ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ตอนที่ 5 : “เกาะ” นั้นสำคัญไฉน?

ตอนที่ 4 ได้เล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับผลงานของนักคิดนักเขียนที่ใช้ “เกาะ” เป็นฉากเดินเรื่อง ซึ่งพบว่า นักคิดนักเขียนที่ใช้ “เกาะ” มีตั้งแต่เพลโตในสมัยกรีกโบราณ

โดย “เกาะสมมุติ” หรือ “เกาะในจินตนาการ” ของเขามีชื่อว่า “Atlantis”

จากนั้นก็คือ “เกาะ” ของเซอร์โทมัส มอร์ในหนังสือชื่อ “Utopia” (ค.ศ.1516) “เกาะ” ของเซอร์ฟรานซิส เบคอนในหนังสือ “the New Atlantis” (ค.ศ.1627)

“เกาะ” ของเจมส์ แฮริงตันใน “the Commonwealth of Oceana” (ค.ศ.1656)

และ “เกาะ” ของเฮนรี่ เนวิล ในงานชื่อ The Isle of Pines (ค.ศ.1668)

ซึ่งที่กล่าวมานี้ล้วนแต่เป็นนักคิดทางการเมืองทั้งสิ้น แต่เรื่อง “คนกับเกาะ” ที่โด่งดังที่สุดน่าจะได้แก่ โรบินสัน ครูโซ (ค.ศ.1719)

ถ้าพิจารณาเหตุผลของการใช้ “เกาะ” ในงานเขียนของนักคิดข้างต้น อาจจะช่วยให้เราเข้าใจว่าทำไมอาจารย์ชัยอนันต์ถึงออกข้อสอบโดยให้ “เกาะ” เป็นฉาก

และนอกจากจะเข้าใจแล้ว ยังอาจจะช่วยให้เราตอบข้อสอบข้อนั้นได้ดียิ่งขึ้น (กว่าที่ผมเคยตอบไปเมื่อเกือบสี่สิบปีที่แล้ว และได้คะแนนไม่ดี!)

จะขอเริ่มพิจารณาจากเฮนรี่ เนวิล ในศตวรรษที่สิบเจ็ดก่อน โดยให้ “เกาะ Atlantis” ของเพลโตอยู่สุดท้าย

 

เกาะของเฮนรี่ เนวิล คือ “the Isle of Pines” เป็นเรื่องของคนห้าคนที่ไปติดเกาะ อันได้แก่ ตัวเอกของเรื่องคือ จอร์จ ไพน์ (George Pine) (ซึ่งชื่อของเกาะก็น่าจะเกี่ยวข้องกับชื่อสกุลตัวเอกของเรื่อง)

จอร์จ ไพน์ เป็นคนอังกฤษ และยังมีผู้หญิงอีกสี่คนที่ไปติดเกาะด้วย

เกาะที่ว่านี้เป็นเกาะที่มีสภาพน่ารื่นรมย์ คงจะสวยงามตามธรรมชาติ และน่าจะมีวิวทิวทัศน์ที่สร้างอารมณ์ประทับใจ

นอกจากสวยงามแล้ว อาหารก็ยังอุดมสมบูรณ์ ไม่ได้หายาก ไปๆ มาๆ คนทั้งห้าที่ไปติดเกาะ จึงคล้ายมาตากอากาศเสียมากกว่า

เมื่ออาหารก็มี บรรยากาศก็เหมาะ หนึ่งชายสี่หญิงที่ติดเกาะกันตามลำพังจะทำอะไรกันได้เล่า? นอกจากร่วมกัน “บรรเลง”

จอร์จและสาวๆ ทั้งสี่ก็เลย “enjoy” (“เอนจอย”) กันกลางแจ้งอย่างเปิดเผยเย้ยฟ้าท้าดิน ซึ่งปรกติไม่ว่าคนอังกฤษหรือคนชาติไหนที่มีชีวิตอยู่ในสภาพของความเป็นเมืองสมัยใหม่แล้ว ก็ยากที่จะประกอบกิจอย่างเปิดเผยโล่งโจ้ง โดยเฉพาะประเทศอังกฤษที่มีภูมิอากาศไม่อำนวยให้ไม่นุ่งอะไรในที่แจ้ง ด้วยมีสภาพอากาศหนาวๆ ชื้นๆ ฝนตกเป็นกิจวัตร

