แพทย์ พิจิตร : รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นรัฐประหารที่นำไปสู่ประชาธิปไตย? (20) : สำรวจเส้นทาง คสช.

AFP / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

คราวนี้ ผู้เขียนขอประเมิน Roadmap ที่ผ่านมาของ คสช. ภายใต้กรอบ Democratic Coup d’etat หรือรัฐประหารที่นำไปสู่ประชาธิปไตย ของ Ozan Varol

ดังนี้คือ

ระยะที่หนึ่ง ปรองดอง สมานฉันท์ กรอบระยะเวลา 2-3 เดือน

หากพิจารณาแผนการตามขั้นตอนที่ คสช. ได้วางไว้ การปรองดอง สมานฉันท์ภายใต้กรอบระยะเวลา 2-3 เดือนยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ชัดจริงจังจนกระทั่งบัดนี้

กล่าวได้เพียงว่า เกิดความสงบเรียบร้อยขึ้นในสังคมหากเทียบกับในช่วงก่อนรัฐประหาร

และแม้ว่าจะมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่บ่งชี้ถึงความพอใจกับความสงบเรียบร้อยที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร

แต่ถ้ากล่าวด้วยใจเป็นกลางจริงๆ ผลการสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวภายใต้เงื่อนไขการรักษาความสงบเรียบร้อยของ คสช. ที่ใช้อำนาจอย่างเคร่งครัดเข้มงวด ยากที่จะเป็นที่จะอ้างอย่างเต็มปากเต็มคำได้ว่าเป็นความคิดเห็นที่แท้จริงของประชาชน

ดังที่นักรัฐศาสตร์สาขาการเมืองการปกครองเปรียบเทียบอย่าง Lowell Barrington ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ในหนังสือ Comparative Politics: Structures and Choices, (2013) ในบทที่ว่าด้วย “อำนาจบังคับ กับ อำนาจไม่บังคับ” หรือ Coercive versus Noncoercive Power)

เพราะการใช้อำนาจของ คสช. ถือว่าเป็นการใช้อำนาจในเชิงบังคับ (coercive power) ซึ่งต่างจากอำนาจในแบบไม่บังคับ (noncoercive power)

ภายใต้การใช้อำนาจบังคับ บุคคลจะเชื่อฟังเพราะต้องการได้รับรางวัลตอบแทนหรือกลัวการถูกลงโทษ และโดยเฉพาะในระบบการเมืองแบบอำนาจนิยมและเผด็จการเบ็ดเสร็จ เจ้าหน้าที่รัฐสามารถลงโทษประชาชนที่คุกคามการปกครองหรือระเบียบของรัฐ โดยประชาชนเหล่านั้นไม่ได้ละเมิดกฎหมายที่เป็นทางการ (นั่นคือ คำสั่ง คสช. และมาตรา 44)

ส่วนอำนาจที่ไม่บังคับ (noncoercive power) จะไม่มีการให้รางวัลหรือลงโทษ แต่การใช้อำนาจเป็นผลมาจากการรับรู้ถึงความชอบธรรม (legitimacy) ด้วยความชอบธรรมเป็นความเชื่อในสิทธิของปัจเจกบุคคล ระบบการเมือง หรือการปกครองของรัฐ

ความเชื่อในสิทธิในการปกครองไม่ได้หมายความว่าการตัดสินใจทั้งหลายทั้งปวงของรัฐบาลได้รับการสนับสนุน บุคคลไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับนโยบายบางนโยบายที่รัฐบาลประกาศใช้

ระบบที่ชอบธรรมจะสามารถสร้างและบังคับใช้นโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบที่ขาดความชอบธรรม

ผู้ปกครองในระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ อำนาจนิยม และประชาธิปไตยล้วนแต่พยายามที่จะสร้างหรืออ้างความชอบธรรมในระบบการปกครองของตน

เพราะการรักษาความชอบธรรมไว้ได้จะทำให้การใช้อำนาจทางการเมืองเป็นไปได้อย่างราบรื่นกว่า

แต่นักวิชาการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความชอบธรรมไว้ว่า เราจะรู้แยกแยะได้อย่างไร ระหว่างคนที่เชื่อในความชอบธรรมของระบบ กับคนที่ปฏิบัติตามกฎระเบียบการปกครองเพราะกลัวการลงโทษหรือคาดหวังสิ่งตอบแทน?

การสำรวจความคิดเห็นสามารถบ่งบอกให้เห็นถึงระดับความเชื่อในความชอบธรรมของระบบการปกครองได้ แต่การเก็บข้อมูลที่ให้ผลที่ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับนั้นเกิดขึ้นได้ยากในประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย (nondemocratic) ในกรณีที่ระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยล่มสลายเพราะมีการประท้วงรุนแรงในวงกว้าง มันก็เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลที่จะสรุปว่าระบบนั้นไม่มีความชอบธรรมและไม่มีความสามารถที่จะบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกัน ก็มีคำถามเกิดขึ้นในกรณีระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มีการกดบังคับ แต่มีความมั่นคงเสถียรภาพ (stable) โดยผู้นำทำทุกวิถีทางที่จะสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้นโดยการสร้างผลงานทางเศรษฐกิจที่พึงพอใจหรือใช้การกล่อมเกลาทางสังคม (socializing) ต่อประชาชนให้ยอมรับอุดมการณ์ของรัฐ?

