อดีตเลขาฯ ศอ.บต. “ทวี สอดส่อง” มอง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กับอำนาจรัฐ และประสิทธิภาพ “รัฐบาลประยุทธ์”

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ผู้มีประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ชายแดนใต้ รวมถึงการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่โดยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2548 เล่าย้อนให้ฟังว่า ตอนนั้นผมอยู่ในเหตุการณ์มันมีระเบิดในพื้นที่ยะลาทั้งหมดจนไฟดับทั้งเมือง ต่อเนื่องมาถึงอีกวันหนึ่ง ก็เลยมีการประชุมกันว่าจะมีเครื่องมือทางกฎหมายอะไรในการมาใช้ควบคุมเหตุการณ์ความไม่สงบ ก็เลยเป็นที่มาของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถ้าจำไม่ผิด อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นเลขาธิการ ครม.ในยุคนั้น ก็ทุกฝ่ายร่วมกันคิดเพื่อจะป้องกันเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของคน ภายใต้เป้าหมายว่าจะทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถไปป้องกันเหตุระเบิดได้ เพราะช่วงนั้นมีการก่อเหตุจำนวนมาก

มาถึงวันนี้เราต้องมาต่อสู้กับโรคภัยโรคระบาด พ.ต.อ.ทวีมองว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่เราจะนำเอา พ.ร.บ.โรคติดต่อกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาหารือร่วมกันคิดในสภาต่อว่ายังขาดอะไร

ในวันนี้การต่อสู้สำคัญของประเทศคงหนีไม่พ้นการใช้ทีมแพทย์ ทีมนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์มาร่วมทำงานกัน

แต่ที่สำคัญอีกด้านคือการสื่อสารกับประชาชนให้แน่ว่าจะต้องทำอะไรต่อไป ถ้าเกิดรัฐไปล็อกดาวน์เข้มงวดแล้วปรากฏว่าในหมู่บ้านหนึ่งซึ่งไม่เคยได้ไปเทสต์หรือตรวจสอบเชิงรุกเลย จากมีอยู่พันคน ถ้ามีคนติดแล้ว 100 คนก็ติดทั้งหมู่บ้านได้

การจัดการของรัฐยังมีหลายอย่างที่ไม่ได้จัดการ ที่สำคัญคือหลังจากจบศึกโควิด-19 นี้แล้ว คิดว่าถึงเวลาที่เราจะต้องปฏิรูประบบการบริหารประเทศใหม่หมด

เราจะเห็นแล้วว่าคนที่ต้องมีอำนาจตัดสินใจต้องให้ชุมชนท้องถิ่นชาวบ้านเขามีส่วนร่วม เพราะระบบรวมศูนย์รอการสั่งการไม่มีประโยชน์

ผมเคยอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดมานาน บางทีการสั่งการลงไปข้างล่างเขาก็ไม่รับรู้เลย

อดีตเลขาฯ ศอ.บต.ผู้นี้มองว่า ถึงเวลาแล้วที่เราควรจะกระจายอำนาจให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด อย่างในระดับจังหวัด ก็ให้จังหวัดเขาสามารถบริหารจัดการตัวเองได้ ที่สำคัญมาตรการรัฐบาลต่างๆ ถ้าไม่คิดให้รอบคอบจะยิ่งทำให้สถานการณ์แก้ยาก

ส่วนงบประมาณที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคงควรถูกแบ่งมาเป็นเรื่องของบูรณาการเพื่อสาธารณสุข ทำยังไงให้คนเกิดความมั่นใจให้มากที่สุด ภายใต้โจทย์ที่ว่า จะทำอย่างไรให้ขจัดและป้องกันโควิดให้หายไป

ประการต่อมาคือ ทำยังไงให้คนมีกิน ให้ระบบบางอย่างในประเทศยังเดินไปได้ บางทีมันไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมายอย่างเดียว

ประเทศอื่นๆ งบประมาณหลักๆ เขาคือการใช้เพื่อสวัสดิการประชาชน แต่บ้านเรามันจะเป็นรายจ่ายประจำส่วนมาก

ณ วันนี้คนก็มองกันว่า อันดับแรกเราต้องมาดูก่อนว่าจะเทสต์คนจำนวนมากได้ไหม ว่าติดหรือไม่ติดเพื่อจะได้ทราบสภาพปัญหาจริงๆ