เมื่อมาอยู่บน “เกาะสวรรค์” แบบนี้ คนอังกฤษอย่างจอร์จก็อดที่จะทำให้มันกลายเป็น “เกาะสวาท” ไปไม่ได้ ไม่ต่างจากฝรั่งเมืองหนาวที่มา “เอนจอย” กันตามเกาะต่างๆ ในเมืองไทย

ที่จริงก็น่าคิดเหมือนกันว่า ทำไมเฮนรี่ เนวิล ถึงเขียนเรื่องอะไรแบบนี้ออกมาในปี ค.ศ.1668 อังกฤษในปี ค.ศ.1668 เป็นอย่างไร?

บริบทมีอิทธิพลต่อนักเขียนหรือไม่?

จอร์จเป็นอะไรหรือถึงเขียนงานออกมาแบบนี้?

 

จอร์จไม่ได้เป็นคนลอนดอน แต่เกิดที่เบิร์กเชียร์ (Berkshire) ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของลอนดอน

เป็นบุตรของเซอร์เฮนรี่ เนวิล ชื่อเดียวกับลูก หรือที่จริงแล้ว ลูกชื่อเดียวกับพ่อ

แต่ไม่แค่นั้น เพราะเซอร์เฮนรี่ เนวิล ผู้เป็นพ่อของเฮนรี่ เนวิล มีบิดาชื่อเดียวกันอีก นั่นคือ เฮนรี่ เนวิล แถมยังเป็นเซอร์เหมือนกันอีกด้วย!

เพื่อไม่ให้งง เอาเป็นว่า เฮนรี่ เนวิล ผู้เขียนเรื่อง the Isle of Pines เป็นบุตรของเซอร์เฮนรี่ เนวิล และเป็นหลานของเซอร์เฮนรี่ เนวิล

ถ้ายังงง ก็เอาใหม่ ดังนี้ เฮนรี่ เนวิล นักเขียนเป็นบุตรของเซอร์เฮนรี่ เนวิล ที่สอง (Sir Henry Neville II) และเป็นหลานของเซอร์เฮนรี่ เนวิล ที่หนึ่ง (Sir Henry Neville I) (โชคดีที่พ่อของเซอร์เฮนรี่ที่หนึ่งชื่อเอ็ดเวิร์ด แต่ก็เป็นเซอร์!)

เมื่อฟังๆ สาแหรกครอบครัวของเฮนรี่นักเขียน ก็พอจะบอกได้ว่า เขามาจากตระกูลขุนนางที่สืบทอดกันมาหลายชั่วคน

มีผู้รู้เคยบอกว่า วิธีการที่ดีในการเริ่มต้นศึกษาและทำความเข้าใจความคิดของคนคนหนึ่งคือ ต้องรู้ภูมิหลังของเขา

ถ้ารู้แล้ว ก็จะสามารถเข้าใจว่า ทำไมเขาถึงคิดและเขียนงานออกมาแบบนั้น

ถ้าเชื่อแบบนั้น ครอบครัวย่อมเป็นหนึ่งในภูมิหลังสำคัญของนักคิดนักเขียน

เซอร์เฮนรี่ เนวิล ผู้ปู่นั้นเป็นข้าราชสำนักและเคยเป็นทูตอังกฤษประจำฝรั่งเศส เคยมีบทบาทสำคัญในการหาทางให้มีการเจรจาระหว่างพระเจ้าเจมส์ที่หนึ่งกับฝ่ายรัฐสภา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

ขณะเดียวกันเซอร์เฮนรี่ผู้ปู่นี้มีความสามารถในทางการประพันธ์ด้วย

สามารถขนาดไหน? บอกแล้วจะตกใจ! เพราะในปี พ.ศ.2548 นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ของอังกฤษที่มหาวิทยาลัยอาเบอร์ริชวิตธ์ ได้เสนอข้อสรุปการค้นคว้าวิจัยของเขาว่า เซอร์เฮนรี่ผู้ปู่นี้แหละคือ “เช็กสเปียร์ตัวจริง”

