การศึกษา /ก.อุดม นวัตกรรม วิจัยและวิทย์ ลดแรงต้าน-ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 ??

การศึกษา

ก.อุดม นวัตกรรม วิจัยและวิทย์

ลดแรงต้าน-ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 ??

 

แนวโน้มการจัดตั้ง “กระทรวงวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และการอุดมศึกษา” ดูเหมือนจะ “ไม่” ราบรื่นอย่างที่ใครหลายๆ คนคิด เนื่องจากผู้บริหารมหาวิทยาลัย นักวิชาการ และประชาคมมหาวิทยาลัย ที่ไม่เห็นด้วย ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการควบรวม “โครงสร้าง” กระทรวงใหม่

รวมถึงคัดค้าน “ชื่อ” ที่ใช้ “วิทยาศาสตร์” นำหน้า “การอุดมศึกษา”!!

เพราะนอกจากจะทำให้งานด้านการอุดมศึกษา ที่เป็นงานหลักของประเทศ ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร

ยังเหมือน “ศักดิ์ศรี” ของชาวอุดมศึกษาถูกหยาม!!

 

เดิม “สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)” ได้เตรียมการแยกตัวออกจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อจัดตั้ง “กระทรวงการอุดมศึกษา” อยู่แล้ว

แต่ทันทีที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ออกมาระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี “ฟันธง” ให้ควบรวม สกอ., วท., สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดตั้งกระทรวงใหม่ และเป็นผู้ตั้งชื่อ กระทรวงวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และการอุดมศึกษา ด้วยตัวเอง

แทบจะ “ดับฝัน” ชาวอุดมศึกษาในทันที

จึงเกิดแรงกระเพื่อมจากบรรดาผู้ที่ไม่เห็นด้วย!!

อย่างไรก็ตาม การควบรวมครั้งนี้ ผู้เกี่ยวข้องให้เหตุผลว่า เพื่อเตรียมประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 และเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 การเตรียมการเรื่องคน งานวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จึงแยกออกจากกันไม่ได้

อีกทั้งนายสุวิทย์ได้แจกแจงถึงเหตุผลความจำเป็นภายหลังหารือร่วมกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ เรื่องการจัดตั้งกระทรวงใหม่มีประเด็นหลักๆ 3 เรื่อง

เริ่มจากชื่อกระทรวง ที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้ตั้งชื่อเอง แต่เปิดช่องให้เปลี่ยนได้ มุ่งเน้นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างเศรษฐกิจ สังคม เชิงนวัตกรรม และให้มหาวิทยาลัยสร้าง และพัฒนาคนขึ้นมาเพื่อตอบสนองไทยแลนด์ 4.0 และจัดตั้งกองทุนวิจัย 3 กอง ได้แก่ 1.กองทุนพัฒนาการอุดมศึกษาและการวิจัย 2.กองทุนวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม และ 3.กองทุนวิจัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน

ขณะที่นายกอบศักดิ์ตอกย้ำความต้องการของนายกฯ ว่า “เดิม สกอ. จะแยกออกจาก ศธ. แล้วเอาหน่วยงานวิจัยมารวม แต่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ยอม บอกว่าถ้าจะทำแล้วต้องทำให้สุด ไม่ใช่แยกแค่อุดมศึกษาออกจาก ศธ. แต่ต้องมี วท. ด้วย เพราะต้องการสร้างประเทศไทยด้วยนวัตกรรมและงานวิจัยที่ใช้ได้จริง”

เพื่อ “ตอบโจทย์” การพัฒนาประเทศในการเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0

ดังนั้น การเคลื่อนไหว “คัดค้าน” การควบรวมกระทรวงใหม่ จึงดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ!!

 

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อปี 2546 “ทบวงมหาวิทยาลัย” ถูก “ยุบ” ไปรวมอยู่ภายใต้โครงสร้าง ศธ.ใหม่ ในชื่อ สกอ. ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศ “ปฏิรูประบบราชการไทย” ครั้งใหญ่

ในช่วงเวลานั้น ผู้บริหาร นักวิชาการ และประชาคมมหาวิทยาลัย ได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน ทักท้วง ท้วงติง พร้อมทั้งแจกแจงทั้งเหตุและผลที่ไม่ควรนำ “การอุดมศึกษา” ไปรวมกับ “การศึกษาขั้นพื้นฐาน” เนื่องจากแนวคิด ปรัชญา และบริบทในการจัดการศึกษาทั้ง 2 ระดับนี้ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

แต่เสียงสะท้อนต่างๆ กลับไม่ได้รับการตอบรับจากผู้บริหารประเทศในขณะนั้น

ขณะที่ประเทศไทยเดินหน้ายุบทบวงฯ ไปอยู่ภายใต้ ศธ. หลายๆ ประเทศที่มาดูงานการจัดการอุดมศึกษาของไทยก่อนหน้านั้น เห็นว่าการแยกการอุดมศึกษาออกจากการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะทำให้การพัฒนาอุดมศึกษาก้าวกระโดด และแข่งขันบนเวทีโลกได้

