วรศักดิ์ มหัทธโนบล / จักรวรรดิในกำแพง : กำเนิดจักรวรรดิ ตอนที่ 22

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ฮั่นสมัยหลังกับเงื่อนปมใหม่ทางการเมือง (ต่อ) 

การที่หลิวซิ่วตั้งตนเป็นจักรพรรดิฮั่นกวางอู่ตี้ (ครองราชย์ ค.ศ.25-57) และปราบทัพป่าเขียวกับทัพคิ้วแดงเป็นที่สำเร็จจนสามารถฟื้นราชวงศ์ฮั่นได้อีกครั้งนั้น ทำให้ฮั่นที่ฟื้นใหม่ถูกเรียกว่า ฮั่นตะวันออก (ค.ศ.25-220) อันถือเป็นฮั่นสมัยหลัง

กล่าวเฉพาะบทบาทของหลิวซิ่วแล้วจะเห็นได้ว่า แรกที่เข้าร่วมกบฏใน ค.ศ.17 (ปีที่ทัพป่าเขียวถูกตั้งขึ้น) เขามีอายุ 12 ปี พอถึง ค.ศ.23 ที่เขาเริ่มฉายแววผู้นำด้วยการปราบทัพหวังหมั่งได้สำเร็จเขามีอายุ 18 ปี ครั้นถึง ค.ศ.25 อันเป็นปีที่ทัพป่าเขียวกับทัพคิ้วแดงล่มสลายไปแล้ว และเขาได้ตั้งตนเป็นจักรพรรดินั้นเขาย่อมมีอายุ 20 ปี

แต่ทว่านับจาก ค.ศ.25 เป็นต้นไปกลับปรากฏว่า ฮั่นกวางอู่ตี้ยังทรงทำศึกกับกลุ่มอำนาจที่ตั้งตนเป็นใหญ่ตามท้องถิ่นต่างๆ ต่อไป และกว่าจะปราบได้สำเร็จจนมีอำนาจเต็มนั้นเวลาก็ล่วงไปถึง ค.ศ.36 แล้ว

จากตัวเลขดังกล่าวทำให้เห็นว่า หากนับตั้งแต่ ค.ศ.25 ถึง ค.ศ.36 แล้วฮั่นกวางอู่ตี้จักทรงใช้เวลาในการรวมจักรวรรดิเป็นหนึ่งเดียวประมาณ 12 ปี

แต่ถ้านับจาก ค.ศ.17 ที่เริ่มเป็นกบฏจนถึง ค.ศ.36 ที่ได้อำนาจเด็ดขาดแล้วก็จะเห็นได้ว่า ฮั่นกวางอู่ตี้ทรงใช้เวลานานราว 19 ปีกว่าที่จะได้อำนาจอย่างแท้จริง

และจนถึงเวลานั้นพระองค์ก็มีพระชนมายุ 31 พรรษา

จะเห็นได้ว่า ฮั่นกวางอู่ตี้ทรงมีเวลาในการบริหารบ้านเมืองอย่างเต็มที่เพียง 10 กว่าปีจากที่ครองราชย์นาน 33 ปี

 

เมื่อขึ้นเถลิงอำนาจแล้ว สิ่งแรกที่ฮั่นกวางอู่ตี้ทรงคิดก็คือ ทำอย่างไรไม่ให้ราชวงศ์ตกอยู่ใต้อิทธิพลของเจ้าศักดินาดังที่ฮั่นสมัยแรกเคยประสบ

ดังนั้น สิ่งแรกที่พระองค์ทรงทำจึงคือการตั้งให้เครือญาติได้เข้ามามีตำแหน่งโหว (เทียบเท่ากับ Marquis ของศักดินายุโรป หรือพระยาของศักดินาไทย) ใน ค.ศ.27 ครั้นถึง ค.ศ.37 (หลังสงครามกลางเมืองที่ทำการปราบปรามผู้ตั้งตนเป็นใหญ่ได้แล้ว) พระองค์จึงทรงลดชั้นของโหวลงทั่วจักรวรรดิ

โดยเฉพาะเสนามาตย์ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ราชเลขาธิการ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในระบบสามมหาอำมาตย์หรือซันกงที่มีมาแต่เดิมนั้น ทรงมอบให้แก่เชื้อสายทางราชบิดาของพระองค์

โดยสองในสามของผู้ที่ได้ตำแหน่งนี้เป็นบุตรของหลิ่วเอี่ยน (ผู้เป็นเชษฐาของพระองค์ที่ถูกหลิวเสีว์ยนประหารเมื่อครั้งที่ร่วมก่อกบฏ) อันเป็นราชนัดดา (หลาน) ของพระองค์ โดยให้ตำแหน่งทั้งสามนี้จัดอยู่ในชั้นกง (เทียบเท่ากับ Duke ของศักดินายุโรป หรือเจ้าพระยาของศักดินาไทย)

