ฉัตรสุมาลย์ : พุทธคยาในอดีตจนถึงปัจจุบัน

คราวนี้ไปพุทธคยาในช่วงหน้าหนาว คือ 29 มกราคม-5 กุมภาพันธ์ 2561 ที่บอกไว้ตอนต้น เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ เพราะไปหลายครั้ง ต่างกรรม ต่างวาระ หน้าตาพุทธคยาก็เปลี่ยนไปเรื่อย และเปลี่ยนไปเร็วมาก

เดิมพุทธคยา คือ อุรุเวลา ค่ะ เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาในยุคแรก ก่อนที่พุทธศาสนาจะเกิดขึ้น ดินแดนแถบนี้ก็มีผู้คนอยู่มาแล้ว ตั้งแต่ 4,500 ปีก่อนโน่น แต่เริ่มมารู้จักกันในชื่อพุทธคยา ก็เพราะเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จมาตรัสรู้ที่นี่ จึงเป็นที่มาของชื่อใหม่ว่า พุทธคยา

สมัยพุทธศตวรรษที่ 3 หรือศตวรรษที่ 3 ก.ค.ศ. พระเจ้าอโศกเสด็จมาที่นี่ และทรงสร้างวัชรอาสน์ไว้เป็นที่ระลึก ว่าตรงนี้พระพุทธองค์เคยประทับและได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

ต่อมาในสมัยศตวรรษที่ 2-1 ก.ค.ศ. มีการสร้างรั้วโดยรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์ทำด้วยหินทราย โดยกษัตริย์ในราชวงศ์สุงคะที่นับถือศาสนาพุทธ ขณะเดียวกันก็สร้างสถูปไว้ที่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อเป็นหมายว่าเคยเป็นที่ตั้งบ้านนางสุชาดา รั้วที่ว่านี้ของจริงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่พุทธคยา แวะเข้าไปดูได้

ศตวรรษทื่ 5 ก.ค.ศ. จึงได้เริ่มสร้างมหาเจดีย์ และได้สร้างวัดขึ้นในสมัยพระเจ้าเมฆาวรมัน ให้เป็นที่พำนักของพระภิกษุที่มาจากศรีลังกา

ศตวรรษที่ 6 มีการสร้างพระวิหารขึ้นด้านหน้า โดยพระเจ้าสะโท น่าจะเป็นพม่า

ศตวรรษที่ 7 พระเจ้าสุสังคะ เจ้าเมืองโคทะทำลายต้นโพธิ์ที่ปลูกโดยปูรณวรมัน ช่วงนี้มีกษัตริย์พม่าเข้ามาช่วยบูรณะพระเจดีย์

แต่หลังจากศตวรรษที่ 12- พุทธศาสนาที่พุทธคยาเริ่มเสื่อมลงจนหายไปจากความทรงจำในศตวรรษที่ 16

 

ในช่วงนี้เองที่มีพระฮินดูเข้ามาสร้างวัดไศวะขึ้นกลายเป็นศูนย์กลางของศาสนาฮินดู พวกมหันต์ไม่ได้ซ่อมแซมพระเจดีย์ จนพังลงมาในศตวรรษที่ 19 กษัตริย์พม่าพยายามเข้ามาบูรณะอีก ช่วงนี้เป็นช่วงที่อังกฤษเข้ามาปกครอง ใน ค.ศ.1880 อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม นักโบราณคดีชาวอังกฤษเข้ามาบูรณะ

ในช่วงนี้จะเห็นการแย่งชิงกันครอบครองพื้นที่ที่เป็นพุทธคยาปัจจุบัน ฝ่ายหนึ่งคือพวกมหันต์ และอีกฝ่ายหนึ่งคืออนาคาริก ธรรมปาล ชาวพุทธจากศรีลังกา

