ภาพยนตร์ /นพมาส แววหงส์ / ANON ‘โลกที่โปร่งใส’

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์  นพมาส แววหงส์

ANON

‘โลกที่โปร่งใส’

กำกับการแสดง   Andrew Niccol

นำแสดง  Clive Owen   Amanda Seyfried

 

แอนดรูว์ นิกคอล ผู้กำกับหนังที่เป็นผู้เขียนบทคนนี้ คงต้องเรียนวิชาการเขียนบทมาจากที่ไหนสักแห่งที่ใช้ประโยคคำถาม “What if?” เป็นคาถาวิเศษเพื่อเสกและสรรค์สร้างจินตนาการบรรเจิดกว้างไกลในโลกที่ไม่มีอยู่จริง หรืออาจเป็นจริงเข้าสักวันข้างหน้า…

ก็ “ถ้า” โลกแบบนั้นเป็นไปได้ล่ะ จะเกิดอะไรขึ้นหนอ…

ผู้เขียนชอบหนังที่เขาเขียนและกำกับฯ หลายเรื่อง

เท่าที่นึกออกก็มี Gattaca (1997) ซึ่งเป็นไซไฟที่มาพร้อมสมมติฐานที่ว่า ชีวิตทั้งชีวิตของคนเราขึ้นอยู่กับดีเอ็นเอในตัว ซึ่งทำให้เด็กที่เกิดโดยธรรมชาติกลายเป็นคน “ด้อย” (หรือ invalid) และพ่อแม่ต้องพยายามผลิตลูกด้วยวิทยาศาสตร์พันธุกรรมเพื่อให้เป็นคน “เด่น” (หรือ valid) หนังที่มีอีธาน ฮอว์ก เป็นพระเอกเรื่องนี้ เปิดตัวจู๊ด ลอว์ นักแสดงโปรดคนหนึ่งของผู้เขียน

ใน S1m0ne (2002) ผู้กำกับหนังที่ตกอับ (อัล ปาชิโน) สร้างนักแสดงดิจิตอลขึ้นจากอากาศธาตุ ทำให้โด่งดังไปทั่วโลก จนต้องหาทางกำจัดสิ่งที่ไม่มีตัวตนนี้ออกไปให้พ้นทาง

ไซไฟอีกเรื่องที่นิกคอลเขียนและกำกับฯ คือ In Time (2011) ซึ่งวางสมมติฐานไว้ในโลกที่ผู้คนได้รับเวลาในชีวิตแค่เพียง 25 ปี แต่จะสามารถต่อชีวิตไปด้วยการซื้อหาหรือขโมย “เวลา” จากคนอื่น

หนังเรื่องนี้มีจัสติน ทิมเบอร์เลก เล่นกับอแมนดา เซย์ฟรีด ซึ่งมาเป็นสาวลึกลับใน Anon นี่เอง

บทหนังที่เด่นที่สุดของแอนดรูว์ นิกคอล คือ The Truman Show (1998) ซึ่งเขาไม่ได้กำกับหนังเอง และมีจิม แคร์รี่ เล่นในบทที่ดีที่สุดที่แคร์รี่เคยได้รับ

หนังเรื่องนี้ตั้งสมมติฐานให้คิดว่า ถ้าชีวิตเราเป็นแค่ reality show ที่มีคนอื่นเฝ้าดูอยู่ตลอดเวลาล่ะ ถ้าเราเป็นเหมือนสัตว์ที่เขาเลี้ยงไว้ในกรงในสวนสัตว์เพื่อสร้างความบันเทิงให้แก่คนที่ดูอยู่จากข้างนอกล่ะ…

 

มาถึง Anon ซึ่งเป็นหนังของเน็ตฟลิกซ์ในขณะนี้ สมมติฐานคือว่าทุกภาพที่ดวงตาของทุกคนมองเห็นตลอดชีวิตจะถูกบันทึกไว้ในอีเธอร์ (เทียบได้กับ “คลาวด์” ที่เรารู้จักในโลกดิจิตอล)

ดังนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกอย่างจึงสามารถเรียกขึ้นมาดูได้ สังคมจึงแทบจะปลอดอาชญากรรม เพราะเป็นสังคมที่มียิ่งกว่าดวงตาของกล้องรักษาความปลอดภัยคอยจับจ้องอยู่

เป็นสังคมที่โปร่งใส จนแทบไม่สามารถปิดบังการกระทำใดๆ ไว้จากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองได้

ตำรวจคลี่คลายคดีแทบจะทันที เพียงเรียกภาพที่ตาของผู้อยู่ในเหตุการณ์บันทึกไว้และถูกส่งไปเก็บในอีเธอร์ มาดูก็จะเห็นเหตุการณ์อย่างกระจ่างชัดประหนึ่งว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นต่อหน้า

ดังนั้น กรมตำรวจจึงแทบไม่มีงานให้ทำ นอกจากงานนั่งโต๊ะซึ่งสามารถคลี่คลายคดีได้ในพริบตา

ซัล ฟรีแลนด์ (ไคลฟ์ โอเวน) นักสืบของกรมตำรวจในนิวยอร์ก ที่มีโศกนาฏกรรมในชีวิตของตัวเอง ด้วยการสูญเสียลูกชายในอุบัติเหตุที่เขาโทษตัวเอง ซึ่งเป็นเหตุของการหย่าร้างกับภรรยา เพิ่งเจอคดีฆาตกรรมที่ไม่สามารถคลี่คลายได้ เนื่องจากภาพที่เหยื่อฆาตกรรมมองเห็น เป็นภาพที่ถูกปรับแต่งให้เป็นมุมมองของตัวฆาตกรเอง

