อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : Poetry of Dead, we are all alone…when ghosts found us. ศิลปะที่สะท้อนความล้มเหลว ของอำนาจรัฐจอมปลอม

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

 

Poetry of Dead, we are all alone…when ghosts found us.

ศิลปะที่สะท้อนความล้มเหลว

ของอำนาจรัฐจอมปลอม

 

ในช่วงเวลาแห่งการต่อสู้ทางการเมืองของประเทศไทยที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เหล่านักต่อสู้เคลื่อนไหวผู้ร่วมกันผลักดันให้ประชาธิปไตยที่แท้จริงเกิดขึ้นในประเทศนี้ ด้วยความหวังว่าจะนำมาซึ่งชีวิตความเป็นอยู่ที่ผู้คนในสังคมนี้สมควรจะได้รับ

ถึงแม้ความหวังที่ว่านี้จะถูกทำให้ริบหรี่จากเหตุการณ์รัฐประหารซ้ำซากครั้งแล้วครั้งเล่า

หากในปัจจุบัน เปลวไฟแห่งความหวังกลับค่อยๆ ลุกโหมขึ้นด้วยเชื้อไฟจากคนรุ่นใหม่ ผู้เต็มไปด้วยความกล้าหาญ เปี่ยมปฏิภาณไหวพริบ

วิถีทางในการต่อสู้ของพวกเขาเหล่านี้เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ แปลกใหม่

และหนึ่งในเครื่องมือหลากหลายรูปแบบที่พวกเขาใช้ในการต่อสู้ก็คือ “ศิลปะ” นั่นเอง

บ่อยครั้งที่คนรุ่นใหม่ใช้งานศิลปะเป็นกระบอกเสียงในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย และแสดงออกถึงอุดมการณ์ทางการเมือง หรือสื่อสารถึงความวิปริตบิดเบี้ยวในสังคมไทยให้ผู้คนในโลกได้รับรู้ได้อย่างทรงพลัง

นิทรรศการ Poetry of Dead, we are all alone…when ghosts found us. เป็นอีกหนึ่งความพยายามของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการใช้งานศิลปะเป็นกระบอกเสียงในการบอกเล่าเรื่องราวทางการเมืองในประเทศไทย

ผ่านผลงานจิตรกรรมโดย Pare Patcharapa (พัชราภา อินทร์ช่าง) นักออกแบบกราฟิก ครูสอนโยคะ และนักต่อสู้เรียกร้องสิทธิและพื้นที่ของผู้หญิง, ความเท่าเทียม และประชาธิปไตยในสังคมร่วมสมัย ผู้พำนักและทำงานอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่มากว่า 12 ปี

ผลงานที่จัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้เกิดขึ้นจากความคับข้องใจของศิลปินที่มีต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน

โดยเฉพาะประชาชนที่เข้าถึงทรัพยากรสาธารณะได้อย่างยากลำบากภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลชุดสอดไส้เผด็จการ

ศิลปินรู้สึกสะเทือนใจต่อการแสดงออกของผู้มีอำนาจ (ที่ได้มาโดยมิชอบ) ต่อสถานการณ์วิกฤตในทุกๆ ด้านอย่างไร้สำนึกความรับผิดชอบ

 

“งานในนิทรรศการครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่เราวาดรูปด่ารัฐบาลกับเพื่อนในกลุ่มนักวาดภาพประกอบเพื่อประชาธิปไตย เป็นงานภาพประกอบแบบดิจิตอล ก่อนหน้านี้เราทำงานประจำเป็นกราฟิกดีไซเนอร์และวาดภาพประกอบแบบดิจิตอลอยู่แล้ว พอในช่วงปี 2020 เราเริ่มติดตามม็อบและกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง และวาดภาพเพื่อระบายความรู้สึกต่อสังคมการเมือง”

“ในช่วงนั้นโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ก็วาดเป็นภาพพอร์ตเทรตของเยาวชนและนักศึกษาผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย เป็นภาพวาดลายเส้นแบบไม่ยกปากกา (contour drawing) พอวาดไปเรื่อยๆ ก็เริ่มค่อยๆ พัฒนาไปเป็นการเล่าเรื่องมากขึ้น”

“วันหนึ่งเราดูข่าวในช่วงที่มียอดผู้ติดเชื้อโควิดและเสียชีวิตเยอะมาก เป็นช่วงก่อนที่จะมีคนติดเชื้อจนเสียชีวิตอยู่กลางถนน วันนั้นนายกฯ ออกมาแถลงข่าวกับทีมสาธารณสุข แล้วหัวเราะเฮฮากัน”

“ภาพที่เห็นทำให้เรารู้สึกสิ้นหวัง เรารู้สึกว่าเราไม่สามารถพึ่งพารัฐบาลนี้ได้อีกต่อไป เรามองเห็นภาพของคนตายที่กำลังถูกทอดทิ้ง บ้านเมืองเรากลายเป็นเหมือนเมืองก็อตแธมที่มืดมน มีเพียงแค่แสงของทุนนิยมที่หากินกับเราส่องแสงเรืองอยู่ เป็นเหมือนโลกดิสโทเปีย (Dystopia)”

