ผลงานสร้างสรรค์ ของศิลปินสตรีตอาร์ตระดับแนวหน้า อเล็ก เฟส ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนที่ผ่านๆ มาเรานำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับงานศิลปะแบบซีเรียสจริงจังไปหลายตอนแล้ว

ตอนนี้เลยขอเปลี่ยนบรรยากาศมานำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะแบบสบายๆ ผ่อนคลายกันบ้าง

และเพื่อเป็นการต้อนรับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 ที่กำลังจะถึงนี้

เราเลยขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปินที่ทำงานเกี่ยวข้องกับหนังสือกัน

นอกจากหนังสือจะเป็นแรงบันดาลใจชั้นดีให้กับศิลปินหลายคนหยิบยกเอามาทำงานศิลปะหรือทำงานศิลปะในรูปแบบของหนังสือที่เรียกว่า Artist”s Book แล้ว

ศิลปินหลายคนก็ยังทำงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตหนังสือ เช่น ออกแบบปกหนังสือ วาดภาพประกอบให้หนังสือ หรือทำงานเกี่ยวข้องกับการจัดจำหน่ายหนังสือ

อาทิ สร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อประดับตกแต่งสถานที่ขายหนังสือ

หรือสร้างงานศิลปะที่เป็นภาพลักษณ์หลักสำหรับการประชาสัมพันธ์ในการขาย และใช้ในการเติมแต่งสีสันและความงามให้กับบูธขายหนังสือในงานหนังสือ เพื่อดึงดูดสายตาและความสนใจของผู้ชมงาน

รวมถึงประดับตกแต่งผลิตภัณฑ์ที่เป็นของชำร่วยในงานอย่างถุงใส่หนังสือ กระเป๋าผ้า และเสื้อทีมงาน

ที่เรียกกันว่า คีย์วิช่วล (Key Visual) นั่นเอง

ดังเช่นในตัวอย่างใกล้ๆ ตัวเราอย่างบู๊ธของสำนักพิมพ์มติชนเอง ก็เคยเชิญศิลปินร่วมสมัยรุ่นใหม่มาแรงของไทยมาทำงานศิลปะในรูปแบบของคีย์วิช่วล รวมถึงทำปกหนังสือให้กับสำนักพิมพ์หลายต่อหลายเล่ม เช่น ยุรี เกนสาคู, รักกิจ ควรหาเวช, นักรบ มูลมานัส และ ตะวัน วัตุยา เป็นอาทิ

ล่าสุด ในงานสัปดาห์หนังสือปี 2561 ที่กำลังจะมาถึงนี้ ทางสำนักพิมพ์มติชนได้เชิญศิลปินร่วมสมัยรุ่นใหม่มาแรงอีกคนหนึ่งมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในรูปแบบของคีย์วิช่วลให้กับสำนักพิมพ์ ศิลปินคนที่ว่านั้นก็คือศิลปินสตรีตอาร์ตระดับแนวหน้าของเมืองไทยอย่าง

อเล็ก เฟส (Alex Face) ที่เราเคยนำเสนอเรื่องราวของเขาไปแล้วนั่นเอง

“ทางสำนักพิมพ์ติดต่อให้ผมไปร่วมโครงการศิลปะในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ โดยให้ทำงานศิลปะที่เป็นคีย์วิช่วลให้กับบูธมติชน อย่างป้ายบิลบอร์ด จุดเช็กอิน และสื่อๆ ต่างๆ ของสำนักพิมพ์มติชนในงานสัปดาห์หนังสือครั้งนี้”

“แคแร็กเตอร์ที่ใช้ก็เป็นคาแร็กเตอร์เดิมของผม ก็คือ มาร์ดี (Mardi : เด็กน้อยสามตา หน้าบึ้ง สวมชุดมาสคอตกระต่าย) เหมือนเดิม แต่ว่าใส่กิริยาที่เป็นการอ่านหนังสือเข้าไปง่ายๆ ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ก็จะเป็นรูป มาร์ดีนอนอ่านหนังสือ นั่งอ่านหนังสือ แล้วโลดแล่นเข้าไปในโลกแห่งจินตนาการประมาณขี่หนังสือบิน อะไรทำนองนี้ ให้มันสนุกๆ หน่อย”

