รู้จัก ‘อีลอน มัสก์’ กับเรื่อง “สิทธิบัตร” และ ดาบสองคม!

คอลัมน์ธุรกิจพอดีคำ : “สิทธิบัตร ปิด/เปิด”

ณ องค์กรแห่งหนึ่ง บนดาวอังคารไกลโพ้น

ห้องประชุมเดิมของหน่วยงาน “วิจัย”

นักวิจัยสองคนที่กำลังนำเสนอผลงานใหม่

“เราเพิ่งจะคิดค้นสูตรเคมีของสารตั้งต้นตัวเคลือบผิวรถยนต์แบบใหม่ๆ ได้สำเร็จ”

ผู้บริหารท่านหนึ่งที่เชี่ยวชาญด้านการตลาดถาม

“แล้วเราสามารถขายสิ่งนี้ได้หรือยัง”

นักวิจัยทั้งสองคนมองหน้ากัน

“สูตรเคมีนี้ ตัวสารเคมีที่นำมาใช้จะยังมีต้นทุนที่สูงมาก เราคงจะต้องการผู้ร่วมทุนเข้ามาช่วยพัฒนาให้สามารถนำออกขายได้จริง ตอบโจทย์ของตลาด”

ผู้บริหารทีมวิจัยเมื่อได้ยินเช่นนั้น จึงพูดย้อนแย้งขึ้นทันที “ฉันไม่เห็นด้วยหรอก”

“สูตรนี้เราคิดขึ้นได้เอง เราควรจะหาทางสร้างตลาดด้วยตัวเอง สิ่งที่เราควรจะรีบทำคือ รีบจดสิทธิบัตรซะ เพื่อไม่ให้คนอื่นๆ มีโอกาสได้พัฒนามันต่อ”

ของดี เราควรจะเก็บไว้เสียเอง

จะแบ่งให้คนอื่นทำไมเล่า

เมื่อไม่กี่วันก่อน

พี่กร-ชลากร ปัญญาโฉม แห่งบริษัท “เวิร์คพอยท์”

ผู้ปลุกปั้น “หน้ากากนักร้อง (The Mask Singer)” ให้เป็นปรากฏการณ์

คนดูออนไลน์ทีหนึ่ง หลายล้านคน

ทำเอาผู้บริหารที่บริษัท “เฟซบุ๊ก (Facebook)” ต้องมาขอคำแนะนำ

รวมทั้งรายการใหม่ล่าสุด “เดอแรปเปอร์ (The Rapper)” ที่คนดูติดกันทั่วประเทศ

พี่กรแนะนำให้ผมลองดู “สารคดี” เรื่องหนึ่งบน “เน็ตฟลิกซ์ (Netflix)”

มีชื่อว่า “จีเนียส (Genius)”

เป็นเรื่องราวของการแข่งขันกันของคนที่สร้างสรรค์งานใหม่ๆ ในแต่ละวงการ

ผมเปิดดูตอนแรก เป็นเรื่องราวระหว่างสองผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยี

บิลเกตส์ แห่งไมโครซอฟท์ และสตีฟ จ๊อบส์ แห่งแอปเปิ้ล

ที่ห้ำหั่น ชิงไหวชิงพริบกัน ครองตลาดของ “โลกคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล” ในยุคนั้น

ผมดูไปได้ไม่กี่นาทีก็พบว่า คล้ายๆ กับหนังสือที่เคยอ่าน

จึงขอข้ามไปดู “ตอนที่สอง”

แล้วก็ได้พบกับเรื่องราวน่าสนใจของ “โลกการบิน”

การแข่งขันกัน “ติดปีก” ให้มนุษยชาติ

ระหว่างสองพี่น้องตระกูลไรท์ และ “เกล็นน์ เคอทิสส์ (Glenn Curtiss)”

ที่ผ่านมา พวกเราที่ติดตามประวัติศาสตร์สักหน่อย

จะเข้าใจว่า สองพี่น้องตระกูลไรท์คือ “ฮีโร่” ของเรื่องราวการบิน

เป็นสองคนแรกที่คิดค้นการออกแบบ “เครื่องบิน” ที่บินค้างบนฟ้าได้

แต่ทุกท่านเชื่อมั้ยครับว่า

ขณะเดียวกันก็สองคนนี้นี่แหละ ที่ทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกา “ล้าหลัง” กว่าเขาเพื่อน ในเรื่องของการสร้าง “เครื่องบิน”