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เฮนรี่ เนวิล ผู้หลานจะสืบทอดสายพันธุ์ความเป็นนักเขียน

 

เฮนรี่นักเขียนเกิดเมื่อปี ค.ศ.1620 ถ้าเช่นนั้น ยามเมื่ออังกฤษเริ่มเกิดสงครามกลางเมืองในปี ค.ศ.1642 เขาก็เป็นหนุ่มฉกรรจ์อายุ 22 ปี

(ตรงนี้สำคัญ เพราะสงครามกลางเมืองอังกฤษเป็นความขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐสภากับฝ่ายพระมหากษัตริย์ และผู้คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะขุนนางและทหารจะต้องเลือกข้าง ถ้านึกไม่ออก ก็นึกถึงความขัดแย้งเหลือง-แดงในวิกฤตการเมืองไทยที่ผ่านมา ที่แม้แต่คนในครอบครัวเดียวก็เห็นต่างแตกแยกรุนแรงไปทั่ว คนที่ไม่อยากเลือกข้าง ก็ต้องถูกบังคับให้เลือกข้างกลายๆ แต่เดี๋ยวจะค่อยเฉลยว่า ตกลงแล้ว เฮนรี่ เนวิล ผู้เป็นนักเขียนและมีอายุ 24 ปีในตอนเริ่มเกิดสงครามกลางเมือง เขาอยู่ฝ่ายไหน? และการเลือกอยู่ฝ่ายไหนมีอิทธิพลต่อการเขียนเรื่องเกาะสวาทหาดสวรรค์ของเขาหรือไม่?)

เมื่อรู้ว่าเขาเกิดเมื่อไรและอยู่ในครอบครัวแบบไหนแล้ว

คำถามพื้นฐานต่อไปก็คือ การศึกษา (ไม่ต่างจากข้อมูลปฐมภูมิในแบบสอบถามเท่าไรนัก) เฮนรี่ได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด แต่ไม่ได้ปริญญาอะไร

ซึ่งคนชั้นสูงสมัยนั้น ปริญญาไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรเลย เขาไปเรียนๆ เล่นๆ กันมากกว่า หลังจากไปเรียนๆ เล่นๆ ที่อ๊อกซ์ฟอร์ดแล้ว เฮนรี่ก็แต่งงานเมื่ออายุยังน้อยกับเอลิซาเบธ ที่มาจากตระกูลขุนนางเช่นกัน เมื่อรวยเจอรวย ก็ยิ่งรวยกันไปใหญ่ เฮนรี่และเอลิซาเบธจึงกลายเป็นคู่สามีภริยาเจ้าที่ดินมหาศาลในแถบชนบทของอังกฤษ

เวลาพูดถึงเจ้าที่ดินในชนบทในอังกฤษ ควรระลึกไว้ว่าเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก

ทุกวันนี้ การใช้ชีวิตเป็นเจ้าที่ดินมหาศาลในชนบทอังกฤษถือว่าเป็นชีวิตในอุดมคติเลยทีเดียว

 

ผมเคยเจอรู้จักคนอังกฤษแบบนี้ตอนไปเช่าแฟลตแถวถนนฮาร์ลี่กลางใจกรุงลอนดอน (Harley Street! ใครที่นึกไม่ออก แต่ดันรู้จักถนนอ๊อกซ์ฟอร์ด ย่านช้อปปิ้งชื่อดัง ก็ให้ตั้งต้นที่ถนนนี้ และหันหน้าไปทาง Oxford Circus ต่อมาให้หันหน้าไปทางซ้าย และคิดต่อๆ ไปได้เลยว่า ถนนฮาร์ลี่นี้จะอยู่ทางซ้ายอีกชั้นหนึ่งจากถนนอ๊อกซ์ฟอร์ด แต่ไม่ได้ขนานกัน {ง่ายที่สุด เปิดกูเกิลแม็ป})

คนอังกฤษที่ว่านี้คือคุณมาร์ติน เกรแฮม (Martin Graham) เจ้าของแฟลตที่ผมเช่านั่นเอง

