มนัส สัตยารักษ์ : ไม้หลักปักขี้ควาย

“ไม้หลักปักขี้ควาย” เป็นวลีที่ผมจำติดปากมาจากคำพูดของอดีตผู้บังคับบัญชาของผมสมัยอยู่กองปราบปรามสามยอด ท่านเป็นทั้งลูกพี่ เป็นทั้งครู ทั้งในเรื่องงานราชการและเรื่องที่ไม่เป็นราชการ

เป็นวลีที่คงจะเอามาจากคำโบราณ “ไม้หลักปักขี้เลน” อันหมายถึงความไม่เป็นโล้เป็นพายในกฎเกณฑ์ต่างๆ กฎเหณฑ์ที่ไม่เข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ หรือมากกว่า 2 มาตรฐาน

เมื่อใช้ “ปักขี้ควาย” ดูจะได้อารมณ์กว่าปักขี้เลน เพราะเท่ากับได้เติมสี ใส่กลิ่นและเพิ่มความเหลวเละเข้าไปให้ข้นคลั่กมากขึ้นนั่นเอง

“เฮีย” มักจะใช้วลีนี้ในเวลาวิพากษ์หรือค่อนขอดการทำงานของนายระดับสูงที่ไม่มีหลักเกณฑ์เป็นมาตรฐานแน่นอน และเฮียใช้บ่อยเสียจนผมพลอยติดปากไปด้วย

ดังนั้น พอผมเขียนถึง “บ้านตุลาการ” ความไม่มีนิยามที่แน่นอนของ “คำ” ต่างๆ ที่ใช้กันในระหว่างพิจารณาดำเนินการของผู้เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งหมดไปพันล้านบาท ได้มาแต่เพียงภาพอัปลักษณ์ของ “ป่าแหว่ง” เชิงดอยสุเทพ เชียงใหม่ ที่เอามาใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย นอกจากรื้อออกและเตรียมป้องกันน้ำหลาก รอรับการพังทลายของดิน หรือดินถล่ม หรือแลนด์สไลด์ หรือที่คนไกลบ้านเรียกว่า landslide (ฮา)

บรรดาผู้พิพากษาตุลาการทั้งหลายผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ คงไม่มีใครสมัครใจมาอยู่แถวนี้กันแล้วไม่ว่าดินจะถล่มหรือไม่ก็ตาม

ในระหว่างเริ่มดำเนินการโครงการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 มีคำศัพท์ภาษาไทยหลายต่อหลายคำที่ไม่มี “นิยาม” อันชัดเจน ทำให้หลายฝ่ายต่างตีความให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง และเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น ทำให้ผู้ที่พูดถึง โต้แย้ง ดีเบต วิวาทะ จนแม้กระทั่งประณามกัน ต่างตีความแต่ละคำในความหมายที่ต่างกันเป็นคนละเรื่อง

ความเสียหายมหาศาลที่แก้ไขไม่ได้ก็คือ -ไม่มีฝ่ายใดผิด จึงไม่มีฝ่ายใดถูก!!

ป่าแหว่งในที่อื่นๆ ทั่วประเทศยังคงอยู่อย่างท้าทาย สามารถมองเห็นรอยอัปลักษณ์ชัดเจนจากสายตานก

คำศัพท์ต่างๆ ที่ดูเหมือนว่าเราจะคุ้นเคยกันดี แต่เอาเข้าจริงๆ ต่างไม่มีนิยามหรือคำจำกัดความให้พอจะสรุปชัดเจนได้ความหมายที่ถูกต้องคืออะไรกันแน่

วาระแรกก่อนปี 2500 มีการกำหนด “พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม” 2 หมื่น 3 พันกว่าไร่ พื้นที่ดังกล่าวนี้ขึ้นทะเบียนเป็น “ที่ราชพัสดุ”

อีก 2 คำถัดมาคือ “กรมธนารักษ์” (ซึ่งมีหน้าที่ดูและที่ราชพัสดุ) กับ “กองทัพภาคที่ 3” เพราะกรมธนารักษ์อนุญาตให้ทัพภาคที่ 3 ใช้เป็นพื้นที่ฝึกซ้อมทหาร

หลังจากนั้นอีกราว 40 ปี คือในปี 2540 “อธิบดีผู้พิพากษาภาค 5” ขอแบ่งพื้นที่ 106 ไร่ เพื่อสร้างบ้านพักผู้พิพากษา แต่ไม่ได้รับคำตอบ

เพื่อให้เห็นภาพเส้นทางของเวลาจากปี 2500 ถึง 2540 ได้ชัดเจน ก็คือระยะเวลาจากที่ผมเป็นนักเรียนนายร้อยจนถึงเวลาที่ผมเกษียณอายุ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ เพิ่งดำริจะสร้างบ้านพักผู้พิพากษาเอาเมื่อผมเกษียณอายุแล้ว

ต่อมาในปี 2542 “ผบ.มณฑลทหารบกที่ 33” (ค่ายกาวิละ) ให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ยืนยันการขอใช้ที่ดินอีกครั้งหนึ่ง ในปี 2546 จึงได้รับอนุมัติ

