ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน : พิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลบาว

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน : พิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลบาว
สุดยอดพิพิธภัณฑ์ที่พลิกฟื้นคืนชีวิตให้แก่เมือง (1)

 

หลังจากเสร็จภารกิจการชมงานศิลปะในเมืองซาราโกซาแล้ว คณะทัวร์ศิลปะของเราก็เดินทางไปยังหมุดหมายสำคัญอีกแห่งของการตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน

นั่นคือเมืองบิลบาว (Bilbao) ซึ่งเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดของประเทศสเปน

พิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ แห่งเมืองบิลบาว (Guggenheim Museum Bilbao) พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัยในแคว้นบาสก์ (Basque)

พิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลบาว

ความโดดเด่นเป็นเอกของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือการออกแบบโดย แฟรงก์ เกห์รี (Frank Gehry) สุดยอดสถาปนิกอเมริกัน-แคนาดา ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในสถาปนิกผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดในศตวรรษที่ 21

พิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลบาว เป็นผลงานที่สร้างชื่อให้แฟรงก์ เกห์รี เป็นที่จดจำในระดับนานาชาติ

และผลักดันให้เขากลายเป็นซูเปอร์สตาร์ในวงการสถาปัตยกรรมโลก

พิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลบาว

โดยในปี 1991 รัฐบาลแคว้นบาสก์ได้เสนอกับมูลนิธิ Solomon R. Guggenheim ว่าจะให้ทุนในการสร้างพิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ขึ้นมาอีกแห่งในเมืองบิลบาว เพื่อฟื้นฟูความเสื่อมโทรมและสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับเมืองท่าแห่งนี้

(ซึ่งเดิมทีเป็นเมืองท่าสำคัญที่อุดมด้วยถ่านหินและเหล็ก จึงเป็นศูนย์กลางการเดินเรือ การต่อเรือและอุตสาหกรรม แต่ภายหลังเสื่อมโทรมจากวิกฤตเศรษฐกิจและการก้าวตามเทคโนโลยีอันล้ำสมัยของโลกไม่ทัน)

พิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลบาว

แฟรงก์ เกห์รี เป็นหนึ่งในสถาปนิกที่รับคัดเลือกให้เข้าไปร่วมประกวดแบบและได้รับชัยชนะในที่สุด

ซึ่งเกห์รีเองต้องการสร้างให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นเสมือนหนึ่งประตูเมือง โดยนอกจากรูปทรงภายนอกของพิพิธภัณฑ์จะสะท้อนถึงความเป็นเมืองอุตสาหกรรมของเมืองบิลบาวแล้ว ยังมีการดึงเอาลักษณะร่วมอย่างรูปทรงทางธรรมชาติ (Organic Form) ที่เชื่อมโยงถึงแนวคิดในการตกแต่งสถาปัตยกรรมภายในของพิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ นิวยอร์ก ที่ออกแบบโดยสุดยอดสถาปนิกชาวอเมริกันอีกคนอย่าง แฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ (Frank Lloyd Wright)

พิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลบาว

เนื่องจากรูปทรงที่เขาออกแบบมีความสลับซับซ้อน และความต้องการในการใช้แผ่นไทเทเนียมบุผนังอาคารโดยรอบ

เกห์รีจึงนำซอฟต์แวร์สร้างงาน 3 มิติอันล้ำสมัย CATIA (Computer Aided Three Dimensional Interactive Application) ที่ใช้ในการออกแบบและผลิตยานยนต์และอากาศยานมาใช้

ด้วยโปรแกรมนี้ทำให้ฝีไม้ลายมืออันฉกาจฉกรรจ์ในการร่างแบบของเขาถูกจับออกมาสร้างเป็นรูปทรงสามมิติได้อย่างสมบูรณ์แบบ

พิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลบาว

พิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลบาว เป็นโครงการสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้คุณสมบัติของโปรแกรมนี้เต็มประสิทธิภาพเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เป็นการประสานกันอย่างสมบูรณ์แบบระหว่างสุนทรียะและเทคโนโลยี โดยไม่พียงเปิดโอกาสให้สถาปนิกออกแบบรูปทรงอย่างอิสระดั่งใจเท่านั้น หากแต่ยังสามารถคำนวณพิกัดของแบบอย่างเที่ยงตรงเพื่อส่งไปผลิตในระบบอุตสาหกรรมได้ทันที

