ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 กันยายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | คนมองหนัง |
ผู้เขียน | คนมองหนัง |
เผยแพร่ |
ปิดฉากลงไปแล้วสำหรับเทศกาลหนังสั้นครั้งที่ 20 จัดโดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) และมูลนิธิหนังไทย
ปีนี้ มีโอกาสแวะเวียนไปชมผลงานบางส่วนที่เข้าฉายในเทศกาลหนังสั้น แม้จะถือเป็นจำนวนที่น้อยมาก คือ ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของผลงานทั้งหมดในเทศกาล (และเป็นเพียงส่วนเสี้ยวน้อยนิดของผลงานที่ส่งเข้าประกวด)
แต่ก็มีหนังสั้นจำนวนหนึ่ง ที่เมื่อได้ดูก็รู้สึกประทับใจ และยังติดอยู่ในใจ แม้จะเดินออกจากห้องฉายแล้วก็ตาม
ภารกิจสุดท้าย-Aim
“ภารกิจสุดท้าย” (เชวง ไชยวรรณ) และ “Aim” (อรุณกร พิค) เป็นหนังสั้นที่มีภูมิหลังของตัวละครนำ และฉากหลังคล้ายๆ กัน นั่นคือ กลุ่มชนเผ่า/แรงงานข้ามขาติ บนพื้นที่ภูเขาสูงทางภาคเหนือ
“ภารกิจสุดท้าย” เล่าเรื่องราวของ “เงื่อนปมขัดแย้ง” ผ่านแนวทาง “สมจริง” เมื่อนายทหารชั้นประทวนเชื้อสายปกาเกอะญอเดินทางไปเยี่ยมแม่, น้องสาว และคนรัก อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่กองทัพมีคำสั่งให้ทหารเข้าตัดโค่นสวนยางในเขตป่า ตามนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล
แน่นอนว่า สวนยางของครอบครัวทหารหนุ่ม ตลอดจนคนรู้จักในหมู่บ้าน ย่อมจะถูกตัดโค่นไปด้วย ขณะเดียวกัน แม้ทหารเชื้อสายปกาเกอะญอจะไม่ต้องลงมือตัดโค่นต้นยางของตนเอง แต่เขาก็ต้องเดินทางไปทำลายต้นยางของชาวบ้านในพื้นที่อื่นๆ
หนังเล่าเรื่องราวอย่างเรียบง่าย สอดแทรกอารมณ์ขันบ้างตามสมควร นอกจากนี้ ดนตรีประกอบในส่วนที่เป็นเพลง “คืนความสุขให้ประเทศไทย” เวอร์ชั่นเตหน่า ก็จัดเป็นเพลงบรรเลงที่มีทั้งความไพเราะ หดหู่ และตลกร้าย ผสมผสานกันไปอย่างน่าประหลาด
ในทางกลับกัน “Aim” เลือกเล่าเรื่องของตนเองผ่านการเป็นหนังแนว “ดราม่า-ทริลเลอร์” ที่สนุก ตื่นเต้น และน่าติดตาม
หนังถ่ายทอดความสัมพันธ์ระหว่าง “คุณหมอ” วัยกลางคน เจ้าของรีสอร์ทหรู ที่มีงานอดิเรกเป็นการยิงปืนใส่หุ่นจำลองกลางป่า กับแรงงานข้ามชาติในรีสอร์ต
ท่ามกลางปมขัดแย้งที่คล้ายจะเป็นสูตรสำเร็จ หนังสั้นเรื่องนี้ค่อยๆ เผยให้คนดูเห็นถึง ภาวะกดขี่-ขูดรีด หรือการใช้อำนาจอย่างแนบเนียน ที่ด้านหนึ่ง ก็คล้ายจะเปี่ยมความเมตตาปรานี ทว่า อีกด้านกลับคุกรุ่นไปด้วยความโหดเหี้ยม ของตัวละคร “คุณหมอ”
