คุยกับทูต ‘ฟรานซิสกู วาช ปาตตู’ เปิดความสัมพันธ์ไทย-โปรตุเกส 500ปี ที่อาจไม่มีใครเคยรู้

คุยกับทูต ฟรานซิสกู วาช ปาตตู ฉลอง 500 ปีสนธิสัญญามิตรภาพและการค้าไทย-โปรตุเกส (2)

การจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 500 ปีแห่งสนธิสัญญามิตรภาพและการค้าไทย-โปรตุเกสฉบับแรกเมื่อปี ค.ศ.1518 มีทุกเดือนจนถึงสิ้นปีนี้ เอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย นายฟรานซิสกู วาช ปาตตู (H.E. Mr. Francisco Vaz Patto) เล่าต่อจากบทที่แล้ว

“ตลอดช่วงที่เหลือของปี ค.ศ.2018 กิจกรรมที่ได้รับการยืนยันแล้วสำหรับเดือนสิงหาคม คือการสัมมนาเรื่องความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ระหว่างไทยและโปรตุเกสกับนักประวัติศาสตร์ชาวโปรตุเกส ดร.มิเกล คัสเตลลู บรังกู (Dr.Miguel Castelo Branco) ณ สยามสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์”

“ส่วนเดือนกันยายน เป็นการสัมมนาเรื่อง Portugal in Focus : History, Economic Policy and Politics จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศและภาคยุโรปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกส และ AICEP กรุงเทพฯ (Associação Internacional das
Comunicações de Expressão Portuguesa) ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”

“กิจกรรมของเดือนตุลาคม คือการสัมมนาและนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวตลอดจนโอกาสของการท่องเที่ยวในโปรตุเกสแก่ตัวแทนบริษัทท่องเที่ยวและผู้สื่อข่าวประเทศไทย จัดโดย Turismo de Portugal และ AICEP กรุงเทพฯ ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตโปรตุเกส”

“ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ ในเดือนพฤศจิกายน เป็นรายการนำชมสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกส และทำเนียบเอกอัครราชทูตโปรตุเกส ผู้สนใจเข้าชมต้องลงทะเบียนล่วงหน้า เราจำกัดจำนวนผู้เข้าชมเนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย แต่ละกลุ่มจะมีประมาณ 20 คน และเราจะนำชมทุกๆ ชั่วโมงโดยไกด์ซึ่งเป็นนักเรียนที่มาเรียนภาษาโปรตุเกสจะบรรยายเป็นภาษาไทยและอังกฤษ”

“และเดือนสุดท้ายของปีคือธันวาคม เป็นการแสดงละครรอบปฐมทัศน์ที่กรุงเทพฯ เรื่อง ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสองประเทศ เขียนบทโดยนักเขียนชาวโปรตุเกสชื่อ Jacinto Lucas Pires และกำกับการแสดงโดย ภัทรสุดา อนุมานราชธน หลังจากนั้นละครชุดนี้จะไปเปิดการแสดงที่ประเทศโปรตุเกสปีหน้า”

ท่านทูตฟรานซิสกูกล่าว

“นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคมยังมีการจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง A Heritage Home in Bangkok-The Portuguese Ambassador”s Residence ฉบับใหม่ที่หนากว่าเดิม เขียนโดยนักประวัติศาสตร์ชาวโปรตุเกส นามว่าจอร์จึ มอร์ไบย์ (Jorge Morbey) โดยจะมีทั้งภาษาไทย โปรตุเกส และอังกฤษ อันเกี่ยวกับประวัติของสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกส และทำเนียบเอกอัครราชทูตโปรตุเกส ที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นหนังสือที่สวยงามเหมาะสำหรับมีไว้ทุกบ้านเรือน”

ประตูไม้มาจากบ้านครอบครัวโปรตุเกสสมัยอยุธยา

“ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมากในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโปรตุเกส จึงอยากให้ความผูกพันของเราได้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ทั้งด้านการค้า การลงทุน ศิลปวัฒนธรรม การศึกษา ภาษา และอื่นๆ อีกมากมาย”

ท่านทูตฟรานซิสกูชี้แจง

ดังที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า โปรตุเกสได้เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีเผยแพร่ศาสนาคริสต์และวิทยาการความรู้ในด้านต่างๆ ให้แก่ชาวไทยในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้อาวุธ การต่อเรือ หรือแม้กระทั่งวิธีการประกอบอาหาร ซึ่งประเทศไทยได้รับอิทธิพลในการทำขนมหวานหลายชนิดที่ยังสามารถหาได้ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด หรือขนมฝรั่งกุฎีจีน เป็นต้น

ภายในอาคารสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกส

“วันนี้มีนักศึกษาไทยเพียงไม่กี่คนที่เดินทางไปเล่าเรียนที่โปรตุเกส ปัจจุบันมหาวิทยาลัยของโปรตุเกสหลายแห่งเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนภาคภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาต่างชาติเดินทางไปศึกษาต่อที่โปรตุเกสมากขึ้น”

“สำหรับประเทศไทย มีการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาโปรตุเกส โดยมีอาจารย์สอนภาษาโปรตุเกสที่สถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยรามคำแหง รวมทั้งการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและคณาจารย์ของทั้งสองประเทศ”

“ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องร่วมมือทำงานให้มากขึ้นเพื่อช่วยกันส่งเสริมโอกาสดังกล่าวนี้”

ท่านทูตฟรานซิสกูเกิดในสาธารณรัฐโมซัมบิก (Republic of Mozambique) ประเทศที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกา บิดาเป็นศัลยแพทย์ประจำกองทัพช่วงสงครามอาณานิคมโปรตุเกส (Portuguese Colonial War) อยู่ในโมซัมบิกเพียง 2 ปีก่อนที่ครอบครัวจะย้ายไปโปรตุเกส และได้เข้าเรียนในโรงเรียนประจำ

ท่านทูตจบการศึกษาทางกฎหมายที่ Catholic University of Lisbon โดยไม่เคยสอบบาร์ เนื่องจากไม่แน่ใจว่าจะทำงานอาชีพนี้ จึงสอบอีกครั้งหนึ่งเพื่อเข้าทำงานที่กระทรวงต่างประเทศในกรุงลิสบอน เมืองหลวงของโปรตุเกส ขณะมีอายุ 24 ปี

เมื่อทำงานที่นี่ได้เพียง 2 ปี จึงถูกส่งไปประจำที่กรุงบอนน์ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเยอรมนีในปี ค.ศ.1995 และที่กรุงเบอร์ลินต่อมา หลังจากนั้นเป็นผู้แทนของโปรตุเกสประจำนาโต้ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เป็นเวลา 1 ปีและกลับไปยังกรุงเบอร์ลินอีกครั้ง ก่อนไปประจำที่ประเทศแองโกลา 4 ปี จึงกลับไปโปรตุเกสเป็นที่ปรึกษาด้านการทูตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและกิจการทางทะเล

ก่อนที่จะเป็นหัวหน้าฝ่ายเสนาธิการของเลขาธิการเพื่อกิจการยุโรป

ในปี ค.ศ.2009 ออกเดินทางสู่มหานครนิวยอร์กเพื่อรับตำแหน่งเป็นผู้ประสานงานทางการเมืองในภารกิจถาวรของโปรตุเกส ประจำสำนักงานใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นช่วงที่โปรตุเกสรณรงค์มาเป็นระยะเวลาถึง 2 ปีเพื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกไม่ถาวร (Non-permanent member) ของคณะมนตรีความมั่นคงที่มีสมาชิก 15 คน และในที่สุดก็ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิก

อธิบดีด้านการบริหารประจำกระทรวงต่างประเทศโปรตุเกสคือตำแหน่งสุดท้ายก่อนที่จะมารับตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทยในปี ค.ศ.2015 มีเขตอาณาครอบคลุมถึง 6 ประเทศคือ ไทย กัมพูชา ลาว มาเลเซีย พม่า และเวียดนาม

ในขณะที่สถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสในกรุงเทพฯ มีจำนวนนักการทูตรวมทั้งเจ้าหน้าที่ทั้งหมดเพียง 7 คน

“เนื่องจากเราเป็นสถานทูตขนาดเล็ก เมื่อมีผู้ต้องการวีซ่าจำนวนมาก ส่งผลให้การออกวีซ่ามีระยะเวลานาน เพราะเรามีขั้นตอนในการพิจารณาแต่ละราย การนัดหมายเพื่อสัมภาษณ์ จึงอาจต้องรอถึง 1 เดือน” ท่านทูตชี้แจง

