ศัลยา ประชาชาติ : กระแส “เงินดิจิตอล” ร้อนแรง คลัง-ธปท.-ก.ล.ต. กุมขมับ เร่งหามาตรการรับมือ

FILE PHOTO: A copy of bitcoin standing on PC motherboard is seen in this illustration picture, October 26, 2017. REUTERS/Dado Ruvic/File Photo

กระแสลงทุน “สกุลเงินดิจิตอล” (Cryptocurrency) กำลังเป็น “ประเด็นร้อน” อยู่ในช่วงนี้ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีการให้ข้อมูลผลตอบแทนสูง จึงทำให้เป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลก

ส่วนในเมืองไทยเริ่มมีการลงทุนในหลากหลายรูปแบบ ขณะที่หน่วยงานรัฐก็ยังไม่มีมาตรการควบคุมดูแลอย่างชัดเจนออกมา

อย่างไรก็ดี จริงๆ แล้วหลายปีที่ผ่านมา ในเมืองไทยเกิดกระแสการชักชวนคนไทยให้ลงทุนในบิตคอยน์มาอย่างต่อเนื่อง โดยท่าทีของภาครัฐไทยก็จะย้ำมาตลอดว่า “ไม่รับรอง” สกุลเงินดิจิตอล

พร้อมกับ “จับตาดู” ทิศทางของโลกมาโดยตลอด ซึ่งหากพบว่ามีการลงทุนที่คาบเกี่ยวเกิดขึ้น ก็จะเลือกใช้วิธี “แจ้งเตือน” ถึงความเสี่ยงในการเข้าไปลงทุนเป็นหลัก

 

ย้อนไปเมื่อปี 2557 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 8/2557 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2557 เรื่องข้อมูลเกี่ยวกับบิตคอยน์และหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียง สรุปได้ดังนี้

1) บิตคอยน์และหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่ลักษณะใกล้เคียงกับบิตคอยน์ไม่ถือเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไทยในการชำระค่าสินค้าหรือบริการ จึงอาจถูกปฏิเสธจากร้านค้าได้

2) มีความเสี่ยงสูงจากการที่มูลค่าหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ผันแปรอย่างรวดเร็ว และไม่สัมพันธ์กับสภาพเศรษฐกิจจริง ผู้ถือครองหน่วยข้อมูลจึงมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินจากการที่มูลค่าของหน่วยข้อมูลลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว

3) มีความเสี่ยงที่ผู้ใช้หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้รับความคุ้มครอง เนื่องจากหน่วยข้อมูลดังกล่าวไม่ถือเป็นเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไทย ดังนั้น หากมีการหลอกลวงหรือฉ้อโกง การฟ้องคดี การติดตามข้อมูลการโอนเพื่อใช้เป็นพยาน หลักฐานอาจทำได้ยาก ซึ่งต่างจากการโอนเงินผ่านธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทางการที่มีระบบติดตามได้

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 1-2 ปีนี้ กระแสบิตคอยน์ยิ่งร้อนแรง มีความสนใจเข้าไปลงทุนกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งหน่วยงานรัฐก็เลือกใช้วิธีเตือนเป็นระยะๆ

“วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการ ธปท. ออกมาเตือนว่า การลงทุนเงินดิจิตอลอย่างบิตคอยน์มีความเสี่ยง เพราะมีความผันผวนสูง อีกทั้งมีการจูงใจผู้ลงทุน ในลักษณะการชิงโชค ให้เงินรางวัล หรือให้ผลตอบแทนที่สูง และพบว่าบางธุรกรรมยังมีลักษณะแบบ “แชร์ลูกโซ่” อีกด้วย

โดยที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการลงทุน เกี่ยวกับการลงทุนในเงินสกุลดิจิตอลต่างๆ อาทิ บิตคอยน์ เป็นต้น ให้แก่นักลงทุนและประชาชนทั่วไป

“อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รมว.คลัง ก็มองว่า การลงทุนในบิตคอยน์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมีลักษณะเป็น “การพนัน” และในหลายประเทศก็มีการชี้ว่าเป็นช่องทางการ “ฟอกเงิน” แต่ก็ยอมรับว่า หากเป็นการไปซื้อขาย (เทรด) ที่ต่างประเทศ ก็คงไปห้ามนักลงทุนไม่ได้ และนักลงทุนต้องระวังความเสี่ยงเอง

ส่วนการจะกำกับดูแลหรือไม่นั้น ขุนคลังบอกว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตอบให้ได้ก่อนว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากเงินดิจิตอลอย่างไร เพราะดูแล้วประเทศที่จะได้ประโยชน์จากสกุลเงินดิจิตอล จะเป็นประเทศที่ค่าเงินหลักไม่ได้รับการเชื่อถือมากกว่า

“ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อะไรหรือเปล่า ซึ่งคนที่ต้องตอบคือ ธปท. กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ถ้าได้ประโยชน์ก็ทำไป แต่ถ้าไม่ได้อะไร เป็นแค่เปิดบ่อนให้คนไปพนัน ก็ไม่ต้องมี จะมีไปทำอะไร โดยตอนนี้ยังดูเหมือนกับบ่อน” นายอภิศักดิ์กล่าว

 

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2561 เป็นต้นมา บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศว่า บริษัทได้เปิดให้นักลงทุนสามารถซื้อขายบิตคอยน์ฟิวเจอร์สอย่างเป็นทางการ “รายแรกของประเทศไทย”

