ฉัตรสุมาลย์ : โรคน้ำเกินในโพรงสมอง

ถ้าท่านผู้อ่านอายุมาก หรือเริ่มอายุมากขึ้น มีอาการเหล่านี้ คือ เดินช้า ซอยเท้าสั้นๆ ขี้ลืม กลืนอาหารแล้วมักสำลัก หรือแม้กระทั่งสำลักน้ำลายของตัวเอง ปัสสาวะบ่อย หรือฉี่เล็ด ความจำเสื่อม เดินจะไปหยิบของ พอออกจากห้องไปก็ไม่รู้ว่าออกมาจะหยิบอะไร ล้มบ่อยๆ เสียงแห้ง

ถ้ามีอาการเหล่านี้ สมควรอ่านต่อไปค่ะ

ถ้าไม่มีและไม่สนใจก็ข้ามไปเลย ทราบแล้วเปลี่ยน

โรคนี้เป็นโรคที่เพิ่งค้นพบใหม่ ผู้เขียนเองบังเอิญฟังคุณหมอ รศ.น.พ.ประจักษ์ ศรีรพีพัฒน์ อธิบายให้ฟัง นั่งตัวแข็ง ตั้งใจฟังมาก เพราะคิดว่าอาการทั้งหมดที่ว่านั้น ตัวเองเป็นหมดเลย ต้องเป็นคนไข้ของคุณหมอแน่เลย

ที่น่าดีใจที่สุดคือ เป็นโรคสมองที่รักษาได้ค่ะ ไชโย

 

เท่าที่ผ่านมา พอคนไข้ซึ่งมักจะเป็นคุณปู่คุณย่า คุณยายคุณตาแล้ว พอมีอาการประมาณนี้ ก็มักเข้าใจว่าเป็นพาร์กินสัน พาร์กินสันเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเคมีค่ะ พอได้ยาก็จะหายทันที เช่น มือสั่น พอกินยาเข้าไปก็หายสั่น แต่บางทีกินยาแล้วก็ยังไม่หาย ก็ยังถูกจัดว่าอยู่ในกลุ่มของโรคพาร์กินสัน อาจจะเรียกว่าพาร์กินสัน 1 หรือ 2 ว่ากันไป แต่ว่าในการรักษาก็ยังให้ยาในกลุ่มของยาที่รักษาพาร์กินสันอยู่ ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะไม่ใช่ก็ได้

โรคนี้ที่เรียกว่าโรคน้ำเกินในโพรงสมองเป็นโรคที่เพิ่งค้นพบเมื่อ 59 ปีที่ผ่านมาแล้วนี้เอง เรียกว่าเป็นโรคที่พบใหม่มาก และการพบก็แทบจะเรียกได้ว่าบังเอิญ แต่เป็นความบังเอิญที่วิเศษมากๆ สำหรับผู้ป่วย

เริ่มต้นจากคุณหมอหนุ่มท่านหนึ่งในโคลอมเบีย ท่านเป็นคุณหมอที่รักษาโรคสมอง ไปเรียนทางวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในสหรัฐอเมริกา

ครั้นเรียนกลับมาแล้ว ท่านมาพบคนไข้ที่ท่านสงสัยว่าจะเป็นโรคน้ำเกินในโพรงสมอง ท่านทดลองโดยการเจาะน้ำออกจากไขสันหลัง ปรากฏว่าคนไข้เดินได้ เป็นการยืนยันความคิดของท่านว่าเกิดจากน้ำเกินในโพรงสมองจริง

ต่อมามีเศรษฐีในโคลอมเบียมาหา เมื่อคุณหมออธิบายให้ฟังและพูดถึงการรักษา เศรษฐีก็ไม่เชื่อ บอกว่าจะไปรักษาที่อเมริกา คุณหมอท่านนี้ก็ว่าไม่มีทาง เพราะในอเมริกายังไม่มีการยอมรับกันด้วยซ้ำว่ามีโรคนี้

