อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ซานไห่ เก้าคนหลังฉาก ในประวัติศาสตร์ผลัดใบ (26)

การพิจารณาคดีเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 21 พฤศจิกายน ปี 1935 แปดวันหลังจากที่ ชิ เฉียน เฉียว ลั่นกระสุนสังหาร ซุน ชุง จาง อัยการท้องถิ่นทำสำนวนคดีทั้งหมดแล้วส่งขึ้นศาลที่เมืองเทียนสิน

คำฟ้องเริ่มต้นด้วยการบรรยายถึงที่มาของจำเลยอย่างตรงไปตรงมา

สิบปีก่อนหน้า ซุน ชุง จาง สังหารบิดาของจำเลยคือ ชิ ชง ปิน และทำให้จำเลยตั้งปณิธานที่จะล้างแค้นนับแต่วันนั้น

ก่อนการลงมือสังหารไม่นานนัก จำเลยได้ซื้อปืนพกบราวน์นิ่งและกระสุนหกนัดจากทหารนอกราชการที่ไม่ทราบชื่อคนหนึ่ง ก่อนจะนำปืนพกและกระสุนติดตัวมาที่เทียนสินด้วยเพื่อรอจังหวะล้างแค้นให้บิดา

เวลานั้นมาถึงเมื่อเธอพบว่า ซุน ชุง จาง จะเดินทางไปประกอบศาสนกิจที่สมาคมพุทธศาสนาเพื่อฆราวาสในเวลาเดิมทุกวัน เธอไปเฝ้ารอที่นั่นและลั่นกระสุนสังหารเขาได้สำเร็จ

หลังจากการสังหารเธอขอให้ภารโรงของสมาคมคือ หลิว จู สิว โทรศัพท์หาตำรวจ

อย่างไรก็ตาม ตำรวจสองนายคือ หวาง หัว หนาน และ จู หง เตา ไปถึงสถานที่เกิดเหตุหลังได้ยินเสียงปืน จำเลยมอบปืนพกบราวน์นิ่งให้กับเจ้าหน้าที่ ในรังเพลิงยังมีกระสุนเหลืออีกสามนัด

ในคำฟ้องได้มีการชันสูตรพลิกศพและยืนยันว่าจำเลยคือ ชิ เฉียน เฉียว คือผู้ลงมือสังหาร ซุน จุง ชาง จริง

จากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 187 ข้อกล่าวหาที่มีต่อจำเลยคือ ชิ เฉียน เฉียว คือ “ครอบครองอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต” ซึ่งอัตราโทษคือจำคุกไม่เกินห้าปี

ข้อกล่าวหาอีกข้อตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 271 คือ “การฆ่าคนตายโดยเจตนา” ซึ่งอัตราโทษจำคุกคือ “ประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกไม่ต่ำกว่าสิบปี”

และจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 55 นั้น “ให้ลงโทษจำเลยในกระทงความผิดที่สูงสุดและงดการลงโทษในกระทงอื่นเสีย”

ศาลเมืองเทียนสินเริ่มการนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีในวันที่ 25 พฤศจิกายน 1935

ตู จาง อัยการแห่งเมืองเทียนสินเป็นผู้แถลงเปิดพิจารณาคดี จำเลยเป็นผู้สังหาร ซุน จุง ชาง ต่อหน้าสาธารณชน ก่อนจะรับสารภาพในที่เกิดเหตุ

พยานสองคนคือ ฟู หมิง และ ดง ฮ่าย ซี่งเป็นพระภิกษุในอารามพุทธศาสนาเพื่อฆราวาส รวมถึง หวาง หัว หนาน ตำรวจท้องที่เป็นผู้อยู่ในที่เกิดเหตุเวลานั้น ทั้งหมดได้ระบุชัดว่าจำเลยคือผู้ลงมือสังหาร ซุน จุง ชาง แต่เพียงผู้เดียว

ทั้งเอกสารที่ ชิ เฉียน เฉียว แจกจ่ายแก่ผู้คนทั่วไป ปืนพกบราวน์นิ่ง และกระสุนที่เหลือในรังเพลิงล้วนเป็นพยานวัตถุในคดีนี้ด้วย