ปี 2548 “สนง.ศาลยุติธรรม” ทำหนังสือถึง “ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่” ขอใช้ที่ดิน 147 ไร่ 3 งานเศษ ปีถัดมา จังหวัดเชียงใหม่และกรมธนารักษ์อนุญาตให้ศาลยุติธรรมใช้ที่ดินได้ตามที่ขอ

ปี 2556 และ 2557 อนุมัติงบประมาณ 1,000 ล้านเพื่อจัดสร้างที่ทำการศาลอุทธรณ์และบ้านพักตุลาการ 3 โครงการ

คําที่อยู่ในเครื่องหมายอัญประกาศข้างต้น คือคำที่ผมคิดว่าตัวเองเข้าใจและคุ้นเคยดี แต่แล้วเมื่อได้อ่านประวัติความเป็นมา จนถึงวาระแห่งวิวาทะของ “บ้านป่าแหว่ง” ระหว่างองค์กรต่างๆ รวมทั้งหลายสิบเครือข่ายของ “คืนพื้นที่ป่า” กลับทำให้สับสน…

…พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ กองทัพภาคที่ 3 อธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 มณฑลทหารบกที่ 33 สนง.ศาลยุติธรรม และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

นอกจากนั้นยังมีคำอื่นๆ มาเพิ่มความสับสนขึ้นไปอีก เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ บุกรุกทำลายป่าไม้ และ คสช. ทวงคืนผืนป่า ไปจนถึงคำว่า “ของราชการ” และ ฯลฯ

ทั้งหมดนี้คืออะไรกันแน่? แต่ละกรมกองมีอำนาจหน้าที่มากน้อยเพียงใด แค่ไหน? ทำไมทหารซึ่งแค่ ขอใช้ ที่ป่าเสื่อมโทรมเพื่อฝึกทหาร จึงมีอำนาจและบทบาทราวกับเป็น เจ้าของ และเหนือกว่า กรมธนารักษ์ซึ่งมีหน้าที่ดูแลที่ราชพัสดุ?

ไม้หลักปักขี้ควายนั่นเองทำให้ตีความกันสับสนเยี่ยงนี้

คำอันควรจะเป็น “ไม้หลัก” น่าจะเป็นคำว่า “ป่าเสื่อมโทรม” เพราะเริ่มมาก่อนปี 2500 ถึง 23,787 ไร่ และได้อัพเดต ปรับปรุงแก้ไข “นิยาม” กันตลอดมา

ในปี 2532 มติ ครม. ทบทวน หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดสภาพป่าเสื่อมโทรมว่าคือ

“ป่าที่มีสภาพเป็นป่าไม้ร้าง หรือทุ่งหญ้า หรือเป็นป่าที่ไม่มีไม้มีค่าขึ้นอยู่เลย หรือมีไม้มีค่าเหลืออยู่เป็นจำนวนน้อย และป่านั้นยากที่จะฟื้นคืนดีตามธรรมชาติได้

ในกรณีที่ป่านั้นอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำลำธารชั้นที่ 1เอ 1บี และชั้นที่ 2 แม้จะมีต้นไม้น้อยเพียงใดก็ตาม ก็มิให้กำหนดเป็นป่าเสื่อมโทรม

พื้นที่ต้นน้ำลำธาร คือ พื้นที่ภายในลุ่มน้ำ (ตอนบน) ที่มีลักษณะภูมิประเทศสูงชัน และมีคุณสมบัติง่ายต่อการกัดเซาะพังทลายของดิน เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง หากมีการเปลี่ยนแปลงในการใช้ประโยชน์พื้นที่”

ยกหลักเเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดสภาพ “ป่าเสื่อมโทรม” ขึ้นมา มิได้เจตนาจะทบทวนความหมายของคำ “ป่าเสื่อมโทรม” หรือสั่งสอนใครแต่อย่างใด

เพียงแต่บังเอิญได้อ่านข่าว เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 ข่าวกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. เดินทางไปสอบปากคำและรับมอบตัวผู้ต้องหา 3 คน ซึ่งเป็นพี่สาวของนายเปรมชัย กรรณสูต ประธาน บ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ผู้ต้องหาคดีร่วมกันล่าเสือดำในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

ทั้ง 3 คนโดนข้อหา “บุกรุกพื้นที่ป่า” ในอำเภอภูเรือและอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย รวม 6 คดี เนื้อที่ 6,700 ไร่ มูลค่าความเสียหายกว่า 680 ล้านบาท ถ้าฝ่ายบ้านเมืองชนะคดีก็เท่ากับเรามี “ไม้หลัก” มั่นคงแข็งแกร่งขึ้นจนเป็นบรรทัดฐานได้

ดูภาพมุมสูงจากสื่อต่างๆ รวมทั้งสื่อโซเชี่ยลแล้ว น่าเชื่อว่าที่จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ “บุกรุกพื้นที่ป่า” มากแห่งกว่าและวิกฤตรุนแรงกว่าที่จังหวัดเลย

กลุ่มเครือข่ายทวงคืนพื้นที่ป่ามีจำนวนมากกว่า กระแสและพลังก็เข้มแข็งกว่า อยู่ที่ว่าเราจะปักหลักกันหรือไม่และตรงไหนเท่านั้น