ฉัตรสุมาลย์ : พระนางสังฆมิตตา จากอินเดียสู่ศรีลังกา

เรากำลังพูดถึงเหตุการณ์เมื่อประมาณ พ.ศ.300 เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่งที่ภิกษุณีสงฆ์ทำหน้าที่สืบพระศาสนาเป็นพระธรรมทูตเดินทางไกลจากอินเดียไปศรีลังกา

เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งพระสมณทูตออกไปประกาศพระศาสนาที่เราทราบนั้น ออกไป 9 สาย ตะวันตกสุดไปถึงเมืองกันดะหาร์ในประเทศอัฟกานิสถาน

ทางใต้ก็ลงไปที่เกาะศรีลังกา และเพราะสมัยนั้น ศรีลังกามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเส้นทางการเดินเรือทะเล จึงทรงเลือกที่จะส่งพระโอรสองค์โต คือพระมหินท์เถระนำคณะพระธรรมทูตไปที่ศรีลังกา

นอกจากนั้น พระเจ้าติสสะ กษัตริย์ของศรีลังกายังเป็นพระสหายอีกด้วย ก่อนหน้านั้น เมื่อพระเจ้าติสสะขึ้นครองราชย์ พระเจ้าอโศกก็โปรดให้ส่งเครื่องราชกกุธภัณฑ์ไปถวายเพื่อการขึ้นครองราชย์อย่างสมศักดิ์ศรี

ในปีที่เสด็จศรีลังกานั้น พระมหินท์เถระอายุ 32 พรรษา 12 การเดินทางจากอินเดียไปศรีลังกาเป็นเรื่องใหญ่ พระองค์จึงเสด็จไปทูลลาพระมารดา ซึ่งเป็นเจ้าหญิงอยู่ที่เมืองวิเทหิ ใกล้ๆ สาญจี จากนั้นจึงเหาะไปศรีลังกา

ครั้นถึงศรีลังกา ทรงเลือกพระสูตรที่แสดงธรรมโปรดพระเจ้าติสสะและชาวเมือง ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ครั้นได้รับนิมนต์ให้เสด็จไปยังอนุราธปุระ เมืองหลวง ได้แสดงธรรมครั้งที่สอง คราวนี้ปรากฏว่า พระนางอนุฬา พระชายาของพระเจ้ามหานาค ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระเจ้าติสสะได้บรรลุโสดาบัน

และได้ทูลขอพระเจ้าติสสะออกบวช

 

พระเจ้าติสสะจึงนำความไปหารือกับพระมหินท์เถระ

พระมหินท์เถระเดินทางไปศรีลังกากับภิกษุสงฆ์เพียง 4 รูป และพระนัดดาที่เป็นสามเณร เมื่อจะต้องจัดการบรรพชาอุปสมบทฝ่ายภิกษุณี หากไม่มีภิกษุณีอยู่ในโลกเลยพระองค์ก็จะทรงสามารถให้การอุปสมบทได้ แต่พระองค์ทรงรู้แก่พระทัยว่าภิกษุณีสงฆ์เจริญอยู่ในประเทศอินเดีย ทั้งพระขนิษฐาของพระองค์เองก็เป็นพระเถรีที่มีความสามารถ การขอภิกษุณีสงฆ์ให้เดินทางมาให้การอุปสมบทเหล่าสตรีในศรีลังกายิ่งเป็นเรื่องที่พระองค์พอพระทัย เพราะเท่ากับจะมีแรงจากพระขนิษฐามาช่วยอีกแรงหนึ่ง ทั้งพระนางสังฆมิตตาเถรีนั้น นอกจากจะเป็นพระขนิษฐาของพระองค์แล้ว ก็ยังเป็นพระมารดาของสามเณรที่เป็นพระนัดดาตามเสด็จไปศรีลังกานั่นเอง

พระเจ้าติสสะทรงจัดส่งคณะทูตพิเศษนำโดยอำมาตย์ที่มีความคุ้นเคยกับราชสำนักในอินเดีย คือมหาอริฏฐะ และยังเป็นพระนัดดาของพระเจ้าติสสะเองอีกด้วย

ในการที่จะจัดส่งพระนางสังฆมิตตาและภิกษุณีสงฆ์ลงไปสมทบนั้น เท่ากับเป็นคณะพระธรรมทูตชุดที่สอง แต่ชุดนี้เป็นสตรีที่เป็นภิกษุณีล้วน เพราะได้เกิดขึ้นตามความต้องการของประเทศนั้นๆ

