สมหมาย ปาริจฉัตต์ : เรียนสุข สนุกสอน กับ sQio ตอนที่ 9 Q info – รอยยิ้มก่อนเริ่มบทเรียน

สมหมาย ปาริจฉัตต์

หนึ่งใน 5Q ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการโรงเรียนพัฒนาต่อเนื่อง (sQip) ก็คือ Q-info ระบบสารสนเทศเพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โรงเรียนสามารถนำระบบที่พัฒนาขึ้นมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการศึกษา บริหารโรงเรียนให้มีคุณภาพมากขึ้น เพราะทำให้เกิดความถูกต้อง สะดวก รวดเร็ว และเชื่อมโยง

บนเส้นทางการพัฒนาจึงมีกิจกรรม Workshop เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากระบบฐานข้อมูลสารสนเทศเป็นระยะๆ จัดโครงการขยายผลระบบสารสนเทศเพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการศึกษาขึ้นเมื่อวันที่ 18-19 ตุลาคม 2560 ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ

ผมมีโอกาสไปร่วมสังเกตการณ์เป็นครั้งแรก ติดใจการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเชิงระบบโมเดล sQip จนต้องเก็บมาเล่าต่อถึงวันนี้

 

โครงการขยายผลระบบสารสนเทศ ชวนครู ผู้บริหาร ทีมงานทางเทคนิคผู้รับผิดชอบการจัดการระบบข้อมูลของสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และ Q-coach ทั้ง 7 โหนด ร่วมกันรับทราบผลการพัฒนาระบบสารสนเทศ และจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาประจำปีการศึกษา ให้เครือข่ายจัดทำเป้าหมายร่วมของแต่ละโหนด และแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน

การออกแบบและพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา มีมหาวิทยาลัยนเรศวร โดย ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นผู้ศึกษาวิจัยและพัฒนาแอพพลิเคชั่นขึ้นมาเป็นเครื่องมือให้กับผู้บริหาร ครู ใช้งานได้ทั้งทางโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ ครูประจำชั้นสามารถเช็กชื่อนักเรียนผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ ครูผู้สอนรายวิชาต่างๆ สามารถเช็กชื่อนักเรียนที่เข้าเรียนในลักษณะเรียลไทม์ได้

เทศบาลนครภูเก็ตซึ่งดูแลโรงเรียน 8 แห่ง จึงเชิญชวนมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยการประสานงานของ สสค. นำระบบการจัดการสารสนเทศไปใช้ออกแบบพิมพ์เขียวการศึกษานครภูเก็ต ตั้งแต่ปี 2557

จึงเป็นตัวอย่างให้กับโรงเรียน 200 แห่งในโครงการ sQip ได้เรียนรู้ประสบการณ์ บริหารโดยมีข้อมูลสารสนเทศเป็นหลัก ไม่ใช่อารมณ์ ความรู้สึก และจินตนาการที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเป็นฐาน

 

โปรแกรมดังกล่าวประกอบด้วย ข้อมูลนักเรียน บุคลากร งบประมาณ รวมถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สุขภาพ การเข้าเรียนและอื่นๆ เพื่อให้ผู้บริหารสถานศึกษาสามารถติดตามเฝ้าระวังและแก้ปัญหาได้ทันท่วงที นำข้อมูลมาวางแผนยุทธศาสตร์ของโรงเรียน ใช้สำหรับการบริหารทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ บุคคล และบริหารทั่วไป

ในเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วย Q-info จึงกำหนดหัวข้อหลัก คือแนวทาง Blueprint Design Lab 2560 กระบวนการออกแบบพิมพ์เขียวการศึกษาด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม กิจกรรมการตั้งเป้าหมายแต่ละเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง เพื่อกำหนดเป้าหมายพิมพ์เขียวการศึกษาของแต่ละโหนด กิจกรรมวางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของกลุ่มโรงเรียนให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่แต่ละเครือข่ายตั้งไว้