ซัลเริ่มนึกสนุกกับงานสืบสวนคดีที่ไม่สามารถคลี่คลายด้วยหลักฐานที่ดวงตาบันทึกไว้ได้

และวางแผนปลอมตัวเป็นเศรษฐีเพลย์บอยที่อยากปกปิดเรื่องชู้สาวชั่วครั้งชั่วคราวไว้จากแฟนตัวเอง จึงมองหาแฮ็กเกอร์เก่งๆ ที่จะมาช่วยลบและปรับแก้บันทึกที่ส่งขึ้นอีเธอร์ เผื่อว่าแฟนขอดู จะได้ไม่ต้องเกิดเรื่องผิดใจกัน

เขาจึงติดต่อกับสาวลึกลับ ที่เรียกตัวเองว่า นิรนาม หรือ Anon (อแมนดา เซย์ฟรีด) ตามชื่อหนัง ผู้เป็นแฮ็กเกอร์ที่เก่งกาจสามารถลบ ปรับเปลี่ยนหรือใส่ข้อมูลใดๆ ไว้ในสายตาของใครก็ได้)

 

หลังจากโรแมนซ์ร้อนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างหนุ่มสาวต่างวัยแล้ว การปลอมตัวของซัลก็ถูกเปิดหน้ากากออกโดยไม่ยากจากฝีมือของแฮ็กเกอร์ผู้ชำนาญการ และซัลเริ่มถูกปั่นหัวโดยการปรับเปลี่ยนภาพที่เขามองเห็นอยู่ตรงหน้า จนเขาแทบจะกลายเป็นคนบ้าไล่ยิงผู้คนโดยรอบ

ก่อนหน้านั้นเขาเคยมีประสบการณ์เสมือนจริงที่น่าหวาดเสียวจนรู้สึกได้จริงๆ คือ เห็นรถไฟวิ่งเฉียดร่างเขาไปจนกระเด็น ทั้งๆ ที่เขาแน่ใจว่าไม่มีทางมีรถไฟอยู่จริง

เรื่องราวตอนสุดท้ายที่เป็นการคลี่คลายปมฆาตกรรมนั้น ออกจะรู้สึกเบี่ยงเบนไปจากทิศทางของหนังพอดู จนเหมือนกับหักมุมจบเอาดื้อๆ

แรงจูงใจของฆาตกรรมอำพรางต่อเนื่อง แม้จะชี้ตัวผู้กระทำผิด แต่ก็ดูเลือนราง กะทันหัน และยังไม่หนักแน่นพอ

สาวนิรนามยังคงความเป็นนิรนามอยู่ตลอดเรื่อง เรายังไม่รู้จักตัวตนของเธออยู่นั่นแหละ แต่อาจจะมีเงื่อนงำเล็กๆ น้อยๆ ที่บอกว่าเธอต้องการอะไรในการลบตัวตนของตัวเองออกจากระบบ กลายเป็นคนไร้ประวัติ ที่ทางการตรวจสอบไม่ได้

เธอพูดกับซัลว่า “คุณรุกรานความเป็นส่วนตัวของฉัน แล้วนั่นไม่เป็นไรเลย ฉันพยายามเอาความเป็นส่วนตัวคืนมา แล้วนั่นคืออาชญากรรม”

ซึ่งทำให้เธอเป็นคนนอกสังคมผู้ต่อต้านกับระบบในโลกที่ทุกสิ่งต้องโปร่งใสไปถึงก้นบึ้ง และทำให้เห็นว่าโลกที่ความเป็นส่วนตัวถูกรุกรานจนไม่เหลือนี้ เป็นโลกที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลจนเกินไป

 

ตัวละครที่เรียกตัวเองในโลกออนไลน์ว่า “อะนอน” คนนี้ ยังคงเป็นสาวลึกลับที่ไม่มีการเฉลยที่มาที่ไป

มีแต่คำคมประโยคสุดท้ายที่เธอทิ้งไว้เป็นปริศนาก่อนเดินจากไปในความมืด คือ “ไม่ใช่ว่าฉันมีอะไรจะปิดบังหรอกนะ ฉันไม่มีอะไรที่อยากให้คุณเห็นต่างหาก” (It’s not that I have something to hide. I have nothing I want you to see.)

พูดง่ายๆ ด้วยภาษาปัจจุบันที่ได้ยินบ่อยๆ คือ “เธอมีโลกส่วนตัวสูง” ค่ะ

ขอนอกเรื่องหน่อย คือสำนวนที่ใช้กันจนชินหูนี้สร้างความงงงันให้แก่ผู้เขียนตราบจนบัดนี้ ไม่รู้ว่าคุณศัพท์ “สูง” ไปขยาย “โลกส่วนตัว” ได้ยังไง แล้วถ้าจะพูดในทางตรงข้ามคือ มีโลกส่วนตัวต่ำ หรือยังไงกัน เคยได้ยินแต่ ฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ ตอนนี้มีโลกสูงโลกต่ำเพิ่มเข้ามาอีก

ชวนให้เกิดความพิศวงงงงวยแท้ๆ