เขาดูดีมาก มีอายุประมาณกลางคนในขณะนั้น แต่งตัวดูเรียบๆ แต่ก็ “ดูดี”

ตอนที่จะเช่าแฟลต เขาขอสัมภาษณ์ผม เพราะเขาไม่ซี้ซั้วให้ใครก็ได้มาเช่าแฟลตเขา

แฟลตแรกของเขาที่ผมไปดู ผมชอบมาก อยู่บนถนนเล็กๆ ชื่อ Marylebone Lane เป็นสตูดิโอแฟลต นั่นคือ ห้องๆ เดียวเป็นทั้งที่นอน ที่ทำงาน ที่กินข้าว แต่ไม่ถึงกับขนาดให้นั่งอึ ยืนฉี่และอาบน้ำกลางห้อง

เพราะมีห้องน้ำเล็กแยกออกไปให้

 

พูดถึงห้องที่เป็นทั้งห้องนอน ห้องนั่งเล่น และส้วมในเวลาเดียวกันนั้น ผมเคยมีประสบการณ์สมัยเป็นนิสิตปริญญาตรีประมาณปีสองปีสาม ไปเที่ยวต่างจังหวัดทางตอนเหนือของประเทศไทย พบว่ามีสถานบริการแห่งหนึ่งที่พวกเราไปใช้บริการ เขาถามว่าจะเอาห้องพิเศษไหม มีห้องน้ำในตัว ส่วนห้องอื่น ต้องออกมาเข้าห้องน้ำ? ผมก็ตอบอย่างใจ “ใหญ่แต่สั้น” กระชับเด็ดขาดอย่างลุงตู่ว่า “ได้”

สักครู่หนึ่ง ผมก็พบตัวเองอยู่ในห้องที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ มีหน้าต่างที่เปิดไปเห็นวิวทุ่งหญ้าเล็กน้อยพร้อมวัวตัวหนึ่ง ในห้องที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่นั้นก็มีเตียงขนาดใหญ่ที่น่าจะนอนสี่คนได้สบายๆ และมีโต๊ะสำหรับไว้วางอาหาร เครื่องดื่ม และก็มีส้วมซึมแบบนั่งยองๆ ฝังอยู่กลางห้อง มีถังน้ำสีแดงอยู่ข้างๆ พร้อมขันและน้ำที่หยดติ๋งๆ จากก๊อก

ถ้าเห็นแต่ภาพก็น่าจะรื่นรมย์สมอุราดี และก็น่าจะสะดวกต่อเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในห้องนั้น

แต่ในความเป็นจริง ทุกอย่างมันมีมิติ และมันก็จะมาพร้อมกันทุกมิติ นั่นคือเมื่อมีภาพ ก็ต้องมีเสียง และแน่นอนก็ต้องมีกลิ่น

เมื่อมีส้วมซึมตั้งเด่นเป็นหลุมหลบภัยอยู่ใจกลางห้อง มันก็ต้องมีกลิ่นด้วย แม้คนเราอาจจะปิดตาได้นานแสนนาน แต่หยุดหายใจได้ไม่เกินสองสามนาที

ดังนั้น ในห้องพิเศษที่ผมเสียเงินพิเศษเพิ่มเพื่อความสะดวกสบายแบบคอนวีเนี่ยนสไตล์ ผมจึงต้องสูดกลิ่นส้วมไปพร้อมๆ กับเรื่องราวในห้องนั้น (รูป กลิ่น เสียง ได้หมดแล้ว แต่รส ขอเถอะครับ)

เริ่มต้นด้วยการแย้มพรายเกี่ยวกับกิจกรรมชายหนึ่งหญิงห้าบนเกาะสวาทหาดสวรรค์ที่ the Isle of Pines ของเฮนรี่ เนวิล แต่มาลงเอยด้วยกิจกรรมเดียวกันที่ห้องพิเศษของผมได้ยังไงก็ไม่ทราบ

ใครที่รอตามเรื่องราว the Isle of Pines และชีวประวัติของเฮนรี่ เนวิล รวมทั้งการวิเคราะห์ “เกาะของอาจารย์ชัยอนันต์” อย่าเพิ่งว่ากันนะครับ สัปดาห์หน้าได้เรื่องแน่