นิธิ เอียวศรีวงศ์ : พุทธธรรมกับทุนนิยม

นิธิ เอียวศรีวงศ์

เมื่อตอนที่ผมจบปริญญาตรีไม่นาน (ราวต้นทศวรรษ 1960) เกิดเรื่องที่ทำให้ชาวพุทธไทยไม่พอใจอย่างหนักอยู่เรื่องหนึ่ง คือนักวิชาการอเมริกันคนหนึ่ง เขียนบทความทางวิชาการว่า พระพุทธศาสนาเถรวาทนั่นแหละที่ทำให้ประเทศพุทธในเอเชียไม่พัฒนาเสียที แม้ว่าได้สัมพันธ์ติดต่อกับทุนนิยมตะวันตกมานานหรือมากแค่ไหนก็ตาม เพราะเถรวาทสอนให้คนมุ่งแต่พระนิพพาน ไม่ทะยานอยากอะไรทางวัตถุเพื่อให้ตัวได้อยู่ดีกินดียิ่งขึ้น อันเป็นแรงขับสำคัญของลัทธิทุนนิยมโดยแท้

ในช่วงนั้น เราเพิ่งรับแนวคิดเรื่อง “การพัฒนา” มาไม่นาน สำนึกของคนไทยทั่วไปคือเรายังไม่พัฒนา พูดให้ตรงกว่านั้นคือจน ไม่ “เจริญ” ไปจนถึง “ล้าหลัง” ในเกือบทุกเรื่อง ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็กำลังโหมความภักดีต่อสามเสาหลักของชาติ คือชาติ, ศาสนา, พระมหากษัตริย์ เพื่อทดแทนความชอบธรรมของเผด็จการทหาร จู่ๆ ก็มีไอ้ฝรั่งคนหนึ่งมาบอกว่า มึงเป็นอย่างนี้เพราะมึงเสือกนับถือพุทธนี่แหละ

อันที่จริงนักวิชาการคนนั้นก็ไม่ได้เสนอความคิดชั้นต้น (original) อะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะเป็นข้อสรุปหนึ่งของนักวิชาการอเมริกันที่เข้าไปทำวิจัยในพม่ามาก่อนแล้ว (ก่อนปี 1962 เพราะหลังจากเนวินยึดอำนาจแล้ว ก็ไม่มีนักวิชาการต่างประเทศได้เข้าไปทำวิจัยในพม่าอีกนาน) คือเหตุผลส่วนหนึ่งที่พม่าด้อยพัฒนา ก็เพราะคำสอนของพุทธเถรวาทที่ชาวพม่าเชื่อถือ

ปัญหาหลักของงานวิจัยประเทศด้อยพัฒนาในช่วงนั้นก็คือ modernization หรือการทำให้เป็นสังคมทันสมัย เพราะต่างพบว่าเศรษฐกิจ-สังคมในประเทศด้อยพัฒนาล้วนไม่ “ทันสมัย” จริงทั้งนั้น ทั้งๆ ที่ประเทศเหล่านี้ได้สัมพันธ์กับประเทศทุนนิยมตะวันตกมานานแล้ว ในฐานะอาณานิคมบ้าง กึ่งอาณานิคมบ้าง นักวิจัยโดยเฉพาะชาวอเมริกันกำลังสนใจศึกษาสังคมศาสตร์ในแนวจิตวิทยา, บุคลิกภาพ และวัฒนธรรมกระแสหลัก ดังนั้น คำตอบจึงเป็นการมองหาความไม่ลงรอยของวัฒนธรรมในประเทศด้อยพัฒนากับวัฒนธรรมทุนนิยม

(อย่าลืมด้วยว่า ความด้อยพัฒนา – หรือไม่ทุนนิยม – ในความคิดของอเมริกันช่วงนั้น ย่อมเป็นโอกาสอันดีของการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์)