รวมถึงภาวะของตัวละครแรงงานข้ามชาติที่ถูก “บริหาร/จัดการ/ควบคุม” อย่างผิดแผกกันไป คือ มีทั้งคนซึ่งถูกลงโทษอย่างหนักหน่วง คนที่ถูกข่มขู่เกือบสุดทาง ตลอดจนคนที่ถูกรับไปเลี้ยงดู, กลืนกลาย และค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นฝ่ายผู้ใช้อำนาจ มากกว่าจะถูกกดด้วยอำนาจ
ถ้าได้รับการจัดฉายในวงกว้าง หนังสั้นที่สนุกและระทึกขวัญอย่าง “Aim” อาจสามารถเข้าถึงคนดูกลุ่มใหญ่ได้ง่ายกว่าหนังที่พยายามส่ง “สาร” แบบเดียวกัน ด้วยกระบวนท่าอื่นๆ
ฝนเม็ดน้อย
“ฝนเม็ดน้อย” (บุญฤทธิ์ เวียงนนท์) ดัดแปลงมาจากบทกวีชื่อเดียวกันของ “ศิวกานท์ ปทุมสูติ”
จุดเด่นมากๆ ของ “ฝนเม็ดน้อย” ในมุมมองของผม มีอยู่สองประการ
ประการแรก คือ หนังเรื่องนี้มีงานสร้างที่ “เรียบง่าย” หรือออกไปในเชิง “ทำมือ” นิดๆ ซึ่งอาจส่งผลให้งานของบุญฤทธิ์เสียเปรียบหนังสั้นจำนวนมาก ซึ่งมีคุณภาพด้านโปรดักชั่นดีกว่า
แต่เรื่องราวอันทรงพลังก็ช่วยกลบเกลื่อนข้อจำกัดด้านงานสร้างได้เป็นผลสำเร็จ แถมยังผลักดันให้ “ฝนเม็ดน้อย” มีความโดดเด่นเหนือกว่าหนังสั้นส่วนใหญ่ในเทศกาล
ประการต่อมา หนังสั้นเรื่องนี้สร้างขึ้นจากบทกวีของศิวกานท์ ซึ่งมีเนื้อหาเน้นหนักไปยังการวิพากษ์ระบบการศึกษาไทย
ถ้าบุญฤทธิ์สร้าง “ฝนเม็ดน้อย” เวอร์ชั่น “หนังสั้น” ให้เหมือนกับเวอร์ชั่น “บทกวี” เป๊ะๆ เราอาจได้หนังสั้นแนว “ด.เด็ก ช.ช้าง” (ผลงานภาพยนตร์สั้นคลาสสิคของ ทรงยศ สุขมากอนันต์ เมื่อต้นทศวรรษ 2540 ที่พูดถึงการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมในห้องเรียน) เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งเรื่อง (โดยที่คุณภาพโดยรวมอาจอ่อนด้อยกว่างานของทรงยศ)
แต่บุญฤทธิ์กลับพยายามเดินทางไปให้ไกลกว่านั้น ด้วยการเสริมสร้างปมชีวิต-ภูมิหลังอันละเอียด ซับซ้อน และเศร้าสะเทือนใจ ให้แก่ตัวละครนำ ซึ่งเป็นเด็กหญิงชาวอีสาน
ที่สำคัญ เขาสามารถสอดแทรกจุดยืนหรือท่าทีในการวิพากษ์สังคม-การเมืองไทยร่วมสมัยของตนเอง ลงไปในหนังสั้น “ฝนเม็ดน้อย” ได้อย่างคมคายและกล้าหาญมากๆ
โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าหนังเรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นในปี 2559 อันเป็นยุคที่บรรยากาศของสังคมไทยไม่ได้เปิดกว้าง หรือเอื้อต่อการวิพากษ์วิจารณ์สักเท่าไหร่
หมอชิต
“หมอชิต” (วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์) เป็นหนังสั้นเรื่องหนึ่งที่อยู่ในโปรเจ็กต์ “Bangkok Stories” ซึ่งมีแผนจะออกฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วไปปลายปีนี้