นับเป็นการลดความผิดพลาดในกระบวนการผลิต และช่วยควบคุมงบประมาณได้อีกด้วย

แฟรงก์ เกห์รี เคยเล่าว่าพิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ ที่บิลบาวแห่งนี้ใช้ทุนสร้างต่ำกว่างบประมาณ (โดยใช้ไป 89 ล้านเหรียญสหรัฐ จากงบประมาณ 100 ล้านเหรียญ) ด้วยการใช้วัสดุท้องถิ่น และเทคโนโลยีที่ทำให้วัสดุในการผลิตมีต้นทุนที่ถูกลง

เพราะเกห์รีรู้จักผู้ผลิตที่สามารถทำให้ไทเทเนียม ซึ่งเป็นวัสดุที่มีราคาสูง (แต่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าตะกั่วหรือทองแดง และมีความเบากว่าเหล็ก) มีความบางลงเท่าตัว แต่มีความแข็งแรงเท่าเดิม จึงมีราคาที่ถูกพอๆ กับวัสดุชนิดอื่นในจำนวนเท่าๆ กัน

มีเกร็ดขำๆ ตอนที่เกห์รีหว่านล้อมบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ CATIA ให้หันมาสนับสนุนการสร้างงานสถาปัตยกรรมเป็นครั้งแรก เขาคุยกับประธานบริษัทและถามว่า “โปรแกรมนี้ทำเงินให้คุณได้เท่าไหร่?

พอได้ยินตัวเลข เกห์รีเลยบอกว่า “ถ้าคุณเอาโปรแกรมนี้ไปใช้กับงานสถาปัตยกรรมคุณจะได้ตัวเลขเท่านี้”

ประธานก็ร้องออกมาว่า “ห่ะ! ผมมองข้ามไปได้ยังไงฟะ!”

พิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลบาว
พิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลบาว

ด้วยพื้นผิวที่บุไทเทเนียม กระจกใส และหินปูน รูปลักษณ์ของอาคารพิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลบาว ที่มีรูปทรงเลื่อนไหลอย่างวิจิตรพิสดารคล้ายกับรูปทรงของสิ่งมีชีวิต

ผนังแต่ละผืนของอาคารสอดประสานและคลี่บานราวกับกลีบดอกไม้

แสงที่ตกกระทบพื้นผิวของอาคารก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอันหลากหลายของรูปทรงราวกับเป็นวัตถุแปลกประหลาดพิสดารจากห้วงอวกาศที่ลงมาสิงสถิตในสถานที่แห่งนี้เมื่อหลายศตวรรษก่อน และดํารงอยู่ในสภาพแวดล้อมรอบข้างอย่างขัดแย้งและกลมกลืนในเวลาเดียวกัน

พื้นที่ภายในของพิพิธภัณฑ์ถูกออกแบบเพื่อรองรับทั้งงานศิลปะจัดวางร่วมสมัยและภาพเขียนเก่าแก่ของจิตรกรชั้นครู ท้าทายให้เหล่าศิลปินให้เข้ามาสร้างสรรค์ผลงานได้มากกว่าการแขวนรูปบนผนังสี่เหลี่ยมสีขาวว่างๆ ธรรมดา ภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยห้องแสดงนิทรรศการ, หอประชุม, ภัตตาคาร, คาเฟ่ ร้านขายของชำร่วย, สํานักงาน, ร้านหนังสือ ทั้งหมดถูกออกแบบอย่างกลมกลืนตื่นตาตื่นใจ

นอกจากจะคืนชีวิตให้กับเมืองแล้ว สถาปัตยกรรมชิ้นนี้ยังลบขีดจำกัดของรูปลักษณ์ตึกสี่เหลี่ยมแบบเดิมของพิพิธภัณฑ์ลงอย่างสิ้นเชิง

ตัวอาคารประสบความสำเร็จในการนำดีไซน์มาพัฒนาสิ่งเก่าที่มีอยู่และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนให้ถือกำเนิดขึ้น

อีกทั้งยังเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางสุนทรียะราวกับเป็นประติมากรรมชิ้นเอกของเมือง

พิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลบาว

อย่างไรก็ดี ในช่วงแรกๆ ผลงานชิ้นนี้เองก็ถูกต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากหลายต่อหลายฝ่าย รวมถึงผู้คนในเมืองบิลบาวเองด้วยซ้ำ เหตุเพราะดูแปลกประหลาด แปลกแยก ไม่มีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมและบริบทของที่ตั้ง

บ้างก็ว่างานชิ้นนี้เป็นเพียงการสนองความต้องการที่จะแสดงออกถึงอัตตาของเกห์รีเท่านั้น

