กำเนิดวิชาชีพสถาปนิกไทย : คำศัพท์และการสร้างตัวตนในสังคมสมัยใหม่ (จบ)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

กำเนิดวิชาชีพสถาปนิกไทย

: คำศัพท์และการสร้างตัวตนในสังคมสมัยใหม่ (จบ)

 

กําเนิดวิชาชีพสถาปนิก หากเราย้อนพิจารณาบนฐานคิดของ Pierre Bourdieu ที่เสนอว่า การดำรงอยู่และเป็นไป ภายใน “วงการ” หรือ field ต่างๆ นั้น (ในกรณีนี้คือวงการก่อสร้างอาคารในสังคมไทย) ล้วนดำรงอยู่ภายใต้การแข่งขันซึ่งกันและกันตลอดเวลา โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับสถานะของกลุ่มตนเองให้กลายเป็นส่วนยอดสุดของพีระมิดแห่งโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจของวงการนั้นๆ

โดยกลยุทธ์สำคัญที่แต่ละกลุ่มใช้เพื่อยกระดับตนเองขึ้นไปสู่ยอดพีระมิด คือ “ทุน” (capital) ในรูปแบบต่างๆ (ดูรายละเอียดแนวคิดนี้ในแบบสังเขปในหนังสือ Pierre Bourdieu : Key Concepts บรรณาธิการโดย Michael Grenfell)

โดยทุนรูปแบบหนึ่งที่สำคัญ (ในทัศนะผม) ต่อการพิจารณากรณีกำเนิดวิชาชีพสถาปนิกไทยก็คือ “ทุนทางสังคม” (social capital) ที่ตามทัศนะของ Bourdieu หมายรวมถึงองค์ประกอบหลายๆ อย่างภายใต้โครงสร้างทางสังคม เช่น ตำแหน่งหน้าที่การงานและเครือข่าย ทั้งที่เป็นเครือข่ายของครอบครัว ศาสนา หรือกลุ่มวัฒนธรรม

ซึ่งทุนทางสังคมนี้จะเป็นอุปกรณ์หนึ่งที่ช่วยในการแข่งขันเพื่อยกระดับสถานะและตำแหน่งแห่งที่ของตนเองลงในวงการนั้นๆ

ภาพนิสิตรุ่นแรกๆ ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่มา : หนังสือ สถาปนิกสยาม : พื้นฐาน บทบาท และแนวคิด (พ.ศ.2475-2537)

ในยุคแรกตั้ง “สมาคมสถาปนิกสยาม” มีความพยายามอย่างมากในกลุ่มสถาปนิกรุ่นบุกเบิกเพื่อสร้างสิ่งที่เรียกว่า “ทุนทางสังคม” ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความมีจรรยาบรรณในวิชาชีพ คุณธรรมทางวิชาการ ความเป็นผู้ดี ฯลฯ ซึ่งช่างก่อสร้างตามแบบประเพณีเดิม ถูกอธิบายว่าไม่มี โดยเฉพาะช่างชาวจีน ซึ่งครองตลาดการก่อสร้างของสังคมไทย ณ ขณะนั้นอยู่ (ดังที่กล่าวแล้วในสัปดาห์ก่อน)

ทุนทางสังคมที่สำคัญอีกประการ คือ การพยายามสร้างเครือข่ายเข้ากับกลุ่มผู้ดีชนชั้นสูงซึ่งมีอำนาจและบารมีในวงการออกแบบและก่อสร้างอาคารในสังคมไทย ณ ขณะนั้น เพื่อย้อนโยงกลับมาสร้างสถานะพิเศษให้เกิดขึ้นกับวิชาชีพสถาปนิก และยกระดับสมาคมสถาปนิกสยาม (ที่เพิ่งก่อตั้งได้ไม่นาน) ให้กลายเป็นสมาคมที่เชื่อมเข้ากับเครือข่ายชนชั้นนำทางสังคม

ตัวอย่างในกรณีนี้ เช่น ความพยายามของกลุ่มผู้ก่อตั้งสมาคมสถาปนิกสยาม ที่จะทูลเชิญสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ให้มาดำรงตำแหน่งเป็น “พระอาจารย์แห่งสมาคม” และรับสมาชิกสมาคมเป็นสานุศิษย์ของพระองค์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ คือ “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” ผู้มีผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมชิ้นสำคัญมากมายมาตั้งแต่เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 อีกทั้งยังเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในราชวงศ์ที่มีบทบาทสูงยิ่งในวงการก่อสร้างของไทย และสำคัญที่สุดคือ ณ เวลานั้น พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ 8 อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม พระองค์ไม่ทรงปรารถนาที่จะรับ และได้มีจดหมายปรึกษาหารือไปถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ก็ทรงเห็นด้วยที่ไม่ควรจะตอบรับ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ มีการให้เหตุผลประกอบ ความตอนหนึ่งว่า