ผมจำได้ว่ามีการตอบโต้เรื่องนี้กันมากในเมืองไทยช่วงนั้น หากไม่นับการด่าประณามกันแล้ว ผมคิดว่าหลักใหญ่ของการตอบโต้ก็คือความไม่เข้าใจพระพุทธศาสนาเถรวาทของนักวิชาการคนนั้น เพราะมีคำสอนอยู่มากมายที่สอนให้ขวนขวายเอาใจใส่ต่อการงาน เช่น อิทธิบาท 4 หรือการทำหน้าที่ทางโลกย์ให้บริบูรณ์ เช่น ทิศหก เป็นต้น ด้วยเหตุดังนั้นนิกายเถรวาทจึงไม่ขัดขวางการพัฒนา หรือความก้าวหน้าในระบบทุนนิยมแต่อย่างไร

ธรรมะอีกข้อหนึ่งซึ่งถูกหยิบยกมาอธิบายกันอย่างมากก็คือสันโดษ คำชี้แจงก็คือสันโดษมิได้หมายความว่ามีอะไรก็พอใจอยู่แค่นั้น ไม่คิดจะขวนขวายหาอะไรอื่นมาเพิ่มเติม เพียงแต่ต้องขวนขวายหามาอย่างชอบด้วยธรรม เช่น ไม่ไปโกงเขา หรือไม่แม้แต่อิจฉาริษยาคนอื่นที่เขามีมากกว่าตน

สิ่งที่น่าสังเกตอย่างยิ่งก็คือ ชาวพุทธไทยเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้วมองไม่เห็นความต่างระหว่างพุทธธรรมกับทุนนิยม ผมเข้าใจว่าเพราะตอนนั้น เรายังรู้จักทุนนิยมไม่สู้จะมากนัก และอันที่จริงเมื่อนักวิชาการ (ทั้งไทยและฝรั่ง) พูดถึงความ “ทันสมัย” ก็ไม่ได้เอามันไปผูกติดกับทุนนิยมอย่างชัดเจนนัก เช่น ผมได้ยินคำยกย่องสรรเสริญ ร.5 เสมอว่าทรงริเริ่มนำเอาความ “ทันสมัย” เข้าสู่ประเทศไทย แต่ไม่เคยได้ยินใครสรรเสริญพระองค์ท่านว่าทรงริเริ่มนำเอาทุนนิยมเข้ามาบ้างเลย

จะเป็นอยู่สักกี่ปีผมก็ไม่แน่ใจ ที่พุทธธรรมกับทุนนิยมกินอยู่หลับนอนร่วมกันมาในเมืองไทยอย่างไม่รู้สึกแหนงใจกันเลย จนตกมาถึงประมาณทศวรรษ 1970 (จากงานนิพนธ์ของท่านพุทธทาส) และ 1980 (จากงานนิพนธ์ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) ที่นักคิดชาวพุทธเริ่มชี้ให้เห็นว่า พุทธธรรมแตกต่างและไม่อาจอยู่ร่วมกับทุนนิยมได้

ความขวนขวายในพุทธศาสนานั้น ท่านหมายให้ขวนขวายเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายสูงสุดในชีวิตคือความหลุดพ้น ไม่ใช่เพื่อความสุขสบายที่ทรัพย์อาจมอบให้ในชาตินี้ แม้แต่อิทธิบาท 4 เองก็เป็นส่วนหนึ่งของโพธิปักขิยธรรม หรือธรรมที่มุ่งไปสู่ความตรัสรู้ คำว่าสันโดษตามคำแปลของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็คือ “การมีความสุขความพอใจด้วย เครื่องเลี้ยงชีพ ที่หามาได้ด้วยความเพียรพยายามอันชอบธรรมของตน” (พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์)… เครื่องเลี้ยงชีพนะครับ ไม่ใช่รถหรูหรือนาฬิกาหรู

งานนิพนธ์ของท่านพุทธทาส ชี้ให้เห็นโดยตรงทีเดียวว่า ทุนนิยมคือการปล่อยให้คนที่มีกำลังมากเอารัดเอาเปรียบคนมีกำลังน้อย จึงเป็นเหตุแห่งความไม่สงบต่างๆ ทั้งทุนนิยมและสังคมนิยมล้วนเป็น “วัตถุนิยม” คือเอาความสุขที่เนื้อหนังมังสาเป็นตัวตั้ง จึงไม่อาจแก้ปัญหาของมนุษย์ได้