ทำไมน่ะหรือ

เรื่องมันมีอยู่ว่า

ปี 1904 สองพี่น้องตระกูลไรท์จดสิทธิบัตรการออกแบบ “เครื่องบิน” ของตัวเองเป็นที่เรียบร้อย

เป็นการกีดกัน “คู่แข่ง” อื่นๆ อย่างสิ้นเชิง ในการสร้างเครื่องบินของตัวเอง

แต่พวกเขาก็ไม่สามารถสร้าง “เครื่องบิน” ออกมาได้อย่างจริงจัง แม้แต่ลำเดียว

ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง เช่น “เครื่องยนต์” ที่นำมาใช้ในเครื่องบิน

“เกล็นน์ เคอร์ทิสส์” เจ้าของบริษัทจักรยานยนต์ ผู้มีความฝันเรื่องการบิน และมีเทคโนโลยี “เครื่องยนต์” ที่ดี

ได้เข้าพูดคุยเจรจาร่วมงานกับสิทธิบัตรของพี่น้องตระกูลไรท์ เพื่อสร้างเครื่องบินร่วมกัน

แต่กลับ “ถูกปฏิเสธ” ครั้งแล้วครั้งเล่า

เพราะ “สองพี่น้อง” อยากจะเก็บเอาสูตรลับนี้ไว้คนเดียว

จนในที่สุดเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ประเทศ “เยอรมนี” สามารถสร้างเครื่องบินสำเร็จก่อนกองทัพสหรัฐอเมริกาเสียอีก

นับเป็นความเสียหายครั้งร้ายแรง

และบทเรียนราคาแพงในเรื่อง “นวัตกรรม”

สิทธิบัตรกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้ “นวัตกรรม” ไม่เกิด

เพราะความ “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” ของใครบางคน

มองออกไปรอบตัวในปัจจุบัน

บริษัทระดับโลกอย่าง “กูเกิล (Google)”

สร้างระบบปฏิบัติการ “แอนดรอยด์ (Android)” ขึ้นมา

เปิดให้นักพัฒนามาร่วมสร้าง “แอพพลิเคชั่น” ต่อยอด

และยอมให้บริษัท “โทรศัพท์มือถือ” เจ้าดังหลายเจ้า ไม่ว่าจะเป็น “Samsung” หรือ “Huawei” นำไปใช้ได้

ทำให้ระบบปฏิบัติการ “แอนดรอยด์” มีจำนวนผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก

ยิ่งคนใช้งานมาก ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นต่างๆ ก็มีกำลังใจจะมาสร้าง “ของใหม่ๆ” มากขึ้น

กลายเป็นระบบปฏิบัติการที่มี “ของใหม่ๆ” มาให้เล่นอยู่เสมอ

อีกหนึ่งบริษัทที่เชื่อเรื่องการ “เปิด” สิทธิบัตรให้ผู้อื่นใช้

คือ บริษัท “เทสลา (Tesla)” ยานยนต์ไฟฟ้าของ “อีลอน มัสก์ (Elon Musk)”

ปี 2014 อีลอน มัสก์ ตัดสินใจเปิดสิทธิบัตรจำนวนมากในการสร้างรถยนต์ไฟฟ้า

ให้ผู้ผลิตนักพัฒนาจากทั่วโลกเอา “องค์ความรู้” ของเทสลาไปต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของรถยนต์ไฟฟ้า

ทำให้การตื่นตัวทางด้าน “รถยนต์ไฟฟ้า” นั้น เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

และลุกลามไปทั่วโลกในระยะเวลาอันสั้น

เมื่อคนเริ่มเข้าใจ “ความเป็นไปได้” ของเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น

ภาคธุรกิจและภาคนโยบายก็จะสามารถ “เดินหน้า” ได้

การ “เกิดขึ้น” จริงของเทคโนโลยี เป็น “สินค้า” ที่ซื้อขายกันได้จริง ก็จะตามมาติดๆ

มิใช่เป็นเพียง “สิทธิบัตร” แข่งขันกันเป็นเจ้าของเท่านั้น

ณ ห้องประชุม บนดาวอังคาร

ผู้บริหารด้านการตลาดส่ายหัวแล้วเอ่ยขึ้นเบาๆ

“นี่เรายังมีของบนหิ้งไม่พอใช่ไหม”

“สิทธิบัตร (Patent)” เป็นดาบสองคม

นำไปต่อยอดได้เอง จงรีบทำ

แต่ถ้าเป็นเพียง “ความภูมิใจ”

จงรีบหาเพื่อนโดยพลัน