“…ที่สมาคมสถาปนิกสยามเขาเชิญท่านเปนพระอาจารย์ก็เพื่อประสงค์จะเอาพระนามไปอ้างในการที่เขาคิดเขาทำ ว่าทำตามหลักหรือพระนิยมของท่าน บางทีก็จะมาทำพิธีทูลหารืออะไรๆ บ้าง แต่ก็ไม่แลเห็นว่าพวกนั้นจะรู้ทันหรือทำตามท่านทรงแนะนำ ด้วยตัวเขาเหล่านั้นก็ถือว่าเปนช่างเอกอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ผลจะมีเพียงเขาอ้างพระนามท่านแต่ในเวลาเมื่อจะเปนประโยชน์แก่เขา ปรารภต่อไปถึงส่วนพระองค์ท่าน หม่อมฉันเห็นว่าพระเกียรติคุณในการช่างปรากฏและเปนที่นับถืออยู่ทั่วไปทั้งในประเทศนี้และประเทศอื่น…ถ้าทรงรับเปนตำแหน่งที่เขาเชิญ เหมือนอย่างเอาพระเกียรติคุณที่ได้ทรงบำเพ็ญมาแล้วแต่หนุ่ม จนถึงพระชะราถึงเพียงนี้ ยังได้เกียรติยศไม่พอแก่พระประสงค์ รวมความตามที่คิดเห็น ถ้ารับจะมีโทษมากกว่ามีคุณแก่พระองค์ท่าน หม่อมฉันจึงเห็นชอบด้วยซึ่งไม่ทรงปราร์ถนาจะรับ…”

(อ้างถึงในหนังสือ สาส์นสมเด็จ เล่ม 5 พุทธศักราช 2477 (ตุลาคม-มีนาคม) ฉบับตีพิมพ์ พ.ศ.2546 หน้า 236-237)

เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยานริศฯ ได้รับจดหมายแนะนำดังกล่าว พระองค์ก็ทรงปฏิเสธคำเชิญของสมาคมสถาปนิกสยาม ดังหลักฐานที่ทรงเขียนตอบความเห็นของสมเด็จฯ กรมพระดำรงฯ ข้างต้นไปในทิศทางเดียวกันว่า

“…หลักที่จะตอบสถาปนิกสมาคม อย่างที่ประทานพระดำริในข้อหลังเห็นจะเข้าที จะต้องคิดพูดโมโลโมเกให้เอาตัวออกหากไปได้ไกลทีเดียว…”

 

หากมองเทียบเคียงกับการก่อตั้ง “สมาคมนายช่างแห่งกรุงสยาม” ของกลุ่มวิศวกร จะเห็นได้ชัดว่ามีความพยายามสร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบนี้เช่นเดียวกัน โดยได้มีการทูลเชิญพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน มาดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์ ซึ่งในกรณีนี้ พระองค์ทรงตอบรับ

โมเดลดังกล่าว หากทำสำเร็จ ย่อมเปรียบได้ดั่งการสร้างทางลัดในการขยายเครือข่ายอำนาจและบารมีที่ยึดโยงเข้ากับเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ตามระบบช่วงชั้นทางสังคมแบบไทยๆ อย่างรวดเร็ว และเป็นการสร้าง “ทุนทางสังคม” ชั้นดีที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง

แน่นอน หากมองภายใต้บริบทช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เครือข่ายรูปแบบนี้อาจจะไม่ได้ช่วยสร้างทุนทางสังคมที่มากมายเท่ากับช่วงสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่เราต้องไม่ลืมว่า สถานะของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ในสายตาของกลุ่มคณะราษฎรนั้นไม่ได้มีอะไรที่ขัดแย้งรุนแรงต่อกัน

อีกทั้งพระองค์ยังได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วย ซึ่งทำให้สถานภาพของพระองค์สามารถหนุนเสริมให้สมาคมสถาปนิกสยามมีทุนทางสังคมที่ดีขึ้นมาก หากทรงรับเป็น “พระอาจารย์” อย่างน้อยก็สามารถแข่งขันอย่างไม่น้อยหน้านัก กับสมาคมนายช่างแห่งกรุงสยาม