ตกลงคุณหมอและท่านเศรษฐีผู้ป่วยพากันเดินทางไปอเมริกา อาจารย์ของหมอก็ยังยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ ปรากฏว่าได้ทำการรักษาท่านเศรษฐีและคนไข้ที่มีอาการใกล้เคียงกันรวม 3 คน หายทั้ง 3 คน

การทดลองครั้งนี้ มีคนไข้เพียง 3 คน แต่ผลการรักษาได้นำเสนอใน New England Journal โดยระบุว่าเป็นการค้นพบโรคใหม่ ซึ่งก็ยังเป็นที่ถกเถียง และยังไม่ยอมรับในวงกว้าง

 

คุณหมอประจักษ์ท่านได้รักษาและทำการใส่ตัวระบายน้ำให้คนไข้มากว่า 100 รายแล้วในประเทศไทย ล้วนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

คุณหมอเคยอยู่ญี่ปุ่น พวกเราทราบกันดีว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุมากถึง 30% ญี่ปุ่นมีมาตรการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุที่ดีมาก พออายุ 50 ทุกคนสามารถทำ MRI ฟรี โดยทางโรงพยาบาลจะเก็บข้อมูลไว้เพื่อการติดตามคนไข้

ในญี่ปุ่นนั้น เป็นประเพณีว่า ไม่ว่าจะไปทำงานที่ในจังหวัดใด เมื่อเกษียณแล้วจะกลับมาบ้านเกิด จึงทำให้การติดตามง่ายขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นยินดีที่จะเสียงบประมาณที่จะดูแลสุขภาพให้ประชาชนดีกว่า และถูกกว่าที่จะต้องเสียงบประมาณในการรักษาเมื่อเจ็บไข้แล้ว

อัตราประชากรที่มีอายุยืนในประเทศไทยนั้นมาเป็นอันดับ 4 ในเอเชีย โรคระบาดต่างๆ แทบจะหมดไปโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นวัณโรค มาลาเรีย หรือโรคเรื้อน แสดงว่าสาธารณสุขพื้นฐานของไทยพัฒนาดีขึ้นมาก

แต่ตัวเลขที่น่าสนใจคือ อัตราการฝากครรภ์ของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ในชนบทสูงกว่าผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ในเมือง

สำหรับผู้สูงอายุนั้น ใน 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุร้อยละ 25 และในจำนวนผู้สูงอายุเหล่านี้ ก็จะปรากฏว่ามีอาการข้างต้นอาการใดอาการหนึ่ง หรือทุกอาการ ลูกหลานที่ดูแลก็อย่าเพิ่งตัดสินว่าเป็นอัลไซเมอร์ หรือพาร์กินสัน

เฝ้าดูว่า หากยาที่รักษาไม่มีอาการดีขึ้น ขอให้ขยักใจไว้ว่า อาจจะเป็นอาการของโรคเก่าที่เพิ่งค้นพบใหม่นี้ คือโรคน้ำเกินในโพรงสมอง ซึ่งรักษาได้

 

ผู้เขียนทราบว่าคุณหมอท่านออกตรวจที่โรงพยาบาลธนบุรี 1 ด้วย จึงทำเรื่องขอพบท่านที่นั่นตอนบ่ายโมง คนไข้ที่มารอล้วนแล้วแต่ผู้สูงอายุทั้งนั้น บางคนนั่งรถเข็น รู้เรื่องมากบ้างน้อยบ้าง บางคนมีพี่เลี้ยง และคนไข้ดูจะติดพี่เลี้ยง

คุณยายรายหนึ่งนั่งจับมือพี่เลี้ยงอยู่ตลอดเวลา

อีกรายหนึ่งมีลูก ที่ลูกสาว ลูกชาย รวม 3 คนมาประกบ แต่พอพยาบาลมาถามว่ากินยาอะไรอยู่บ้าง ลูกๆ ตอบไม่ได้ พี่เลี้ยงต้องควักยาที่ให้คุณยายกินออกมาอธิบายว่า เม็ดไหนกินตอนไหน อย่างไร

