ธุรกิจพอดีคำ : “ทีมกีฬา ไม่ใช่ครอบครัว”

เมื่อวันก่อนในระหว่างที่กินข้าวบนโต๊ะอาหารที่บ้าน

ผมสังเกตเห็นคุณพ่อดูมีอาการ “ง่วงนอน” อย่างเห็นได้ชัด

พอถามว่า ทำงานหนักหรอ

พ่อก็บอกว่า “เปล่า”

ผมรู้สึกว่ามีอะไร “ทะแม่งๆ”

เลยหันไปมองทางคุณแม่

“แม่ๆ พ่อเขาเป็นอะไรเปล่า ทำไมดูนอนไม่พอ”

คุณแม่ผมก็ถอนหายใจเฮือกใหญ่

อ้าวพ่อ บอกลูกไปสิ

เมื่อคืนทำอะไรมา

ถ้าให้คุณนึกถึงบริษัทที่ “ล้ำ” ที่สุดในโลก

คุณนึกถึงบริษัทอะไรครับ

แน่นอนว่า ชื่อบริษัทในแถบซิลิคอน วัลเลย์

เช่น กูเกิล แอปเปิล หรือเฟซบุ๊ก

คงจะปรากฏขึ้นมาในใจของใครหลายๆ คน

หากแต่ว่ามีบริษัทหนึ่งซึ่ง “ผมเอง” ชื่นชมเป็นพิเศษ

บริษัทที่สร้างนวัตกรรม “ใกล้ตัว” พวกเราคนไทยเข้ามาเรื่อยๆ

มีชื่อว่า “เน็ทฟลิกซ์ (Netflix)” ครับ

เน็ทฟลิกซ์ เริ่มต้นจากการเป็นบริษัท “ให้เช่าแผ่นดีวีดีภาพยนตร์”

แบบส่งให้ดูถึงบ้าน ผ่านไปรษณีย์

ใครอยากดูหนังเรื่องอะไร โทรศัพท์ไปบอกเน็ทฟลิกซ์

หรือแค่เข้าไปที่เว็บไซต์ ก็สามารถเช่า “แผ่นดีวีดี” ภาพยนตร์โปรดมาดูได้

ส่งถึงบ้านภายในเวลาไม่กี่วัน

เรียกได้ว่าเป็นบริษัท “สตาร์ตอัพ” ที่ไม่ต้องการ “เทคโนโลยี” อะไรมากมาย

จนกระทั่งวันหนึ่งที่เมฆหมอกของ “โลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง” เข้าปกคลุม

อุตสาหกรรมแผ่น “ดีวีดี” เริ่มถดถอย

เครื่องเล่นแผ่น “ดีวีดี” จากที่เป็นของติดทุกบ้าน

กลายเป็น “ของหายาก”

ผู้คนกลับมาใช้งาน “อินเตอร์เน็ต” มากขึ้น เสพสื่อทางอินเตอร์เน็ตกันอย่างขะมักเขม้น

เน็ทฟลิกซ์ เห็นท่าไม่ได้การ

จึงค่อยๆ กลายร่างตัวเอง กลายเป็นบริษัทที่ให้ “ดูหนัง” ผ่านเว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชั่นแบบสดๆ สตรีมมิ่งกันไปเลย

คล้ายๆ “ยูทูบ (Youtube)” แต่ต้องจ่ายเงินดู

เก็บ “ข้อมูล” การดูภาพยนตร์ของลูกค้าที่มีอยู่อย่างมหาศาล สร้างเป็นประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน

วิเคราะห์ได้ว่า คนชอบดูหนังตอนไหน แบบไหน เมื่อไร อย่างไร

ปัจจุบันเริ่มทำ “ภาพยนตร์” ของตัวเองแล้ว

หลายเรื่องมีคนดูมากกว่า “ฮอลลีวู้ด”

ก็มีจากการนำ “ข้อมูล” มาบริหารจัดการ สร้าง “มูลค่า” นั่นเอง

ซึ่งถ้าเป็นในศัพท์ของ “องค์กรใหญ่” ในประเทศไทยที่คิดจะทำอะไรใหม่ๆ ในโลกดิจิตอล

เขาจะเรียกว่า “ดิจิตอล ทรานส์ฟอร์เมชั่น (Digital Transformation)”

ที่เน็ทฟลิกซ์นี่แหละของจริงเลยครับ

เคยมั้ยครับ

พนักงานระดับสูงขององค์กรแบบไทยๆ ชอบพูดกับพนักงานว่า

“เราอยู่กันแบบครอบครัวนะ”

