ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 ธันวาคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
ภาพวาดแห่งการต่อสู้
เพื่อเสรีภาพของประชาชน
ในตอนนี้ขอพักจากการชมงานนิทรรศการมากล่าวถึงผลงานศิลปะชิ้นสำคัญในประวัติศาสตร์โลกกัน
ผลงานชิ้นนี้มีชื่อว่า Liberty Leading the People (La Libertè guidant le peuple) (1830)
หรือ “เสรีภาพนำทางประชาชน”
ภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบของจิตรกรชาวฝรั่งเศสคนสำคัญแห่งยุคโรแมนติก ยูจีน (เออแฌน) เดอลาครัว (Eugène Delacroix) ที่วาดขึ้นเพื่อแสดงการเฉลิมฉลองการปฏิวัติฝรั่งเศส ในเชิงอุปมานิทัศน์ (Allegorical หรือการเล่าเรื่องโดยใช้สัญลักษณ์เปรียบเทียบแทนการบอกเล่าความหมายโดยตรงหรือการใช้ภาษาเขียนออกมา)
โดยเป็นภาพของเทพีแห่งเสรีภาพ ผู้อยู่ในรูปลักษณ์ของหญิงสาวชาวบ้านท่าทางห้าวหาญ สวมเสื้อยาวหลุดร่วงจนเห็นหน้าอกหน้าใจ
บนศีรษะเธอสวมหมวกฟรีเจียน (Le Bonnet phrygien หรือหมวกผ้าสีแดง ซึ่งเป็นเครื่องหมายของอิสระ เสรีภาพ (ด้วยเหตุที่สมัยโบราณ ผู้สวมหมวกนี้มักเป็นทาสที่เพิ่งได้รับการปลดปล่อย เหล่านักปฏิวัติจึงนิยมสวมหมวกฟรีเจียนสีแดงจนมันกลายเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติไปในที่สุด)
มือหนึ่งของหญิงสาวชูธงสามสีของกองทัพปฏิวัติ (ซึ่งกลายเป็นธงชาติของฝรั่งเศสจวบจนถึงทุกวันนี้) อีกมือของเธอถือปืนคาบศิลาติดดาบปลายปืน ทางขวามือของเธอเป็นชายฉกรรจ์สองคน คนหนึ่งถือปืนคาบศิลา อีกคนถือกระบี่
ทางซ้ายมือของเธอเป็นชายหนุ่มถือปืนพกสองมือ เธอและพวกเขาเดินนำหน้าเหล่าประชาชนหลากชนชั้นให้ก้าวข้ามเครื่องกีดขวางและร่างของศัตรูผู้บาดเจ็บล้มตายไปข้างหน้า โดยมีซากปรักหักพังของกรุงปารีสให้เห็นอยู่เลือนรางท่ามกลางควันไฟเบื้องหลัง
ภาพวาดนี้แสดงถึงความพยายามของประชาชนชาวปารีสในการจัดตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยขึ้นมา เทพีแห่งเสรีภาพในรูปหญิงสาวผู้นี้ยังเป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ของประเทศฝรั่งเศส หรือสาธารณรัฐฝรั่งเศส ที่มีชื่อเรียกขานว่า “มารียาน” (Marianne) นั่นเอง
ภาพวาดนี้ถูกยกให้เป็นหนึ่งในผลงานที่โด่งดังที่สุดของเดอลาครัว ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติฝรั่งเศสในเดือนกรกฎาคมปี ค.ศ.1830 ถึงแม้เดอลาครัวจะไม่เคยเข้าร่วมในการปฏิวัติใดๆ แต่เขาต้องการสดุดีเกียรติแก่เหล่านักปฏิวัติผู้กล้าหาญด้วยภาพวาดภาพนี้
โดยเขาเขียนจดหมายถึงพี่ชายของเขาว่า “ถ้าฉันไม่ได้เข้าร่วมต่อสู้เพื่อชัยชนะของประเทศชาติ อย่างน้อยฉันก็จะวาดภาพมันขึ้นมา”
ภาพวาดนี้เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ของการร่วมมือร่วมใจของเหล่าชนชั้นกลางที่ต่อสู้เคียงข้างชนชั้นล่าง
ในขณะที่สีน้ำเงิน ขาว แดงของธงกองทัพปฏิวัติ หรือธงชาติของฝรั่งเศส ปรากฏซ้ำในหลายจุดขององค์ประกอบภาพ ทั้งสีของท้องฟ้าและกลุ่มควันพวยพุ่ง หรือสีเสื้อผ้าของชายในภาพที่แหงนหน้ามองมารียาน ซึ่งตัวมารียาน และสีของธง (ที่มีความหมายถึงเสรีภาพ, ความเสมอภาค และภราดรภาพ) ก็แฝงความเป็นสัญลักษณ์ถึงการปฏิวัติเช่นเดียวกัน
ความยิ่งใหญ่ทรงพลังของผลงานชิ้นนี้ เกิดจากความสามารถในการจับเอาจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของปวงชนไปพร้อมๆ กับการนำเสนอความเป็นจริงอันรุนแรงและสับสนวุ่นวายของการปฏิวัติ