“คือผมอยากให้ได้อารมณ์แบบอ่านหนังสือแล้วมันเป็นมิตร แต่ก็ซ่อนนัยยะเล็กๆ น้อยๆ ลงไปในปกหนังสือ เช่น ใส่ลูกตา ที่สื่อถึงการมอง การอ่าน ใส่กิมมิคของความเป็นนักอ่านเข้าไป เหมือนเป็นเด็กน้อยนักอ่าน อะไรแบบนี้”

อเล็ก เฟส กล่าวถึงที่มาของการร่วมงานกับสำนักพิมพ์มติชนในงานสัปดาห์หนังสือครั้งล่าสุดของเขา

สําหรับศิลปินอย่าง อเล็ก เฟส การอ่านเป็นแรงบันดาลใจอันสำคัญในการทำงานศิลปะของเขาอย่างมาก

“ผมว่าการอ่านสำคัญมากนะ ไม่ว่าจะคนทำงานศิลปะหรือคนทำงานอาชีพไหนก็แล้วแต่ ที่จริงตอนเด็กๆ ผมไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือเท่าไหร่ อ่านแต่หนังสือการ์ตูน เพิ่งมาอ่านหนังสือก็ตอนมีครอบครัวนี่แหละ ภรรยาชอบอ่าน ลูกก็ชอบอ่าน ผมก็เลยพลอยอ่านไปด้วยเลย ก็เลยกลายเป็นคนติดการอ่านหนังสือ หนังสือมีเต็มบ้าน ผมก็เลยหยิบมาอ่าน”

“หลังๆ ก็เลยกลายเป็นว่าไม่ว่าจะไปไหน ผมจะต้องมีหนังสือติดไปสักเล่มสองเล่ม อย่างตอนขึ้นเครื่องบิน จังหวะว่างๆ เราก็อ่าน และผมว่าการอ่านหนังสือมันเปิดโลกจากสมองของเราเอง มันไม่เหมือนเวลาเราไปดูหนัง หรือดูสื่ออะไรต่างๆ มันป้อนเราไง แต่การอ่านมันเหมือนกับเราค่อยๆ อ่าน แล้วก็ค่อยๆ จินตนาการ ค่อยๆ คิดไป อะไรไป”

“มีหนังสือหลายเล่มที่ผมอ่านแล้วรู้สึกว่าสร้างแรงบันดาลใจให้เรา อย่างเมื่อก่อนสมัยเรียนผมอ่านหนังสือของ บินหลา สันกาลาคีรี ที่เล่าเรื่องที่เขาปั่นจักรยานจากเชียงใหม่ลงมากรุงเทพฯ ผมกับเพื่อนผลัดกันอ่านหลายรอบมาก มันทำให้เรารู้สึกอยากทำอะไรแบบนั้นบ้าง แล้วผมกับเพื่อนก็ได้ทำจริงๆ กลายเป็นว่าเรากลายมาเป็นนักปั่นเหมือนหนังสือที่เราเคยอ่าน”

“มีงานหลายชิ้นเหมือนกันที่ผมวาดโดยได้แรงบันดาลใจจากการอ่าน มีเล่มหนึ่งที่ผมอ่าน ชื่อ เด็กหญิงกับธงขาว The Girl with the White Flag ที่พูดถึงเด็กที่อยู่ในช่วงสงครามโอกินาว่า หนังสือพูดถึงความโหดร้ายของสงครามที่เขาพบเจอ หลังจากนั้นผมก็เลยวาดรูปเด็กสามตาถือธงขาวบ้าง เหมือนกับว่า เราถือธงขาวแล้วเราจะปลอดภัยจริงๆ เหรอ? เขาบอกกันว่า ถ้าเราอยากจะปลอดภัยอยากจะรอดตาย เราก็ถือธงขาวแล้วเดินออกไปในสมรภูมิ แต่ผมว่าไม่มีใครดูหรอก ลูกปืนมันออกมาจากไหนก็ไม่รู้ เราจะปลอดภัยเหรอ? คือเด็กเขาไร้เดียงสาไง เขาคิดว่าแค่ถือธงขาวแล้วจะปลอดภัย”

“หรืออย่างตอนล่าสุดผมไปทำโครงการศิลปะที่ พนมเปญ กัมพูชา ผมก็ไปเจอหนังสือ First They Killed My Father (: A Daughter of Cambodia Remembers) ที่เขาทำเป็นหนังน่ะ แต่ผมอ่านก่อนดูหนังนะ เพราะผมเชื่อว่าการอ่านก่อนจะดีกว่าไปดูหนัง พออ่านแล้วก็ทำให้เราเห็นรายละเอียดชีวิตของคนที่บ้านแตกสาแหรกขาดตอนนั้น”

