ปิยบุตร แสงกนกกุล : ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส – ไม้นวมและสภาแห่งชาติ

ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (31)

ฝ่ายกษัตริย์นิยมได้ตอบโต้มติการเปลี่ยนแปลงสภาฐานันดรให้เป็นสภาแห่งชาติในวันที่ 17 มิถุนายน 1789 ด้วยการสั่งปิดห้องประชุมใหญ่ Menus-Plaisirs ไปจนถึงวันที่ 22 มิถุนายน 1789 ซึ่งเป็นวันที่หลุยส์ที่ 16 จะเสด็จมาให้พระราชดำรัสแก่สภาฐานันดร สมาชิกสภาแห่งชาติจึงหาทางแก้ด้วยการย้ายไปประชุมกันที่ห้องประชุมสนามเทนนิส

และในวันที่ 20 มิถุนายน พวกเขาก็ได้สาบานตนว่า สมาชิกสภาแห่งชาติจะประชุมร่วมกันเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญ ตราบใดที่รัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรยังไม่ถูกก่อตั้งขึ้นและยังไม่ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคง พวกเขาจะไม่มีวันแยกหนีจากกัน

การต่อสู้ชิงไหวชิงพริบระหว่างฝ่ายกษัตริย์กับฐานันดรที่ 3 ดำเนินไปอย่างเข้มข้นมากขึ้น แต่ละฝ่ายพยายามหาทางตอบโต้กัน

แม้สภาแห่งชาติได้ค้นหาวิธีการประนีประนอมกับกษัตริย์ด้วยการเสนอให้เปลี่ยนแปลงสภาฐานันดรเป็นสภาแห่งชาติ แต่ก็ให้สภาแห่งชาติมีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญร่วมกันกับกษัตริย์

แต่ฝ่ายกษัตริย์ก็ยังคงเหนี่ยวรั้งมตินี้อยู่

ในวันที่ 23 มิถุนายน 1789 หลุยส์ที่ 16 เสด็จมายังสภา และแถลงต่อสมาชิกทุกฐานันดรว่า การแบ่งแยกแต่ละฐานันดรออกจากกันยังคงต้องสงวนรักษาไว้ เพราะการแบ่งแยกฐานันดรนี้เป็นหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร

อย่างไรก็ตาม พระองค์ยอมให้แต่ละฐานันดรเข้าประชุมร่วมกันได้ ไม่จำเป็นต้องแยกประชุมตามแต่ละฐานันดรเหมือนในอดีต ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า มติของสภาฐานันดรที่ประชุมร่วมกันนั้นต้องได้รับความเห็นชอบจากกษัตริย์ด้วย และจะประชุมร่วมกันและลงมติได้ในเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์ทั่วไป

ในขณะที่ฐานันดรที่สามเห็นว่า ข้อเสนอของหลุยส์ที่ 16 นี้ยังไม่เพียงพอ แม้พระองค์จะยอมให้ฐานันดรทั้งสามประชุมร่วมกัน แต่การประชุมนั้นไม่รวมถึงกรณีจัดทำรัฐธรรมนูญ

หลุยส์ที่ 16 ยังคงยืนกรานว่า มีแต่สภาฐานันดรเท่านั้นที่เป็นองค์กรผู้แทนของชาติ มิใช่ฐานันดรที่สาม

ในท้ายที่สุด หลุยส์ที่ 16 ได้ประกาศให้มติของฐานันดรที่สามในวันที่ 17 มิถุนายน 1789 ที่เปลี่ยนสถานะของสภาฐานันดรให้กลายเป็นสภาแห่งชาตินั้น และการดำเนินการต่อเนื่องจากมติดังกล่าว ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นโมฆะ

พระองค์ยังโน้มน้าวให้สมาชิกสภาที่มาจากฐานันดรที่สามเห็นถึงความสำคัญของกษัตริย์ว่า “ใคร่ครวญตรึกตรองให้ดีเถิดท่านทั้งหลาย ไม่มีร่างกฎหมายใดของพวกท่าน ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดของพวกท่าน จะสามารถมีผลบังคับได้หากปราศจากความเห็นชอบและพระปรมาภิไธยของข้าพเจ้า”

พระองค์พยายามใช้ “ไม้นวม” กับฐานันดรที่สามด้วยการเชิญชวนให้กลับเข้าประชุมสภาฐานันดรตามฐานันดรของตน และชี้ให้เห็นว่าหากประชุมต่อไป ก็ไม่สามารถลงมติหรือตรากฎหมายได้อยู่ดี เพราะในท้ายที่สุดต้องมีพระปรมาภิไธยของกษัตริย์