ดังคำกล่าวของโจนาธาน โจนส์ นักวิจารณ์ศิลปะชื่อก้องชาวอังกฤษที่กล่าวถึงผลงานชิ้นนี้ว่า “เดอลาครัววาดภาพประวัติศาสร์แห่งเสรีภาพและความปีติของการปฏิวัติ โดยไม่หลีกหนีความเป็นจริงอันโหดร้ายอย่างความรุนแรงและการบาดเจ็บล้มตาย”
เขาแสดงให้เห็นว่างานศิลปะโรแมนติกนั้นไม่ใช่ศิลปะที่มองโลกสวยหรืออยู่แต่ในทุ่งลาเวนเดอร์อย่างที่หลายคนเข้าใจ หากแต่เป็นการแสดงออกถึงสัจธรรมของการปฏิวัติออกมาให้เห็นอย่างเปี่ยมพลัง
เช่นเดียวกับศิลปินร่วมชาติอย่างกุสตาฟ กูร์แบ ที่แสดงให้เห็นถึงแง่มุมอันไม่โสภาในชีวิตประจำวันอย่างตรงไปตรงมา ทว่าเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก ผลงานชิ้นนี้ส่งให้เดอลาครัวกลายเป็นหนึ่งในศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสไปในที่สุด
ภาพวาดแหวกขนบที่ไม่ยึดติดกับความงามตามอุดมคติที่นำเสนอภาพของนักปฏิวัติหญิงเนื้อตัวมอมแมมแต่งกายหลุดลุ่ยกึ่งเปลือยของเดอลาครัวภาพนี้ สร้างความตื่นตะลึงให้กับคนในยุคนั้นเป็นอย่างมาก
เมื่อครั้งแรกที่มันถูกจัดแสดงที่ซาลง หรือนิทรรศการแสดงศิลปะแห่งชาติ ที่สนับสนุนโดยรัฐบาลและสถาบันศิลปะของฝรั่งเศส
ต่อมารัฐบาลของกษัตริย์หลุยส์-ฟิลิปซื้อภาพนี้ไป โดยหวังจะแขวนโชว์ในพระราชวังลุกซ็องบูร์ เพื่อย้ำเตือนถึงความเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของพระองค์ แต่ก็ต้องถูกปลดออกและเก็บให้พ้นจากสายตาของสาธารณชนด้วยนัยยะทางการเมืองอันชัดเจนจนอื้อฉาวของมัน
หลังจากการปฏิวัติเดือนมิถุนายน 1832 ภาพวาดนี้ก็กลับคืนสู่มือของเดอลาครัว และต่อมาก็กลายเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์จวบจนถึงปัจจุบัน
ว่ากันว่าภาพวาดนี้อาจจะเป็นแรงบันดาลใจเบื้องหลังนวนิยายเรื่อง Les Misérables (เหยื่ออธรรม) ของวิกตอร์ อูโก (Victor Hugo) โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวละครอย่างชาฟโรช (Gavroche) เด็กจรจัดผู้เข้าร่วมการปฏิวัติ ที่เชื่อกันว่าได้แรงบันดาลใจจากเด็กหนุ่มถือปืนพกสองมือก้าวข้ามเครื่องกีดขวาง นวนิยายเรื่องนี้ยังกล่าวถึงเหตุการณ์จลาจลในเดือนมิถุนายน 1832 สองปีหลังจากเหตุการณ์ปฏิวัติอันโด่งดังในภาพ อันเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ภาพถูกเก็บซ่อนจากสายตาของสาธารณชนดังที่กล่าวไว้
ตัวละครมารียานในภาพวาดนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจเบื้องหลังผลงาน Liberty Enlightening the World ของเฟรเดอริก ออกุสเต บาร์ทอลดิ (Frédéric Auguste Bartholdi) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “อนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ” แห่งนิวยอร์ก ที่รัฐบาลฝรั่งเศสมอบให้เป็นของขวัญแก่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในอีกครึ่งศตวรรษหลังจากภาพวาดนี้ถูกวาดขึ้น ตัวละครมารียานยังปรากฏในธนบัตร 100 ฟรังก์ในช่วงปี 1978 ถึง 1995 อีกด้วย
ภาพวาดนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจโดยตรงให้กับผลงานในปี 1995-1996 ของศิลปินร่วมสมัยชาวจีน เยว่ – หมินจวิน (Yue Minjun) ที่จำลองภาพวาด Liberty Leading the People ขึ้นมาใหม่ในเชิงเสียดสี โดยมีตัวเขาเองที่มีสีหน้าหัวเราะโห่ฮานำพาฝูงชนที่เป็นตัวเขาเองเดินตามมาด้วยสีหน้าที่กำลังหัวเราะโห่ฮาเช่นเดียวกัน
ภาพวาดนี้ยังถูกนำไปใช้ในปกอัลบั้ม Viva la Vida or Death and All His Friends ในปี 2008 ของวงดนตรีร็อกสัญชาติอังกฤษอย่าง Coldplay อีกด้วย
ข้อมูล https://bit.ly/375viOw, https://bit.ly/3fCRymH