ขณะที่หนังสั้นอีกห้าเรื่องที่เหลือของโปรเจ็กต์ เล่าเรื่องราวความรักความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มสาวชาวกรุงเทพฯ (เรื่อยไปจนถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ) วิชชานนท์กลับเลือกเล่าเรื่องราวผ่านสองตัวละครหลัก ซึ่งเป็นคนต่างจังหวัด
หนึ่ง คือ เด็กหนุ่มขอนแก่นที่เดินทางเข้ามาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง อีกหนึ่ง คือ เด็กสาวชาวลำพูน แต่ย้ายไปอยู่เชียงใหม่ ซึ่งลงมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
มีไม่บ่อยครั้งนักหรอก ที่ตัวละครพระเอก-นางเอกในหนังหรือละครไทย จะเป็น “เด็กรามฯ” และ “เด็กราชภัฏ”
ขณะที่หนังสั้นอีกห้าเรื่องที่เหลือ พูดถึงความสัมพันธ์ของตัวละครภายใน “กรอบเวลาสั้นๆ” ไม่เกินหนึ่งวันหรือหนึ่งคืน
“หมอชิต” กลับขยับขยาย “กรอบเวลา” ของตัวเอง ให้ยืดยาวออกไปได้อย่างน่าทึ่ง แม้หนังจะมีความยาวเพียงราวๆ 15 นาที
นั่นคือ หลังจากที่ตัวละครเอกสองคนพบกันครั้งแรก ณ สถานีขนส่งหมอชิต หนังก็ตัดภาพไปยังเหตุการณ์ 9 ปีถัดจากนั้น
เมื่อหนุ่มขอนแก่นกลายเป็นคนขับแท็กซี่ ที่เรียนรามฯ ไม่จบ พลัดพรากจากถิ่นฐานบ้านเกิด และมีภาระต้องเลี้ยงดูลูกอยู่ในเมืองหลวง ส่วนสาวลำพูน/เชียงใหม่ กลายสภาพเป็น “ผู้หญิงผมทอง” ซึ่งประกอบอาชีพ “เซลส์” ออกตระเวนขายครุภัณฑ์ตามสถานศึกษา
ทั้งคู่กลับมาเจอกันอีกหนบนรถแท็กซี่ของตัวละครฝ่ายชาย และบทสนทนา พันธสัญญาหลวมๆ ระหว่างกัน รวมถึงลูกเล่นรายทาง เล็กๆ น้อยๆ ก็ดำเนินไปอย่างน่ารัก เปี่ยมอารมณ์ขัน และมีเสน่ห์แพรวพราว
Mr.Zero คนหมายเลขศูนย์
“Mr.Zero คนหมายเลขศูนย์” ผลงานการกำกับของ นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์ (มีชวัลรัตน์ รุ้งแสงเจริญทิพย์ เป็นผู้กำกับร่วม) เข้าประกวดในสายภาพยนตร์สารคดี และได้รับรางวัลสูงสุดของสายการประกวดดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม นี่กลับเป็น “หนังสารคดี” ซึ่งดำเนินเรื่องราวหยอกล้อเคล้าคลอกับ “เรื่องแต่ง” ทั้งยังมีลีลาการถ่ายทอดประหนึ่งบทกวีที่งดงาม และแย้มพรายปริศนาบางประการ ให้ผู้ชมนำกลับไปขบคิดตีความกันต่อ
หนังเล่าเรื่องราวชีวิตของ “บัณฑิต อานียา” นักเขียน-นักแปลอาวุโส ที่ทั้งถูกกล่าวหาว่าเป็น “คนบ้า” และถูกฟ้องร้องในคดีความอันสุ่มเสี่ยงอันตราย
แต่ “Mr.Zero คนหมายเลขศูนย์” ไม่ได้มุ่งนำเสนอประเด็นเรื่องคดีความหรือการต่อสู้ทางการเมือง หากพยายามย้อนกลับมาสำรวจตรวจสอบ “แง่มุมภายใน” ของชีวิตบัณฑิต
นัชชาและชวัลรัตน์ถ่ายทอดชีวิตจริง ทั้งในปัจจุบันและอดีต ของนักเขียนอาวุโส คู่ขนานไปกับการปล่อยเสียงอ่านข้อความบางส่วนจากนิยายเรื่อง “คนหมายเลขศูนย์” หนึ่งในผลงานวรรณกรรมต่างประเทศที่บัณฑิตแปลเป็นภาษาไทย ซึ่งเล่าเรื่องราวของชายที่คิดว่าตนเอง คือ “จอห์น เลนนอน”
