คุยกับทูต ‘เปียร์ก้า ตาปีโอลา’ อียูกับอาเซียน และเป้าหมายการเป็นทูตในประเทศไทย

คุยกับทูต ‘เปียร์ก้า ตาปีโอลา’ อียูปรับระดับสัมพันธ์ไทย (จบ)

ย้อนอ่าน ตอน  4  3

‘”อีกเรื่องที่ผมจะกล่าวถึงคือ ความสัมพันธ์ที่เก่าแก่ที่สุด ที่อียูมีกับโครงการบูรณาการแห่งภูมิภาค นั่นคือ อาเซียน”

“เรากำลังพูดถึง 40 ปีของความสัมพันธ์ นับเป็นเรื่องสำคัญเพราะเราให้ความช่วยเหลือมากมายเพื่อให้อาเซียนพัฒนาสูงสุด เรามีโครงการร่วมมือกับอาเซียนกว่า 200 ล้านโครงการ ซึ่งรวมตั้งแต่การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เพื่อให้สมาชิกสามารถขนส่งสินค้าได้ง่ายขึ้น การดำเนินงานด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมเป็นเป้าหมายต่อไป”

เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย นายเปียร์ก้า ตาปีโอลา (H.E. Mr Pirkka Tapiola) กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป

“เรื่องที่ไม่ค่อยมีใครทราบคือ อียูเป็นผู้บริจาครายใหญ่ให้แก่สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน อีกทั้งได้ส่งเอกอัครราชทูตไปประจำสำนักงานใหญ่อาเซียนด้วย”

นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังมีส่วนร่วมและพร้อมให้ความช่วยเหลือแก่องค์กรส่วนภูมิภาค เช่น สหภาพแอฟริกา และสภาอาร์กติกอีกด้วย

สิ่งหนึ่งที่จะไม่เปลี่ยนแปลงไป คือ สหภาพยุโรปจะยังคงยึดมั่นในการสนับสนุนสันติภาพและความมั่นคง ความร่วมมือทางด้านการพัฒนา สิทธิมนุษยชน และการตอบสนองต่อวิกฤตด้านมนุษยธรรม อันเป็นหลักสำคัญในนโยบายด้านการต่างประเทศและความมั่นคงของสหภาพยุโรป

ในด้านกฎเกณฑ์ ประชาคมอาเซียนใช้กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ที่เปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญขององค์กร เพื่อวางกรอบของกฎหมาย แต่เป็นเพียงการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกเท่านั้น จึงทำให้ข้อตกลงของอาเซียนขึ้นอยู่กับความสมัครใจของประเทศสมาชิกว่าจะปฏิบัติตามหรือไม่ ไม่มีการบังคับ ประเทศสมาชิกมีความเท่าเทียมกัน มีอำนาจในการตัดสินใจ

ส่วนสหภาพยุโรปใช้การทำสนธิสัญญาร่วมกันของประเทศสมาชิก (EU Treaties) มีการจัดตั้งองค์กรกลางที่มีอำนาจเหนือสมาชิก อาทิ สภายุโรป คณะกรรมาธิการยุโรป ธนาคารกลางยุโรป ฯลฯ

ดังนั้น ประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปจึงต้องยอมสละอำนาจในการตัดสินใจให้กับองค์กรกลาง และมีการตัดสินใจใช้นโยบายร่วมกัน เช่น การใช้เงินสกุลยูโรร่วมกัน สหภาพยุโรปมีระบบกฎหมายเฉพาะ คือ ระบบกฎหมายยุโรป (European Legal System) หรือระบบกฎหมายประชาคม (Community Legal System) ซึ่งมีผลผูกพันรัฐสมาชิกให้ต้องเคารพและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

“อียูเริ่มดำเนินการเจรจาต่อรองเรื่องการค้าเสรีกับอาเซียนในปี ค.ศ.2007 แต่น่าเสียดายที่ต้องระงับการเจรจาเมื่อปี ค.ศ.2009 หลังจากนั้นจึงได้มีการเจรจาต่อรองเพื่อทำการค้าเสรีแบบทวิภาคีกับประเทศสมาชิก หนึ่งในสาเหตุที่ต้องทำเช่นนั้นก็คือ อียูเป็นสหภาพเหนือชาติที่มีนโยบายทางการค้าเดียวที่ประเทศสมาชิกจะต้องนำไปใช้ ประเทศสมาชิกไม่สามารถเจรจาต่อรองกับประเทศอื่นได้ จะต้องผ่านอียูเท่านั้น เราเป็นสหภาพที่กำหนดเอง เรามีนโยบายทางการค้าร่วมกัน นั่นคือความสามารถของอียู”