แม้ว่าจะเป็นโรงพยาบาลเอกชน แต่ก็ยังรอนานมาก ทั้งนี้เพราะปกติคุณหมอออกตรวจวันเดียว คือวันพฤหัสบดี แต่เนื่องจากมีคนไข้ค้าง อาทิตย์นั้นจึงนัดเพิ่มพิเศษวันเสาร์บ่าย กว่าคุณหมอจะมาก็เข้าไปบ่าย 1 โมง 40 นาที ผู้เขียนนั่งรอด้วยความอดทน

ได้ตรวจจริงๆ 5 โมงกว่า

 

ที่ใช้เวลามาก เพราะเมื่อคนไข้พบคุณหมอแล้ว คุณหมอจะส่งไปทำซีทีสแกน แล้วเอาผลกลับมาให้คุณหมอ จึงจะวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคนี้หรือไม่

ผู้เขียนก็อยู่ในกระบวนการนั้น

เมื่อกลับมารอให้คุณหมออ่านผลของซีทีสแกน ตามปกติแล้ว เราจะภาวนาว่าขออย่าให้เป็น คราวนี้ผู้เขียนรู้สึกกลับกันค่ะ คืออยากเป็น

เจ้าประคู้น ขอให้ตรวจพบว่าใช่เถิด

เพราะมันมีทางรักษาไงคะ

ก่อนที่จะทราบเรื่องนี้ เราก็ทำใจไปแล้วครั้งหนึ่งว่าอาการทั้งหมดที่เราเป็นนี้ เป็นกระบวนการของความแก่ที่จะค่อยๆ ครอบงำจนไปถึงจุดที่เราจะช่วยตัวเองไม่ได้

แล้วอยู่ๆ ก็มาทราบว่า เอ๊ย ไม่ใช่นะ มันอาจจะมีทางเยียวยาได้

ก็เลยภาวนาให้เป็นโรคนี้

พอได้ยินเสียงพยาบาลเรียก ผู้เขียนกระฉับกระเฉงมากเลย รีบเข้าไปยื่นหน้าถามคุณหมอว่า เป็นหรือเปล่า

คุณหมอท่านก็คงนึกว่า คุณยายคนนี้ดูจะเว่อร์นะ

คุณหมอท่านดูฟิล์มสมองค่ะ พบว่าโพรงสมองใหญ่กว่าธรรมดา ที่โพรงสมองใหญ่กว่าธรรมดาก็เพราะเนื้อสมองมันหดตัว เริ่มฝ่อไงคะ

นี่พูดเอาเอง รู้ดีกว่าคุณหมอ

ผู้เขียนทราบว่ามีอาการสมองฝ่อมาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่ประคองมานานได้ เพราะการเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต ตลอดจนเปลี่ยนทรงผม

คุณหมอดูฟิล์มแล้วว่าใช่

ไชโย

สมใจที่อยากเป็น โรคน้ำเกินในโพรงสมอง

เรียนคุณหมอตามตรงว่า เป็นข้าราชการบำนาญและทำเรื่องจ่ายตรงไว้ที่โรงพยาบาลศิริราชแล้ว ขอนัดเข้าไปพบท่านที่ศิริราช เพื่อขอนัดวันผ่าตัด

ผ่าตัดเสร็จแล้ว ได้ผลอย่างไร จะเรียนให้ท่านที่สนใจติดตามได้รับทราบค่ะ

คำว่าผ่าตัดนี้ ฟังดูน่ากลัวนะคะ ถ้าผ่าตัดใหญ่เขาเรียกว่า operation แต่นี่เป็นผ่าตัดเล็ก น่าจะเป็น surgery มากกว่า

ฟังดูน่ากลัว นึกว่าจะผ่าตัดที่สมอง ไม่ใช่ค่ะ แผลผ่าตัดเล็กๆ อยู่ที่ชายโครงค่ะ คุณหมอจะสอดท่อเข้าไประบายน้ำส่วนเกินออก ฟังดูเท่ๆ นะ

เดี๋ยวจะกลับมารายงานค่ะ