คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : พระโคกินเลี้ยง คำทำนายและประเทศไทย 4.0

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ในสมัยโบราณ พระราชพิธีส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดมักมีการเสี่ยงทาย โดยเฉพาะคำพยากรณ์เกี่ยวกับบ้านเมือง เช่น พระราชพิธีเคณฑะ (พิธีทิ้งข่าง) พระราชพิธีกาติเกยา (เสี่ยงทายบาตรแก้ว) พิธีธันยเฑาะว์ (พิธีเผาข้าว) (สามพิธีนี้ทำในสมัยกรุงเก่า ไม่ได้ทำในสมัยรัตนโกสินทร์) พิธีตรียัมปวายตรีปวาย และแรกนาขวัญ

การเสี่ยงทายเหล่านี้ มักเป็นเรื่องกว้างๆ เช่น บ้านเมืองจะมั่นคงหรือไม่ ดินฟ้าอากาศจะเป็นอย่างไร ทำนองนี้

การพยากรณ์ในสังคมโบราณเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เนื่องจากสังคมโบราณไม่ได้มีเครื่องไม้เครื่องมือทางเทคโนโลยีที่จะช่วยให้คนสามารถมั่นใจกับการประกอบสัมมาอาชีพได้ เช่น ไม่มีพยากรณ์อากาศอย่างในปัจจุบัน จะทำนาทำไร่แต่ละครั้งก็เป็นความเสี่ยงที่สูง รวมทั้งความไม่มั่นคงของบ้านเมืองจากปัจจามิตรหรือเภทภัยต่างๆ

พูดง่ายๆ ว่า พอไม่มีความมั่นคงแล้ว การเสี่ยงทายหรือพยากรณ์จึงมีตามมา ก็เพื่อความรู้สึกปลอดภัย

 

ปัจเจกบุคคลก็เช่นเดียวกัน ผมสังเกตว่าคนเราดูดวงกันอยู่ไม่กี่เรื่อง การเงิน การเรียน การงาน ความรัก และเท่าที่ผมพบ คนสมัยใหม่มักจะให้ทำนายเรื่องความรักเป็นหลัก รองมาคือการเงินหรือการงาน

อาจเพราะสามเรื่องนี้ โดยเฉพาะเรื่องความรักเป็นอะไรที่คาดเดาได้ยากที่สุดกระมัง คนจึงต้องพึ่งพาคำพยากรณ์มากที่สุด

ในสมัยโบราณ ผมไม่ทราบจริงๆ ว่าคนจะเชื่อคำพยากรณ์ในพระราชพิธีกันมากน้อยเพียงใด แต่เข้าใจว่าคำพยากรณ์เป็นส่วนหนึ่งของรัฐประศาสนโยบายในการปกครองบ้านเมืองมากกว่าจะถือกันจริงจัง

อย่างแรก ใช้คำทำนายในลักษณะของการวิจารณ์ผู้ปกครองบ้านเมือง โดยกลุ่มอำนาจอื่นๆ เพื่อทำลายความชอบธรรมในการปกครอง เช่น เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา

อย่างที่สองคือ การพยากรณ์ โดยตัวมันเองแสดงอำนาจของผู้ปกครองอยู่แล้ว เพราะการจะติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์จนอาจให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เผยคำทำนายออกมาได้ ผู้ปกครองต้องมีอำนาจความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง หรือบังคับบัญชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นผ่านนักบวชอีกชั้นหนึ่งได้

ในสมัยกรีกโบราณ กษัตริย์ต่างๆ ของกรีกก็มักมีเทพพยากรณ์ของรัฐตน และเมื่อนครรัฐน้อยใหญ่จะรบพุ่งโจมตีกันก็มักต้องแย่งชิงหรือบุกทำลายวิหารของเทพพยากรณ์เหล่านั้น นัยว่าเพื่อนำอำนาจพยากรณ์มาเป็นของตัว หรือทำลายขวัญศัตรู

คำทำนายจะจริงไม่จริงไม่รู้ แต่หากเทพพยากรณ์ทำนายว่าจะชนะ ไพร่พลย่อมฮึกเหิมมีกำลังใจเป็นธรรมดา

คำพยากรณ์ในแบบพิธีการในเวลาปกติ จึงมักไม่ค่อยมีที่ร้ายมากๆ มักไปเป็นในทำนองกลางๆ ค่อนไปทางดี

 

ดังนั้น เมื่อพระโคกินเลี้ยง จะกินอะไรก็ตาม คำพยากรณ์จึงดีทั้งนั้นครับ ดีมาก ดีน้อย ดีแง่ไหนแค่นั้น

ที่จริงพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธีเดียวในปัจจุบันที่คนให้ความสำคัญและสนใจมากที่สุด อาจด้วยเพราะเกี่ยวพันกับคนทั่วๆ ไปอยู่บ้าง เช่น เกี่ยวข้องกับการเกษตรซึ่งเป็นอาชีพสำคัญในบ้านเรา (แม้ว่าเราจะไม่ได้ส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งอีกแล้ว) เป็นพระราชพิธีที่ส่อแสดงถึงความผสมผสานของผี พราหมณ์ พุทธ และมักเป็นประเด็นทั้งถกเถียง (และล้อเลียน) ในโลกออนไลน์