ดังที่เขียนไปแล้วว่า หนังเรื่องนี้ไม่ได้พยายามจำกัดตนเองอยู่ในกรอบของ “ความเป็นภาพยนตร์สารคดี” แบบเคร่งครัด จึงมีหลายช่วงตอน ซึ่งหนังแปรสภาพกลายเป็นบทกวีที่บรรยายรายละเอียดเล็กน้อยในชีวิตของชายชราผู้หนึ่ง ด้วยอารมณ์กึ่งงดงาม กึ่งเศร้าสร้อย
ยิ่งกว่านั้น ยังมีบางจังหวะ ที่หนังได้พลิกผันสถานภาพของตนเองไปสู่การเป็น “ภาพยนตร์เรื่องแต่ง” (fiction) เช่น ฉากที่จำลองการรักษาคนป่วยในโรงพยาบาลบ้า หรือฉากร้องเพลงในโอ่ง ที่มีความก้ำกึ่งระหว่างการบันทึกภาพแบบดิบๆ อย่างสารคดี กับการถ่ายทำอย่างตั้งใจและมีการเตรียมงานล่วงหน้า ในลักษณะหนังฟิกชั่น
แต่องค์ประกอบเหล่านั้น มิได้ส่งผลให้ “ความจริงจังเข้มข้น” ในเนื้อหาของหนังถูกลดทอนลง ตรงกันข้าม “ชีวิตจริงๆ” ของบัณฑิต กลับถูกถ่ายทอดออกมาอย่างทรงพลังหนักแน่นมากขึ้น
“Mr.Zero คนหมายเลขศูนย์” ไม่มีจุดบกพร่องด้านโปรดักชั่น แต่ก็ไม่ได้เป็นหนังที่มีงานสร้างเลิศหรูหรือหวือหวา
หนังถูกถ่ายทำอย่างเรียบง่าย โดยหากพิจารณาในแง่ของการถ่ายภาพ-ตัดต่อ ใครก็ตามที่มีกล้องวิดีโอแฮนดี้แคม กล้องจากสมาร์ตโฟน หรือกล้องมิเรอร์เลสราคาไม่แพง และมีเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมโปรแกรมตัดต่อ ก็คงสามารถทำงานโปรดักชั่นได้สูสีกับคนทำหนังเรื่องนี้
แต่จะมีสักกี่คนกัน ซึ่งสามารถถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของ “มนุษย์” ผู้หนึ่ง ออกมาได้ละเอียดซับซ้อน เหมือนกับที่นัชชาและชวัลรัตน์สามารถทำได้เป็นอย่างดียิ่ง
อีกประเด็นที่ “Mr.Zero คนหมายเลขศูนย์” ทิ้งค้างไว้ให้ผู้ชมได้นำกลับไปขบคิดตีความ ก็คือ แม้ในช่วงต้นๆ หนังจะนำเสนอภาพ-เสียงที่บุคคลใน “เครือข่ายเดียวกัน” กล่าวชื่นชม ยกย่อง ให้กำลังใจบัณฑิต
จนเขาแทบจะกลายสถานะเป็น “ฮีโร่ของการต่อสู้” อีกคนหนึ่ง
ทว่า ต่อมา หนังกลับค่อยๆ ถ่ายทอดภาวะความป่วยไข้ อ้างว้าง โดดเดี่ยว และการพยายามตั้งคำถามกับตัวเอง ของนักเขียน-นักแปลอาวุโส
เขาจึงอาจนับเป็น “คนหมายเลขศูนย์” อีกรายหนึ่งของสังคม
“คนหมายเลขศูนย์” ซึ่งไม่ได้เป็นทั้ง จอห์น เลนนอน หรือ “ผู้มีชื่อเสียง” รายอื่นๆ
เขามิอาจเป็นใคร เขาไม่มีใคร และเขาไม่ได้อะไรจากใครเลย เมื่อดุ่มเดินไปจนเกือบจะถึงปลายทางของชีวิต
หนังสารคดีกึ่งบทกวีกึ่งเรื่องแต่งเรื่องนี้ อาจกำลังพยายามร้องเตือนคนดูอยู่ว่า นอกจาก “บัณฑิต อานียา” แล้ว พวกเราส่วนใหญ่ต่างก็เป็น “คนหมายเลขศูนย์” เช่นเดียวกัน