หนุ่มเมืองจันท์ : คำถามที่แตกต่าง

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน ผมสัมภาษณ์ “ต๊อบ” อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ หรือ “ต๊อบ เถ้าแก่น้อย”

จากเด็กน้อยที่เริ่มขาย “เกาลัด” ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยจนกลายเป็นมหาเศรษฐีหลายพันล้านในวันนี้

นานๆ เจอกันทีทำให้เห็นพัฒนาการของ “ต๊อบ”

“ต๊อบ” บอกว่าผมเป็นคนสัมภาษณ์เขาออกทีวีเป็นคนแรก

รายการ “มุมใหม่ไทยแลนด์” ทางช่อง 11 ครับ

ออกทีวีครั้งแรกก็ตื่นเต้นเป็นธรรมดา

แต่สิ่งที่เขาจดจำในวันนั้นก็คือ เทคนิคการเขี่ยขา

เนื่องจากเป็นรายการสด สัมภาษณ์ถึงช่วงหนึ่ง ทีมงานจะยกป้ายให้ตัดเข้าโฆษณา

พิธีกรก็มือใหม่ ถ้าแขกรับเชิญพูดเพลินๆ เราจะตัดบทกลางคันก็รู้ว่าคงทำได้ไม่นิ่มนวล

วิธีการที่ดีที่สุดก็คือ ให้แขกสรุปจบเอง

โต๊ะในรายการเป็นโต๊ะทึบ ผมก็เตี๊ยมกับ “ต๊อบ” ว่า ถ้าเหลือ 1 นาทีจะเข้าโฆษณา ผมจะเขี่ยขาให้สัญญาณ

เขี่ยเมื่อไร ให้สรุปจบ

ถ้า “เขี่ย” ไม่ยอมจบ จะเปลี่ยนเป็น “เหยียบเท้า” แทน

พูดเล่นครับ

ไม่นึกว่าถึงวันนี้ “ต๊อบ” ยังจำเรื่องนี้ได้

เจอกันครั้งนี้เราคุยเรื่องโครงการลงทุนใหม่ๆ ของเขา

“ต๊อบ” ถือเป็นนักลงทุนด้านสตาร์ตอัพคนแรกๆ ของเมืองไทย

บางโครงการเขาก็ไม่เข้าใจมาก

แค่เห็นว่าน่าสนใจ และคนทำมุ่งมั่น เอาจริง

เขาก็ลงทุน

ตอนนี้น่าจะลงทุนไป 7 โครงการแล้ว

คืนทุนและกำไรเยอะมาก

แต่สิ่งที่ “ต๊อบ” บอกว่าเป็น “กำไร” ที่แท้จริง คือ “ความรู้”

เพราะสตาร์ตอัพจะมีวิธีคิดใหม่ๆ ซึ่งหาเรียนในตำราไม่ได้

การร่วมลงทุน ทำให้เขาได้คุย ได้ฟังวิธีคิดของ “คนรุ่นใหม่”

ได้ทั้งวิชาความรู้ ได้เพื่อน และได้คอนเน็กชั่น

แค่นี้ก็คุ้มแล้ว

มีเรื่องหนึ่งที่ผมชอบมาก

เป็นเรื่องการตั้ง “คำถาม” ครับ

ที่ผ่านมาในการขยายธุรกิจใหม่ๆ “ต๊อบ” จะตั้งคำถามว่า “อะไรจะมา”

พยายามทายอนาคตว่าผู้บริโภคต้องการอะไร

แนวโน้มของสินค้าใหม่ๆ ไปทางไหน

คนส่วนใหญ่เชื่อว่าถ้าใครทายถูก

คนนั้นรวย

เหมือนศูนย์หน้าที่ยืนถูกตำแหน่ง

ไปยืนดักในจุดที่ลูกฟุตบอลจะมา

เหมือนเป็น “เจน ญาณทิพย์”

พอลูกบอลมาก็สับไกยิงประตู

ในอดีตนักธุรกิจใหญ่ๆ หลายคนก็ประสบความสำเร็จจากวิธีการนี้

แต่ “ต๊อบ” บอกว่าตอนนี้โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ทายยากมากว่าอะไรจะมา

และถึงจะมาก็อยู่ไม่นาน

วันนี้ “คำถาม” ของ “ต๊อบ” ในการลงทุนใหม่จึงไม่ใช่ “อะไรจะมาภายในเวลา 10 ปีนี้”

แต่เป็น “ธุรกิจอะไรที่ยังคงอยู่ในอีก 10 ปีข้างหน้า”