ก็ในเมื่อพระธรรมทูตสายที่ไปศรีลังกานั้น สามารถทำให้สตรีท้องถิ่นในบ้านเมืองนั้นบรรลุโสดาบัน และสนพระทัยถึงกับขอออกบวชนี้

ลองสมมติเหตุการณ์ทำนองเดียวกันที่อาจจะเกิดขึ้นกับพระธรรมทูตสายอื่นๆ ด้วย การเผยแผ่พุทธศาสนาที่ครบองค์พุทธบริษัท 4 ก็อาจจะเกิดขึ้นตั้งแต่บัดนั้นแล้วก็เป็นได้

 

เมื่อพระเจ้าอโศกทรงทราบที่พระมหินท์เถระขอมา ก็เสียพระทัยที่จะต้องพรากจากพระธิดาอีก แต่พระนางสังฆมิตตาก็ทูลให้ทรงระลึกว่าเป็นงานของพระศาสนาที่พระองค์ทรงมุ่งมั่นพระทัยที่จะเผยแผ่ พระองค์จึงทรงตัดพระทัยอนุญาตให้พระธิดาเสด็จไปรับใช้งานพระศาสนาในแดนไกล

ทรงทราบด้วยว่า ชาวศรีลังกานั้น เป็นชาวเกาะที่นิยมบูชาต้นไม้ เมื่อจะเผยแผ่ศาสนาพุทธในหมู่คนที่เชื่อในการกราบไหว้ต้นไม้ ก็ทรงจัดให้นำกิ่งโพธิ์ด้านใต้ไปเป็นของขวัญแก่ชาวศรีลังกาด้วย

เราต้องไม่ลืมว่า งานหลักที่อาราธนาพระนางสังฆมิตตาเสด็จไปศรีลังกานั้น เพื่อไปอุปสมบทพระนางอนุฬาและข้าทาสบริวารที่พร้อมใจกันนุ่งขาวรักษาศีลรอการเสด็จมาของพระนางสังฆมิตตาและคณะ

คณะภิกษุณีที่ไปด้วยนั้น ปรากฏชื่อชัดเจนดังนี้ อุตตรา เหมา ธัมมทาสี มหาเทวี ปทุม เหมสา อุนนาลา อัญชลี และสุมา

นอกจากนั้นก็ยังมีอีก 18 ครอบครัวจากพวกเทวกุล และ 8 ครอบครัวจากอำมาตย์ ในตระกูลที่ตามเสด็จไปคราวนั้น มีทั้ง ช่างทอ ช่างปั้น

ในคัมภีร์มหาวงศ์ยังระบุด้วยว่า ส่งตระกูลยักษ์และนาคไปกำกับดูแลต้นโพธิ์ด้วย

พระเจ้าอโศกเองตามมาส่งคณะให้ขึ้นเรือที่ท่าตามรลิปติ ทรงรออยู่จนเรือเคลื่อนออกไปจนลับสายพระเนตร

 

เรือที่พระนางสังฆมิตตาเสด็จพร้อมคณะใช้เวลา 7 วันจึงเดินทางมาถึงท่าจัมพุโกละทางเหนือของเกาะศรีลังกา เป็นคืนเพ็ญระหว่างเดือนธันวาคมต่อกับมกราคม พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะทรงปีติอย่างยิ่งเสด็จลงมาในน้ำด้วยพระองค์เองเพื่อรับหน่อพระศรีมหาโพธิ์ มีขบวนรับเสด็จอย่างเอิกเกริก

สำหรับหน่อพระศรีมหาโพธิ์นั้น ประดิษฐานไว้ที่ปะรำที่สร้างขึ้นรับอย่างสมเกียรติที่ท่าน้ำนั้นเอง หลังจาก 10 วันผ่านไป จึงประดิษฐานบนราชรถ มีขบวนนำไปปลูกในราชอุทยานมหาเมฆวัน เมืองอนุราธปุระ เพื่อให้ประชาชนจากทุกสารทิศได้เข้ามาสักการะ

เหตุการณ์นี้ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับชาวศรีลังกา มีกล่าวถึงทั้งในคัมภีร์ทีปวงศ์ (ศตวรรษที่ 4) คัมภีร์มหาวงศ์ (ศตวรรษที่ 5) สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย และมหาโพธิวงศ์ (ศตวรรษที่ 10)

