ล้านนาคำเมือง : ลวงเหล้นฝ้า ชาวล้านนาเปรียบกับอะไร ?

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ลวงเหล้นฝ้า”

“ลวง” เป็นสัตว์ในเทพนิยาย รูปลักษณ์ของตัวลวงมาจากสัตว์หลายประเภท คือ มีเขา เหมือนกวาง หัวคล้ายวัว มีลำตัวเป็นงูหรือพญานาค มีเกล็ดเป็นปลา  มีเท้าเหมือนเท้าเหยี่ยวหรือมังกร ตัวลวงมีปีกอย่างชัดเจน ซึ่งแสดงว่าล้านนารับเอาอิทธิพลของศิลปะจีนยุคราชวงศ์ หมิง และหยวนเข้ามา แถมคำว่า “ลวง” ก็น่าจะมาจาก “หลง” หรือ “เล้ง”ในภาษาจีน ที่แปลว่า มังกร อีกด้วย

ส่วน “เหล้น” คือเล่น และ “ฝ้า” หมายถึง ก้อนเมฆ

คนล้านนาเรียกปรากฏการณ์ที่มีฟ้าแลบแปลบปลาบอยู่ในหมู่เมฆ โดยไม่มีเสียงฟ้าร้อง ว่า “ลวงเหล้นฝ้า” แปลตรงตัวได้ว่า “มังกรคะนองเมฆ” ซึ่งใกล้เคียงกับ “เมขลาล่อแก้ว” ของไทยภาคกลาง

ในศิลปะแบบล้านนาเรามักจะพบพญาลวงเสมอ เป็นจิตรกรรมลายคำ ไม้แกะสลัก และงานปูนปั้น ประดับฝาผนังวิหาร โบสถ์ ปราสาท หรือซุ้มประตูโขง เช่น นาคทันต์ หรือ คันทวย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของสถาปัตยกรรมล้านนา

ในวรรณกรรมล้านนา ก็กล่าวถึงลวงเสมอ เช่นปราสาทศพของนางมัทรี ในเวชสันตรราชชาดก ฉบับไม้ไผ่แจ้เรียวแดง รจนาเอาไว้ว่า
“…….. น้ำแต้มอยาดลายฅำ พี่จักหื้อแต้มรูปตั๋วดำตั๋วแดงอยายอยาด  รูปนาคบ้วงบาทเกี้ยวตีนลวง ใส่ดอกพวงมอมม่าย รูปคะต่ายเต้นเพื่อนมังกอร……”
ในนิทานเรื่อง เสี่ยวง่าว เสี่ยวหล๊วก ของน่าน ก็กล่าวถึง  ลวง ว่ามีลักษณะเหมือนท่อนไม้ ที่ตัดจากต้นบ่าลิดไม้ (เพกา) ที่วางกั้นคันดินตรงฮ่องหล่อ (ร่องรับน้ำฝนที่ตกจากชายคา) เมื่อถึงเวลา ท่อนไม้จะกลายเป็นลวง เลื้อยผยองขึ้นบนอากาศ มุ่งตรงไปยังเขาสัตตบริภัณฑ์เพื่อไปกินหน่อเงินหน่อคำที่นั่น จวบจนใกล้สว่างจึงกลับมาเป็นขอนไม้ดังเดิม

นอกจากนี้ในธรรมป๋าก่อ (ธรรมบทปลาช่อน) กล่าวถึง วัสสาลาวหกเทพ บรรเลงบทเพลง เมฆคีตาทำให้เกิดพลังสั่นสะเทือน เมฆแตกตัว สายฟ้าแปลบปลาบ พญาลวงเล่นเลี้ยวในก้อนเมฆอย่างคึกคะนอง เกิดหยดน้ำฝนพรมสู่โลก อันเป็นสัญญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์

แสดงว่าพญาลวงเข้ามาเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องฝน เช่นเดียวกับพญานาคทางภาคกลางที่ให้น้ำ และมังกรของจีนที่สัมพันธ์กับฝน คนล้านนาเชื่อว่าในขณะที่ตัวลวงแหวกว่ายขึ้นบนเวหา เกี้ยวสอดดั้นในหมู่เมฆ ด้วยอานุภาพของพญาลวง ก็จะเกิดปรากฏการณ์ “ลวงเหล้นฝ้า” ซึ่งก็คือลักษณะของฟ้าแลบแปลบปลาบอยู่ไกล ๆ อันเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าอีกไม่นานฝนก็จะตกแล้ว

ศิลปินล้านนายังจินตนาการ เอาการเคลื่อนไหว กรีดกรายของตัวลวงที่ชำแรกแหวกดั้นเมฆอย่างสง่า สวยงาม และอ่อนไหวนั้น มาเปรียบเปรยกับการเยื้องย่างของหญิงชาวล้านนา ดังค่าวบทบ่าวกล่าวชมเชยสาวว่า “…งามเลิศแล้วเหมือนแก้วเงาใส คันยกตีนไป เหมือนลวงเหล้นฝ้า…..” หรือ อีกบท ว่า “…..ร่างก็แค้ว แอวก็ไหว ยกตี๋นไป เหมือนลวงเหล้นฝ้า…..”