เปลี่ยนผ่าน : ย่างก้าวสู่ “สังคมไร้เงินสด” ประเทศไทยพร้อมหรือยัง?

นับตั้งแต่มนุษย์รู้จักการซื้อขายและทำธุรกิจต่างๆ สิ่งหนึ่งที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนสินค้าคือ “เงิน” ที่ในอดีตนั้นอาจจะเป็นเพียงการนำเปลือกหอยมาใช้หรือที่เรียกว่า “หอยเบี้ย” ต่อมา ก็มีประกับดินเผา เงินพดด้วง ปี้กระเบื้อง และเหรียญกษาปณ์ เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รูปแบบของ “เงิน” มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนถึง “ธนบัตร” และ “เหรียญ” ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม นอกจาก “ธนบัตร” และ “เหรียญ” แล้ว ปัจจุบัน “เงิน” ได้แปรเปลี่ยนรูปแบบ โดยไม่ได้เป็นเพียงแค่กระดาษหรือโลหะที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐอีกต่อไป อาทิ เช็คธนาคาร

และด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วเพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น จึงมีการคิดค้นสิ่งต่างๆ ที่นำมาใช้แทนเงิน เช่น บัตรเอทีเอ็ม บัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรเติมเงิน

สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งของ “สังคมไร้เงินสด” นโยบายทางธุรกิจอย่างหนึ่งที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญอยู่ในขณะนี้

“สังคมไร้เงินสด” หรือ “Cashless Society” คือ สังคมที่เราสามารถซื้อสินค้าและบริการได้โดยไม่ต้องใช้เงินสดที่เป็นเหรียญหรือธนบัตร เพราะการใช้จ่ายทั้งหมดจะทำผ่านระบบออนไลน์

จะว่าไปแล้วสังคมไร้เงินสดนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่แปลกใหม่ไปซะทีเดียว เพราะเราทุกคนต่างเคยมีประสบการณ์การใช้จ่ายโดยที่ไม่ต้องใช้เงินสด เช่น บัตรเอทีเอ็ม เช็คธนาคาร บัตรแทนเงินสด และระบบ Mobile Banking ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราทุกคน

หลายประเทศทั่วโลกต่างเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชนเพื่อนำเทรนด์นี้มาใช้ มีรายงานระบุว่า ประเทศที่เริ่มเข้าสู่สังคมไร้เงินสดแบบเต็มตัวมากที่สุดในโลก อันดับ 1 ได้แก่ “สวีเดน”

โดยปัจจุบันมีเงินสดหมุนเวียนอยู่ในระบบไม่ถึง 3% เพราะชาวสวีเดนส่วนใหญ่นิยมใช้จ่ายผ่านระบบ Mobile Payment และบัตรเครดิตเป็นหลักคิดเป็น 96% ของจำนวนทั้งหมด เนื่องจากภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ร้านอาหาร ระบบขนส่งสาธารณะ สามารถชำระค่าบริการผ่านบัตรเดบิตได้แทบทั้งหมด

รัฐบาลสวีเดนตั้งเป้าจะเป็นประเทศสังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบภายใน ค.ศ.2030

อันดับ 2 คือ “เบลเยียม” ที่มีการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดอยู่ที่ 93% เพราะชาวเบลเยียมนิยมใช้บัตรเดบิตสำหรับชำระเงิน และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและสถาบันการเงินที่กำหนดวงเงินสำหรับจ่ายด้วยเงินสดไม่เกิน 3,000 ยูโร

อีกทั้งธนาคารกลางยังสนับสนุนให้คนหันมาทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแอพพลิเคชั่นอีกด้วย

อันดับ 3 ได้แก่ “จีน” ที่มีอัตราการเติบโตของการใช้จ่ายผ่านระบบดิจิตอลที่สูงมาก โดยชาวจีนราว 60% ใช้จ่ายผ่านทาง Mobile Payment ส่วนใหญ่นิยมทำธุรกรรมไม่ว่าจะเป็นการชำระค่าสินค้าหรือบริการใดก็ตามผ่าน 2 แอพพลิเคชั่นหลัก คือ Alipay และ Wechat Pay

