ล้านนาคำเมือง : กิ๋นเต่าลืมคุณหมา กิ๋นป๋าลืมคุณแห

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “กิ๋นเต่าลืมคุณหมา กิ๋นป๋าลืมคุณแห”

แปลว่า “กินเต่าลืมคุณหมา กินปลาลืมคุณแห” แสดงว่า สมัยก่อน หมามักจะคาบเต่ามาให้คนกิน และหากปราศจากแห คนก็อาจจะไม่ได้กินปลา

คนล้านนาสอนสืบต่อกันเสมอมาว่า คนเราจะต้องกตัญญูรู้คุณ คำคม “กินเต่าลืมคุณหมา กินปลาลืมคุณแห” จึงเป็นข้อความเตือนสติ ให้รู้สึกตัวว่าอย่าได้อกตัญญู หรืออาจจะใช้เป็นคำประชดประชันสิ่งที่บางคนทำผิดคำสอนของคนโบราณ

เพื่อให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งจะขอยกนิทานอีสปตอนหนึ่ง เรื่อง “เสือดำกับคนเลี้ยงแกะ” ดังต่อไปนี้

ครั้งหนึ่ง เสือดำตัวหนึ่งตกลงไปในหลุมลึกมากที่ราวป่า คนเลี้ยงแกะเดินมาเห็นเข้าจึงเอาก้อนหินทุ่ม เอากิ่งไม้ขว้างปาใส่ ซ้ำเติมทำร้ายหมายให้มันตาย อีกบางคนเดินมาก็รู้สึกสงสารว่ามันจะตายเสียในหลุม จึงโยนอาหารลงไปให้มันกินประทังชีวิต

คืนวันนั้นหลังจากที่เสือดำได้อาหารกินบ้าง และนอนพักแล้ว มันรวบรวมพละกำลังครั้งสุดท้ายเหยียบก้อนหินกระโจนพรวดขึ้นมาจากหลุมนั้นได้เป็นผลสำเร็จ แล้วมันก็รีบโซเซกลับป่าไปทันที

เวลาผ่านไประยะหนึ่ง หลังจากที่มันพักฟื้นเรียกความแข็งแรงกลับคืนมา เสือดำก็ออกมาจากป่าอีกครั้ง คราวนี้อาละวาดฆ่าแกะ วัว ควายของชาวบ้าน รวมทั้งฆ่าบรรดาคนเลี้ยงแกะจำนวนหนึ่ง

คนเลี้ยงแกะที่เคยโยนอาหารลงไปให้มันกิน ต่างเป็นห่วงความปลอดภัยของตัว จึงยอมมอบแกะ วัว ควายให้มัน และขอร้องให้เสือดำไว้ชีวิต

เสือดำจึงพูดว่า

ข้าจำได้ดีว่าใครจะฆ่าข้าให้ตายคาหลุม และใครให้ความเมตตาแก่ข้า โปรดเลิกหวาดกลัวข้าเสียเถิด ข้าจะเป็นศัตรูกับผู้ที่ทำร้ายข้าเท่านั้น ข้าหาใช่ประเภท

“กินเต่าลืมคุณหมา กินปลาลืมคุณแห” ไม่