“ในส่วนของประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งกำลังดำเนินการรวมตัวกันทางด้านเศรษฐกิจ แต่นโยบายทางการค้ายังแยกกันใช้ตามแต่ละประเทศสมาชิก ดังนั้น จึงทำให้การเจรจาด้านการค้าระหว่างอียู และอาเซียนดำเนินการได้ยาก แต่ผมหวังว่าสุดท้ายแล้ว พวกเราจะสามารถเจรจาทางการค้าได้สำเร็จ เนื่องจากอียูต้องการให้อาเซียนประสบความสำเร็จและเติบโต”

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประชาคมอาเซียน มีลักษณะเป็นเขตการค้าเสรี ยกเลิกภาษีนำเข้าระหว่างกัน มีการเคลื่อนย้ายแรงงาน เงินทุนอย่างค่อนข้างจำกัด เพราะการตัดสินใจขึ้นอยู่กับกฎหมายภายในประเทศ โดยประเทศสมาชิกต้องทำข้อตกลงร่วมกัน (MRAs) ถึงจะทำการเคลื่อนย้ายแรงงานและเงินทุนได้ รวมไปถึงนโยบายการค้ากับประเทศนอกกลุ่มสมาชิก ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประเทศนั้นๆ เช่น ถ้าประเทศไทยตัดสินใจทำข้อตกลงการค้ากับประเทศเกาหลีใต้ ประเทศในสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ก็ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับข้อตกลงนี้

แต่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป มีลักษณะเป็นสหภาพเศรษฐกิจ มีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าอาเซียน นอกจากการยกเลิกภาษีศุลกากรระหว่างประเทศสมาชิกแล้ว ยังมีแผนนโยบายการเงินและการคลังร่วมกัน (จากการตัดสินใจโดยองค์กรกลาง) ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงินสกุลยูโรร่วมกัน การทำข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศนอกสหภาพยุโรปที่เหมือนกัน

เช่น สหภาพยุโรปทำข้อตกลงทางการค้าร่วมกันกับประเทศไทย ประเทศสมาชิกทั้งหมดก็ต้องทำตามข้อตกลงเช่นเดียวกัน

แม้จะมีการก่อตั้งที่มีวัตถุประสงค์ใกล้เคียงกัน คือ การรวมกลุ่มของประเทศในภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมสันติภาพระหว่างประเทศสมาชิก แต่ในขั้นตอนดำเนินการก็มีการใช้กฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทั้งกฎเกณฑ์ของสหภาพยุโรปที่มีองค์กรกลางคอยควบคุมประเทศสมาชิกอย่างเคร่งครัด ส่วนประชาคมอาเซียนจะให้อิสระแก่ประเทศสมาชิกมากกว่า

ซึ่งรูปแบบการดำเนินการทั้งสองรูปแบบต่างก็มีข้อที่แตกต่างกันไป

“ระดับความพยายามในการรวมกลุ่มของอียูนั้นมีอยู่สูงมาก เนื่องจากเป็นปัจจัยหลักด้านการรวมกันทางการเมือง ตัวอย่างเช่น ผมเป็นทูตของอียูเป็นสัญลักษณ์ถึงการรวมกลุ่มของประเทศสมาชิกอียู หากอ่านรายงานการประชุมประจำเดือน ณ กรุงบรัสเซลส์ ที่มีรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมด้วยนั้น ผลสรุปที่ได้จากการประชุม จะไม่เป็นเรื่องระหว่างประเทศอีกต่อไป แต่จะเป็นนโยบายของแต่ละประเทศที่จะต้องนำไปใช้ ซึ่งประเทศสมาชิกหลายประเทศในอียูต้องใช้ค่าเงินเดียวกันด้วย”

“สมัยที่ผมเป็นนักการทูตประจำประเทศเมียนมา ลาว และกัมพูชา ผมรักงานนี้มาก เพราะเป็นเรื่องที่ดีที่สุดที่นักการทูตวัยหนุ่มจะได้รับโอกาสนี้ อีกทั้งได้เดินทางไป-กลับระหว่างสามประเทศนี้ด้วย ผมจึงมีกระเป๋าเดินทางติดตัวเสมอ”

“ความเป็นจริงในปัจจุบัน อียูไม่เพียงมีอำนาจทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่มีบทบาทอย่างมากในการเมืองโลก นี่คือความเปลี่ยนแปลง”

หลายทศวรรษที่ผ่านมา สหภาพยุโรปภายใต้การบูรณาการในลักษณะองค์การเหนือรัฐ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความมีประสิทธิภาพของกระบวนการตัดสินใจ การออกนโยบายและการบังคับใช้กฎระเบียบ รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการรักษาสันติภาพ การสร้างความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ การยกระดับความเป็นอยู่ของสังคมในสหภาพยุโรป และการเพิ่มบทบาทนำในเวทีเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ

ดังนั้น สหภาพยุโรปจึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดความร่วมมือระดับภูมิภาคในโลกยุคใหม่ และเป็นต้นแบบให้แก่องค์การความร่วมมืออื่นๆ

