CHAOS MANDALA : NATIONAL COLORATION COMPLEX

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

CHAOS MANDALA : NATIONAL COLORATION COMPLEX

กระบวนการสำรวจความเป็นเรื่องแต่งของประวัติศาสตร์อันกระจัดกระจายยุ่งเหยิง

 

เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการศิลปะที่แปลกใหม่ น่าตื่นตาตื่นใจมา เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย

นิทรรศการนี้มีชื่อว่า CHAOS MANDALA : NATIONAL COLORATION COMPLEX โดย ธนัช ธีระดากร ศิลปินร่วมสมัยชาวไทย ผู้ทำงานในฐานะนักดนตรี, ดีเจ, นักออกแบบกราฟิก และศิลปินข้ามศาสตร์ ผลงานของเขาเป็นส่วนผสมระหว่างชีวประวัติ ความทรงจำ เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ และข้อมูลในโลกออนไลน์ ที่ถูกนำมาปะติดปะต่อเทียบเคียงกัน โดยธนัชกล่าวถึงที่มาที่ไปของนิทรรศการครั้งนี้ว่า

“จุดเริ่มต้นของนิทรรศการครั้งนี้ก็คือ ผมทำโครงการศิลปะนี้มาตั้งแต่ปี 2020-2021 พอดีในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญในการทำงานของผม คือผมอยากจะหารูปแบบอันหลากหลายในการทำงานและนำเสนอผลงานออกไปสู่สาธารณะ เพื่อสื่อสารกับผู้คน หลังจากที่ผมใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในยุโรป ทั้งเนเธอร์แลนด์, เบอร์ลิน เยอรมนี แล้วผมก็กลับมาเมืองไทยในช่วงปลายปี 2022 ผมพยายามสังเกตว่า ช่วงเวลาหลังการระบาดของโรคโควิด-19 นั้นเกิดอะไรขึ้นกับระบบการผลิตโดยรวมในประเทศนี้ เพราะในช่วงก่อนหน้าที่โควิด-19 ระบาดนั้นก็เกิดการชุมนุมประท้วง มีการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ และเหตุการณ์ทางสังคมการเมืองหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้น”

“ผมเลยอยากจะกลับมามองว่าตอนนี้สังคมไทยกำลังเดินไปในทิศทางไหน ผมยังสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมป๊อปต่างๆ ว่าจะนำพาเราไปในทางไหนในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของโลกหลังยุคโควิดในปัจจุบัน”

เมื่อดูจากนิทรรศการนี้ (รวมถึงนิทรรศการที่ผ่านๆ มา) ของธนัช ผลงานของเขาเป็นแนวทางการทำงานในรูปแบบที่เรียกกันว่า Multidisciplinary art หรือ ศิลปข้ามศาสตร์ ที่ผสมผสาน งานจิตรกรรม, ประติมากรรมจัดวาง, ศิลปะสื่อผสม, ศิลปะดิจิทัล, กราฟิกดีไซน์ และดนตรีทดลอง ที่นำเสนอทั้งภาพ, แสง, สี, เสียง, การแสดงสด และเอกเฟ็กต์ต่างๆ ออกมาอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

“ก่อนหน้านี้ผมเล่นดนตรีมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ แล้ว ผมเคยตั้งวงดนตรีตอนสมัยมัธยม หลังจากนั้นผมก็เก็บสะสมอัลบั้มเพลงต่างๆ รวมถึงหนังสือแฟนซีน (Fanzine – สิ่งพิมพ์ที่ทำโดยแฟนคลับของแนวดนตรีหรือบทประพันธ์ต่างๆ) หลายเล่ม”

“ผมสนใจอาร์ตเวิร์กของหนังสือเหล่านี้ ที่เป็นงานกราฟิกดีไซน์แปลกๆ ผมเองก็เรียนกราฟิกดีไซน์ที่เนเธอร์แลนด์ ก็เจอเพื่อนที่เรียนในสาย Fine art ก็รู้สึกว่างานสองประเภทนี้มีความเชื่อมโยงกันอยู่ และมีทั้งความเหมือนและความต่างในกระบวนการทำงาน ผมก็เลยหยิบทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมเคยทำมาผสมกันเป็นงานศิลปะ โดยทดลองทำมาตั้งแต่ช่วงปี 2014-2018 หลังจากเรียนจบจากเมืองไทยและไปเรียนต่อที่เนเธอร์แลนด์”

“การทำงานของผมยังอ้างอิงจากการค้นคว้าหาข้อมูลที่ผมสนใจในเรื่องราวหลากหลาย ทั้งวัฒนธรรมป๊อป, วัฒนธรรมย่อย (Subculture) ที่สั่งสมจากประสบการณ์ในการใช้ชีวิต อย่างการไปคอนเสิร์ต งานดนตรี หรือแม้แต่สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งกระแสหลักและกระแสรอง สิ่งเหล่านี้เป็นตัวชี้นำความคิดการทำงานโดยรวมของผม”