ใน ค.ศ.1891 ตั้งสมาคมมหาโพธิ์ขึ้น และใน ค.ศ.1953 จึงก่อตั้งคณะกรรมการดูแลวัดพระศรีมหาโพธิ์

ในวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ.1956 จึงได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์พุทธคยาขึ้น ในงานวันเปิดพิพิธภัณฑ์องค์ทะไลลามะองค์ปัจจุบัน คือองค์ที่ 14 เสด็จมาเปิดงาน

วัตถุที่แสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ที่สำคัญคือรั้วหินทรายที่เป็นของเดิมอยู่รอบต้นโพธิ์ ปัจจุบัน รั้วปูนที่อยู่โดยรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์ สร้างขึ้นเลียนแบบรั้วหินทรายของเดิมที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์นี้ รั้วหินทรายนี้ มีอายุมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 2-1 ก.ค.ศ.

บรรดารูปปั้น รูปแกะสลักที่เห็นในพิพิธภัณฑ์ ส่วนใหญ่มาจากสมัยปาละ ศตวรรษที่ 8-12

 

หลายปีก่อนที่ผู้เขียนมาชมงานในพิพิธภัณฑ์ จนถึงปีนี้ ยังไม่เห็นมีของใหม่ หรือมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่พอจะเห็นเป็นรูปธรรม รูปปั้น และรูปแกะสลัก มีทั้งพระพุทธเจ้า พระไมตรีย พระโพธิสัตว์มัญชุศรี พระโพธิสัตว์ปัมทปาณิ พระนางตารา และชัมภาละ

ชื่อหลังสุดไม่ค่อยเห็นที่อื่น เป็นพระโพธิสัตว์ที่รูปร่างอ้วนอวบ นิยมบูชาท่านเพื่อความสวัสดิมงคลและความอุดมสมบูรณ์

ส่วนหนึ่งที่ขุดได้มาจากตำบลบาเครา ซึ่งอยู่อยู่ห่างจากวัดพระศรีมหาโพธิ์ไปทางตะวันออกประมาณ 1 ก.ม. นอกจากนั้นก็ได้พบฐานอิฐขนาดใหญ่ที่เป็นบ้านนางสุชาดา

พิพิธภัณฑ์นี้ ตั้งอยู่ระหว่างทางจากต้นโพธิ์มาวัดไทย ถ้ามาจากต้นโพธิ์ก็จะอยู่ทางซ้าย เดินถึงกันตลอดทั้งวัดไทยหลวงและวัดป่า

อากาศช่วงที่เราไปหนาวเย็นพอควร แต่เนื่องจากฝุ่นเยอะมาก เจ็บไข้ได้ง่าย ส่วนใหญ่ก็เป็นหวัด หรือมิฉะนั้นก็เป็นภูมิแพ้

เป็นหวัดก็ต้องไปหาหมอนะคะ ก็ไปวัดไทยที่ทันสมัยมากมีโรงพยาบาลอยู่ด้านหน้าในเขตรั้ววัดนั่นเอง เพิ่งเปิดทำการเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อ 2557 สมเด็จพระเทพรัตนฯ เสด็จไปเปิดงาน ลุงตู่ของเราก็ไปค่ะพร้อมอาจารย์น้อง ภรรยา

คนไทยและชาวต่างประเทศก็จะได้รับใบบุญจากโรงพยาบาลในวัดไทย มีทั้งพยาบาลและคุณหมอประจำเป็นเรื่องเป็นราว

ผู้เขียนนั้นเป็นผู้ใช้บริการโรงพยาบาลในวัดไทยตลอดมา ตั้งแต่สมัยที่ท่านเจ้าคุณธรรมโพธิวงศ์ (เขียนถูกหรือเปล่า หมายถึงท่านอาจารย์ ดร.วีรยุทธ) จนกระทั่งตอนนี้ ท่านมาพัฒนาวัดไทยพุทธคยา มีความก้าวหน้าทันสมัยอย่างยิ่ง ตอบสนองความต้องการของคนไทยที่ผ่านมาอย่างมาก คราวก่อนมามีบริการนวดไทยด้วย แต่คราวนี้ไม่มี คงจะขึ้นอยู่กับหมอนวดว่าจะมาประจำอยู่ได้ในช่วงใด