ต่อมาใน ค.ศ.39 ฮั่นกวางอู่ตี้ก็ทรงตั้งตำแหน่งกงให้เฉพาะราชโอรสเท่านั้น และให้เข้าไปปกครองดินแดนต่างๆ ครั้นถึง ค.ศ.41 ก็เลื่อนตำแหน่งกงของราชโอรสให้เป็นหวัง (กษัตริย์) ครั้นถึง ค.ศ.43 ตำแหน่งกงก็ถูกตั้งให้กับเครือญาติชั้นราชนัดดาอีกครั้งหนึ่ง

จะเห็นได้ว่า ถึงที่สุดแล้วฮั่นกวางอู่ตี้ทรงใช้แนวทางเดียวกับที่ฮั่นเกาตี้ทรงใช้เมื่อแรกตั้งราชวงศ์ แต่แนวทางเช่นนี้ก็มิได้ประสบผลสำเร็จเช่นเคย ด้วยในเวลาต่อมาการแย่งชิงราชบัลลังก์ในหมู่ราชโอรสของพระองค์ยังคงเกิดขึ้น

ซึ่งก็ไม่ต่างกับที่ฮั่นสมัยแรกประสบพบเจอ

 

พ้นไปจากกรณีข้างต้นแล้วก็จะเป็นการจัดสรรอำนาจให้กับเครือญาติที่ห่างออกไปกลุ่มหนึ่ง และให้กับขุนนางหรือขุนศึกที่มิใช่เครือญาติแต่มีความดีความชอบอีกกลุ่มหนึ่ง

กลุ่มหลังนี้มีประเด็นที่ควรกล่าวด้วยว่า หลังจากที่บุคคลเหล่านี้มีตำแหน่งสูงแล้วก็อาจจะได้เป็นเครือญาติกับจักรพรรดิหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะมีสมาชิกในครอบครัวได้แต่งงานกับราชโอรสหรือราชธิดาของจักรพรรดิหรือไม่ ถ้าหากมีก็จะส่งผลต่อการจัดสรรอำนาจไปด้วยเช่นกัน

กรณีเครือญาติที่ห่างออกไปในที่นี้หมายถึงเครือญาติที่มักมาจากฝ่ายมเหสีเป็นหลัก ซึ่งในฮั่นสมัยหลังนี้อำนาจของเครือญาติฝ่ายนี้มีความแตกต่างไปจากยุคก่อนหน้านี้ไม่น้อย

เหตุที่ทำให้มีความแตกต่างออกไปในเบื้องแรกมาจากการจัดระบบราชสำนักฝ่ายใน ซึ่งในยุคของฮั่นกวางอู่ตี้ได้ลดคุณสมบัติของสตรีที่จะมาเข้ามาถวายงานฝ่ายในจากที่เคยมีอยู่ 14 ข้อให้เหลือเพียงสามข้อ ทั้งสามข้อประกอบไปด้วย หนึ่ง เป็นสตรีที่น่าเชื่อถือ สอง เป็นสตรีที่งดงาม และสาม เป็นสตรีที่ถูกเลือกมาก่อนแล้ว

คุณสมบัติที่ลดลงนี้ทำให้นางในเป็นได้ง่ายขึ้น เพราะจนถึงกลางศตวรรษที่ 2 ก็พบว่ามีนางในสูงถึงหกพันคน ซึ่งสูงกว่าราชวงศ์ก่อนหน้านี้ถึงสองเท่า

อย่างไรก็ตาม การคัดเลือกนางในมักมีขึ้นในเดือนสิงหาคมของแต่ละปี นางในทุกคนจักต้องเป็นสาวพรหมจรรย์ อายุระหว่าง 13 ถึง 20 ปี ผู้ทำการคัดเลือกมาจากสำนักราชเลขาธิการโดยมีขันทีคอยให้การช่วยเหลือ

และมีโหราจารย์ด้านนรลักษณ์ศาสตร์ (physiognomist) คอยดูบุคลิกลักษณะด้านความสวยงาม ผิวพรรณ เส้นผม อากัปกิริยา ความสง่างาม มารยาท และความน่าเคารพเชื่อถือ

เมื่อเลือกได้จำนวนเท่าไรก็ตาม ทั้งหมดที่ถูกเลือกยังจะถูกแบ่งเป็นระดับจากที่มีอยู่ด้วยกันเก้าระดับ สตรีที่ผ่านเกณฑ์ที่กล่าวมาจะถูกส่งตัวเข้าไปยังฝ่ายในเพื่อทดลองงานอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะมีทั้งที่ผ่านและไม่ผ่านการทดลอง

และในบรรดาผู้ที่ผ่านจะมีเพียงผู้เดียวที่จักได้เป็นจักรพรรดินี

 

กล่าวเฉพาะฮั่นสมัยหลังแล้วจักรพรรดินีจักมีฐานะทางสังคมที่สูงยิ่ง มีอำนาจมาก และมีแรงจูงใจที่จะเข้าไปสู่หรือตัดขาดจากการเมืองหรือไม่ก็ได้ โดยจักรพรรดิจะไม่มีส่วนต่อการตัดสินใจในเรื่องนี้

