ล้านนาคำเมือง : ยางนา

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ยางนา”

ยางนา มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Dipterocarpus alatus Roxb. ex G. Don เป็นสมาชิกในวงศ์ DIPTEROCARPACEAE คำว่า diptepcarp มีความหมายว่าผลมี 2 ปีกซึ่งมาจากลักษณะผลของยางนาที่ปลายผลมีปีกขนาดใหญ่ 2 อัน ส่วนคำว่า alatus หมายถึง ครีบ 5 อันตามแนวยาวของผลซึ่งเป็นลักษณะที่ต่างจากยางชนิดอื่นๆ

ยางนาเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ ด้วยขนาดใหญ่โตมโหฬาร สามารถสูงได้ถึง 40 เมตร และลำต้นตรง ไม่ค่อยมีกิ่งก้าน จะมีการแตกกิ่งอีกทีหนึ่งที่เรือนยอด มีลักษณะเป็นพุ่มกลมทึบ

ตามธรรมชาติพบขึ้นเป็นกลุ่มที่ราบริมห้วยในป่าพื้นล่างทั่วไป ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลตั้งแต่ 50 เมตร จนถึง 400 เมตร

ออกดอกช่วงกลางฤดูร้อนเดือนมีนาคมถึงเมษายน และติดผลช่วงต้นฝนเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม

ต้นยางนามีน้ำยางกลิ่นหอมอยู่ในท่อน้ำยาง

ชาวบ้านมีวิธีเผาเอาน้ำมันยาง โดยการเจาะโพรงแล้วลนไฟ น้ำยางข้นหนืดจะไหลลงมาขังในแอ่งที่เจาะไว้

น้ำมันยางที่ได้เรียกว่า “Gurjun balsam” หรือ “Gurjun oil” นำมากลั่นด้วยไอน้ำจะได้น้ำมันระเหยง่าย 70% มีองค์ประกอบหลักเป็น alpha-gurjunene และ beta-gurjunene ซึ่งมีกลิ่นหอมเฉพาะ ใช้ประโยชน์ทางยาช่วยห้ามหนองและสมานแผล ใช้ทาแผลเน่าเปื่อย แผลมีหนอง

หรือในทางเครื่องมือใช้ทาไม้ อุดเรือรั่ว และผสมขี้เลื่อยจุดไฟได้

คนล้านนาโบราณยังได้ประโยชน์จากลักษณะสัณฐานของทรงต้น และความใหญ่สูงของยางนา โดยใช้เป็นไม้หมายเมือง เพื่อเป็นกำหนดจุดหมายตาที่ชัดเจน

สามารถมองเห็นแต่ไกลเพื่อกันมิให้หลงทางในป่า

ต้นยางนาจึงตอบโจทย์นี้ได้เป็นอย่างดี

ต้นยางนาไม้หมายเมืองของเชียงใหม่ปลูกอยู่ข้างเสาอินทขีลในบริเวณวัดเจดีย์หลวง ที่คนเชียงใหม่จัดประเพณีใส่ขันดอกกันทุกปีในช่วงต้นฤดูฝน ปัจจุบันมีอายุระว่าง 200-218 ปี เส้นรอบวงเพียงอกของลำต้นยาว 10.56 เมตร มีปรากฏหลักฐานในประวัติวัดเจดีย์หลวง ว่า “ยางนาใหญ่ต้นนี้ปลูกในสมัยพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ (วงศ์ทิพจักร) องค์ที่ 1 (พ.ศ.2324-2358)

สันนิษฐานว่าปลูกเพื่อหมายเมือง และปลูกเป็นของคู่กับเสาอินทขีล

นอกจากยางนาจะเป็นไม้หมายเมืองอินทขีลแล้ว ยังมี “ไม้หมายถิ่น” และ “ไม้หมายทาง” อีกด้วย

ดังปรากฏให้เห็นและเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง คือ ถนนเส้นต้นยาง เชียงใหม่-ลำพูน ที่มีอายุราวร้อยกว่าปี จำนวนกว่า 900 ต้น

โดยปลูกเพื่อเป็นเขตแดนระหว่างเชียงใหม่กับลำพูนตามนโยบายของเจ้าพระยาสุรสีหวิสิษฐ์ศักดิ์ ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพที่เรียกว่า นโยบาย “น้ำต้องกองต๋ำ” ที่แปลว่าน้ำถึงถนนถึง

โดยให้เชียงใหม่ปลูกต้นยางนา และลำพูนปลูกขี้เหล็กบ้าน หากเดินทางมาจากทางใต้พบเจอหรือเห็นต้นยางนาเป็นทิวก็จะได้รู้ว่าถึงเชียงใหม่แล้ว

นั่นทำให้ต้นยางนากับต้นขี้เหล็กเป็นไม้หมายถิ่นและไม้หมายทางไปพร้อมๆ กัน