เรียกว่าการอุดมศึกษาไทยในยุคนั้น “ถอยหลังเข้าคลอง” อย่างเห็นได้ชัด

เสียงเปรยจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่เข้าประชุมแต่ละครั้ง ต้องนั่งฟังแต่เรื่องเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่ครูควรจะได้รับ น้อยครั้งที่จะพูดคุยกันว่า จะจัดหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างไร เพื่อให้นักเรียนและนักศึกษาได้ประโยชน์สูงสุด

มหาวิทยาลัยจึงเริ่มเคลื่อนไหว เพื่อแยก สกอ. ออกจาก ศธ. อีกครั้ง

 

การเคลื่อนไหวตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มได้รับการตอบสนองในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ประกอบกับรัฐบาลเร่งผลักดันการปฏิรูปประเทศในทุกๆ ด้าน แนวโน้มการจัดตั้ง “ทบวงอุดมศึกษา” หรือ “กระทรวงอุดมศึกษา” จึงอยู่ใกล้แค่เอื้อม

เมื่อรัฐบาลไฟเขียวให้แยกหน่วยงานด้านอุดมศึกษาออกจาก ศธ. ทางคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ที่มี นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน จึงได้เดินหน้ายกร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงอุดมศึกษา พ.ศ. …

ขณะเดียวกัน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้มอบหมายให้ นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ช่วงที่เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เป็นประธานคณะทำงานเตรียมการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา เดินหน้ายกร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. … ควบคู่ไปกับ กอปศ.

โดยเห็นว่า “ทบวงอุดมศึกษา” หรือ “กระทรวงอุดมศึกษา” น่าจะเป็น “คำตอบ” ของการปฏิรูปอุดมศึกษา!!

 

แต่เมื่อแนวทางของรัฐบาลเปลี่ยนไป เพราะมองว่างานด้านการอุดมศึกษา งานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และงานวิจัย ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ การควบรวม สกอ., วท. และหน่วยงานด้านการวิจัย จึงเป็นคำตอบสุดท้ายของ พล.อ.ประยุทธ์

ขณะที่ผู้บริหาร อดีตผู้บริหาร และนักวิชาการในมหาวิทยาลัยต่างๆ มีความเห็นในเรื่องนี้แตกออกเป็นหลายฝ่าย คือฝ่ายที่ “เห็นด้วย” กับแนวทางการจัดตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และการอุดมศึกษา เพราะมองว่างานทั้ง 3 ส่วนนี้ จะส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน

แต่ก็มี “ข้อเสนอ” ให้ใช้ชื่อกระทรวงการอุดมศึกษาฯ นำหน้าแทน เนื่องจากงานด้านอุดมศึกษาไม่ได้มีเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังมีงานด้านสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ หากใช้ชื่อกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะทำให้ละเลยงานด้านสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ได้

รวมทั้งต้องไม่ใช้วิธีสั่งการ เนื่องจากแต่ละแห่งมี “กฎหมาย” ของตัวเอง

ขณะที่อีกกลุ่ม “ไม่เห็นด้วย” กับการควบรวม วท. เพราะเกรงว่าการ “บริหารงาน” ด้านอุดมศึกษา จะไม่มีอิสระ และคล่องตัวอย่างที่ต้องการ

ที่สำคัญ จะถูก “ชี้นิ้ว” สั่งให้ซ้ายหันขวาหันเช่นเดียวกับที่อยู่ภายใต้ ศธ.

ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชาวมหาวิทยาลัยพยายาม “ดิ้นรน” ขอตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา

โดย “รัฐมนตรี” จะมีบทบาทหน้าที่เพียงแค่ “ประสาน”, “สนับสนุน” และ “อำนวยความสะดวก” เพื่อให้งานด้านอุดมศึกษาเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่นเท่านั้น!!

 

ดูเหมือนการเคลื่อนไหวของประชาคมอุดมศึกษาจะสัมฤทธิผล ล่าสุด นพ.ธีระเกียรติ นพ.อุดม รวมถึงนายสุวิทย์ ได้เข้าหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นการด่วน

ได้ข้อสรุปว่างานด้านอุดมศึกษาจะเป็นหลัก เพื่อตอบโจทย์การปฏิรูปที่ให้กระทรวงอุดมศึกษาฯ ทำวิจัยทั้งด้านวิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ รวมถึงนวัตกรรมทางสังคม

โดยยอมให้ใช้ชื่อ “กระทรวงอุดมศึกษา นวัตกรรม วิจัยและวิทยาศาสตร์” หรืออาจปรับเป็นชื่ออื่น แต่จะใช้ “อุดมศึกษา” นำหน้าชื่อกระทรวง

เพื่อ “ลด” แรงต่อต้านจากชาวมหาวิทยาลัย…

ซึ่ง นพ.อุดมและนายสุวิทย์ จะเดินสายพูดคุยกับ ทปอ., ทปอ.มรภ., สกว.และ วช. ให้เสร็จภายในต้นเดือนมิถุนายน

คาดว่าการปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และยกร่าง พ.ร.บ.กระทรวงใหม่ จะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคม ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เตรียมจะใช้กระบวนการพิเศษ โดยให้มีคณะกรรมการพิเศษเพื่อพิจารณาในขั้นตอนกฤษฎีกา และผ่านเข้าไปสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

เพื่อให้ “กระทรวงอุดมศึกษาฯ” คลอดก่อนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอีก 8 เดือนข้างหน้า!!