พระนางสังฆมิตตาและคณะภิกษุณีได้จัดการอุปสมบทให้แก่พระนางอนุฬาและคณะที่รออยู่นับจำนวนถึง 500 นาง บรรดาพระภิกษุณีที่ได้รับการอุปสมบทในชุดแรกปรากฏชื่อ เช่น สัทธัมมนันที, โสมา, คริทิหิ ทสิยา, ธัมมา, ธัมมปาลา, มหิลา, โสภณา, ธัมมตปสา, นรมิตตา, สตา, กาลี, อุตตรา

ส่วนภิกษุณีที่มาในคณะของพระนางสังฆมิตตานั้นล้วนเป็นอาจารย์ทีมีความชำนาญในการสอนหัวข้อต่างๆ กัน เช่น ภิกษุณีธัมมะ, ธัมมปาลา และนรมิตตา สอนทางด้านพระวินัย พระภิกษุณีสุมนาเชี่ยวชาญในการสอนเรื่องประวัติศาสตร์พุทธศาสนา ในขณะที่ท่านมหิลาเก่งในเรื่องระเบียบพระวินัย เป็นต้น

ในตอนแรกพระนางสังฆมิตตาพำนักอยู่ที่อุบาสิการามซึ่งพระเจ้าติสสะทรงให้ปลูกไว้เตรียมรับคณะภิกษุณี ต่อมาท่านได้เป็นผู้ควบคุมการสร้างที่พักพระภิกษุณีอีก 12 หลัง ในจำนวนนี้มี 3 หลังที่ประดิษฐานส่วนสำคัญของเรือที่เดินทางมาศรีลังกา คือ หลังหนึ่งมีเสากระโดง หลังหนึ่งมีหางเสือเรือ และอีกหลังหนึ่งมีพวงมาลัย เป็นการเก็บจารึกประวัติศาสตร์ของการประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์ในศรีลังกา

ต่อมาพระนางสังฆมิตตาได้ย้ายไปอยู่ที่หัตถัลหกะภิกษุณีอาราม และอยู่ที่นั่นจนมรณภาพเมื่ออายุได้ 80 พรรษา

 

ในความเจริญรุ่งเรืองของภิกษุณีสงฆ์นั้น คัมภีร์มหาวงศ์เล่าถึงว่าเมื่อพระอาจารย์ปิยทัสสีแสดงธรรมในคราวที่ฉลองพระมหาเจดีย์นั้น มีภิกษุณีเข้าร่วมถึง 9,000 รูป

ในขณะที่พระมหินท์เถระและพระนางสังฆมิตตาเถรีช่วยกันสืบสานงานการเผยแผ่พระศาสนาในศรีลังกานั้น การออกบวชเป็นที่นิยมในหมู่ชาวศรีลังกา ปรากฏว่ามีสตรีชนชั้นเจ้านายออกบวชหลายรูป อีกทั้งศาสนาพุทธยังได้รับการทำนุบำรุงอย่างดีจากสถาบันกษัตริย์ พุทธศาสนาจึงมั่นคงในศรีลังกานับพันปี

ที่สำคัญคือเมื่อหลวงจีนฟาเหียนเดินทางมาศรีลังกาในศตวรรษที่ 4 ได้เห็นความเจริญรุ่งเรืองของทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ เมื่อสตรีชาวพุทธในจีนปรารถนาการอุปสมบท พระสมณะฟาเหียนจึงเป็นผู้จัดการให้เรือนันทินิมนต์พระภิกษุณีจากศรีลังกาไปให้การอุปสมบทสตรีชาวจีนใน ค.ศ.433

ภิกษุณีศรีลังกาที่เป็นผู้นำในคณะประวัติศาสตร์นี้คือท่านเทวสร การอุปสมบทจัดขึ้นที่วัดป่าใต้เมืองนานกิง และมีสตรีที่ได้รับการอุปสมบทครั้งนี้ถึง 300 รูป แม้บัดนี้ ภิกษุณีที่เฉิงตูและเสฉวนก็ยังถือว่า ภิกษุณีจีนได้รับสายการบวชไปจากเถรวาทจากศรีลังกา

งานประกาศพระศาสนาของพระนางสังฆมิตตาจากอินเดียสู่ศรีลังกา และสืบทอดไปประเทศจีนด้วยวิธีนี้