ที่สำคัญ เป็นพระราชพิธีที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับการเมืองและมีความเปลี่ยนแปลงหลายต่อหลายครั้ง หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีการยกเลิกพระราชพิธีในกรุงเทพฯ หลายอย่าง โดยเฉพาะที่ “เป็นไสยศาสตร์ แต่ควรมีพิธีเกี่ยวกับทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น” (รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 51/2479 วันพุธที่ 14 ตุลาคม 2479)

รัฐบาลสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงแรกมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ว่าควรจัดต่อไปหรือไม่ และถ้าจัดจะจัดในรูปแบบไหน เช่น จะจัดเฉพาะในกรุงเทพฯ หรือจัดในทุกหัวเมือง ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นผู้แรกนาหรือจะให้ตัวแทนชาวนาที่ชนะการประกวดแรกนา ฯลฯ

ประเด็นหลักของงานในสมัยนั้นคือรัฐบาลมุ่งที่จะให้เกษตรกรปลูกพันธุ์ข้าวที่รัฐส่งเสริม งานจึงออกมาในรูปของการประกวดและแรกนาในทำนองกำลังใจเสียมากกว่าพิธีศักดิ์สิทธิ์

จนในที่สุดก็ยกเลิกพระราชพิธีนี้ไปหลายปี และกลับมาฟื้นฟูในราว พ.ศ.2503

อนึ่ง ในปี 2503 เรียกพิธีนี้ว่า “รัฐพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” แล้วจึงเปลี่ยนเป็น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญใน 2505 ตามอย่างเดิม

 

เมื่อมีการรื้อฟื้นแล้ว จึงได้นำขั้นตอนต่างๆ รวมทั้งการเสี่ยงทาย เช่น การเสี่ยงทายผ้านุ่งพระยาแรกนาและการเสี่ยงทายพระโคกินเลี้ยงกลับมาด้วย

สำหรับผมแล้ว การอนุรักษ์พิธีกรรมประเพณีเก่าๆ ถ้าไม่ทำอย่างเป็นเพียงการแสดงหรือเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างดาษๆ เผินๆ (เช่นที่ ททท. มักชอบทำ) ก็น่าจะเป็นสิ่งดี เพราะทำให้ได้เรียนรู้ของเก่าๆ อย่างชนิดได้เห็นด้วยตา ฟังด้วยหู

ทั้งนี้ เราก็ไม่จำเป็นจะต้องเชื่ออะไรในพิธีไปเสียทุกอย่าง โดยเฉพาะในส่วนของการเสี่ยงทาย

อย่างที่ผมเขียนไว้ข้างต้นล่ะครับ บางเรื่องที่ทำนายได้ด้วยวิทยาศาสตร์แล้ว เช่น ฝนฟ้าอากาศ ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพิธีกรรมเสี่ยงทายอีกเพราะหน้าที่ของมันควรหมดไป จะรักษาไว้พอให้เป็นเชิงอนุรักษ์ก็ได้ แต่อย่าไปถือจริงจังนัก

ในโลกออนไลน์ ผมเห็นคนขำกันมาก และล้อกันทุกปีในเรื่องพระโคกินเลี้ยง ไม่ใช่เพราะคนเหล่านี้เกลียดบ้านเมืองตนเองหรือไม่เข้าใจความเป็นไทยดังที่หลายคนด่าหรอกครับ

คงเพราะความแปร่งแปลกที่ปรากฏในพิธีกรรม อันดูจะขัดกับความคิดและความก้าวหน้าของโลกสมัยใหม่ ในขณะที่เรา (หรือรัฐบาล) พยายามบอกให้ก้าวไปสู่ยุค 4.0 ยุคที่เน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ยุคที่คนในบ้านเราคงไม่ต้องการคำพยากรณ์อะไรจากโค แต่อยากได้รัฐบาลที่ทำงานเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

ซึ่งเราพอจะพยากรณ์ได้เองว่าประเทศชาติจะไปทางไหน เจริญขึ้นหรือทรุดลง

 

คิดๆ ไป จะไม่ขำยังไงไหว ในยุคนี้เรายังมีนายกรัฐมนตรีที่ออกมาบอกว่า “สบายใจ” กับคำทำนายพระโคกินเลี้ยงว่าเศรษฐกิจประเทศจะดี และสำทับว่า ก็ไม่แน่นะอาจมีปัจจัยที่ทำให้ (คำทำนาย) คลาดเคลื่อนได้

ผมพบแล้วครับ คนหนึ่งที่น่าจะเชื่อคำทำนายพระโคกินเลี้ยงในยุคนี้

ที่จริงใครจะเชื่ออะไรในทางส่วนตัวผมไม่ว่าอะไรทั้งนั้น หากไม่ไปละเมิดใคร นี่เป็นจุดยืนของผมเสมอมา

แต่เผอิญคนเชื่อดันเป็นนายกฯ ที่ความเชื่อของท่านมันเกี่ยวพันไปยังคนอื่นๆ และบ้านเมืองด้วยนะซี

เจอแบบนี้ จะมีเลือกตั้งเมื่อไหร่ โคหรือใครช่วยทายหน่อย