ผมอยากเดาว่า 14 ตุลา น่าจะมีส่วนในความเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติที่มีต่อทุนนิยมในหมู่นักคิดชาวพุทธไทย อย่างน้อยโทษภัยของทุนนิยมก็กลายเป็นเรื่องที่พูดได้โดยเสรี ไม่ต้องกลัวถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์

หากจะมีคำสอนใดๆ ของพุทธศาสนาเถรวาทที่อาจตรงกับทุนนิยมอยู่บ้าง ความต่างที่สำคัญกว่าอยู่ที่พุทธศาสนาไม่ได้เน้นที่การกระทำเท่ากับ “ท่าที” หรือ “จิตใจ” ที่ใช้ในการกระทำนั้นๆ รับจ้างเขากวาดถนน เพื่อให้ถนนสะอาดหรือเพื่อรับเงินเดือนเท่านั้น (ตัวอย่างของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ในพุทธธรรม) ถ้าเพื่อรับเงินเดือนและหาทางไต่เต้าเพื่อให้ได้เงินเดือนสูงขึ้นอย่างเดียว ก็อู้งานหรือทำลวกๆ ไป โดยไม่ต้องสนใจว่าถนนจะสะอาดหรือไม่ ขยันเพื่อให้นายพอใจ ไม่ใช่เพื่อสำเร็จกิจอันมีประโยชน์ต่อส่วนรวม

ขยันเหมือนกัน กระทำการกวาดถนนเหมือนกัน แต่ด้วยใจที่ผิดกัน

ผมเคยได้ยินนักเศรษฐศาสตร์ไทยท่านหนึ่งสรุปเลยว่า ความโลภนั้นแหละคือแรงขับสำคัญของมนุษย์ในระบบทุนนิยม ไม่มีความโลภเสียอย่าง ทุนนิยมก็ตั้งอยู่ไม่ได้ สรุปด้วยภาษาแบบผมก็คือ โลกนี้มีทรัพยากรเพียงพอสำหรับทุกคน แต่เราทุกคนจะจนรากเลือดเลย หากไม่มีใครบางคนอยากรวบรวมทรัพยากรไว้ในมือของตนให้มากล้นเหลือกว่าส่วนแบ่งที่เขาพึงได้

จิตใจแบบผู้ประกอบการของทุนนิยม (entrepreneurial spirit) อันเป็นเงื่อนไขจำเป็นในระบบทุนนิยมคืออะไร ผมคิดว่ามีสองอย่างที่เป็นพื้นฐานเลย หากไม่มีสองอย่างนี้จิตใจแบบอื่นๆ เช่น กล้าเสี่ยง, กล้าลงทุนซ้ำหรือขยายตัว, กล้ารุกไล่ (aggressive) ฯลฯ ก็ไม่มีตามไปด้วย จิตใจพื้นฐานสองอย่างนั้นคือ หนึ่ง ต้องอยากได้ใคร่ดีในเรื่องทรัพย์สมบัติ มีมากดีกว่ามีน้อย ไม่ใช่แค่หา “เครื่องเลี้ยงชีพ” ให้พอจะแสวงหาโมกษธรรมได้เท่านั้น ชีวิตบนกองเงินกองทองหาความมั่นคงไม่ได้หรอกครับ ต้องมีชีวิตบนดอกผลของกองเงินกองทองต่างหากจึงจะพอมีความสุขที่มั่นคงได้บ้าง แต่จะมีความสุขที่ยั่งยืนได้จริงก็อย่างที่ Piketty กล่าวไว้ใน Capital คือมีชีวิตฟูมฟายอยู่บนเพียงบางส่วนของดอกผลของกองเงินกองทอง เพราะกองเงินกองทองจะโตต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด โดยเจ้าของไม่ต้องทำอะไรเลย