แม้จะล้มเหลวในกรณีนี้ แต่สมาคมสถาปนิกสยามก็ยังดำเนินการสร้าง “ทุนทางสังคม” ในรูปแบบนี้ต่อมาโดยลำดับ โดยกรณีอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น ความพยายามผลักดันให้สถาปนิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงปี พ.ศ.2476 แต่จากหลักฐานที่มี ก็ปรากฏว่าล้มเหลวเช่นกัน

อีกกรณีคือ การทำเรื่องขอให้สมาคมสถาปนิกสยาม เป็นสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ในราวทศวรรษ 2490 ซึ่งกรณีนี้ดำเนินการสำเร็จ และนำมาสู่การเป็น “สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์” จวบจนปัจจุบัน

 

ตัวอย่างทั้งหมดที่กล่าวมา คือ ภาพความพยายามสร้างสถานะทางสังคมของกลุ่มวิชาชีพสถาปนิกผ่านการสร้างเครือข่ายผู้ดีระดับสูงเพื่อจะนำมาเป็น “ทุนทางสังคม” ในการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของวิชาชีพสถาปนิกในโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจของสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม สถานภาพของสถาปนิกยุคแรกเริ่ม ก็ถือว่าอยู่ในสถานะไม่ได้ดีมากนัก โดยเฉพาะในสายตาของบุคคลทั่วไป แม้จะพยายามสร้างเครือข่ายเพื่อนำมาเป็นทุนทางสังคมมากมายขนาดไหน ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า แม้กลุ่มสถาปนิกจะสามารถสถาปนาตัวตนของวิชาชีพได้สำเร็จ แต่ก็ไม่อาจสถาปนาอำนาจในสังคมที่สูงมากพอ เพราะยังขาดกระบวนการที่สำคัญอีกอย่างน้อย 2 ประการ

หนึ่ง คือ การสร้างองค์ความรู้ว่าด้วยสถาปัตยกรรม อาทิ อะไรคืองานสถาปัตยกรรม อะไรไม่ใช่ งานสถาปัตยกรรมควรมีส่วนประกอบอะไรบ้าง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ต้องดำเนินผ่านการเรียนการสอนในโรงเรียนสถาปัตยกรรม ผ่านการสร้างความรู้ในตำรา แบบเรียน และบทความในสิ่งพิมพ์ต่างๆ อีกเป็นเวลายาวนานหลายสิบปี กว่าที่วิชาชีพนี้จะประสบความสำเร็จในการผูกขาดความจริงแท้ในการชี้ว่าอะไรเป็น “สถาปัตยกรรม” ที่มีค่า อะไรเป็นได้แค่ “อาคาร” ที่ไม่มีค่ามากนัก

สอง คือ การผลักดันให้เพิ่มอำนาจของสถาปนิกผ่านการออกกฎหมาย กระบวนการนี้สำคัญมากในแง่ของการสถาปนาอำนาจให้แก่วิชาชีพนี้ในนามของความปลอดภัยทางสถาปัตยกรรม ความเป็นมาตรฐาน และความสวยงามของบ้านเมือง ซึ่งเป็นรูปแบบอำนาจอย่างใหม่ในสังคมสมัยใหม่ สิ่งนี้ได้นำไปสู่การออกพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมในปี พ.ศ.2508 ซึ่งกำหนดให้การสร้างอาคารที่มีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 100 ตารางเมตรขึ้นไปจะต้องให้สถาปนิกเป็นผู้ออกแบบเท่านั้น

การผลักดันทั้ง 2 ประเด็นดังกล่าว (ซึ่งผมจะไม่ขอกล่าวลงในรายละเอียด ณ ที่นี้นะครับ เนื่องจากเป็นประเด็นที่ต้องอธิบายแยกไปต่างหากอีกยาวพอสมควร) เมื่อผสานเข้ากับการความพยายามในการนิยามคำศัพท์เฉพาะต่างๆ ของวิชาชีพสถาปนิก การสร้างตัวตนใหม่ และการขยายทุนทางสังคมของกลุ่มวิชาชีพตนเองในหลากหลายรูปแบบ (ซึ่งได้กล่าวอย่างละเอียดแล้วในบทความทั้ง 4 ตอนก่อนหน้านี้) ทั้งหมด ได้ทำให้สิ่งที่เรียกว่า “วิชาชีพสถาปนิก” ถือกำเนิดขึ้น

และวางรากฐานอย่างมั่นคงในสังคมไทยปัจจุบัน