 

ก่อนหน้านี้ผลงานของเธอถูกเผยแพร่และแชร์ต่อๆ กันอย่างแพร่หลายจนกลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์

แต่ก็ถูกลบทิ้งอย่างรวดเร็วในข้อหาบั่นทอนและไม่ส่งต่อกำลังใจอันดีให้แก่สังคม

“เรารู้สึกว่ารัฐบาลนี้ไม่เคยรับผิดชอบอะไรเลย แต่มักจะโยนความผิดให้ประชาชน ปล่อยให้เราโทษกันเอง ประชาชนอย่างเราๆ ก็ไม่มีทางออก เราต้องอยู่กันด้วยตัวเอง และค่อยๆ ตายกันไปเอง เราก็เลยถ่ายทอดสิ่งที่เราคิดออกมาเป็นภาพวาด แล้วโพสต์ลงเฟซบุ๊ก”

“พอเราโพสต์ภาพนี้ได้ประมาณ 3-4 นาที ก็โดนลบออก เพราะมีคนบอกว่าเป็นภาพที่สะเทือนใจเกินไป ซึ่งเราคิดว่าเหตุการณ์ในบ้านเมืองเราทุกวันนี้สะเทือนใจกว่านี้เยอะ ทั้งคนที่ต้องฆ่าตัวตายเพราะความเครียดจากวิกฤตโควิด คนป่วยติดเชื้อโควิดจนต้องนอนตายข้างถนน ภาพเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่ในสังคมเราทุกวัน เราก็เลยเอาภาพไปโพสต์ในทวิตเตอร์แทน หลังจากนั้นก็มีคนเอาไปรีทวีตกันมากมาย”

“จนวันหนึ่งคุณมิตร (ใจอินทร์) ได้เห็น เขาก็เลยชวนเรามาแสดงนิทรรศการ พอดีคุณมิตรเขาอยากให้เราทำงานที่เป็นงานวาดมือเป็นสีน้ำมันบนผ้าใบด้วย เพื่อให้เราขายงานเป็นชิ้นเป็นอันได้บ้าง ซึ่งเราไม่เคยทำมาก่อน ก็งานเข้าเลยทีนี้ เพราะปกติแค่วาดภาพแบบดิจิตอล หรือวาดภาพสีน้ำบนกระดาษเท่านั้น”

“พอต้องทำงานแสดงในนิทรรศการนี้ก็เลยตัดสินใจซื้อคอร์สเรียนวาดภาพสีน้ำมันออนไลน์ แล้วก็ค่อยๆ หัดทำ ลองผิดลองถูกไป เพราะเรามีเวลาเตรียมงานนานถึง 6 เดือน ก็เลยกลายเป็นผลงานในนิทรรศการนี้ขึ้นมา”

“จะว่าไปนิทรรศการครั้งนี้เป็นเหมือนการเปิดตัวในฐานะศิลปินอาชีพของเรา เพราะพอเริ่มทำงานในนิทรรศการนี้ และเริ่มขายงานได้ เราก็ตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาเป็นศิลปินอิสระเต็มตัว”

 

นิทรรศการครั้งนี้เป็นการรวบรวมผลงานที่ศิลปินสร้างสรรค์ตลอดช่วงเวลาที่โรคโควิด-19 ยังคงระบาด ภายใต้การบริหารจัดการอันล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลจอมปลอมชุดนี้

“เราต้องการให้ภาพวาดในนิทรรศการนี้สะท้อนถึงสิ่งที่รัฐบาลนี้ทำกับประชาชน อย่างเช่นในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ร้านอาหารต้องปิดหมดทุกร้าน แต่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีไปนั่งล้อมวงบนโต๊ะริมทะเลที่ภูเก็ตเหมือนกำลังปาร์ตี้โดยไม่สวมแมสก์ เราก็เลยวาดให้ออกมาเป็นเหมือนภาพของพวกภูติผีกำลังกินเครื่องเซ่นไหว้บนโต๊ะ”

“เราคิดว่าสื่อในประเทศเรามักทำให้ผู้มีอำนาจเป็นคนใหญ่คนโต (เรียกว่าบิ๊กโน่นบิ๊กนี่) แต่เรามองว่าความเป็นจริงคนพวกนั้นไม่ได้ใหญ่โตอะไรเลย ก็เป็นคนเหมือนเรานั่นแหละ แต่เขาใช้วิธีการฉ้อฉลจนได้มาซึ่งอำนาจ เราเลยวาดให้คนพวกนี้ออกมาเป็นเหมือนภูตผีสัมภเวสีตัวเล็กๆ เพื่อให้คนที่กำลังต่อสู่กับอำนาจรัฐอยู่มีกำลังใจที่จะสู้ต่อไป”