จิตใจพื้นฐานอย่างที่สองของทุนนิยมคือการแข่งขัน จะบรรลุอุดมคติที่กล่าวข้างต้นได้ เราต้องทำกำไรให้เหนือคนอื่น ซึ่งมีวิธีการหลายอย่างที่เหมาะสำหรับแต่ละกรณี เช่น ลดต้นทุนการผลิต หลบเลี่ยงภาษีทุกวิถีทางที่จะทำได้โดยไม่ต้องติดคุกหรือถูกปรับ หรือกดขี่แรงงาน หรือลดคุณภาพสินค้าโดยไม่ให้ผู้บริโภครู้ตัว, ผูกขาดทางอ้อม (เพราะกฎหมายในบางประเทศไม่อนุญาตให้ผูกขาดทางตรง), ผลักภาระที่เป็นต้นทุนให้แก่สังคมหรือโลก, จ้างคนอื่นทำรัฐประหารหรือทำสงครามก็ได้ถ้าจำเป็น ฯลฯ

ก็คงจะเห็นได้นะครับว่า ไม่มีชาวพุทธคนไหนที่เห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนให้คนแสวงหาความหลุดพ้นจากทุนนิยมแน่

ตั้งแต่ประมาณทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา มันมีความไม่ลงรอยกันระหว่างสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นพุทธธรรมกับสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นทุนนิยม ในขณะที่ระบบทุนนิยมกลับงอกงามขึ้นในสังคมไทย นายทุนได้รับความนับหน้าถือตามากขึ้น บางยุคบางสมัยยังเชิญเสี่ยมาปาฐกถาพิเศษเรื่องการจัดการด้านเศรษฐกิจของประเทศ สื่อรัฐถ่ายทอดคำปาฐกถาไปทั่วประเทศพร้อมกัน ในทางปฏิบัติเสี่ยๆ เข้าไปนั่งในคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ยื่นข้อเสนอและข้อเรียกร้องแก่รัฐโดยตรง รัฐประหารครั้งสุดท้ายนี้ เชิญเสี่ยและทายาทไปนั่งในคณะกรรมการด้านต่างๆ ที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้น

โดยไม่ต้องวิตกกังวลว่า ทุนนิยมจะรักษาผลประโยชน์ของตนหรือของใครกันแน่ เพราะไปสรุปกันเสียแล้วว่า ผลประโยชน์สองด้านนี้ย่อมตรงกัน ทุนได้ คนไทยก็ได้ด้วย

และข้อสรุปนี้ก็จริงส่วนหนึ่งด้วย เพราะคนไทยเกือบทุกคนได้เข้าไปเลี้ยงชีพในระบบทุนนิยมกันหมดแล้ว ไม่เพียงแต่ถูกจ้างงานโดยผู้ประกอบการต่างๆ เท่านั้น แต่ผลิตสินค้าเพื่อป้อนตลาดที่นายทุนการค้า “ผูกขาด” โดยทางอ้อมอยู่ด้วย

ถ้าพูดเพียงเท่านี้ก็จะเข้าใจผิดว่า ชาวพุทธไทยย่อมเกิดความสับสนอย่างยิ่ง เพราะความขัดแย้งกันระหว่างศีลธรรมของพุทธเถรวาทและศีลธรรมของทุนนิยม แต่ชาวพุทธไทยก็เหมือนศาสนิกของศาสนาอื่นๆ ที่รู้จักปรับตัวให้อยู่ร่วมกับอุดมคติใหม่อุดมการณ์ใหม่ซึ่งอาจขัดแย้งกับคำสอนทางศาสนาได้

ผมคิดว่าพื้นที่ซึ่งใช้ในการปรับตัวได้ดีที่สุดคือพิธีกรรมทางศาสนา เพราะพิธีกรรมเป็นพื้นที่แสดงหลักธรรมของศาสนาให้ออกมาในเชิงรูปธรรมได้ชัดเจน และเข้าใจง่ายที่สุด ที่บางคนพูดว่าพุทธศาสนาในเมืองไทยเวลานี้เหลือแต่พิธีกรรม ก็จริง แต่พิธีกรรมไม่ใช่เรื่องของคนโง่ที่เข้าไม่ถึงหลักธรรม หากเป็นพื้นที่ของการปรับหลักธรรมให้มีรูปลักษณ์ใหม่ที่ไม่ขัดกับวิถีชีวิตของศาสนิก การที่คนโบราณไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตในวันพระวันโกน ก็เพราะการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตอย่างปฏิเสธไม่ได้ การงดฆ่าสัตว์ในบางวันจึงเป็นพิธีกรรมที่แสดงความยอมรับคำสอน แล้วก็เตรียมกินปลาในมื้อพรุ่งนี้ไปพร้อมกัน