ดังนั้น ในกรณีเช่นนั้น การที่จะบ่งชี้ได้ว่าประชาชนเชื่อฟังเพราะความชอบธรรมหรือเพราะความกลัวจึงเป็นประเด็นที่ยุ่งยากอย่างยิ่งสำหรับนักรัฐศาสตร์

ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ อย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวไปข้างต้นว่า Varol จะตอบว่า การกำหนดการเลือกตั้งจะเป็นสิ่งที่สร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลทหารที่ทำหน้าที่รักษาการ เพราะการกำหนดวันเลือกตั้งที่แน่นอนจะทำให้รัฐบาลรักษาการตระหนักรับรู้ถึงภาวะที่จำกัดของบทบาทหน้าที่ของตนและเป็นการส่งสัญญาณว่าวาระในการดำรงตำแหน่งของตนนั้นเป็นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น

และในกรณีของรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คสช. และรัฐบาลยังคง “ความชอบธรรม” ทำให้ไม่เกิดการประท้วงรุนแรงอย่างกว้างขวางภายใต้บรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนี้ได้ก็เพราะการยืนยันว่าจะให้มีการเลือกตั้งอย่างแน่นอนภายใต้ปี พ.ศ.2560

แต่ขณะเดียวกัน การยอมรับอำนาจ คสช. ในสังคมไทยอาจจะกลายเป็นกรณียกเว้น หากประชาชนส่วนใหญ่เกิดมีความคิดที่จะให้ คสช. ชะลอการเลือกตั้งออกไปได้ และขอให้ คสช. และรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ อยู่ในอำนาจต่อไป อย่างนี้คงต้องอธิบายด้วยวัฒนธรรมทางการเมือง

แต่ก็ต้องถามต่อไปด้วย ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรจากการสนับสนุนให้ คสช. และรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ อยู่ในอำนาจต่อไป

หากคิดตามแนวทฤษฎีการเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผล (rational choice)? ถ้าไม่สามารถตอบได้ว่าตัวเองจะได้ประโยชน์อะไร การเลือกให้อยู่ในอำนาจก็จะกลายเป็นการเลือกที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล (irrational choice) เป็นเรื่องของความรู้สึก อารมณ์ อคติ หรือมีข้อมูลผิดๆ

ระยะที่สอง ตั้งสภานิติบัญญัติ-สรรหานายกฯ-ตั้ง ครม.-ร่างรัฐธรรมนูญ-ตั้งสภาปฏิรูป กรอบระยะเวลา 1 ปี

หลังรัฐประหาร คสช. ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 และภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เสนอชื่อให้มีการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขึ้นในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2557 และได้มีการจัดตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ขึ้น และมีการตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.)

กล่าวได้ว่า ในการจัดตั้งองค์กรดังกล่าวทั้งสามนี้ อยู่ภายใต้อำนาจการคัดสรรและแต่งตั้งโดย คสช. หรือฝ่ายทหารเป็นสำคัญ

โดยมีทหาร-ตำรวจทั้งในและนอกราชการมาดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติฯ เป็นจำนวนถึง 115 คน (ทหาร 105 ตำรวจ 10) ในจำนวนสมาชิกทั้งหมด 200 คน

ขณะเดียวกัน นายทหารยังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีเป็นจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมด และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดูแลกิจการรัฐวิสาหกิจทั้งหมด

คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จในเดือนเมษายน 2558 เป็นเวลาไม่ถึงหนึ่งปีหลังจากรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับการเห็นชอบจาก สปช. ซึ่งในวันที่ 6 กันยายน 2558 ที่ประชุม สปช. ได้ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ กมธ.ยกร่าง

โดยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ที่ไม่รับร่างมาจาก สปช. ที่เป็นตัวแทนจังหวัด ข้าราชการ-ทหาร-ตำรวจ

ทำให้ต้องมีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้งโดยมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และเมื่อร่างเสร็จแล้ว ก็จะนำไปสู่การทำประชามติเลย ซึ่ง กรธ. ได้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559

และต่อมา ได้มีการกำหนดการการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญคือวันที่ 7 สิงหาคม 2559

ขณะเดียวกัน นอกเหนือจากการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ทาง สนช. ได้ลงมติให้มีการทำประชามติคำถามพ่วงตามมาตรา 39/1 วรรคเจ็ด ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ด้วย โดยเนื้อหาของคำถามที่ต้องการทำประชามติพร้อมกันกับร่างรัฐธรรมนูญคือ “เห็นด้วยหรือไม่ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ ควรกำหนดในบทเฉพาะกาลว่าระหว่าง 5 ปีแรก ตั้งแต่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาเห็นชอบบุคคลสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ”

และต่อมา หัวหน้า คสช. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ก็ต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ แต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดแต่อย่างใดว่าจะต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและการขยายเวลากำหนดการการเลือกตั้งที่กำหนดไว้หรือไม่ และก่อนหน้าการลงประชามติเพียง 2 วัน นั่นคือ วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ออกมาประกาศว่า ตนรับร่างรัฐธรรมนูญ

และการแสดงท่าทีชัดเจนเช่นนี้ถือว่า กล้าได้และกล้าเสีย!