กระนั้น แม้ว่าหลักฐานพยานทั้งบุคคลและวัตถุจะชัดเจน คดีนี้ก็หาได้เรียบง่ายดังที่คิด

การอุทธรณ์คดีถูกทำอย่างต่อเนื่องก่อนจะไปสิ้นสุดที่ศาลฎีกาในเมืองนานกิง

ระหว่างการพิจารณาคดีมีเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อคดีจำนวนมากโดยเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับแรงกดดันจากสาธารณชน

ความซับซ้อนในคดีเริ่มต้นขึ้นเมื่อ ศาลชั้นต้นประจำเมืองเทียนสินพิพากษาให้จำคุก ชิ เฉียน เฉียว เป็นเวลาสิบปี โดยคำพิพากษามีขึ้นในวันที่ 17 ธันวาคม 1935 จาก กง เจีย ซาง และ เหยอ เด จิง ผู้พิพากษาสองท่านของศาล ทั้งอัยการและทนายของ ชิ เฉียน เฉียว อุทธรณ์คำพิพากษานี้ด้วยประเด็นของความเห็นใจอันเนื่องจากจำเลยไม่มีท่าทีหลบหนี อีกทั้งการกระทำของจำเลยเกิดจากความแค้นที่กดดันและฝังลึกไม่ใช่กรณีทั่วไป

คดีถูกนำไปสู่ศาลอุทธรณ์ที่เฮอเป่ย การพิจารณคดีมีขึ้นในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1936 การพิจารณาคดีครั้งนี้กินเวลาหกวัน ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาลดโทษของ ชิ เฉียน เฉียว จากสิบปีเป็นจำคุกเป็นเวลาเจ็ดปีอันเนื่องจากการที่จำเลยกระทำการไปเพราะมีเหตุจากความกดดันที่บิดาถูกสังหารโดยผู้ตาย ทั้งอัยการและทนายจำเลย อุทธรณ์อีกครั้ง

คดีถูกส่งไปยังศาลฎีกาที่นครนานกิง และแล้ววันที่ 25 สิงหาคม 1936 ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้จำคุก ชิ เฉียน เฉียว เป็นเวลาเจ็ดปี อันเนื่องจากการกระทำของจำเลยเกิดขึ้นจากแรงกดดันและความปรารถนาที่จะล้างแค้นแทนบิดา จำเลยไม่ได้มีสันดานของฆาตกรมาแต่เดิมเลย

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับคดีนี้คือการปะทะกันและการต้องเลือกระหว่างรัฐสมัยใหม่ที่จำต้องเดินตามประมวลกฎหมายอันทันสมัย

หรือว่าจะอยู่กับความคิดเชิงจารีตที่ว่าลูกหลานจะต้องกระทำการกตัญญูแก่บุพการีด้วยการล้างแค้นแทนบิดาและมารดา

ในฐานะของผู้รักษากฎหมาย ตัวบทและอรรถคดีเป็นสิ่งที่ต้องยึดถือ แต่ในแง่ของสาธารณชน จารีตและประเพณีกลับเป็นสิ่งที่สำคัญกว่านั้น

ทนายความและตัวของ ชิ เฉียน เฉียว ต่อสู้คดีผ่านทางแรงกดดันว่าด้วยคุณธรรมของลูกหลานเป็นหลัก

ในขณะที่ทายาทของผู้ตายเรียกร้องให้ยึดมั่นในกฎหมายโดยให้ยกความเห็นอกเห็นใจจำเลยออกไปเสีย

ศาลและผู้พิพากษาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยอุดมคติสองข้อนี้เข้าด้วยกัน

แต่นั่นก็ยังหาใช่จุดจบของคดีไม่

การก่อตั้งประเทศจีนขึ้นใหม่หลังการล่มสลายของราชวงศ์เช็ง แนวคิดของขงจื๊อโดยเฉพาะเรื่องของคุณธรรมที่เรียกว่า หลี่-Li นั้นเป็นแนวคิดสำคัญในการวางรากฐานสมัยใหม่

เราจะพิจารณาการกระทำของ ชิ เฉียน เฉียว ในฐานะการกระทำที่ยึดมั่นตามคุณธรรมแบบโบราณว่า-วิญญูชนล้างแค้นสิบปีไม่มีคำว่าสาย-ได้หรือไม่

