ล้านนาคำเมือง : “สะล้อ”

อ่านป็นภาษาล้านนาว่า “สะล้อ”
สะล้อเป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสีของล้านนา กล่องเสียงทำด้วยกะลามะพร้าวคล้ายซออู้ของภาคกลาง แต่คันชักของสะล้อจะมีความแตกต่างกันกับซออู้
กล่าวคือ คันชักจะอยู่นอกสายสะล้อ
คันชักดังกล่าว แต่เดิมที่ใช้หางม้าทำสาย แต่ปัจจุบันหางม้าหายากจึงใช้สายเอ็นเส้นเล็กๆ ทดแทน
สมัยโบราณจะเอาหางม้าถูกับขี้ชันขะย้า ซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนยางสน นำมาถูไปมาที่หางม้าหรือสายเอ็นเพื่อให้เกิดความฝืด ในการเสียดสีทำให้เกิดเสียง
ส่วนประกอบสำคัญของสะล้อคือ กล่องเสียงซึ่งทำจากกะลามะพร้าว
ตัดกะลาออกเสียด้านหนึ่งแล้วใช้แผ่นไม้บางปิดแทนการขึ้นหนัง และส่วนโค้งของกะโหลกด้านหลัง เจาะเป็นรู เพื่อให้เสียงสามารถดังกังวานออกมาได้
คันสะล้อนิยมทำด้วยไม้สัก ปัจจุบันไม้สักมีราคาค่อนข้างสูง จึงเปลี่ยนมาใช้ไม้เนื้อแข็งอื่นๆ ทดแทน
โดยปกติคันสะล้อจะยาวประมาณ 60 เซนติเมตร มีลูกบิดเพื่อใช้ปรับสายอยู่ด้านบนเจาะรูเสียบทะแยงไปในคัน สะล้อนิยมทำเป็นสองสาย แต่ที่ทำเป็นสามสายก็มีอยู่บ้าง
ในบางท้องถิ่นตามหลักฐานโบราณ พบว่าในโคลงนิราศหริภุญชัย เรียกเครื่องดนตรีนี้ว่า ธะล้อ
สันนิษฐานว่าชื่อที่ใช้เรียกเครื่องดนตรีนี้น่าจะมาจากภาษาขอม ว่า ทรอ
ซึ่งทางภาคกลางอ่านว่า ซอ แต่ทางล้านนาแยกเสียงอ่านเป็นสองพยางค์ จึงมีพัฒนาการชื่อจาก ทรอ-ทะลอ -ธะลอ -ธะล้อ
และเป็น สะล้อ ในที่สุด

ปัจจุบันสะล้อมี 3 ขนาด ตามขนาดของกะลามะพร้าว คือ สะล้อหลวง สะล้อกลาง และสะล้อเล็ก
ที่นิยมบรรเลงกันอย่างแพร่หลายคือ คือ สะล้อหลวง และสะล้อกลาง ส่วนสะล้อเล็กไม่เป็นที่นิยมนัก ใช้บรรเลงร่วมกับ ซึง เรียกว่า วงสะล้อซึง
ซึ่งเป็นวงที่มีเสียงจากเครื่องสายเป็นหลัก นิยมใช้เล่นกันตามท้องถิ่นภาคเหนือโดยทั่วไป และมีเครื่องดนตรีอื่นๆ เข้ามาประกอบอีกด้วย เช่น ปี่ก้อย ขลุ่ย กลอง ฉิ่ง ฉาบ นิยมใช้บรรเลงเพลงพื้นบ้านที่ไม่มีการขับร้อง เช่น เพลงประสาทไหว ล่องแม่ปิง เป็นต้น
แต่ปัจจุบันสามารถใช้บรรเลงเพลงสมัยใหม่ เช่น เพลงลูกทุ่ง ด้วย
ยังมีสะล้ออีกประเภทหนึ่ง ที่นิยมเล่นในจังหวัดน่านและแพร่ เรียกว่าสะล้อเมืองน่าน มีลักษณะแตกต่างออกไป คือ มีลูก (นม) บังคับเสียง ใช้บรรเลงร่วมกับซึงเรียกว่า “พิณ” (อ่านว่า “ปิน”) ประกอบการขับซอน่าน ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ในสมัยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ท่านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในวงการนาฏศิลป์และดุริยศิลป์ของล้านนาอย่างยิ่ง วงสะล้อ-ซึง จึงมีบทบาทเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการบรรเลงประกอบละครร้องและฟ้อนรำ จึงถือได้ว่าเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ และแพร่กระจายจากวังสู่ชาวบ้าน
อีกประการหนึ่งซึ่งต้องกล่าวถึง คือการใช้วงสะล้อ-ซึง ประกอบพิธีกรรมและความเชื่อ คือบรรเลงประกอบประเพณีฟ้อนผี ซึ่งแต่เดิมไม่นิยมใช้บรรเลงเพราะมีเสียงเบา
ภายหลังเมื่อมีเครื่องขยายเสียง จึงทำให้ วงสะล้อ-ซึง มีบทบาทหน้าที่ในพิธีกรรมนี้อีกโสดหนึ่ง

ใต้ภาพ
สมเด็จพระเทพฯ สีสะล้อสองสายของบ้านเฮา
แปลว่า สมเด็จพระเทพฯ ทรงสะล้อประเภทสองสายของบ้านเรา