สมหมาย ปาริจฉัตต์ : บนเส้นทางการต่อสู้ (7) : อดีตพันโทหญิงกองทัพเวียดกง

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ออกจากเมืองฮาลอง รถวิ่งเลียบชายทะเลฮาลองเบย์ คิดถึงภาพแม่ค้าพ่อขายพายเรือเร่ขายก้อนปะการังรูปทรงสวยงาม หลายขนาดให้เลือกเต็มลำเรือ หายไปจากเมื่อหลายสิบปีก่อน แสดงว่าทางการเอาจริงกับสินค้าต้องห้าม เพื่อรักษาสภาพแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ สืบทอดความเป็นมรดกโลกที่สมบูรณ์เอาไว้ให้นานที่สุด

จัดระเบียบเรือบริการล่องชมทะเลภูเขาทั่วอ่าวมีมาตรฐาน ตีตั๋วเรียงคิวตามลำดับไม่วุ่นวายปล่อยให้วิ่งแย่งผู้โดยสารกันอลหม่านเหมือนแต่ก่อน

พื้นที่ริมทะเลถูกถมยาวออกไปเป็นท่าเทียบเรือ และรองรับอาคารพาณิชย์ โรงแรม รีสอร์ต

อีกส่วนหนึ่งปรากฏอาคารร้างขายไม่หมด ผลจากการขยายการลงทุนล้นเกินความต้องการ แต่ก็ยังมีนักธุรกิจเวียดนามที่ไปร่ำรวยจากโซเวียตใจป้ำ กลับมาลงทุนสัมปทานเช่าเกาะทำสวนสนุกขนาดใหญ่ กับบ่อนกาสิโนไปพร้อมกัน

“ราคาคอนโดมิเนียม ริมหาดห้องละเท่าไหร่” ผมถามคุณนิล คนนำทาง

“แปดแสน เก้าแสนบาทไทย คิดเป็นเงินเวียดนามก็หลายร้อยล้านดอง ซื้อไปทำไม ปีหนึ่งมาครั้งเดียว เอาเวลาที่ไหนมาดูแล สู้เอาเงินมาเที่ยวเช่าโรงแรมชั้นหนึ่งพักชั่วคราว เงินยังอยู่กับเราต่อไปดีกว่า” เธอให้แง่คิด

รถวิ่งต่อผ่านหมู่บ้านเลาะริมภูเขาถ่านหิน ทางการจังหวัดกว่างนินห์อนุญาตให้เป็นพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน เก็บถ่านหินไปขายให้โรงงานไฟฟ้าประทังชีวิต โดยใช้แรงงานคนเป็นหลัก ไม่ใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่เพราะจะส่งผลให้คนว่างงาน ทำให้ชาวบ้านแถบนั้นมีรายได้จากการเก็บถ่านหินขาย จนคุยอวดว่าชาวกว่างนินห์เป็นคนรวยที่สุด ขนาดจนๆ มีเงินเก็บฝากธนาคารครอบครัวละ 100 ล้านดอง บางคนสะสมทองคำกันเป็นกำๆ

“ไม่เหมือนพวกฮานอย สิ้นเดือนเงินเดือนหมด มีแต่เปลือก” คุณนิล ประชด

ผู้ว่าฯ ที่นี่ได้รับยกย่องเป็นตัวอย่างการพัฒนาจังหวัด ทำให้ราษฎรมีงานทำ มีรายได้อยู่ดีกินดี ไม่อพยพโยกย้ายไปอยู่ที่อื่น การเดินทางข้ามจังหวัด ย้ายที่อยู่ต้องขออนุญาตทางการถึงระดับผู้ว่าฯ เพื่อบริหารการเคลื่อนย้ายประชากร ไปอยู่ไหนไม่แจ้ง คนสงสัยเป็นใครมาจากไหน มีคณะกรรมการตรวจสอบระดับจังหวัดติดตาม เพื่อความปลอดภัย

เธอเล่าสลับฉากชีวิตจริงของเธอเมื่อครั้งอดีต ติดยศพันโทหญิงแห่งกองทัพเวียดกงต่อสู้กับทหารสหรัฐ ใช้ชีวิตอยู่ในป่า 13 ปี เป็นสายลับ 16 ปีเป็นนักรบ เกษียณอายุตามเกณฑ์ทางราชการผู้ชาย 60 ผู้หญิง 55

วันนี้วัยย่าง 70 ปี ออกมาเป็นล่ามให้สถานทูต เคยเป็นล่ามให้ผู้นำไทยหลายคนที่เดินทางไปเยือนเวียดนาม และล่ามภริยานายกฯ เวียดนามเดินทางมาเยือนไทย

สมัยเด็กมีโอกาสพบลุงโฮ เคยกล่าวชมเธอว่าภาษาไทยหนูเก่งมาก “พ่อแม่ดินฉันยังมีรูปถ่ายเก็บไว้เป็นที่ระลึก” เธอเล่าพร้อมเปิดโทรศัพท์มือถือโชว์ภาพประวัติศาสตร์การพบกันระหว่าง นายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษของไทยกับท่านประธานโฮจิมินห์