และอนุโลมให้การกระทำที่ว่านี้รับโทษอย่างเบาบางหรือพ้นผิดไป หรือจะมองว่ามันเป็นค่านิยมที่ล้าสมัยและตัดสินมันตามตัวบทอย่างเป็นเอกเทศไป

คดีของ ชิ เฉียน เฉียว นั้นเป็นการถ่ายทอดสดขนาดใหญ่ ทุกครั้งที่มีการพิจารณาคดี นักข่าวจากหนังสือพิมพ์ซานไห่ชิเป่า นักข่าวจากปักกิ่งชิเป่า นักข่าวจากเทียนสิน ต้ากงเป่า และยิชิเป่า จะนั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดี

พวกเขาจะจดทุกรายละเอียด ทุกคำแถลง ทุกคำให้การ

และรายละเอียดเหล่านั้นจะปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ในเช้าวันรุ่งขึ้น และนอกเหนือจากรายละเอียดเหล่านั้น หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะเพิ่มคอลัมน์ที่ว่าด้วยกฎหมายสมัยใหม่ หรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับคุณธรรมในครอบครัวโบราณประกอบกันไป อันทำให้ผู้อ่านได้เห็นถึงสถานการณ์ของความขัดแย้งในการพิจารณาคดี ได้เห็นถึงกระบวนการทางศาลแบบสมัยใหม่ที่ไม่อาจลงรอยกับจารีตโบราณและทำให้คดีของ ชิ เฉียน เฉียว กลายเป็นที่ถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องในผู้คนทั่วไป

สิ่งเหล่านี้เองทำให้คดีของ ชิ เฉียน เฉียว กลายเป็นนาฏกรรมมวลชน

จนในที่สุดข้อต่อสู้ของทนายประจำตัวเธอไม่ได้มุ่งเป้าไปที่ตัวบทหรือข้อความในกฎหมายหากแต่มุ่งตรงไปที่การปลุกเร้ากระแสสำนึกด้านคุณธรรมที่ฝังรากในสังคมจีนที่เรียกว่า หลี่ แทน

ทุกถ้อยความที่ทนายของเธอกล่าวต่อศาลและในห้องพิจารณาคดีไม่ได้เป็นไปเพื่อให้ศาลรับฟัง หากแต่เป็นไปเพื่อให้ข้อความเหล่านั้นไปปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์วันรุ่งขึ้นและส่งผลต่ออารมณ์เห็นใจของผู้คนทั่วไปแทน

พาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับเต็มไปด้วยข้อความที่ชวนให้สะเทือนอารมณ์แทนการเผยแพร่ข้อเท็จจริงทั่วไป

ยกตัวอย่างเช่นในวันที่ ชิ เฉียน เฉียว และ ซุน เจี้ย เซิน บุตรชายของ ซุน จุง ชาง ต้องมาเผชิญหน้ากันเป็นครั้งแรก พาดหัวข่าวของซางไห่ชิเป่าคือ “ชิ เฉียน เฉียว และบุตรของ ซุน จุง ชาน เผชิญหน้ากันในห้องพิจารณาคดี ทั้งคู่ตกอยู่ในสภาพเดียวกันคือร่ำไห้ให้กับการจากไปของผู้เป็นบิดา”

หรือเมื่อ ชิ เฉียน เฉียว ถูกถามว่า บิดาของเธอเสียชีวิตได้อย่างไร ชิ เฉียน เฉียว ได้ร่ำไห้ออกมาอย่างท่วมท้นพร้อมกับกล่าวทั้งน้ำตาว่า “บิดาของข้าพเจ้าถูกตัดหัวอย่างไร้ความผิด”

เหตุการณ์เหล่านี้เรียกน้ำตาจากผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี จากผู้อ่านข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ และจากผู้ร่วมถกเถียงถึงมันในเวลาต่อมา ศาลและห้องพิจารณาคดีได้กลายเป็นเวทีละคร

โดยมีหนังสือพิมพ์และสื่อทำหน้าที่ดังกล้องถ่ายทอดสดที่มีชีวิตฉะนั้น