ภาพยนตร์ นพมาส แววหงส์ / THE POST “เสรีภาพของหนังสือพิมพ์”

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

THE POST “เสรีภาพของหนังสือพิมพ์”

กำกับการแสดง Steven Spielberg

นำแสดง Meryl Streep, Tom Hanks, Sarah Paulson, Bruce Greenwood

นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นไม่นานก่อนหน้าเหตุการณ์ฉาวโฉ่ในวงการเมืองอเมริกันที่เรียกกันว่า “วอเตอร์เกต” ซึ่งเป็นการใช้อำนาจในทางผิดในระดับประมุขของประเทศ และจะส่งผลต่อมาให้ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ถูกรัฐสภาพิจารณาถอดถอนจากตำแหน่ง และชิงลาออกเสียก่อนที่จะต้องโดนถอดถอนจริงๆ

ตามประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่ปรากฏในหนังเรื่องนี้ คือไม่ว่าอย่างไร คนในวงการเมืองก็ต้องปกป้องกันอยู่แล้ว ประธานาธิบดีคนต่อมาคือ เจอรัลด์ ฟอร์ด จากพรรคเดียวกันคือรีพับลิกัน ลงนามอภัยโทษให้นิกสันไม่ต้องรับผิดในคดีนี้ในเวลาต่อมา

และการรับรู้ของสาธารณชนต่อเอกสารสำคัญที่เรียกว่า “เอกสารเพนตากอน” ซึ่งเป็นจุดสำคัญของหนังเรื่อง The Post นี้ นำไปสู่การประกาศยุติสงครามเวียดนามของสหรัฐใน ค.ศ.1975 ในสมัยของประธานาธิบดีฟอร์ด

ย้อนไปเมื่อต้นทศวรรษ 1970 หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สลงข่าวหน้าหนึ่งเป็นข้อมูลบางส่วนที่รั่วไหลจากเอกสารเพนตากอน ซึ่งเป็นบันทึกของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ เกี่ยวกับการที่สหรัฐมีส่วนร่วม อยู่ในสงครามเวียดนามมา 30 ปี

เอกสารฉบับนี้ที่มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับเวียดนาม ค.ศ.1945-1967 : การศึกษาที่จัดทำโดยกระทรวงกลาโหม” ได้รับคำสั่งให้จัดทำขึ้นโดยรัฐมนตรีกลาโหมขณะนั้น คือ โรเบิร์ต แม็กนามารา เพื่อบันทึกข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ โดยไม่ได้แจ้งให้ประธานาธิบดีจอห์นสันทราบ

แดเนียล เอลส์เบิร์ก (แมตธิว รีส ในหนัง The Post) นักปลุกระดมและนักวิเคราะห์ทางทหาร เป็นคนให้ข่าวแก่หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส สร้างความอลหม่านในระดับสูง จนต้องมีคำสั่งศาลห้ามการเผยแพร่

มีหนังเกี่ยวกับเรื่องราวตอนนี้ในชื่อ The Pentagon Papers (เจมส์ สเปเดอร์, พอล จิอาแมตตี) ไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน

ปีนี้ สตีเวน สปีลเบิร์ก จับเรื่องราวอีกทางหนี่งมานำเสนอ เป็นเรื่องของการตัดสินใจเปิดเผยข้อมูลเอกสารลับนี้ของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในวอชิงตัน ดี.ซี. คือ เดอะ วอชิงตัน โพสต์

เป็นการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ ตามบทบัญญัติเพิ่มเติมมาตราที่หนึ่งในรัฐธรรมนูญสหรัฐ ที่ว่าด้วยเสรีภาพของการพูดและของหนังสือพิมพ์ ซึ่งรัฐสภาไม่สามารถออกคำสั่งห้ามได้

ในหนังเรื่องนี้ เอลส์เบิร์กไม่ได้มีความสำคัญเป็นตัวนำตามบทบาทที่เขามีในความเป็นจริง แต่เรื่องตกมาถึงมือของบรรณาธิการหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ คือ เบน แบรดลี (ทอม แฮงส์) และทายาทสาวเจ้าของหนังสือพิมพ์ เคย์ แกรม (เมอริล สตรีป) ที่ได้รับข้อมูลรั่วไหลนี้มา และต้องตกอยู่ในความยากลำบากในการพิจารณาว่าจะตีพิมพ์หรือไม่

โดยที่ทีมที่ปรึกษาทางกฎหมายและบอร์ดบริหารไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่เสี่ยงคุกเสี่ยงตะรางขนาดนั้น

นอกจากประเด็นเรื่องเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ตามการรับรองของรัฐธรรมนูญแล้ว หนังยังเสนอประเด็นบทบาทของสตรี ที่เริ่มมีมากขึ้นในวงการอาชีพ

นี่เป็นเรื่องราวอันน่าประทับใจของ เคย์ แกรม ทายาทของเจ้าของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์