บ้างก็ว่าผลงานชิ้นนี้ของเขาเป็นเพียงผลพวงของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของซอฟต์แวร์ ไม่ได้เป็นความสามารถของสถาปนิกแต่อย่างใด

พื้นผิวบุไทเทเนียมของพิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลบาว

แต่ด้วยอานิสงส์จากการมีอยู่ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ทำให้มีผู้คนจํานวนมหาศาลหลั่งไหลเข้ามาเยี่ยมชมเมือง

ทำให้บิลบาวกลายเป็นจุดหมายปลายทางของสถาปนิก ศิลปิน นักท่องเที่ยว

ในเวลาเพียงแค่ 3 ปีหลังจากเปิดพิพิธภัณฑ์ จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มถึง 4 ล้านคน ส่งผลให้มีรายได้หลั่งไหลเข้ามาถึง 500 ล้านยูโร

และส่งผลให้เทศบาลมีรายได้จากภาษีต่างๆ ถึง 100 ล้านยูโร (ซึ่งสูงกว่างบประมาณในการสร้างพิพิธภัณฑ์เสียอีก)

โดยปรากฏการณ์ในครั้งนี้ได้รับการขนานนามว่า “Bilbao Effect”

เมื่อนั้นความเกลียดชังและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็กลับกลายเป็นความภาคภูมิใจและกลายเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตา ยังผลให้เกห์รีกลายเป็นสถาปนิกเอกแห่งยุคสมัยและขวัญใจแห่งเมืองบิลบาวในที่สุด

ผลงานชิ้นนี้ได้กลายเป็นผลงานที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับสถาปนิก, นักออกแบบ รวมถึงศิลปิน และนักสร้างสรรค์คนแล้วคนเล่า จวบจนปัจจุบัน

สถาปัตยกรรมภายในพิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลบาว

กาลครั้งหนึ่งไม่นานเท่าไหร่นัก ตัวผมเองเคยมีโอกาสได้เข้าร่วมฟังการบรรยายของแฟรงก์ เกห์รี ตัวจริงเสียงจริง และได้มีโอกาสยกมือขึ้นสอบถามเขาว่า คิดอย่างไรกับการที่งานออกแบบพิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลบาว ของเขามีสุนทรียะและความงามที่โดดเด่นมากเสียจนอาจไปเบียดบังหน้าที่ที่แท้จริงของตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ ซึ่งก็คือการเป็นอาคารที่ใช้เป็นที่สะสมและจัดแสดงงานศิลปะให้ผู้คนเข้าไปชม เพราะเวลาผู้คนเดินทางไปเมืองบิลบาว หลายคนไปเพราะอยากไปเห็นตัวพิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์มากกว่างานศิลปะที่จัดแสดงข้างในด้วยซ้ำไป

ซึ่งเกห์รีก็ตอบได้อย่างน่าฟังว่า

สถาปัตยกรรมภายในพิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลบาว

“ในกระบวนการทำงาน ผมต้องผ่านการคิดถึงบริบทของสภาพแวดล้อม สภาพสังคม และผู้คนที่อยู่อาศัยในพื้นที่นั้น ผมต้องคุยกับศิลปินมากมาย เกี่ยวแนวคิดในการสร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย ผมเคยถามศิลปินหลายคนว่าต้องการให้สร้างพิพิธภัณฑ์ที่มีพื้นที่เอื้ออำนวยต่อการแสดงงานของพวกเขาไหม? ศิลปินเหล่านั้นบอกว่า ไม่จำเป็น ทำอย่างที่คุณอยากทำเถอะ กูเกนไฮม์มีพื้นที่ที่ศิลปินได้ใช้ความคิดโต้ตอบกับพื้นที่ มันท้าทายกว่าการแขวนรูปบนผนังสี่เหลี่ยมสีขาวว่างๆ เรียบๆ ธรรมดา แต่อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนหลายล้านที่ไปที่บิลบาวเพราะต้องการดูพิพิธภัณฑ์ของผมมากกว่าดูงานศิลปะที่อยู่ข้างใน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็น ผมก็ต้องขอโทษด้วยนะ” (ข้าน้อยมิบังอาจ!)

พิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลบาว ตั้งอยู่เลียบแม่น้ำเนอร์บิออน (Nervión) ในเมืองบิลบาว แคว้นบาสก์ (Basque) ประเทศสเปน ดูรายละเอียดการเข้าชมได้ที่นี่ shorturl.at/cinwy

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์