ทั้งยังมีร้านอาหารอยู่หน้าวัดอีกด้วย ชื่อร้านตักบาตรค่ะ สนนราคาไม่ถูก แต่ก็ไม่แพงค่ะ พอที่จะตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของคนไทยที่เริ่มเบื่ออาหารแขกได้

ในตู้กระจกหน้าร้านให้ความรู้เรื่องบาตร มีบาตรรูปทรงต่างๆ ประกอบ สมกับชื่อร้านว่า ตักบาตร อ้อ ตอนนี้วัดกำลังสร้างซุ้มประตูใหม่ ซุ้มกลางเสร็จไปแล้ว กำลังทำประตูอีกสองข้างค่ะ ภูมิฐานกว่าเดิมเยอะ

 

เดี๋ยวพาไปอีกวัดหนึ่งนะคะ วัดไทยเหมือนกัน เป็นวัดป่า หลวงพ่อจิ๋วท่านเป็นผู้บุกเบิก ใช้คำว่าบุกเบิกนี่ตรงความหมายมาก วัดนี้เป็นวัดธรรมยุต ตอนแรกสร้างนั้น มีกระต๊อบอยู่หลังเล็กๆ โดยรอบบริเวณปลูกต้นแคเป็นแถว เพื่ออาศัยใช้ดอกแคแกงส้ม ช่วงระยะเวลาผ่านไป 30 ปีกระมังคะ ตอนนี้มีโบสถ์แบบล้านนา เหมือนกับจำลองมาจากล้านนาเลยค่ะ ถ้ายืนที่สระมุจลินท์ในเขตต้นพระศรีมหาโพธิ์ จะเห็นยอดพระอุโบสถค่ะ

คราวหนึ่งมาตอนที่กำลังสร้าง พบคุณพายัพ ชินวัตร ด้วย โรงอาหารใหญ่ที่สุดในพุทธคยา ขอบอก ติดแอร์ทั้งหลัง ทัวร์มาลงทีเดียว 5 คัน ก็ยังรับได้สบาย ประทับใจจริงๆ

ภิกษุณีที่อยู่ที่นั่น คุยว่า ถ้าไปฉันตอนเพล ที่วัดป่ามีอาหารมังสวิรัติไว้บริการ เราถวายมื้อละ 60 รูปี ดีจังเลย

 

วันนั้น เราออกไปดูงานพระศรีลังกาเปิดโรงเรียนวันอาทิตย์สอนเด็กๆ ชาวบ้าน มีนักเรียนตั้ง 700 คน ประทับใจค่ะ มีโอกาสจะเล่าให้ฟัง จากที่โรงเรียนนั้น อยู่ฝั่งบ้านนางสุชาดา เราต้องโทร.เรียกรถตุ๊กตุ๊กข้ามไปรับ วันนั้น กลัวจะไม่ทันเพล

รถตุ๊กตุ๊กขับซิ่งมาก พาลัดตลาดพุทธคยาอ้อมมาในซอยเล็กๆ แล้วก็มาโผล่ตรงลานจอดรถวัดป่า เสียงคนขับ (แขก) ดุหลวงพี่เป็นภาษาไทยว่า “นั่งเฉยๆ ไม่ต้องพูด” ฟังแล้วประหลาดใจมากค่ะ ว่าเขาพูดภาษาไทยได้ขนาดนั้น