แม้หลุยส์ที่ 16 จะประกาศให้การตั้งสภาแห่งชาติเป็นโมฆะ แต่สมาชิกสภาจากฐานันดรที่สามต้องการปลด “โซ่ตรวนพันธนาการ” นี้ออกไปให้ได้ พวกเขาจึงเดินหน้าประชุมสภาแห่งชาติต่อไป

Marquis de Br?z? ได้รับคำสั่งจากหลุยส์ที่ 16 ให้อัญเชิญพระบรมราชโองการสั่งให้สมาชิกสภาออกจากที่ประชุมให้หมด

แต่ Mirabeau ก็ประกาศสู้ด้วยการเรียกร้องให้สมาชิกสภายืนหยัดประชุมต่อไปตามที่ได้ปฏิญาณตนร่วมกันว่าจะไม่มีวันแยกจากกันจนกว่าจะได้รัฐธรรมนูญ

ในขณะที่ Barnave ยืนยันว่า สมาชิกสภาแห่งนี้ คือ สมาชิกสภาแห่งชาติ กระทำการในนามของชาติ

ส่วน Siey?s อภิปรายว่า สภาแห่งนี้เป็นผู้แทนของชาติ ดังนั้น จึงเป็นเพียงองค์กรเดียวที่มีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญ และไม่อาจมีใครหรือองค์กรใดมาขัดขวางภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์นี้ได้

นอกจากนี้ เพื่อให้สมาชิกสภาแห่งชาติดำเนินการประชุมต่อไปได้อย่างปราศจากความกังวล และป้องกันมิให้ใครใช้กำลังเข้าสลายการประชุมได้ Mirabeau จึงเสนอมติให้สมาชิกสภาแห่งชาติไม่อาจถูกละเมิดได้ และไม่อาจถูกดำเนินคดีใดๆ ได้ มตินี้ได้รับความเห็นชอบอย่างท่วมท้น

การตอบโต้ของสภาแห่งชาติต่อหลุยส์ที่ 16 นี้ ได้แสดงให้เห็นว่า สภาแห่งชาติยืนยันความเป็นองค์กรผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ และมีอำนาจสูงกว่ากษัตริย์

สภาแห่งชาติยังไม่สามารถรวบรวมเสียงได้อย่างเบ็ดเสร็จ แม้เสียงส่วนใหญ่ของฐานันดรพระและอีกบางส่วนของฐานันดรขุนนางได้เข้าร่วมประชุมสภาแห่งชาติแล้ว แต่ก็ยังเหลือพวกฐานันดรขุนนางอีกจำนวนมากและบางส่วนของฐานันดรพระที่ปฏิเสธไม่เข้าร่วม นั่นหมายความว่า หลุยส์ที่ 16 ยังคงมีทางต่อสู้กับสภาแห่งชาติได้อีก เช่น ให้สภาฐานันดรแยกกันประชุม โดยให้สมาชิกที่ยังเหลืออยู่ประชุมต่อไป หรือใช้กำลังเข้าสลายการประชุมของสภาแห่งชาติ

ในระหว่างการประลองกำลังกันระหว่างสภาแห่งชาติกับฝ่ายกษัตริย์นั้นเอง ในเช้าวันที่ 27 มิถุนายนหลุยส์ที่ 16 ทราบข่าวมาว่า หากตนไม่สั่งให้ฐานันดรทั้งสามประชุมรวมกันในนามสภาแห่งชาติแล้ว ประชาชนชาวปารีส 30,000 คนจะเดินเท้าไปยังพระราชวัง Versailles เพื่อกดดันบังคับ

ข่าวลือนี้เองทำให้หลุยส์ที่ 16 ตัดสินใจโอนอ่อนตามสภาแห่งชาติ

พระองค์สั่งให้สมาชิกฐานันดรพระและฐานันดรขุนนางที่เหลือเข้าประชุมกับสภาแห่งชาติ

จากนั้น สภาแห่งชาติได้ลงมติยืนยันมติของวันที่ 17 มิถุนายน ที่ให้สภาฐานันดรเปลี่ยนเป็นสภาแห่งชาติอีกครั้ง

เป็นอันว่า การเกิดขึ้นของสภาแห่งชาตินี้ มาจากการตัดสินใจของฐานันดรที่สามเข้ายึดอำนาจเปลี่ยนให้สภาฐานันดรกลายเป็นสภาแห่งชาติ และกำหนดให้มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

สภาแห่งชาติไม่ได้เกิดจากความยินยอมพร้อมใจของกษัตริย์

แต่กษัตริย์ถูกบังคับกดดันจนต้องปล่อยให้สภาแห่งชาติดำเนินการต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ในระยะแรก สภาแห่งชาติยังคงมีความคิดให้กษัตริย์ได้ร่วมกับสภาแห่งชาติในการจัดทำรัฐธรรมนูญด้วย