นอกจากผลงานภาพวาดที่จัดแสดงในนิทรรศการแล้ว ศิลปินยังต้องการเป็นอีกหนึ่งเสียงที่เรียกร้องอิสรภาพต่อการแสดงออกอย่างสันติให้แก่เหล่าบรรดาแกนนำผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำในขณะนี้ ผ่านการสร้างสรรค์ผลงาน Performative Painting (การวาดภาพแสดงสด) ในชื่อ Star Locket ที่ศิลปินจะประจำอยู่ที่ห้องจัดแสดงทุกวันทำการตลอดช่วงนิทรรศการ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานภาพวาดบนผืนผ้าใบขนาด 3 x 2 เมตร ซึ่งเป็นขนาดของห้องคุมขังภายในเรือนจำที่คุมขังเหล่าบรรดานักเคลื่อนไหวทางการเมืองเอาไว้

การวาดภาพแสดงสดที่ว่านี้เป็นการสะท้อนการต่อสู้เพื่ออิสรภาพในพื้นที่จำกัดและแสดงออกถึงอุดมการณ์แห่งเสรีภาพที่ไม่มีพื้นที่ใดที่สามารถกักขังเอาไว้ได้

 

“การทำ Performative Painting เป็นไอเดียของคุณมิตร ที่เขาอยากจะให้มีกิจกรรมเกิดขึ้นในนิทรรศการนี้ ด้วยการให้ศิลปินเข้ามาใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในสภาวะที่เหมือนกำลังถูกกักขังอยู่ในพื้นที่หอศิลป์ แล้วผลิตผลงานขึ้นมาเพื่อตีแผ่สถานการณ์ของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ, ในช่วงเวลาระหว่างแสดงนิทรรศการเราก็จะเข้ามาทำงานในพื้นที่แสดงงานทุกวัน ตั้งแต่บ่ายโมงถึงหกโมงเย็น ไปจนถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน เพื่อให้ภาพวาดเสร็จตามที่วางแผนเอาไว้ ในระหว่างนี้ก็เปิดให้ผู้ชมเข้ามาดูการทำงานของเราได้ด้วย”

กับคำถามของเราที่ว่า ศิลปะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่?

เธอตอบเราว่า

“เราคิดว่าไม่ใช่เพียงแค่ศิลปะ แต่เราคิดว่าทุกสายงานสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ทั้งนั้น ทั้งศิลปิน นักเขียน หรือนักข่าว อย่างภาพที่เราวาดเป็นภาพแทนอารมณ์ความรู้สึกต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมรอบตัว พอคนได้ดูแล้วรู้สึกเชื่อมโยงกับบางภาพของเราได้ แล้วเอาไปสื่อสารต่อในบริบทของเขา ก็อาจจะทำให้สิ่งที่เราสื่อสารสามารถแผ่ขยายออกไปได้มากขึ้น งานของเราก็ค่อนข้างทำเป็นแบบปลายเปิดเพื่อให้คนเอาไปตีความหรือเอาไปต่อยอดได้อยู่แล้ว”

หรือแม้แต่กับประโยคที่เรามักเคยได้ยินใครบางคนกล่าวเอาไว้ว่า “ศิลปินไม่ควรข้องแวะกับการเมือง” เธอก็ตอบกลับมาอย่างทันควันว่า

“เราคิดว่าทุกอย่างรอบตัวเราเป็นเรื่องการเมืองทั้งนั้น แล้วทุกวันนี้การเมืองรุกคืบเข้ามาใกล้ตัวเราขนาดนี้ เจอผลกระทบกันขนาดนี้ เรายังจะไม่พูดกันอีกเหรอ? เรารู้สึกว่าปัจจุบันเราพูดเรื่องการเมืองกันน้อยไปด้วยซ้ำ! ถ้าใครสามารถอยู่เฉยๆ ได้โดยไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเมือง เราก็ดีใจด้วย”

“แต่สำหรับเรา เราอยู่เฉยๆ ไม่ได้ เราคิดว่าเราต้องมองไปรอบๆ ตัว ว่าเพื่อนร่วมโลกเราเขาเป็นอย่างไรกันบ้าง แล้วเราพอจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง อย่างเราเองก็วาดภาพพอร์ตเทรตนักเคลื่อนไหวทางการเมืองไปขายเพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งช่วยสบทบทุนสนับสนุนกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง”

“ใครพอจะช่วยอะไรได้ก็ช่วยๆ กันไป อย่างน้อยที่สุดก็ออกมาพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมบ้าง จะพิมพ์สเตตัสเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรืออะไรก็ได้ แต่ถ้ามาบอกว่าศิลปินไม่ควรข้องแวะเรื่องการเมือง เราว่าดัดจริตว่ะ!”

 

 

 

นิทรรศการ Poetry of Dead, we are all alone…when ghosts found us. โดย Pare Patcharapa และภัณฑารักษ์ พลอย เจริญผล จัดแสดงที่ Cartel Artspace ซอยนราธิวาส 22, ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2021 ทุกวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 13:00-18:00 น. (ปิดทุกวันอังคาร)

ช่วงเวลากิจกรรม Gallery Night วันที่ 26-27 พฤศจิกายน สามารถเข้าชมได้จนถึง 24:00 น. เข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 08-1870-4709 (แพร), 09-4927-9964 (พลอย)

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากศิลปิน