ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 22-28 มิถุนายน 2561

ขอแสดงความนับถือ

 

ในท่ามกลางบรรยากาศการเมืองที่อยากอยู่ “นาน-นาน”

“พิพัฒน์ สุยะ” แห่งภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

หยิบประเด็น

สุมรณกรรม (Euthanasia) : ทุกคนควรมีสิทธิที่จะขอยุติชีวิตตน

มานำเสนอใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้

น่าสนใจ

เพราะนอกจากสวนทางกับความต้องการข้างต้นแล้ว

ยังสวนทางกับกระแสต่อต้านโทษประหารชีวิต

ที่กลับมาถกเถียงกันอีกในสังคมไทยหลังว่างเว้นการประหารนักโทษมาเกือบ 10 ปี

 

เมื่อเดือนที่ผ่านมา

มีข่าวที่โด่งดังไปทั่วโลก

เมื่อนักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลีย เดวิด วิลเลียม กู๊ดดอลล์ (David William Goodall) อายุ 104 ปี

ร้องขอยุติการมีชีวิตโดยขอความช่วยเหลือทางการแพทย์

แต่ด้วยประเทศออสเตรเลียยังไม่มีกฎหมายอนุญาตให้มีสุมรณกรรมได้

กู๊ดดอลล์จึงต้องเดินทางมาที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ซึ่งที่นั่น สุมรณกรรม ทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

 

“ชั่วโมงสุดท้ายของกู๊ดดอลล์มาถึงในตอนเที่ยงของวันที่ 10 พฤษภาคม 2561

ด้วยบรรยากาศที่ห้อมล้อมไปด้วยครอบครัว

กู๊ดดอลล์รับประทานอาหารเย็นมื้อสุดท้ายอย่างรื่นรมย์

และเขาเลือกฟังเพลงซิมโฟนีหมายเลขเก้าของบีโธเฟน

ในนาทีสุดท้าย ยาถูกฉีดเข้าไปในเส้นเลือดผ่านสายยางที่ต่อไว้ที่แขน

การตายของเขาใช้เวลาไม่นานหลังจากเพลงดังกล่าวบรรเลงจบลง”

นั่นคือฉากสุดท้ายแห่ง “สุมรณกรรม” ของเดวิด วิลเลียม กู๊ดดอลล์

แต่ไม่ใช่ฉากสุดท้ายของสุมรณกรรมของชาวโลก

เพราะก่อให้เกิดการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในประเด็นนี้

รวมถึงเรา ว่าจะมีจุดยืนและท่าทีอย่างไร

 

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th)

ส่ง “อีเมลสาธารณะ” เรื่องที่อยู่อาศัยของคนแก่ มาให้อ่าน

น่าสนใจเช่นกัน

โดยบอกตอนหนึ่งว่า บางครั้งผู้สูงวัยจำเป็นต้องมีทางออกแปลกๆ เพื่อ “เอาตัวรอด”

เช่น เคยมีข่าวว่า “ผู้สูงวัยญี่ปุ่นตบเท้าเข้าคุก หนีค่าครองชีพสูงบำนาญต่ำ”

อย่างในไทย ทางออกที่เป็นไปได้ก็เช่น การบวชเป็นพระ

หรือสำหรับสุภาพสตรี ก็บวชชี

ซึ่งก็จะสามารถช่วยสนับสนุนผู้สูงวัยให้สามารถครองชีพตามอัตภาพได้ระดับหนึ่ง

หากเป็นกรณีเจ็บป่วย และมีบัตรทอง ก็ยังสามารถได้รับการรักษาพยาบาลตามอัตภาพอีกเช่นกัน

ดังนั้น อย่าเพิ่งไปเลิกหรือแปลงโฉมบัตรทอง อย่างที่มีคนพยายาม

 

ดร.โสภณให้ข้อมูลอีกว่า ในประเทศไทยมีประชากรสูงวัยประมาณ 10.5% หรือ 7.3 ล้านคน

ผู้สูงวัยที่ยากไร้ขาดที่พึ่ง น่าจะมีประมาณ 730,000 คน หรือราว 10% ของผู้สูงวัยทั้งหมด

ในจำนวนนี้หากต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลคนละประมาณ 500 บาทต่อวัน ก็จะเป็นเงินปีละ 79,935 ล้านบาท หรือเพียง 2.8% ของงบประมาณแผ่นดินปี 2561 เท่านั้น

แสดงว่าไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุน

ยิ่งกว่านั้น หากคิด ณ อัตราคืนทุนที่ 10% เงิน 79,935 ล้านบาท ก็เป็นเงิน 799,350 ล้านบาท

เงินส่วนนี้อาจต้องระดมทุนจากกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องมีการวางแผนในระยะยาว

พรรคการเมืองไหนสนใจอาจจะใช้แคมเปญหาเสียง

ดร.โสภณ คงไม่คิดค่าลิขสิทธิ์

ถ้านำเสนอได้ดีหรือเป็นความหวัง

ผู้สูงอายุอาจแห่สนับสนุน

และทำให้ผู้เสนอแคมเปญนี้สามารถอยู่ในอำนาจ “ยาว-ยาว” ได้

มิใช่จ้องดูดอย่างเดียว!!