“แล้วผมก็ไป ตวลสเลง ที่เขมรแดงทรมานและฆ่าคนเขมรด้วยกัน กลับมานี่ผมกลายเป็นคนกินข้าวเกลี้ยงจานเลยไม่กล้ากินเหลือสักเม็ด ละอายใจตัวเอง ในหนังสือบรรยายความหิวโหย ความเจ็บปวด คนต้องกินข้าวต้มที่มีข้าวแค่ 8 เม็ด ต้องกินข้าวทีละเม็ดอย่างช้าๆ พออ่านแล้วเราก็อิน รู้สึกสงสาร รู้สึกไม่สบายใจ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ทำได้แค่กินข้าวให้หมดจาน เพราะคนเหล่านั้นแม้ของกินเล็กน้อยก็ยังไม่มีเลย”

“บางทีเราก็เอาหนังสือไปแอบวางรวมกับหนังสือของลูกสาว ให้เขาหยิบมาอ่าน เพื่อให้เขารู้ว่าในโลกมีคนอดอยาก ไม่มีแม้แต่ข้าวจะกิน เพราะฉะนั้นอย่ากินทิ้งกินขว้าง มันก็เป็นการสอนลูกทางอ้อม (หัวเราะ)”

เมื่อถามถึงความรู้สึกที่ได้มาร่วมทำงานศิลปะให้กับงานสัปดาห์หนังสือ อเล็ก เฟส กล่าวว่า

“รู้สึกดีใจนะครับ เขาบอกว่าคนไทยเราอ่านหนังสือปีละไม่เกิน 8 บรรทัด ผมว่ามันคงไม่ถึงขนาดนั้นมั้ง มันเป็นแค่ค่าเฉลี่ย แต่พอเราได้ทำงานนี้เรารู้สึกว่าดีใจ ที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมทำให้เด็กอยากอ่านหนังสือ ผมว่าเป็นสิ่งที่ดี ผมเคยอ่านมาว่า มีการวิเคราะห์ว่าการอ่านหนังสือมันช่วยสมองเราให้ทำงานได้ดีขึ้น ทั้งการจดจำ ความคิด การวิเคราะห์ ถึงในปัจจุบันจะมีสื่อต่างๆ อย่างอินเตอร์เน็ต สื่ออิเล็กโทรนิกส์ มีข้อมูลมากมายให้ตามอ่าน แต่ผมคิดว่าหนังสือมีความเป็นมิตรกว่า เพราะอย่างน้อยมันก็ไม่มีแสงมาทำร้ายสายตาเรา”

“และผมก็เชื่อว่ากว่าหนังสือแต่ละเล่มจะทำออกมา มันต้องมีกระบวนการหลายขั้นตอน มีการตรวจทาน พิสูจน์อักษรอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้น ข้อมูลมั่วๆ ผิดๆ หรือเนื้อหาที่มันแย่ๆ มันก็จะหลุดออกมาน้อยกว่าสื่ออินเตอร์เน็ตที่มันมาเร็วไปเร็วกว่า คนเขียนหนังสือแต่ละคนเขาต้องวิเคราะห์สิ่งที่เขาจะเขียน”

“คิดดูว่าเขาเขียนหนังสือเป็นร้อยๆ หน้า ผมว่ามันเป็นเรื่องมหัศจรรย์นะ กว่าจะเขียนหนังสือออกมาได้แต่ละเล่ม ผมว่าหนังสือมันคลาสสิคกว่า แต่ไม่ใช่ว่าสื่ออินเตอร์เน็ตไม่ดีเลยนะ มันดีคนละแบบ ผมก็อ่านสื่อในมือถือเหมือนกัน มันอยู่ที่เราเลือกอ่านอะไรเท่านั้นเอง”

พบกับผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบของ อเล็ก เฟส ในบู๊ธสำนักพิมพ์มติชน ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม – 8 เมษายนนี้

อ่านเกี่ยวกับ อเล็ก เฟส เพิ่มเติมได้ที่คอลัมน์ อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10-16 มีนาคม 2560 และฉบับวันที่ 17-23 มีนาคม 2560 หรือในเว็บไซต์ https://www.matichonweekly.com/art/article_28242, https://www.matichonweekly.com/art/article_29431