพลินไปทั้งเรื่อง จริตตรงกับเรา สไตล์ของละครตรงกับตัวเรา รู้สึกว่าเราอยากเล่น”

ซึ่งจะว่าไป ความอยากของแต่ละคนก็แตกต่างกัน

“มันอยู่ที่นักแสดงเลือกที่จะเดินทางแบบไหน บางคนเลือกที่จะไปในทางที่ปลอดภัย เซฟโซน เอาบทแบบนี้ ไม่หาทางเดินใหม่ๆ ของตัวเอง”

แต่เซฟตี้โซนแบบนั้น เขาประเมินว่าน่าจะพาไปถึงทางตันในสักวันหนึ่ง

ดังนั้น “วิธีการของเราคือหาบทที่แตกต่างไปตลอดเวลา เช่น วันหนึ่งเราเล่นเป็นคนคุก เล่นเป็นซูเปอร์ฮีโร่ เล่นเป็นผี เล่นเป็นคุณชาย พยายามหาเส้นให้มันแตกต่างจากคำว่าหล่อ สมาร์ต เท่ พยายามเดินไปทางที่ยากมั่ง”

“แน่นอนว่ามันมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ เหมือนเราทำกับข้าว เราก็ทำทีละหม้อ มันก็ไม่เหมือนกันหรอกนะรสชาติ ทำผัดบ้าง ต้มบ้าง เขาจะได้ดูเราได้นานๆ”

“และอีกคำตอบคือ เราเป็นนักแสดง จงกล้าที่จะแตกต่างจากการแสดงครั้งที่แล้ว ต้องหาทางแสดงให้ต่างให้ได้”

ซึ่งเขาเองนั้นก็ปลุกตัวเองให้กล้าเช่นที่ว่าอยู่ทุกวัน!

ในความเป็นพ่อ

ป๋อบอกเลยว่า เขาเป็นพ่อที่ไม่สมบูรณ์แบบ และเคยมีความทะยานอยากที่คาดหวังในตัวลูกมากไป

“หลายครั้งที่เราเลี้ยงแบบไม่ได้ดีที่สุด แต่มันก็ดีสำหรับเราที่ทำได้ เพราะบางครั้งต้องปะทะกับอารมณ์ของเด็ก ซึ่งเราไม่เคยเจอ ไม่เคยซึมซับว่าทำไมต้องร้องไห้ ทำไมต้องโวยวาย บางครั้งจึงจะพูดว่าลูกต่างหากที่เป็นคนสอนพ่อ สอนแม่ ให้ทำตัวยังไง”

“ฉะนั้น ในความเป็นพ่อของเรา คือความเป็นพ่อที่ไม่สมบูรณ์แบบ แต่ว่าสิ่งที่ภูมิใจคือ พร้อมที่จะเรียนรู้และแก้ไขตัวเองเสมอเพื่อลูก”

และเมื่อรู้และนำไปปรับปรุงแล้ว เขาจึงหยุดที่จะเรียกร้อง หันมาใช้วิธีสนับสนุนเท่าที่จะทำได้

“บ้านเราฟรีสไตล์ เราเชื่อว่าเด็กต้องมีจินตนาการ ต้องเดินไปด้วยความไม่รู้บ้าง ผิดบ้าง ต้องล้ม และเรียนรู้ที่จะยืน”

“เมื่อก่อนก็อยากให้เขาเก่ง เหมือนพ่อทั่วไป อยากให้ลูกเก่งวิชาการมาก หันมาดูอีกที คือลูกเรา (น้องภู ภูดิศ) 5 ขวบ ตอนอายุเท่านั้นเรายังทำอะไรไม่ได้เลย แล้วจะไปยัดเยียดอะไรให้ลูก ก็เลยปล่อย”

แต่ถ้าจะพูดกันจริงๆ เรื่องความอยาก ตอนนี้ที่เขาคาดหวังกับลูกก็เหลือเพียงเรื่องเดียวคือ “อยากให้เขาเป็นคนดี”

“คนเก่งจะชอบคิดแค่ชนะ แค่แข่งขัน แต่เราจะสอนลูกว่า ให้เป็นคนดีก่อน ถ้าเป็นคนดี ความเก่งจะมาเอง จะไม่พยายามบอกลูกว่าเก่งมาก ไม่พูดเลย จะสอนว่าดีลูก ทำแบบนี้ดี”

“ตัวเราเองก็ไม่ได้เก่งมาก แต่ว่าเราพยายามดีมาตลอด และคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันค้ำจุนชีวิตเรา ทุกวันนี้เรายังอยู่ได้เพราะเราเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้น ลูกเราจะอยู่ในสังคมนี้ได้ ต้องเป็นคนดีก่อน”

“แล้วเดี๋ยวเก่งเอง”

ในความเป็นสามี

“ผมว่าการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเป็นเรื่องสำคัญมาก แล้วครอบครัวคือสารตั้งต้นความสุขของมนุษย์ทุกคน”

“บางทีคนเราชอบมองข้ามอะไรที่มันใกล้ตัว บางทีชอบฟังคนอื่น ไม่ชอบฟังพ่อแม่ ชอบฟังเพื่อนมากกว่าเมีย ตอนนี้เราหันมามองใกล้ตัว เพราะว่าโตขึ้นด้วยแหละ ก็เห็นว่าคนเราอยู่ด้วยกัน ควรให้ความสำคัญกัน”

“เมื่อก่อนผิดพลาดเยอะกับเอ๋ (พรทิพย์-ภรรยา) บางทีใช้อารมณ์ บางทีทะเลาะ แต่ตอนนี้เข้าใจกันมากขึ้น”

แต่กระนั้นประสาลิ้นกับฟันเรื่องทะเลาะกันจึงยังมีอยู่ “แต่หายไวขึ้น เริ่มแบบอย่าโกรธเลย บางทีเรื่องยังไม่เคลียร์ แต่ทุกอย่างจบง่ายมาก”

“จะชอบพูดว่า ช่างเถอะเอ๋ ไปกินข้าวกัน” เขาเล่าพลางหัวเราะ

แล้วว่า “หลายครั้งที่ต่างคนต่างผิด แต่ถ้าเราจะอยู่ด้วยกันต่อ มันก็ต้องจบ เรามีลูกแล้ว เราต้องรักษาน้ำใจกัน”

นี่คือหลักการที่เขายึดปฏิบัติ

และดูเหมือนจะได้ผลดียิ่ง