“อียูจำเป็นต้องมีตัวแทนอยู่ทุกมุมโลก ดังที่ผมได้กล่าว เรามีทูตเป็นตัวแทนของอียูอย่างเป็นทางการกว่า 140 ประเทศทั่วโลกนอกอียู หรือเรียกว่าประจำสถานทูตอียูในประเทศอื่น และทูตหนึ่งคนไม่สามารถดำเนินงานครอบคลุมหลายประเทศในเวลาเดียวกันได้อีกต่อไป ดังนั้น ในปี ค.ศ.2016 อียูจึงต้องส่งทูต 3 คนไปประจำ 3 ประเทศคือ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ภาระหน้าที่ของทูตเมื่อ 20 ปีก่อนนั้นแตกต่างจากปัจจุบันเป็นอย่างมาก ผมจำได้ว่าเมื่อตอนที่ผมดำรงตำแหน่งนั้น ผมได้ดูแลทั้ง 3 ประเทศที่กล่าวนี้ อีกทั้งยังมีเวลาดำเนินงานในความสัมพันธ์กับประเทศมาเลเชียอีกด้วย แต่ปัจจุบันไม่สามารถทำได้ เพราะภาระหน้าที่เพิ่มมากขึ้น”

“ตอนนี้อียูกำลังดำเนินการส่งทูตไปยังประเทศมองโกเลีย ซึ่งเคยอยู่ในการดูแลของทูตอียูประจำประเทศจีน ดังนั้น ทูตหนึ่งคนจะไม่สามารถดูแลครอบคลุมหลายประเทศได้อีกต่อไปแล้ว ถึงแม้จะเป็นงานที่สนุกและท้าทายก็ตาม”

ท่านทูตเล่าถึงเป้าหมายในการมาเป็นทูตประจำประเทศไทย

“เพื่อสร้างความสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ประชาชนชาวไทย ถึงบทบาทที่สำคัญทางการเมืองของอียูในระดับสากลซึ่งเป็นก้าวที่สำคัญมากอย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ผมหวังว่าจะประสบความสำเร็จ ก่อนที่ผมจะหมดวาระหน้าที่การเป็นทูตอียูประจำประเทศไทย”

“สถานทูตอียูที่นี่ มีความสัมพันธ์ทางการเมืองเต็มรูปแบบเช่นเดียวกับสถานทูตทั่วไป ที่เป็นความแตกต่างคือ เราไม่มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านกงสุล ไม่ได้ให้วีซ่าสำหรับคนที่จะเข้าอียูเพราะประชาชนของแต่ละประเทศสมาชิกสามารถติดต่อสถานทูตของประเทศตนเองได้โดยตรง”

“สถานทูตอียูที่กรุงเทพฯ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ทั้งหมดประมาณ 100 คน จึงเป็นหนึ่งในจำนวนสถานทูตอียูทั้งหมดทั่วโลกที่ใหญ่มาก และนั่นแสดงถึงความสำคัญของประเทศไทย”

“เมื่อมาเป็นนักการทูตที่นี่ครั้งแรก เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ คราวนี้ ผมจึงอยากหาโอกาสไปเยือนสถานที่ต่างๆ ในเมืองไทยให้มากขึ้น แม้จะเคยไปเยี่ยมชมบางจังหวัดทางภาคเหนือและภาคอีสาน แต่ภาคใต้ตอนล่างก็ยังไม่เคยไป เพราะผมชื่นชอบทั้งทะเลและภูเขา”

“สำหรับอาหารไทยที่ชอบเป็นพิเศษคือ อาหารประเภทแกงต่างๆ เช่น แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน และอาหารที่มีเครื่องเทศ แต่ก็ต้องไม่เผ็ดมากเกินไป”

“นอกจากนี้ ผมชอบของเก่าโบราณ งานอดิเรกคือ การตกแต่งภายใน วันหยุดเรามักจะไปเยี่ยมชมหอศิลป์หรือเดินเล่นที่สวนจตุจักร แม้บางวันอากาศจะร้อนอบอ้าว แค่หยุดพักบ้างและดื่มน้ำหรือน้ำมะนาวโซดาให้เพียงพอ ผมก็สบายดี”

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่สวยงามและเป็นพันธมิตรที่สำคัญของอียู ผมจึงหวังอย่างยิ่งที่จะได้เห็นประเทศไทยกลับมาปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งหลังจากนั้นจะได้มีการพัฒนาสถาบันการเมือง รวมถึงความร่วมมือระหว่างไทยและอียูด้วย ณ ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ของเราค่อนข้างดี จะเห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวจากยุโรปเดินทางมาประเทศไทยเป็นประจำทุกปี ปีละกว่า 4 ล้านคน และมีคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยเลยที่เดินทางไปยุโรป”

ท่านทูตเปียร์ก้า ตาปีโอลา กล่าวตอนท้ายว่า

“ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของพวกเราคือ การท่องเที่ยว ดังนั้น ผมจึงอยากเห็นความสัมพันธ์ทางด้านการเมือง ระหว่างไทยและอียู ได้ขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกันกับความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ ในไม่ช้านี้”