เท่าที่เราติดตามมาตลอด ลักษณะเด่นที่น่าสนใจในผลงานของธนัช คือการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมร่วมสมัยเข้ากับวัฒนธรรมย่อยกับวัฒนธรรมพื้นบ้าน และการหลอมรวมระหว่างเทคโนโลยีล้ำสมัยกับเทคโนโลยีแบบบ้านๆ ของกลุ่มคนชายขอบในสังคม

“ผมสนใจ Subculture มากๆ เพราะผมอยู่ในโลกออนไลน์มาตั้งแต่ก่อนยุคโควิดในปี 2016 ผมรู้สึกว่า ในแง่ของการทำดนตรีร่วมสมัยนั้น กลุ่มคนในโลกมีการเชื่อมต่อกันมากขึ้น ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล อย่าง Sound Cloud, Youtube หรืออะไรก็ตามแต่ ผมคิดว่าการเชื่อมโยงและการแลกเปลี่ยนถ่ายเทเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะเทคโนโลยี ผมเลยสนใจว่าเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการก่อตัวขึ้นของ Subculture ได้อย่างไร และ Subculture เอง ก็ยังถูกคนทำดนตรีในวัฒนธรรมป๊อปดึงองค์ประกอบบางอย่างไปใช้สร้างผลงานของตัวเอง”

“หลังจากนั้นกลุ่มวัฒนธรรมย่อยก็ดึงเอาผลงานที่ว่านี้กลับมาใช้ต่อ ผมสนใจวัฏจักรการไหลเวียนและทับซ้อนกันเป็นชั้นๆ ของวัฒนธรรมเหล่านี้ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร”

“อย่างผลงานชุดหนึ่งในนิทรรศการนี้ ผมใช้เทคนิคดิจิทัลคอลลาจ ผสมกับการใช้ AI ประมวลผลข้อมูลต่างๆ ที่ผมแปลงออกมาเป็นภาพแล้วพิมพ์ลงบนผืนผ้า ผลงานชุดนี้เกิดจากความสนใจในประเด็นเกี่ยวกับ Historical metafiction คือการมองประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่เป็นเรื่องแต่งที่อำนาจรัฐใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมประชาชน”

“ผมมองว่าประวัติศาสตร์ก็เหมือนเรื่องแต่ง (Fiction) ผมอยากสำรวจว่าเรื่องแต่งเหล่านี้สร้างความเป็นจริงในทุกวันนี้ขึ้นมาได้อย่างไร ทุกวันนี้เรายืนอยู่บนโครงสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจ ระบบการผลิต และวัฒนธรรมที่ถูกสร้างขึ้นจากเรื่องแต่งเหล่านี้ ที่เกิดจากการป้อนข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในยุคสมัยก่อน จากสื่ออย่างโทรทัศน์ที่มีความรวมศูนย์อำนาจ หรือการควบคุมและเซ็นเซอร์หนังสือต่างๆ”

“พอมาในยุคปัจจุบัน ในยุคอินเตอร์เน็ต เรามีโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้เราสามารถเข้าถึงประวัติศาสตร์ เข้าถึงองค์ความรู้ที่กระจัดกระจายเป็นเศษเสี้ยวชิ้นส่วนเล็กๆ ได้อย่างรวดเร็วมาก ผมสนใจในกระบวนการที่สิ่งเหล่านี้ที่ส่งอิทธิพลต่อตัวเราอย่างไรบ้าง”

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการในงานของธนัช คือการผสมผสานกันระหว่างสุนทรียะของงานศิลปะร่วมสมัยและเทคโนโลยีอันล้ำยุคเข้ากับสุนทรียะของวัฒนธรรมย่อยและวัฒนธรรมชายขอบของสังคม อย่างภาพวาดสีสเปรย์บนรถทัวร์หรือรถบรรทุกสิบล้อที่เต็มไปด้วยสีสันจัดจ้านฉูดฉาด หรือความเชื่อท้องถิ่นอย่างเรื่องพญานาคที่ผสมผสานกับความเป็นไซไฟได้อย่างโดดเด่นเตะตา

“สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนแรงบันดาลใจในการทำงานของผม เวลาผมเห็นภาพวาดบนรถทัวร์ รถสิบล้อ สิ่งเหล่านี้เป็น Historical metafiction ที่ผมพูดถึงเลย ผมชอบพวก Subculture ที่มีความบ้านๆ ความเป็นท้องถิ่นเหมือนเอา Hello Kitty ไปอยู่กับหุ่นยนต์ Transformer แล้วมีพญานาคอยู่ด้วย”