การมองหา “สิ่งใหม่” ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ยาก

แต่การมองสิ่งที่มีอยู่แล้วและตั้งคำถามว่าถ้าสังคมเปลี่ยนไป เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา

สิ่งนี้จะล้มหายตายจากไปหรือไม่

ถ้าเชื่อว่ายังคงอยู่ ไม่หายไป

เขาจะลงทุน

ถามว่าธุรกิจอะไรที่เขาคิดว่าจะคงอยู่ต่อไปอีก 10 ปี

คำตอบก็คือธุรกิจที่เกี่ยวกับ “สุขภาพ”

เขาเชื่อว่าคนจะให้ความสนใจเรื่องสุขภาพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

10 ปีหน้า ธุรกิจนี้ก็ยังอยู่

ผมชอบมุมการตั้งคำถามของ “ต๊อบ”

เป็นพัฒนาการที่น่าชื่นชม

คมมากครับ

ผมมีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า “คำถามสำคัญกว่าคำตอบ”

เพราะผมเชื่อว่า “คำถาม” บอก “ทิศ”

“คำตอบ” จะบอก “ทาง”

ตั้งคำถามแบบไหน ก็ได้คำตอบแบบนั้น

แต่ละช่วงเวลา “คำถามแห่งชีวิต” จะแตกต่างกัน

ช่วงหนุ่มสาว เราจะให้ความสำคัญกับ “โอกาส”

มากกว่า “ปัญหา”

เพราะเป็นวัยที่ “อดีตสั้น-อนาคตยาว”

โครงการหนึ่งถ้าคิดแล้วว่าแม้จะมี “ปัญหา”

แต่ถ้ามี “โอกาส” ที่ทำให้ชีวิตเราก้าวกระโดดครั้งใหญ่

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการงาน หรือเงินทอง

คนหนุ่มสาวจะลุยทันที

เพราะถ้าผิดพลาดจากปัญหา

ล้มในวัยนี้เจ็บไม่เท่าไรก็หาย

เดี๋ยวก็ลุกขึ้นใหม่ได้

แต่สำหรับคนมีอายุที่ “อดีตยาว-อนาคตสั้น”

เวลาคิดจะทำโครงการอะไรก็ตาม เขาจะตั้งคำถามถึง “ปัญหา” มากกว่า “โอกาส”

เพราะเวลาในการแก้ตัวน้อย

ถ้า “ปัญหา” นั้นแม้จะมีความเสี่ยงไม่มากนัก

แต่ถ้าเกิดขึ้นเมื่อไร จะทำให้สิ่งที่สร้างสมมาทั้งชีวิตพังทลาย

เขาจะไม่เสี่ยง

โฟกัสของคนแต่ละวัยจะไม่เหมือนกัน

วัยหนึ่งจะให้น้ำหนักกับ “โอกาส” มากกว่า

อีกวัยหนึ่งจะคิดถึง “ปัญหา” มากกว่า “โอกาส”

“คำถาม” ของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน

อย่างตอนนี้ “คำถาม” ของผมก็เปลี่ยนไปจากเดิม

ทุกครั้งที่เริ่มคิดอะไรใหม่ๆ

หรือมีใครชวนทำอะไรมันๆ

หากเป็นวันก่อน “คำถาม” ของผมก็คือสนุกหรือเปล่า

ถ้าฟังแล้วตาลุกวาว

รู้สึกว่าต้องสนุกแน่ๆ

…ก็ลุยเลย

แต่วันนี้ ผมจะตั้งคำถามใหม่

“ทำไปทำไม”

เบรก “ความสนุก” ไว้ก่อน

คิดถึงเรื่องเงินให้น้อยลง

เพราะทุกครั้งที่ทำอะไรใหม่ๆ

“เวลา” ในชีวิตก็จะถูกแบ่งไปให้กับสิ่งนั้น

“เวลา” ที่ให้กับครอบครัวก็ต้องถูกแบ่งไป

ผมต้องเตือนตัวเองอยู่เรื่อยๆ ว่าเหตุผลที่เราเลือกลาออกจากงานประจำมาเพราะอะไร

ในอดีต เวลาที่เราคิดถึง “เป้าหมาย”

เราจะมองไปข้างหน้า

แต่วันนี้ “ตำแหน่ง” ของ “เป้าหมาย” เปลี่ยนไปแล้วครับ

มันไม่ได้อยู่ “ข้างหน้า” เหมือนเดิม

แต่อยู่ “ด้านข้าง”

…ข้างตัวเรา