รัฐบาลต้องใจกว้างบางงบประมาณต้องคิดถึงการช่วยเหลือประชาชนให้มีชีวิตรอด มันไม่ใช่เรื่องของการใช้ฟุ่มเฟือย เพราะเงินเหล่านี้ก็มาจากภาษีอากรของประชาชนทั้งนั้น

พ.ต.อ.ทวีพยายามย้ำว่า ถึงเวลาที่เราต้องคิดเรื่องปฏิรูปประเทศกระจายอำนาจอย่างจริงจัง เพราะจากปัญหาเรื่องคนเดินทางกลับยิ่งกว่าเทศกาลสงกรานต์ เมื่อพอปิดห้างปิดส่วนต่างๆ ในกรุงเทพฯ ส่งผลให้คนเดินทางกลับบ้านกันหมด ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าเราต้องกล้าคิดได้แล้วว่าทำอย่างไรให้เกษตรกรคนที่ไม่มีที่ทำกินเขามีที่ทำกิน

คนที่อยู่ชนบทในต่างจังหวัดทำยังไงไม่ให้เขาอยากออกจากชุมชน

แต่เพราะเราไม่มีกฎหมายที่เป็นพื้นฐานของการควบคุมเรื่องที่ดิน คนไม่มีคือไม่มีจริงๆ แต่บางคนมีมาก 6 แสนไร่ วันนี้มันถึงเวลาแล้ว วิกฤตนี้มันชี้ให้เห็นว่าต้องกล้าที่จะปฏิรูปประเทศแล้วทุกระบบต้องปฏิรูปทั้งหมด

แม้แต่นักการเมืองก็ต้องปฏิรูปตัวเอง

วิกฤตโควิด-19 หนนี้เปรียบเสมือนมหันตภัยที่ทำลายมนุษย์ ฉะนั้น การคิดถึงความอยู่รอดย่อมสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด

การใช้หรือไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในฐานะที่เป็นพรรคฝ่ายค้านเราไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้ แต่เราต้องคิดว่าเราจะร่วมมือร่วมใจกันที่จะป้องกันและขจัดโรคภัยนี้ไปได้อย่างไร

ซึ่งการกระจายอำนาจในปัจจุบันมันเป็นเรื่องของการมอบอำนาจผ่านหนังสือสั่งการลงไปจากส่วนกลางเพียงแค่นั้น ถ้าเขาต้องการจะกระจายอำนาจจริงๆ มันต้องเริ่มตั้งแต่การเลือกตั้งท้องถิ่น คนที่จะรู้จักชุมชน รู้ที่ทำกินและปัญหาในพื้นที่ตัวเองดีที่สุด ก็คือคนในท้องถิ่นนั้นๆ ไม่ใช่คนข้างบนที่ส่งลงมา

ถ้าเรามีอำนาจให้คนในท้องถิ่นตัดสินใจ อย่างโมเดลเดียวกันก็อาจจะใช้ไม่ได้กับทุกจังหวัด เพราะบางทีอาจจะมีลักษณะหรืออัตลักษณ์เฉพาะ

เช่น เรามีคำสั่งปิดผับต่างๆ บางจังหวัดอาจจะไม่มี แต่ในบางท้องที่คนเขาจะต้องไปเจอกันในงานอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่น คำสั่งบางอย่างอาจจะไม่ครอบคลุม มันใช้ไม่ได้กับทั้งประเทศ

ในท้องถิ่นจะมีคนอยู่ 2 แบบคือ ฝ่ายปกครองคือผู้ว่าราชการจังหวัด เปรียบเสมือนพ่อท้องถิ่น เปรียบเสมือนแม่คนที่จะรู้ปัญหาในบ้านดีที่สุดคือท้องถิ่นหรือแม่ เขานอนในพื้นที่ เขาอยู่ในหมู่บ้าน คนที่เป็นผู้ว่าราชการอยู่ในจวนข้าราชการอยู่ในเขตพื้นที่ราชการเราจะทำอย่างไรที่จะเอาทั้งสองคนมาบริหารจัดการให้ได้มีประสิทธิภาพ ซึ่งในความเป็นจริงผู้ว่าฯ จะต้องย้ายไปย้ายมาด้วยซ้ำ