“ซึ่งเรากำลังพยายามเร่งรัดเรื่องนี้ และอยู่ในระหว่างการเลือกตัวแทนเอกชนภายนอก (outsource) ให้ดำเนินการด้านวีซ่าดังเช่นสถานทูตหลายประเทศ แต่ค่าใช้จ่ายก็จะสูงขึ้น ซึ่งผมคิดว่าข้อดีมีมากกว่าข้อเสีย ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นนิดหน่อย แต่ตอนท้ายทุกคนจะมีความสุขมากขึ้นเพราะไม่ต้องรอนาน ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันหากคุณต้องการเดินทางไปโปรตุเกสภายใน 15 วัน ผมก็จะตอบว่า ขอโทษ เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเราไม่สามารถให้บริการได้ภายใน 15 วัน แต่เราจะจองคิวไว้ให้จนกว่าเดือนหน้า หากเรามีตัวแทนภายนอก (outsource) ก็สามารถทำให้ได้ทัน เพราะคนส่วนใหญ่มักวางแผนวันหยุดพักผ่อนล่วงหน้าไม่นานนัก”

สถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกส

“แน่นอน หลายคนมักรู้จักโปรตุเกสในฐานะประเทศเก่าแก่ดั้งเดิม เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานซึ่งผู้คนพากันไปท่องเที่ยวเยี่ยมเยือนปราสาท พิพิธภัณฑ์ ทัศนียภาพ ชายหาด และสนามกอล์ฟอันงดงาม”

มีตัวอย่างธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในโปรตุเกสแล้ว คือ กลุ่มไทยยูเนี่ยน (TUF) ได้เข้าไปทำธุรกิจผลิตปลากระป๋อง และกลุ่มไมเนอร์ (Minor International) ได้ซื้อกิจการโรงแรมกลุ่ม Trivoli ถึง 12 แห่งในโปรตุเกส

ส่วนการลงทุนของโปรตุเกสในไทย มีบริษัทเดียวคือ บริษัท อาปิโก โซเดเซีย (ประเทศไทย) ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จำหน่ายให้กับกลุ่มเจเนอรัล มอเตอร์ (General Motors) และฟอร์ด (Fords) เป็นส่วนใหญ่ มีมูลค่าการลงทุน 858.7 ล้านบาท

เอกอัครราชทูตโปรตุเกสฟรานซิสกู วาช ปาตตู

“ปัจจุบันกรุงลิสบอนได้รับการยอมรับว่ามีความสำคัญทางด้านการเงิน การค้า การศึกษา ศิลปะ บันเทิง และการท่องเที่ยว และเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญในทวีปยุโรปที่มีการเจริญเติบโตภาคการเงินที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นเมืองศูนย์กลางขนาดใหญ่สำหรับผู้เริ่มต้นที่ต้องการเติบโตอย่างรวดเร็ว (startup) ในยุโรป”

รัฐบาลโปรตุเกสชุดปัจจุบันให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ มีหน่วยงานเทียบเท่า BOI ของบ้านเราที่เรียกว่า AICEP คอยส่งเสริมการลงทุน และโปรตุเกสได้นำมาตรการ Golden Visa กลับมาใช้อีกครั้ง โดยจะออกวีซ่าระยะยาว 5 ปีแก่นักลงทุนที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์มูลค่าตั้งแต่ 5 แสนยูโร หรือประมาณ 20 ล้านบาท หรือผู้ที่ลงทุนทำธุรกิจในโปรตุเกสมูลค่าตั้งแต่ 1 ล้านยูโรเป็นต้นไป หรือผู้ที่สร้างงานในประเทศอย่างน้อย 10 ตำแหน่ง

ตราแผ่นดินโปรตุเกส (Coat of Arms of Portugal)ที่หน้าจั่วของจวนทำเนียบทูตโปรตุเกส

ไทยและโปรตุเกสมีพื้นฐานความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ไทยจึงสามารถใช้โปรตุเกสเป็นสะพานหรือจุดเชื่อมโยงสำหรับสินค้าและการลงทุนของไทยไปยังประเทศอดีตอาณานิคมของโปรตุเกสที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะบราซิล แองโกลา และโมซัมบิก

“ผมอยากให้คนไทยได้รู้จักประเทศโปรตุเกสมากยิ่งขึ้น จึงอยากเน้นว่า โปรตุเกสเป็นประเทศสมัยใหม่ที่พัฒนาแล้วและอยู่ในสหภาพยุโรป ในโอกาสที่ปีนี้ครบ 500 ปีสนธิสัญญามิตรภาพและการค้าไทย-โปรตุเกสฉบับแรก ผมจึงมีความสุขที่มีโอกาสได้นำเสนอจุดแข็งที่โดดเด่นของเราต่อคนไทย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ร่วมกันและก้าวหน้าไปด้วยกัน”