เมื่อต้นปี 2561 คณะกำกับทิศทางโครงการ นำโดยคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เป็นหัวหน้ายกทีมไปดูของจริง ความก้าวหน้าของโรงเรียนสังกัดเทศบาลภูเก็ต ได้ฟังครู ผู้บริหารโรงเรียน ผู้บริหารเทศบาลเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการนำระบบสารสนเทศมาใช้ ช่วยพัฒนาคุณภาพและแก้ไขปัญหาการขาดโอกาสทางการศึกษาได้ผลชัดเจน

“ฝ่ายบริหารและฝ่ายวิชาการสามารถประเมินผลการเรียนของเด็กๆ ได้ระหว่างทางตลอดเวลา ข้อมูลนี้ช่วยให้ครูวางแผนการเรียนการสอน ออกแบบการแก้ปัญหา ให้ตอบสนองความต้องการของเด็กได้อย่างแท้จริง” ดิเรก ขามคำ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดศรีสุนทร เทศบาลนครภูเก็ต ถ่ายทอดความเห็นผ่านทีมงานสื่อสาร สสค.

“การเรียนเสริม การทำกิจกรรมกลุ่ม ให้เด็กเก่งช่วยเด็กอ่อน เพื่อนช่วยเพื่อน ก็จะสามารถช่วยเหลือเด็กนักเรียนได้ทันท่วงที ครูเป็นเหมือนพ่อแม่ของนักเรียน เราดูแลด้วยความรัก ความเมตตา เมื่อเห็นการเปลี่ยนแปลงทางที่ดีขึ้นย่อมเป็นความภาคภูมิใจของผู้เกี่ยวข้อง ครู ชุมชน มีความสุขไปด้วย” ผอ.ดิเรกย้ำ

 

ขณะที่ครูชนิลธร สร้อยอั้ว ครูโรงเรียนเดียวกันสะท้อนว่า ระบบข้อมูลสารสนเทศนอกจากสามารถบันทึกผลการเรียนรายวิชา วิเคราะห์ความถนัด ทักษะ ติดตามพัฒนาการด้านต่างๆ รวมถึงการวัดระดับโภชนาการและการเติบโตของเด็กๆ จากการบันทึกดัชนีมวลกาย น้ำหนักและส่วนสูงได้ด้วย เรียกว่าเป็นการทำงานครั้งเดียวได้ประโยชน์ ทั้งผู้บริหารสถานศึกษา ครูประจำชั้น ครูผู้สอนรายวิชา และบุคคลที่เกี่ยวข้อง

“เราเลือกที่จะรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่คิดว่าจะดีกับนักเรียน ระบบ Q-info ของโครงการ sQip ถูกนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ระดับชั้น ป.1-ม.3 แรกเริ่มทดลองใช้ก็สร้างความตื่นเต้นให้กับครูและนักเรียนมาก” เธอเล่า

การใช้ข้อมูลสารสนเทศเป็นตัวช่วย ทำให้บรรยากาศการเรียนรู้ของนักเรียนเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าสนใจ จากคำบอกเล่าของ ด.ญ.บุญรัตน์ นาคเพชร์ หรือน้องอิน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2

“ชอบเวลาครูนำหน้าจอแอพพลิเคชั่นที่เป็นรูปเด็กยิ้ม เวลามาเรียนไม่ขาดเรียน น้ำหนัก และส่วนสูง มาขึ้นจอมอนิเตอร์ในห้อง ทำให้เพื่อนๆ ทุกคนได้เห็น หากใครอ้วนหรือผอมก็จะทราบได้ทันที เป็นวิธีการเริ่มการเรียนการสอนในทุกเช้าด้วยความสนุกสนานมากกว่าเมื่อก่อน ที่คุณครูเรียกขานชื่อแล้วนักเรียนยกมือขึ้น พูดว่า มาครับ มาค่ะ”

ครับ ผมอ่านความคิดของเธอแล้ว นึกภาพบรรยากาศในห้องเรียนก่อนเข้าสู่เนื้อหา

หน้าตาอมยิ้มของเด็กแต่ละคน คงเรียนสุข สนุกสนษน เป็นไปตามเป้าหมาย ความคาดหวังของผู้ร่วมกระบวนการ sQip จนทำให้ส่วนใหญ่ พากันอมยิ้มร่วมไปกับนักเรียนทุกโรงเรียนมากขึ้นกว่าเดิมทีเดียว