ดูผิวเผินก็ดูดี ถูกต้องกับวัฒนธรรมของคนไทย ที่เป็นระบบอุปถัมภ์

พ่อปกครองลูก ลูกทำดีต่อพ่อ พ่อดูแลลูก

“รีด เฮสติ้ง (Reed Hasting)” เจ้าของบริษัทเน็ทฟลิกซ์

ไม่เห็นด้วยกับข้อความข้างต้นอย่างยิ่ง

สำหรับเขา บริษัทไม่ใช่ครอบครัว

แต่เหมือนกับ “ทีมกีฬา” มากกว่า

ครอบครัว เน้นเรื่อง “ความสัมพันธ์”

พี่น้อง พ่อแม่ ดูแลกัน มีเรื่องอะไรเข้ามาในครอบครัว

ก็ต้อง “เข้าข้างกัน”

ครอบครัวคือสายเลือด ตัดไม่ขาด รักกันชั่วฟ้าดินสลาย

แต่ถ้าพูดถึง “ทีมกีฬา”

เป้าหมายไม่ใช่ “ความสัมพันธ์”

แต่เป็น “ผลลัพธ์ (Result)” ร่วมกัน

เล่นยังไงก็ได้ให้ทีม “ชนะ”

สมาชิกทุกคนในทีมต้องฟิตซ้อมเพื่อเป้าหมายของทีม

หากใครไม่สนใจเรื่อง “เป้าหมาย” หรือมีความสามารถไม่เพียงพอ

ก็สามารถเปลี่ยน “ตัวตายตัวแทน” ลงไปเล่นได้

ไว้เนื้อเชื่อใจกันระดับหนึ่ง แต่สำคัญคือ “ผลลัพธ์” ของทีม

หากเปรียบธุรกิจให้เป็น “ครอบครัว” ก็คงจะเหมือนกับ ดูแลปกป้อง เข้าข้าง ผิดไม่ผิดไปว่ากันที่บ้าน ไม่มีการโหวตออกจากการเป็นสมาชิกของวง

วินาทีนี้ ฉันต้องปกป้องคนในครอบครัวฉัน

“ความสัมพันธ์คือสิ่งแรกที่ครอบครัวพึงกระทำ”

แต่หากมองงานสร้าง “นวัตกรรม” เป็นเหมือนกับการซ้อม “กีฬา”

พลังอยู่ในตัวทุกคน

หน้าที่โค้ชคือ ดึงศักยภาพของผู้เล่นออกมาให้เต็มที่

ใครเหมาะตำแหน่งไหน ก็เล่นตำแหน่งนั้น

ใครขี้เกียจ เล่นไม่ได้ ก็ต้องถูกเชิญออกไปจากเกม

นี่แหละ “สังคมนักกีฬา” ที่มีคนชอบเล่าให้ฟังบ่อยๆ

โลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว คนรุ่นใหม่ๆ อาจจะไม่ต้องการลาภ ยศ สรรเสริญมากมาย

ขอแค่ได้ทำงานกับคนที่ “มีไฟ”

สร้างสิ่งใหม่ๆ ด้วยกันกับทีม เพื่อเปลี่ยนโลก

เน็ทฟลิกซ์ คือ ทีมกีฬา

มิใช่ครอบครัว

จุดเริ่มต้นของการบริหารจัดการ

ขององค์กรแห่ง “อนาคต”

เน็ทฟลิกซ์เคยออกมาประกาศว่า

“เราไม่กลัวคู่แข่งที่เป็นบริษัทเลย สิ่งที่เราต่อสู้อยู่คือ เวลาเข้านอนของลูกค้า”

เราไม่อยากให้ “ลูกค้า” นอนเร็ว

อยากให้ดู “ภาพยนตร์” ของเราให้มากที่สุดก่อนนอน

ไม่นอนยิ่งดี

“ข้อมูล” ของผู้ใช้งานทุกหนแห่ง ถูกเก็บมาวิเคราะห์พฤติกรรมมนุษย์อย่างละเอียด

สร้างเป็น “ภาพยนตร์” ที่คนติดกันงอมแงม

ไม่เว้นแม้แต่ลูกเล็กเด็กแดง และผู้สูงอายุ

ถ้าคุณไม่เชื่อละก็…

…ถามคุณพ่อผมได้ครับ