หลวงพี่เสียค่ารถไป 100 รูปี คนขับยังตอแยว่ามาไกล และมาทางลำบาก ก็เลยให้เพิ่มไปอีก 100 รูปี อัตราการแลกเงินตอนนี้ 1 บาท ได้ 2 รูปีค่ะ ท่านผู้อ่านจำได้ใช่ไหมคะที่ผู้เขียนเล่าว่า ตอนแรกที่มาอยู่อินเดีย ค.ศ.1962 นั้น รูปีละ 4 บาทค่ะ

เรารีบเดินจ้ำอ้าวตรงไปที่โรงอาหาร กราบสวัสดีหลวงพ่อจิ๋วที่เดินดูต้นไม้อยู่ด้านนอก ท่านคงรู้ว่า เราตั้งใจมาให้ทันเพล ตัวท่านฉันเสร็จแล้ว ท่านรีบโบกมือให้เราไปโรงอาหาร

แม่ชีท่านต้องทำอาหารให้ใหม่ ขอบคุณท่านอย่างมากค่ะ ไปอินเดีย 9 วัน ทริปนี้ อาหารที่ถูกปากที่สุดก็ที่วัดป่านี้เอง น้ำพริกผักจิ้ม ที่มีผักสดๆ ที่ปลูกกันเองในวัด น่าประทับใจมาก

วัดไทยยังคงทำหน้าที่เป็นสวรรค์ของคนไทยที่เดินทางมาอินเดีย

 

ครั้งหนึ่งที่พาทัวร์มาอินเดีย คราวนั้น ลูกทัวร์ 47 คน เราเสียเวลา กว่าจะถึงสาวัตถี 4 ทุ่มกว่า แวะเข้าไปที่วัดไทย น้ำตาจะไหล หลวงพี่ท่านทำแกงส้ม กับไข่เจียวไว้รอ คืนนั้น หนาวเย็นมาก เวลาพูดไอออกจากปากเลยค่ะ บรรดาญาติโยมกินอาหารกันเงียบด้วยความหิว ถ้าพระท่านจะถือเคร่งว่า ทำอาหารแล้วเป็นอาบัติ พวกเราอดตายจริงๆ ไปอินเดียยังต้องอาศัยบารมีพระอยู่ค่ะ แม้ว่าจะผ่านมาถึง 60 ปีแล้วก็ตาม

ที่พุทธคยามีวัดไทยกว่า 10 แห่ง อยู่ไกลบ้าง อยู่ใกล้บ้าง ที่เรียกว่าไกลหรือใกล้นี้ เอาต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเกณฑ์นะคะ เพราะเวลาที่ไปพุทธคยา ศูนย์กลางจะอยู่ที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์

แต่ทริปนี้ ไปเป็นแขกของสมาคมมหาโพธิ์ของศรีลังกา ก็ประทับใจอีกค่ะ เห็นแต่ด้านนอก ไม่คิดว่าห้องพักจะดี ปรากฏว่า ได้ห้องนอนสองเตียงใหญ่ มีห้องน้ำในตัวเสร็จ ดีกว่าโรงแรมที่เราเสียคืนละ 1,500 รูปี ที่ยังไม่มีคือ เครื่องทำน้ำอุ่น ไม่ยากค่ะ ถวายปัจจัยไว้ คราวหน้าเราก็จะมีน้ำอุ่นใช้ โดยเฉพาะในห้องที่เราเป็นเจ้าภาพถวายเครื่องทำน้ำอุ่นไว้นั่นแหละ

ในช่วงที่มีทัวร์เข้า คือตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงปลายมีนาคม จะมีสายการบินไทยสมายล์บินตรงเข้าคยาค่ะ สะดวกมาก หลายท่านเคยมาหลายครั้งแล้ว ท่านที่ยังไม่เคยมาก็อยากชวนให้มา บรรยากาศที่พุทธคยาเต็มไปด้วยการแสดงออกถึงศรัทธาไม่มีที่อื่นเหมือนค่ะ

ได้ออกไปบิณฑบาตด้วย เอาไว้เล่าอาทิตย์หน้านะคะ