วงค์ ตาวัน : ปมศาสนา จะส่งผลต่อการเลือกตั้ง

วงค์ ตาวัน

คดีทุจริตเงินทอนวัด ที่มี พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นหัวหอก โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. แสดงท่าทีให้การสนับสนุนเต็มที่ ยืนยันไม่มีการปลดไม่มีการเปลี่ยนบทบาท ในท่ามกลางกระแสความไม่พอใจจากกลุ่มองค์กรชาวพุทธ

นั่นแสดงว่า รัฐบาล คสช. มั่นใจว่า การทำหน้าที่ของ ผอ.พศ. คือการตรวจสอบทุจริตไปตามพยานหลักฐาน ทำไปตามหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา จึงไม่ลังเลที่จะแสดงการปกป้อง

แต่ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่า คดีนี้ได้ก่อกระแสปริร้าว ระหว่างเจ้าหน้าที่คนสำคัญของรัฐ กับฝ่ายศาสนจักรไม่น้อยเลย

เพราะมีพระเถระ ที่มากด้วยศิษย์สาวกที่ให้การนับถือ ทั้งมากด้วยบารมีที่สร้างสมมานาน ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาหลายรูป

สะท้อนออกมาในบรรยากาศตึงเครียด ระหว่างการประชุมมหาเถรสมาคม ที่มี พ.ต.ท.พงศ์พรทำหน้าที่เลขานุการมหาเถรสมาคมด้วย

“จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองผลสะเทือนในระยะยาว!”

เหมือนกับกรณีก่อนหน้านี้ ที่มีการกล่าวหาพระผู้ใหญ่ในเรื่องรถโบราณ

“แล้วลงเอยไม่มีอะไรในกอไผ่ จนสร้างบรรยากาศอึมครึมมาแล้ว!!”

การทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้นจริงจังก็ประการหนึ่ง แต่ท่าทีหรือการใช้วิธีการอันเหมาะสมก็เป็นปัญหาอีกประการหนึ่ง

เหนืออื่นใด หากไม่สามารถทำความเข้าใจกันได้ในที่สุด จะกลายเป็นปมประเด็นที่ส่งผลบางส่วนต่ออนาคตของรัฐบาล คสช. เมื่อตัดสินใจจะกลับคืนสู่ทำเนียบอีกครั้งในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

โดยต้องไม่ลืมว่า พระผู้ใหญ่แต่ละรูปนั้น มากด้วยศิษย์ที่เคารพรัก ซึ่งมีมากมายหลายวงการ มีอิทธิพลต่อมวลชนของแต่ละรายก็ไม่น้อย

แล้วยิ่งต้องนึกย้อนไปถึงศึกธรรมกาย ที่รัฐบาล คสช. สั่งลุยอย่างแตกหัก เปิดยุทธการบุกค้นอาณาจักรวัดดังอย่างเอาจริงเอาจัง

แต่สุดท้ายไม่สามารถจับกุมตัวธัมมชโยอดีตเจ้าอาวาสได้ จนป่านนี้ก็ยังไร้วี่แววธัมมชโยที่โดนออกหมายจับด้วยหลายข้อหา

“กรณีธัมมชโยและธรรมกาย ซึ่งมีตัวเลขสาวกชัดเจนว่ามากหมายหลายล้านคน กระจายอยู่ทั่วประเทศ เป็นที่จับตามองของหน่วยงานความมั่นคงอย่างเป็นพิเศษ โดยเชื่อว่าน่าจะมีการตอบโต้เอาคืนรัฐบาล คสช. ผ่านการลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งหน้านี้อย่างแน่นอน”

บรรดาคนใกล้ชิดผู้นำ คสช. มีการมองวิเคราะห์ในประเด็นปัญหาด้านศาสนากันมาก

ทั้งจากศึกธรรมกาย มาจนถึงศึกเงินทอนวัด

อาจจะส่งผลย้อนมาถึงคะแนนเสียงในตอนเลือกตั้งนี้!”

เรื่องเชื้อชาติศาสนาอีกเช่นกัน ยังมีอีกปมปัญหาที่ฝ่ายความมั่นคงของ คสช. หนักอกหนักใจอย่างยิ่ง โดยมีกรณีศึกษาจากท่าทีของชาว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงมติไม่รับรัฐธรรมนูญอย่างถล่มทลาย ในการลงคะแนนเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559

ปัตตานี เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 86,219 คะแนน ไม่เห็นด้วย 160,541 คะแนน

นราธิวาส เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 84,122 คะแนน ไม่เห็นด้วย 136,284 คะแนน

ยะลา เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 76,024 คะแนน ไม่เห็นด้วย 110,995 คะแนน

นักวิชาการที่รอบรู้ในปัญหา 3 จังหวัดใต้ วิเคราะห์ท่าทีเมื่อ 7 สิงหาคม 2559 ของคน 3 จังหวัดใต้ว่า มาจาก

