ล้านนาคำเมือง : ห้างต้งห้างนาที่หาดูได้ยาก!

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ห้างต้งห้างนา”

คำว่า “ห้าง” มี 2 ความหมาย แปลว่า ตกแต่ง ประดับ เช่น “ห้างดา” แปลว่า การจัดเตรียมงาน “ห้างขัน” แปลว่า การจัดเตรียมพานเครื่องบูชา

แต่ “ห้าง” ในที่นี้ หมายถึง สิ่งปลูกสร้างที่ทำขึ้นชั่วคราวสำหรับกิจกรรมหนึ่ง ๆ เช่น เอาไว้พักเวลาทำนา เอาไว้พักสำหรับดักยิงสัตว์

คำว่า “ห้างต้ง” และ “ห้างนา” ในภาษาล้านนา แปลว่า เพิงในทุ่ง และเพิงในนา หรือเถียงนา คนล้านนาชอบใช้สร้อยคำเพื่อขยายความ จึงเอาคำว่า “ห้างต้งห้างนา” มารวมกัน

นาข้าวจำเป็นต้องมีน้ำหล่อเลี้ยงอุดม และจะต้องได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่จึงจะให้ผลผลิตที่ดี บริเวณที่เป็นทุ่งนาแทบจะไม่มีต้นไม้ใหญ่ ไม่มีที่หลบแดดฝน ดังนั้นจึงจำเป็นสำหรับคนทำนาที่จะต้องมีเพิงพัก เอาไว้หลบร้อน หลบฝน

เจ้าของนาจะปลูก “ห้าง” ไว้ใช้พัก หรือเอาไว้นอนเฝ้านา ขณะทำนาจนกระทั่งเกี่ยวข้าวเสร็จ มีลักษณะเป็นเพิงหลังเล็ก ๆ เดิมทีคงทำแบบชั่วคราว สร้างขึ้นง่าย ๆ แต่สมัยนี้ “ห้างต้งห้างนา” เป็นสิ่งปลูกสร้างที่ค่อนข้างจะถาวรขึ้น แต่ก็คงความง่ายเอาไว้ คือ มีเสาสี่ต้น หลังคามุงด้วยใบตองตึง หญ้าคา หรือสังกะสี ด้านข้างส่วนมากเปิดโล่ง แต่บางครั้งก็มีฝาด้านหนึ่งเอาไว้ปิดกันฝน กันแดดไม่ให้สาดเข้ามาในเพิง

สังคมล้านนาโบราณผูกพันอยู่กับการทำนา ดินแดนล้านนาจึงมีผืนนากว้างไพศาลสุดลูกหูลูกตา มีคันดินสำหรับกั้นเป็นแปลง ๆ ไป ปราชญ์โบราณจึงเรียกดินแดนแห่งนี้ว่า “ทสลกฺขเขตฺตนคร” แปลว่าอาณาจักรที่มีนาจำนวนสิบแสน ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “ล้านนา” นั่นเอง

สำหรับ “ห้างต้งห้างนา” เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของแปลงนา นาข้าวเขียวขจีจะถูกแต่งแต้มด้วยห้างเป็นระยะ ทำให้ทัศนียภาพของนาข้าวแบบล้านนามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

แต่นับวันเราจะหาดู “ห้างต้งห้างนา” ทางภาคเหนือได้ยากมากขึ้น เพราะชาวนาทุกวันนี้เริ่มหันมาใช้เต๊นท์กันแดดกันฝนในนา นัยว่าสะดวก เคลื่อนย้ายง่าย และดูทันสมัยกว่า