“นอกจากภาพวาดพวกนี้ ยังมีงานกราฟิกดีไซน์ อย่างพวกฟอนต์วงดนตรี Death Metal ผมก็หยิบเอามาผสมกัน เหมือนเอาส่วนผสมจากที่โน่นที่นี่มายำรวมกัน ผมสนใจว่าภาพเหล่านี้ที่ประกอบสร้างจากข้อมูลหลายๆ อย่างนั้นสะท้อนอะไรออกมาบ้าง”

องค์ประกอบอันโดดเด่นตระการตาที่สุดในนิทรรศการครั้งนี้ก็คือ งานศิลปะจัดวางในรูปของยกพื้นสูงที่เป็นเหมือนเวทีที่ถูกแยกเป็นสองฝั่งเหมือนแผ่นดินแยกแตกออกเป็นสองเสี่ยง

“เวทีนี้คือแกนของนิทรรศการนี้ ที่เหมือนเป็นองค์รวมในฉากทัศน์ของสถานการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น เป็นองค์ประกอบที่มันเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ ที่ทำให้ผู้ชมที่เดินเข้ามาชมงานรู้สึกเหมือนอยู่ในเรื่องแต่งเรื่องหนึ่ง เหมือนเปิดให้เขาเข้าไปอยู่หน้าประตูทางเข้าที่หลากหลาย แล้วเขาก็จะค้นหาความเชื่อมโยงระหว่างตัวเขากับข้อมูลที่อยู่ในงาน ด้วยความที่ผมมองว่าความเป็นจริงในสังคมเรานั้นมีรากฐานอยู่บนประวัติศาสตร์ของเรื่องแต่ง ผมก็เลยสร้างเรื่องแต่งให้เป็นแพลตฟอร์มที่คนเข้ามาประมวลผลได้ การที่เวทีแตกเป็นสองเสี่ยงก็คือการที่โลกเรามักถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่ง (Binary) เสมอ การเมืองก็มีแบ่งเป็นปีกซ้าย/ปีกขวา เพศก็แบ่งหญิง/ชาย ขาว/ดำ สูง/ต่ำ ดี/เลว สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้เรามีความเป็นอคติบางอย่าง”

“การยกเวทีเป็นพื้นสูงยังได้แรงบันดาลใจจากศิลปะการแสดงพื้นบ้านของไทยอย่างลิเก ที่นอกจากจะเป็นวัฒนธรรมเพื่อความบันเทิงแล้ว ยังเป็นเรื่องเล่าที่พูดถึงบริบทางสังคมการเมืองในแง่มุมที่สนุกสนานชวนหัวอีกด้วย”

“ในส่วนของดนตรีในงานชุดนี้ ผมยังหยิบเอาดนตรีท้องถิ่นมาใช้ คือเพลงธรณีกรรแสง ซึ่งเป็นเพลงที่ผมสนใจประวัติศาสตร์ในการเป็นเพลงที่ใช้ในงานศพ แต่ในยุคโซเชียลมีเดียก็มีคนเอาไปรีมิกซ์เป็นเพลงสามช่า เพลงแดนซ์ ทำให้สงสัยว่าตกลงจะเศร้าหรือสนุกกันแน่ ผมก็เลยเอาเพลงนี้ไปมิกซ์กับเสียงดนตรีทดลอง งานดนตรีในนิทรรศการนี้ยังถูกแบ่งออกเป็นสี่ส่วน คือ Birth (การเกิด), Life (ชีวิต), Death (ความตาย), Rebirth (การเกิดใหม่) เป็นวงจรเหมือนวัฏสงสาร เช่นเดียวกับฉากหลังของงานที่เป็นเหมือนไตรภูมิพระร่วงในยุคดิจิทัลอันยุ่งเหยิง อันเป็นที่มาของชื่องาน CHAOS MANDALA เสียงดนตรีในงานนี้ยังถูกใส่ใน USB ให้ผู้ชมสามารถซื้อกลับไปฟังที่บ้าน หรือจะเอาไปรีมิกซ์ สร้างเพลง หรือสร้างเสียงใหม่ในรูปแบบของตัวเองขึ้นมาได้ เหมือนระบบโอเพ่นซอร์สนั่นเอง”

นิทรรศการ CHAOS MANDALA : NATIONAL COLORATION COMPLEX โดย ธนัช ธีระดากร จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม-19 สิงหาคม 2566 ณ บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 08-6087-2725, [email protected]

ขอบคุณภาพถ่ายจาก บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ ถ่ายภาพโดย ศุภกร ศรีสกุล •

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์