พ่อของเคย์ซื้อกิจการหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ไว้ตั้งแต่ ค.ศ.1933 และก่อนสิ้นชีวิตใน ค.ศ.1959 เขายกตำแหน่งผู้บริหารให้ลูกเขย ฟิลลิป แกรม ซึ่งเป็นสามีของเคย์

เคย์ไม่เคยนึกฝันว่าตัวเองจะต้องมารับทอดภาระหน้าที่สำคัญนี้ จวบจนสามีเสียชีวิตอย่างกะทันหัน เมื่อเคย์อายุย่างเข้าห้าสิบปี และต้องทำหน้าที่ประธานบอร์ดบริหาร เป็นผู้หญิงคนเดียวในโลกของผู้ชาย

เพื่อความมั่นคงทางการเงิน เคย์ต้องแปรรูปกิจการจากกิจการของครอบครัวให้กลายเป็นบริษัทมหาชนที่มีผู้ถือหุ้นและกรรมการบริหารบอร์ด

และต้องเผชิญกับการตัดสินใจครั้งสำคัญในการเดินหน้าสร้างหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเล็กๆ ให้มีชื่อเสียงระดับชาติ

ในฐานะคนที่อยู่ในตระกูลร่ำรวยและใหญ่โต เคย์เป็นเพื่อนกับโรเบิร์ต แม็กนามารา (บรูซ กรีนวูด) อดีตรัฐมนตรีกลาโหม ที่เป็นต้นตอของเอกสารเพนตากอน และเมอริล สตรีป เล่นบทบาทอันน่าประทับใจตอนหนึ่งในการพบปะพูดจากับบรูซ กรีนวูด ที่ว่าเพื่อนก็ส่วนเพื่อน แต่หน้าที่ที่ต้องทำก็ส่วนหน้าที่ เธอไม่นำมาปะปนกันจนบดบังวิจารณญาณในการทำสิ่งที่ถูกต้อง

เช่นเคย เมอริล สตรีป พิสูจน์ความสามารถอันยากจะหานักแสดงคนอื่นทัดเทียม และไม่ทำให้คนดูผิดหวังในการสร้างบทบาทที่น่าจดจำบนจอภาพยนตร์ และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงนักแสดงหญิงยอดเยี่ยมอีกเป็นครั้งที่นับไม่ถ้วน

หนังเล่าถึงการทำงานในวงการหนังสือพิมพ์ ความมุ่งมั่นและความทุ่มเทของทีมงาน การตัดสินใจของผู้บริหารซึ่งบางครั้งก็ยากเย็นและเสี่ยงอย่างยิ่ง

ด้วยฝีมือกำกับฯ ของ สตีเวน สปีลเบิร์ก หนังเสนอฉากเครียดๆ โดยสอดแทรกเรื่องราวอบอุ่นและน่ารัก อย่างเช่น เบน แบรดลี เอาทีมงานของเขาไปทำงานหามรุ่งหามค่ำ อ่านเอกสารลับที่ได้มาหลายสิบกล่องที่บ้านเขา ขณะที่ลูกสาวตัวน้อยสนุกสนานกับกิจการทำน้ำมะนาวขาย จนหาเงินได้เป็นกอบเป็นกำ (เด็กในครอบครัวชนชั้นกลางในอเมริกา นิยมหาลำไพ่ด้วยการขายน้ำมะนาวหน้าบ้านแก่คนผ่านไปผ่านมา) และภรรยา (ซาราห์ พอลสัน) คอยเสิร์ฟแซนด์วิชให้แก่ลูกน้องสามีตลอดคืน

หลังจากชัยชนะของวอชิงตันโพสต์และนิวยอร์กไทม์สด้วยคำสั่งศาลที่ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐปิดกั้นเสรีภาพตามบัญญัติเพิ่มเติมมาตราที่หนึ่ง หนังจบลงด้วยฉากที่มีการค้นพบว่าอาคารวอเตอร์เกต ซึ่งเป็นที่ทำการของพรรคเดโมแครตในวอชิงตัน ดี.ซี. มีขโมยหลายคนงัดแงะเข้าไปกลางดึก

และนี่เป็นที่มาของคดีวอเตอร์เกตอันฉาวโฉ่ใน ค.ศ.1972

ซึ่งเคย์ แกรม หญิงแกร่งและเก่งคนนี้ จะได้สร้างบทบาทสำคัญอีกครั้งในประวัติศาสตร์วงการหนังสือพิมพ์ ด้วยการให้ไฟเขียวแก่นักข่าววอชิงตันโพสต์สองคน คือ บ๊อบ วู้ดเวิร์ด กับ คาร์ล เบิร์นสตีน ให้สืบสาวและเปิดโปงความจริงเกี่ยวกับการใช้อำนาจในทางผิดในระดับประมุขของประเทศ

อย่างที่เราเคยดูโรเบิร์ต เรดฟอร์ด กับ ดัสติน ฮอฟแมน เล่นบทบาทของนักข่าวสืบสวนหัวเห็ดสองคนในหนัง All the President”s Men

ไชโยสามราแก่เสรีภาพของสื่อมวลชน!