จากนั้นทาง ก.ล.ต. ได้ออกหนังสือชี้แจง ใจความว่า บริษัทหลักทรัพย์ไทยสามารถบริการลูกค้าที่ประสงค์จะลงทุนผ่านตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในต่างประเทศดังกล่าวได้ โดย ก.ล.ต. ได้กำชับ บล. ที่ให้บริการในลักษณะดังกล่าว ต้องประเมินความเหมาะสมในการแนะนำลูกค้า โดยคำนึงถึงความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ ฐานะทางการเงิน และความสามารถในการรับความเสี่ยงของลูกค้าด้วย

พร้อมแนะนำผู้ลงทุนให้คำนึงถึงความสามารถในการรับความเสี่ยงของตน และหากไม่เข้าใจหรือไม่พร้อม ก็แนะว่าควรหลีกเลี่ยงการลงทุน

ล่าสุด บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) บริษัทในเครือบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) เตรียมเปิดระดมทุนด้วยดิจิตอลโทเคน ภายใต้ชื่อ “JFin Coin” ที่เป็น ICO (initial coin offering) เป็นครั้งแรก โดยมีแผนระดมทุนทั้งหมด 300 ล้านเหรียญ แต่รอบแรกจะเปิดขาย 100 ล้านเหรียญ หน่วยละ 6.6 บาท พรีเซล (Presale) วันแรก 14 กุมภาพันธ์-28 กุมภาพันธ์นี้ และเปิดขายรอบ Initial Coin Offering จริง 1 มีนาคม- 31 มีนาคม

โดย “ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท JVC ระบุว่า ก.ล.ต. อยู่ระหว่างรับฟังความเห็นเรื่อง ICO หากมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายใด ทางบริษัทพร้อมปรับแก้ไขให้ถูกต้อง ซึ่งหาก ก.ล.ต. ไม่รองรับ ICO ก็อาจเทรดในตลาดไทยไม่ได้ ต้องไปเทรดในต่างประเทศ หรือทาง ก.ล.ต. อาจสร้างตลาดรองขึ้นมาเองเพื่อให้มีการซื้อขายก็เป็นได้

ในกรณีดังกล่าว “รพี สุจริตกุล” เลขาธิการ ก.ล.ต. ให้สัมภาษณ์พิเศษหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” โดยยอมรับว่า หลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต. ยังไม่เพียงพอที่จะรองรับกับเทคโนโลยีการเงินรูปแบบใหม่ อย่างการระดมทุนรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า initial coin offering (ICO) ซึ่งเป็นการระดมทุนผ่านสกุลเงินดิจิตอล ที่กำลังได้รับความนิยมและความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก ทั้งนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานทางการว่าควรใช้แนวทางการกำกับอย่างไร

“เหตุที่ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับเรื่อง ICO เพราะปัจจุบันหากมีผู้สนใจจะออก ICO ซึ่งไม่เข้าเกณฑ์หุ้นและหลักทรัพย์ ก็จะไม่มีผู้กำกับดูแล ซึ่งแปลว่าถ้าเกิดปัญหา ผู้ลงทุนก็จะต้องไปฟ้องร้องกันเอง ใครจะโฆษณา ให้ข้อมูลการลงทุนอย่างไรก็ได้ เพราะไม่มีใครกำกับดูแล ดังนั้น การจะไล่บี้หรือจัดการก็จะยากมาก ก.ล.ต. จึงมีแนวคิดว่าเรื่องนี้ควรจะมีการกำกับดูแลอย่างอ่อนๆ เพราะถ้าจะแบนหรือปิดกั้นเลยก็จะลงใต้ดินและก็จะห้ามไม่ได้ เพราะเป็นการซื้อขายผ่านคอมพิวเตอร์ ไม่มีคนที่จะให้เราไปจับ หาตัวเขาไม่เจอหรอก”

นายรพีกล่าว

 

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้ตั้ง “คณะทำงานเพื่อศึกษาและเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิตอล” โดยมีผู้อำนวยการ สศค. เป็นประธานคณะทำงาน และมีผู้แทนจาก ธปท. ก.ล.ต. และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ร่วมเป็นคณะทำงาน ล่าสุด ได้ประชุมไปแล้ว 1 ครั้ง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป

ซึ่ง “พรชัย ฐีระเวช” ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษก สศค. กล่าวว่า การประชุม 4 หน่วยงานครั้งแรก แต่ละหน่วยงานต่างมีมุมมองของตัวเอง ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานกลับไปหาข้อสรุปวิธีการที่จะเสนอแนะเชิงนโยบายในภาพรวมต่อไป จากนั้นจะกลับมาประชุมหาข้อสรุปร่วมกันอีกครั้งในเร็วๆ นี้

“อย่าง ปปง. เองก็บอกว่า ต้องการจะให้คนที่ค้าเงินดิจิตอล เป็นสถาบันการเงินที่ต้องรายงานธุรกรรมต่อ ปปง. ขณะที่ ก.ล.ต. ก็บอกว่า กำลังทำเรื่อง ICO อยู่ คือ รอบแรกแต่ละหน่วยงานก็มีท่าทีของตัวเอง ที่ประชุมจึงให้ไปศึกษาหาวิธีการที่จะเสนอแนะเชิงนโยบายต่อไป โดยจะนัดประชุมกันอีกครั้งในเร็วๆ นี้” นายพรชัยกล่าว

ทุกวันนี้เทคโนโลยีมีบทบาทในการสร้างรูปแบบการลงทุนใหม่ที่ไม่ยึดติดกับเส้นพรมแดน นำเสนอผลประโยชน์จูงใจนักลงทุนได้ง่ายขึ้น

จึงเป็นเรื่องใหม่ที่ยากและท้าทายสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งหามาตรการกำกับดูแล ให้ข้อมูลความรู้ให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงที่ก้าวไปรวดเร็วเหลือเกินแล้วในเวลานี้