สําหรับเทรนด์สังคมไร้เงินสดในประเทศไทยนั้นเริ่มมีความตื่นตัวมากขึ้น หลังจากที่ภาครัฐส่งเสริมให้นิติบุคคลต้องติดเครื่องรูดบัตร EDC (Electronic Data Capture) เพื่อส่งเสริมการใช้ e-Payment ตามนโยบาย National e-Payment ของกระทรวงการคลัง เพื่อมุ่งสู่สังคมไร้เงินสด ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาคเอกชน

ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยก็จับมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายบัตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น VISA, MasterCard และรายอื่นๆ พร้อมกับกลุ่มธนาคารและผู้ให้บริการทางการเงินในไทย เดินหน้าโครงการชำระเงินผ่าน QR Code มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ

ที่ไม่ว่าจะซื้อสินค้าจากร้านหรูหรือแม้แต่ตามตลาดนัด ก็สามารถชำระเงินได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว สะดวกทั้งคนซื้อและคนขาย

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเสนอบริการ “พร้อมเพย์” (PromptPay) บริการรับและโอนเงินแบบใหม่ ที่ช่วยให้การรับและโอนเงินเป็นเรื่องง่ายขึ้น เพียงแค่ใช้เลขบัตรประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์มือถือ แทนเลขที่บัญชีธนาคาร

อีกทั้งยังสามารถทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านทาง Internet Banking และ Mobile Banking

สําหรับข้อดีของสังคมไร้เงินสดนั้นมีอยู่หลายข้อ เพราะงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าการชำระเงินผ่าน e-Payment ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้จริง เพราะลูกค้าสามารถชำระค่าสินค้าหรือบริการได้ในทันที โดยไม่ต้องพกเงินสดเหมือนแต่ก่อน

แถมช่วยเพิ่มความปลอดภัยและความสะดวกสบายให้กับผู้ซื้อ

ตรงจุดนี้ยังช่วยให้รัฐบาลลดค่าใช้จ่ายในการพิมพ์ธนบัตรหรือผลิตเหรียญออกมา

อีกทั้งสามารถจัดเก็บภาษีได้ง่ายขึ้น ในส่วนของร้านค้าก็สามารถนำข้อมูลประวัติการซื้อสินค้าของลูกค้าแต่ละคนไปใช้ประโยชน์ในด้านการทำตลาด เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการได้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความกังวลว่าสังคมไร้เงินสดที่การทำธุรกรรมทุกอย่างผ่านเครือข่ายออนไลน์นั้นจะปลอดภัยจริงหรือ?

เพราะหากวิเคราะห์ดูแล้ว การทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์นั้นก็มีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการถูกแฮ็กข้อมูลจากกลุ่มมิจฉาชีพไซเบอร์ การถูกนำข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต หรืออาจถูกคนร้ายสวมรอยนำข้อมูลไปใช้กรณีที่โทรศัพท์สูญหายหรือถูกขโมย

ซึ่งเคยมีกรณีตัวอย่างเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศสวีเดน เมื่อชายหนุ่มคนหนึ่งถูกกลุ่มโจรใช้มีดจี้บังคับให้ใช้โทรศัพท์มือถือโอนเงินให้ผ่านแอพพลิเคชั่น

ขณะเดียวกัน มีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับเทรนด์สังคมไร้เงินสดเสนอข้อคิดเห็นว่า ผู้สูงอายุหรือคนที่ไม่มีโอกาสในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตอาจไม่สามารถใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ การชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหลายนั้นยังอาจนำไปสู่ปัญหาการใช้เงินเกินตัว หากผู้ใช้งานไม่มีวินัยในการใช้เงินมากพอ เพราะด้วยขั้นตอนการใช้งานที่ง่าย สะดวก สามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา จึงอาจเกิดปัญหาหนี้สินในที่สุด

อนาคตสำหรับ “สังคมไร้เงินสด” ในประเทศไทยนั้นดูแล้วสดใสแน่นอน เพราะทั้งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ และได้รับความร่วมเป็นอย่างดีจากภาคเอกชนที่ต่างปรับตัวกันอย่างเต็มที่

สิ่งที่ต้องจับตามองคือ มาตรการการรักษาความปลอดภัยที่ภาครัฐจะทำอย่างไร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งาน ความต่อเนื่องในการผลักดันนโยบาย และการนำเสนอนวัตกรรมต่างๆ เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบได้ในท้ายที่สุด