1. ต่อต้านนโยบายแก้ปัญหาไฟใต้ ในยุครัฐบาลทหาร ที่เน้นกองกำลังทหารเต็มพื้นที่

กับ 2. ต่อต้านเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 31 และ มาตรา 67 ในประเด็นที่เกี่ยวกับการปกป้องศาสนาพุทธ นิกายเถรวาทเป็นการเฉพาะ และการเปลี่ยนกรอบเวลาในการอุดหนุนการศึกษา ซึ่งมีความระแวงว่าจะส่งผลกระทบถึงเงินอุดหนุนต่อโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามซึ่งส่วนใหญ่เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาทั้งตอนต้นและตอนปลาย

“เหตุผลเหล่านี้จึงนำมาสู่การแสดงออกต่อต้านรัฐธรรมนูญตามแนวสันติวิธีและถูกกฎหมาย นั่น คือการลงประชามติไม่รับ”

แต่หลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน เกิดเหตุการณ์เขย่าขวัญทั่วภาคใต้ เมื่อมีการลอบวางระเบิด วางเพลิง 16 จุด ใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ลงมือพร้อมๆ กันระหว่างวันที่ 11-12 สิงหาคม 2559

หลังเกิดเหตุไม่นาน หัวหน้าม็อบนกหวีดออกมาชี้นิ้วใส่ว่า เป็นฝีมือกลุ่มอำนาจเก่าทางการเมือง ที่โกรธแค้นว่ารัฐธรรมนูญของ คสช. ผ่านการรองรับของประชาชน

“แต่แล้วการสืบสวนตามพยานหลักฐานของตำรวจ ไม่ได้ใส่อคติใดๆ ไม่มีการบิดเบือนด้วยเป้าประสงค์การเมือง ก็พบว่า จากพยานหลักฐานบ่งชี้ชัดเจนว่า ระเบิดทั้ง 7 จังหวัดใต้ตอนบน มาจากกลุ่มก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดใต้นั่นเอง”

ทั้งมีการติดตามสืบสวนจนออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องบางส่วน ล้วนเป็นผู้มีหมายจับในคดีไฟใต้

หน่วยข่าวกรองสรุปว่า เป็นปฏิบัติการที่อิงกระแสรัฐธรรมนูญในประเด็นเรื่องศาสนา ของกลุ่ม 3 จังหวัดใต้แนวหัวรุนแรง

“ทั้งนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ระบุเองว่า พื้นที่ที่เกิดระเบิดทั้งหมด เป็นจุดที่ลงมติรับรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น”

จากนั้นในวันที่ 22 สิงหาคม 2559 จึงมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 49/2559 เผยแพร่ออกมา

หัวเรื่องคำสั่งที่ 49/2559 เรื่อง มาตรการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย

“โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 มีคำสั่งเพิ่มสาระในร่างรัฐธรรมนูญประเด็นศาสนาเข้าไปอย่างเร่งด่วนกันเลยทีเดียว!”

ทั้งนี้ ในมาตรา 67 ของร่างรัฐธรรมนูญ ตอนหนึ่งระบุว่า “รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่ หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย”

ในคำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่ออกมาเร่งด่วนนี้ ได้มีการเพิ่มเติม

“การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาตามแบบมหายาน ไม่ว่าจะเป็นจีนนิกาย อนัมนิกายหรืออื่นใด” รวมทั้ง “การอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาอื่น ได้แก่ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์”

นอกจากนี้ ในมาตรา 67 ของร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนที่บัญญัติเอาไว้ว่า “ต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด” นั้น

ในคำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่ใช้มาตรา 44 ออกมาคลี่คลายเรื่องนี้ ได้เพิ่มเติมในประเด็นนี้ด้วยว่า “กำหนดมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น”

โดยระบุให้ครอบคลุมถึง ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์ด้วย

ถึงขั้นต้องใช้มาตรา 44 อออกมาเพิ่มเติมสาระในรัฐธรรมนูญด้านศาสนากันเลยทีเดียว!

ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า แม้ คสช. จะยอมรับความผิดพลาดในประเด็นเรื่องศาสนา และออกมาแก้ไขด้วยคำสั่งที่ 49/2559 อย่างเร่งด่วนแล้วก็ตาม มีผลคลี่คลายกระแสในหมู่ประชาชน 3 จังหวัดใต้ได้หรือไม่

ที่หน่วยความมั่นคงต้องคิดวิเคราะห์กันมาก เพราะอาจจะมาแสดงออกกันอีกครั้ง ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้

“ดูเหมือนปมประเด็นทางศาสนาอันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนนั้น เป็นจุดบกพร่องของอำนาจรัฐในยุครัฐบาลนี้อย่างมาก”

ทั้งการแสดงออกของชาว 3 จังหวัดใต้ที่รักสันติ ด้วยการลงประชามติไม่รับรัฐธรรมนูญ

ทั้งปฏิบัติการของพวกหัวรุนแรงใน 3 จังหวัดใต้ ที่ลามขึ้นมาถึง 7 จังหวัดใต้ตอนบน

โดยมีประเด็นไม่พึงพอใจในรัฐธรรมนูญประเด็นศาสนาเป็นจุดหลัก

“ไปจนถึงการเปิดศึกธรรมกาย และเงินทอนวัด”

เหล่านี้ คสช. ต้องตระหนักว่า จะกลายเป็นปมปัญหาในอนาคตอันใกล้

จะส่งผลในทางการเมืองเรื่องการเลือกตั้งได้อย่างไม่อาจปฏิเสธได้!