แต่กระนั้นฮั่นสมัยหลังกลับมีจักรพรรดินีถึงแปดพระองค์จากที่มีอยู่ 11 พระองค์ที่ไม่มีราชโอรส

ประเด็นหลังนี้ย่อมมีผลต่ออำนาจของจักรพรรดินีไม่น้อย เพราะจักรพรรดินีที่มีราชโอรสย่อมได้เปรียบจักรพรรดินีที่ไม่มี ด้วยราชโอรสมีโอกาสสูงที่จะได้เป็นรัชทายาทหรือจักรพรรดิในอนาคต

 

กลุ่มต่อมาคือบรรดาขุนนางและขุนศึกที่มีตำแหน่งสูง ในกลุ่มนี้สามารถแบ่งได้เป็นสองกลุ่มใหญ่

กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่ใกล้ชิดกับฮั่นกวางอู่ตี้มาตั้งแต่แรกเริ่มก่อกบฏ เป็นกลุ่มที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่หนันหยัง โดยมากแล้วมีภูมิหลังเป็นผู้ดีน้อย (lesser gentry) คือเป็นชาวชนบทที่มีฐานะดี มีอำนาจในการตัดสินใจปัญหาในท้องถิ่นระดับหนึ่ง และมีกำลังทรัพยากรเพียงพอที่จะให้ลูกหลานของตนได้รับการศึกษาและเป็นขุนนางในระดับหนึ่ง

ผิดกับกลุ่มผู้ดีใหญ่ (great gentry) ซึ่งเป็นเจ้าที่ดินและมีฐานะทางสังคมกว้างขวาง จนบางทีก็มีความสำคัญทางการเมืองในระดับชาติ

ความต่างเช่นนี้ทำให้เห็นว่า การที่ฮั่นกวางอู่ตี้ได้ผู้ดีน้อยมาเป็นกำลังสนับสนุนแม้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่จะดียิ่งขึ้นหากได้ผู้ดีใหญ่มาสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม ผู้ดีน้อยที่ร่วมกบฏกับฮั่นกวางอู่ตี้นี้มีอยู่ทั้งสิ้น 35 คน ซึ่งต่างก็มีบทบาทในการทำให้สงครามกลางเมืองจบลงด้วยชัยชนะของฮั่นกวางอู่ตี้ และด้วยองค์ประกอบของโชค การมองการณ์ไกล และความสามารถที่มีอยู่จริง ผู้ดีน้อยกลุ่มนี้ก็ยกระดับตัวเองมาเป็นผู้ดีใหญ่ได้ในที่สุด

แน่นอนว่า ฐานะที่ดีขึ้นพร้อมกับการเมืองใหม่ที่มีฮั่นกวางอู่ตี้เป็นผู้นำสูงสุดเช่นนี้ ย่อมทำให้อำนาจของผู้ดีกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

กลุ่มต่อมา เป็นกลุ่มที่เข้ามาร่วมกับฮั่นกวางอู่ตี้หลัง ค.ศ.25 และมิใช่กลุ่มที่อยู่ในหนันหยัง บุคคลสำคัญในกลุ่มนี้มีสองคน คนหนึ่งคือ หม่าหยวน อีกคนหนึ่งคือ โต้วหญง

โดยหม่าหยวนเป็นขุนศึกที่มีชื่อเสียงอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือที่กว้างใหญ่ไพศาล และเข้ามาร่วมมือกับฮั่นกวางอู่ตี้ใน ค.ศ.28 ส่วนโต้วหญงเป็นคนแถบตะวันตกเฉียงเหนือเช่นกัน ก้าวขึ้นเป็นขุนศึกใน ค.ศ.24 โดยมีอิทธิพลอยู่ในแถบระเบียงกานซู่1 เข้าร่วมกับฮั่นกวางอู่ตี้ใน ค.ศ.29

แต่ที่ทำให้โต้วหญงมีฐานะพิเศษก็คือ เคยมีหญิงในตระกูลเป็นหนึ่งในมเหสีของฮั่นเหวินตี้ และพี่ชายของเธอก็ยังเป็นบรรพชนสายตรงของโต้วหญงอีกด้วย

จากกำลังทางทหารและฐานะพิเศษนี้จึงเอื้อให้บุคคลในตระกูลนี้มีโอกาสที่จะเข้าสู่อำนาจได้ไม่ยาก

—————————————————————————————————————
(1) ที่เรียกว่าระเบียงกานซู่ (Gansu corridor) ก็เพราะมณฑลนี้มีรูปลักษณ์เป็นแนวยาวแคบคล้ายระเบียงทางเดินของตึกหรือที่เชื่อมต่อระหว่างอาคาร แนวยาวแคบนี้แผ่ขึ้นเหนือไปก็จะกว้างออกไป ดังนั้น อิทธิพลของโต้วหญงจึงอยู่ในแถบระเบียง มิได้แผ่ไปถึงทางเหนือของมณฑล