เมื่อคนซื้อป้ายรวย รวย รวยไปให้พระเกจิชื่อดังเสก เพื่อเอามาแขวนที่บ้าน ตอบสนองความต้องการทางจิตใจของคนในระบบทุนนิยมไปพร้อมกันกับการยกย่อง “อริยวิถี” แห่งการดำเนินชีวิตของพระภิกษุ ความมักน้อยก็ยังเป็นคุณธรรมสำคัญอยู่ แต่ในชีวิตจริงต้องมักมากครับ

บางคนโจมตีวัดพระธรรมกายว่า คนเราจะตักบาตรพระพุทธได้อย่างไร ในเมื่อท่านได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปตั้งนานแล้ว แต่เราก็ถวายข้าวพระพุทธในพิธีกรรมต่างๆ มาตั้งแต่โบราณแล้วไม่ใช่หรือ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พระพุทธอยู่ใกล้ๆ ในชีวิตเรานี่เอง ไม่ตรงกับหลักธรรมคำสอนของท่านหรอกครับ แต่โดยรวมๆ แล้วก็ยังดีกว่าคนห่างพระห่างเจ้าไม่ใช่หรือ

ชีวิตของคนในสังคมสมัยใหม่ ต่างถูกรุมเร้าด้วยข้อเรียกร้องนานาชนิดซึ่งอาจไม่ตรงกันเสมอไป วิธีที่เราจะเผชิญกับชีวิตแบบนี้ คือแยกส่วนชีวิตให้เป็นหลายๆ ห้อง (compartmentalization of life) ในทางศาสนา ก็อยู่ในห้องที่อาจต้องไปตักบาตรพระพุทธที่วัดพระธรรมกาย, ไปนั่งสมาธิกับอาจารย์วิปัสสนาที่เป็นพระบ้าง ฆราวาสบ้างในต่างจังหวัด, ไป “ถ่อมตน” ด้วยการถูพื้นที่วัด, ไปตระเวนไหว้พระเก้าวัด, ไปรดน้ำมนต์กับพระเกจิอาจารย์, ร่วมสวดมนต์ข้ามปีที่วัดข้างบ้าน ฯลฯ

แล้วก็ออกจากห้องศาสนา ไปสู่ห้องแห่งการสะสมทรัพย์สมบัติและการแข่งขันของทุนนิยม

แต่โดยรวมแล้ว เมื่อเอาห้องเหล่านี้มารวมกัน ก็เป็นชีวิตที่ไม่ห่างไกลจากพระศาสนานัก เพียงแต่เป็นพระศาสนาที่เน้นหนักด้านพิธีกรรมมากกว่าหลักธรรม ในขณะที่ด้านหลักธรรมกลับโน้มเอียงไปทางทุนนิยมมากขึ้น แต่หลักธรรมทุนนิยมลุ่นๆ มันหยาบคายเกินไป จึงต้องลบคมลงเสียด้วยพิธีกรรมทางศาสนา

นักวิชาการสังคมศาสตร์ฝรั่งคนหนึ่งกล่าวว่า การปฏิรูปศาสนาในยุโรป ทำให้นิกายใหม่ๆ บางนิกายรองรับจิตใจแบบทุนนิยมได้ง่ายขึ้น จริงหรือไม่ เขาก็ยังเถียงกันอยู่ แต่หากมองด้วยมุมเดียวกันนี้ ผมคิดว่าพิธีกรรมในพุทธศาสนาแบบไทยปัจจุบัน ก็เกิดขึ้นเพื่อรองรับศีลธรรมของทุนนิยมได้ง่ายขึ้นแก่คนไทยเหมือนกัน