โจทย์หลักแต่ละพื้นที่หนนี้คือเรื่องไม่ควรคิดไกล เอาแค่เรื่องของปัจจัย 4 เช่น ผู้ว่าฯ ควรตัดสินใจได้ ควรทำแผนรองรับใครไม่มีข้าวกิน จังหวัดก็เอาอาหารไปส่งให้ เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ไม่มีที่อยู่อาศัย เขาจะต้องจัดการให้ เพราะการต่อสู้กับโรคนี้ได้ในเบื้องต้นคือจะทำอย่างไรให้ประชาชนในพื้นที่ได้อยู่รอด

และถึงเวลาในที่สุดก็ต้องนำไปสู่การกระจายอำนาจ

ทุกวันนี้สิ่งที่เราเห็นอยู่ภายใน TV จะดูสวยหรูมีการใส่สูทถ่ายรูปสั่งการกันในทีวี

แต่ชาวบ้านเขาอาจจะไม่มีเสื้อผ้าที่ใส่ บางคนเอาเสื้อมาพันหน้าแทนหน้ากาก ไปดูต่างประเทศหลายที่เขาใช้ท้องถิ่น อย่างมาเลเซียเขามีรัฐบาลท้องถิ่น ของเราอาจจะไม่ต้องถึงขนาดนั้น เพียงแต่ว่าเราเองน่าจะถึงเวลาแล้วที่จะปฏิรูปการบริหารและการปกครอง ทำยังไงให้มีรัฐบาลส่วนกลางน้อยที่สุด แล้วให้ในแต่ละท้องถิ่นมีแพทย์เพิ่มขึ้น

ถ้าเราไปดูดีๆ ตัวเลขเปรียบเทียบแพทย์ต่างจังหวัดกับอัตราประชากรแสนคนมีแพทย์อยู่เพียง 30 กว่าคนต่อประชากรแสนคนนั้น

แต่ถ้าในกรุงเทพฯ ประชากรแสนคนมีแพทย์อยู่ร้อยกว่าคน เป็นต้น ถ้าเราเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นเขาพัฒนาคนตัวเอง จัดการตัวเอง ส่งคนไปเรียนแพทย์เพิ่ม

ฉะนั้น ถ้ามองในระยะยาวการกระจายอำนาจเป็นเรื่องที่สำคัญมากและเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องถูกวิธีที่สุด แล้วก็ต้องมอบงบประมาณให้เขาด้วย ถ้าวันนี้มีการปฏิรูปงบประมาณ ถ้าดูจากรายงานพบว่า ยังมีหลายสัญญาที่ไปทำไม่ได้ใช้ เช่น งบฯ ฝึกอบรม

วันนี้รัฐบาลต้องเตรียมงบดูแลให้ประชาชนมีข้าวกิน มียามีชีวิตรอดให้ได้

ยิ่งในเรื่องของเงินชดเชย 5,000 บาท ควรจะกระจายให้คนจำนวนมาก และผมเชื่อว่าคนเราถ้ามีสิทธิ์แล้วก็ต้องเสมอกัน ใครก็ตามที่ได้รับผลกระทบก็ต้องช่วยเหลือเขาหมด

อยากจะย้ำว่า เอาแค่เรื่องเฉพาะหน้าที่ต้องทำคือทำอย่างไรให้ผู้คนมีชีวิตอยู่รอดและมีปัจจัย 4 ให้ครบ

นี่คือการเยียวยาที่ต้องทำคู่ขนานกับการจะล็อกดาวน์

ในเมื่อเราเชื่อว่าการให้คนหยุดอยู่บ้านไม่เคลื่อนที่ การที่จะสู้ได้ดีที่สุดคือตัวเราเองมีภูมิคุ้มกัน ด่านแรกคือต้องไม่มีความเครียด ถ้าคนยังท้องหิวมันก็มีความเครียด

ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องคิดล่วงหน้าถึงการเตรียมแผนสำรองไว้จะทำอย่างไรหากมีผู้ป่วยเยอะ อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ให้พร้อม มองยาวๆ ถึงขั้นตอนการดูแลช่วยเหลือเยียวยาประชาชน

ผมเองก็อยากให้กำลังใจนายกฯ แล้วก็เชื่อว่าประชาชนทุกคนเขาก็พร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลกันหมด แล้วทุกคนก็ทราบดีว่าคนที่จะสู้กับโรคนี้ได้ดีที่สุดคือตัวของเราเอง

ชมคลิป