ชีวิตครอบครัวแต่งงานกับนายทหารนักรบ คลอดลูกคนแรกในป่ากลางสมรภูมิรบ คนต่อมาต้องแยกกับสามี 12 ปีมาออกลูกในเมือง เจอกันอีกทีที่ไซ่ง่อน ต่อมาสามีได้เลื่อนเป็น นายพลเตริน จิน อดีตรองรัฐมนตรีกลาโหม ปี 1978 ปัจจุบันวัย 77 ปีเกษียณแล้ว

บนเส้นทางการต่อสู้ ชีวิตนักรบ “ปืนเป็นเมีย กระสุนเป็นลูก” ผู้หญิงเวียดนามอดทน ใจเด็ดสอดมีดโกนไว้ในอวัยวะเพศ ป้องกันและเล่นงานทหารอเมริกัน นิโกร ข่มขืน

เล่าด้วยความขมขื่นแต่ก็มีฉากที่น่าชื่นชมช่วยนักรบไทยขับเครื่องบินตกในสมรภูมิ ตอนนั้นเธอเป็นพยาบาลช่วยชีวิตรอดจากการบาดเจ็บ จนผูกพันสัญญาเป็นพี่น้องกัน อนุญาตให้ใช้นามสกุลไทย ศรีสมบูรณ์ ต่อท้ายชื่อ นิล ได้อีกชื่อหนึ่ง

ความวีระอาจหาญของผู้หญิงเวียดนาม ทำให้ทางการกำหนดให้มีวันสำคัญเพื่อรำลึกถึงความเสียสละของสตรีถึง 3 วันเป็นคนละวันกัน คือวันแม่วีรบุรุษ วันสตรีเวียดนาม และวันสตรีสากลวันที่ 8 มีนาคม

ผ่านการต่อสู้มายาวนาน เกษียณราชการออกมายังแข็งแรง ทำงานอิสระรับจ้างแปลข่าวไทย ข่าวต่างประเทศที่เกี่ยวกับประเทศเวียดนามให้สำนักข่าว วิทยุ ทีวีเวียดนาม และเป็นล่าม เป็นมัคคุเทศก์ ประสบการณ์ชีวิตจริงทำให้ได้เปรียบคนอื่นด้านความรู้ทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เลยถูกชวนไปเป็นล่ามนำคณะของทางการเรื่อยมา

เธอพูดถึงมัคคุเทศก์รุ่นใหม่ ต้องรักษามาตรฐาน ความถูกต้องของเรื่องราวที่ถ่ายทอด รักษาเกียรติภูมิของประเทศด้วย ทำตัวให้เหมาะสม ให้ความเคารพลูกค้า สำรวมกิริยามารยาท โดยเฉพาะการใช้คำพูดต้องระมัดระวัง เข้าใจความหมายของภาษาและวัฒนธรรมของแต่ละชาติ

“อย่างพานักท่องเที่ยวไปอนุสรณ์สถานโฮจิมินห์ ใช้คำพูดว่า เชิญแหกตาดูสุสานประธานโฮ ใช้ภาษาไม่เหมาะสม หรือคำสองแง่สองง่าม ความหมายไม่เหมือนกัน เช่น เหม็ดหมอย ภาษาเวียดนาม หมายถึง เหนื่อยมาก ภาษาที่อื่นอาจเป็นคำไม่สุภาพ”

“เหี่ยวเจื้อ หมายถึงอธิการบดี ไม่ใช่คำล้อเลียน เหี่ยวเจื้อใหญ่ ว่า ครูเหี่ยวมาแล้ว อยากให้นักท่องเที่ยวสนุก คลายเครียดแต่บางคนเขาไม่สนุกกับเราด้วย” เธอย้ำ

ฟังเรื่องราวก่ารต่อสู้ชีวิตสมัยสงครามจนถึงคำชี้แนะการนำทาง มาจบที่สุดท้ายวัดวันเหมี่ยว กลางกรุงฮานอย สร้างตั้งแต่สมัยเวียดนามปกครองโดยระบอบกษัตริย์ พระเจ้าหลีไทจง พ.ศ.1613 รับอิทธิพลของลัทธิขงจื๊อ อดีตเป็นโรงเรียนขุนนาง เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของเวียดนาม รอดพ้นภัยสงครามมาได้ ทางการรักษาไว้เป็นโบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์

ภายในวิหารรูปปั้นขงจื๊อ ให้กราบไหว้บูชา ภายใต้แสงเทียนสว่างไสว รอบๆ กำแพงมีป้ายหินสลักชื่อและเกียรติประวัติ เหล่าบัณฑิต นักคิด ผู้มีความรู้ความสามารถมีชื่อเสียงแต่ละยุค ตั้งเรียงรายให้รำลึกถึงประวัติศาสตร์และคุณูปการของบรรพชน

ทางราชการและสถาบันการศึกษายังใช้พื้นที่หน้าวิหารทำพิธีประสาทปริญญาเป็นทางการ ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเกียรติประวัติของบัณฑิตผู้จบการศึกษา มาจนถึงทุกวันนี้