จรัญ มะลูลีม : การต่างประเทศของซาอุดีอาระเบีย (1)

จรัญ มะลูลีม

เป็นที่ทราบกันดีว่าความสั่นสะเทือนทางการเมืองในซาอุดีอาระเบียปัจจุบันขยายไปไกลเกินกว่าเขตแดนของประเทศซาอุดีอาระเบียเอง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 เดือนพฤศจิกายน ปี 2017 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีเลบานอน ฮาริรี (Saad Mariri) ต้องลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างไม่มีใครคาดคิดหลังจากบินมาที่กรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย

ทั้งนี้ มีรายงานว่า มุฮัมมัด บินสัลมาน หรือ MBS ได้บีบให้ฮาริรีซึ่งเป็นพลเมืองของซาอุดีอาระเบียลงจากอำนาจขณะที่ถูกกักบริเวณ ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านจากนานาชาติ

เจ้าหน้าที่จากอังกฤษ สหภาพยุโรปและเยอรมนีต่างก็ออกมาตำหนิ MBS ที่เข้าไปก้าวก่ายการเมืองภายในของเลบานอนกันอย่างถ้วนหน้า

Emmanuel Macron ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสได้นำเอาการทูตของฝรั่งเศสมาแก้ไขสถานการณ์นี้ด้วยการเชิญฮาริรีมายังกรุงปารีสเพื่อยืนยันถึงเสรีภาพของเขา แม้ว่าซาอุดีอาระเบียจะยืนยันว่ามิได้ห้ามการเคลื่อนไหวของฮาริรีก็ตาม

Sigmar Gabriel รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนีได้ออกมาเตือนถึงการที่ฮาริรีต้องเดินทางไปฝรั่งเศส พร้อมกับกล่าวว่ายุโรปจะไม่กระทำการอันสุ่มเสี่ยงอย่างซาอุดีอาระเบียแต่อย่างใด

 

กระทรวงต่างประเทศของซาอุดีอาระเบียได้ออกมาขานรับเรื่องราวเหล่านี้ด้วยการเรียกเอกอัครราชทูตในกรุงเบอร์ลินกลับมาปรึกษาหารือและกล่าวถึงคำพูดของรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนีว่าเป็นการพูดแบบเลื่อนลอย ให้ร้ายป้ายสี และหาหลักฐานไม่ได้เลย

ท่ามกลางกระแสที่มีการถกเถียงกันอยู่ในเวลานี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปิดล้อมกาตาร์และเยเมนรวมทั้งการรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชั่นที่มีอยู่ในประเทศ ถือกันว่าการเข้าไปก้าวก่ายกิจการภายในของเลบานอนเป็นเรื่องที่ขาดความรับผิดชอบ ไม่ว่าความมุ่งหวังในการกดดันฮาริรีให้ลงจากอำนาจจะมาจากเรื่องใดก็ตาม การกระทำดังกล่าวก็ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและดูเหมือนว่าการกระทำเช่นนั้นจะไม่ทำให้ซาอุดีอาระเบียได้ประโยชน์แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม หากคิดว่าการดำเนินนโยบายต่างประเทศของซาอุดีอาระเบียเป็นผลผลิตจากการเมืองและการปฏิสัมพันธ์ของเผ่าพันธุ์ในทะเลทรายอาหรับอันกว้างใหญ่ไพศาลแล้ว การเดินหมากทางการเมืองของ MBS ก็อาจจะมีเหตุผลของตนเองอยู่บ้าง

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการเมืองแห่งเผ่าพันธุ์นั้นมีบทบาทสำคัญอยู่ในกิจการของชาวอาหรับ อดีตที่ผ่านมายังบอกอย่างชัดเจนอีกว่า อับดุลอาซีส อัลสะอูด ได้ก่อตั้งประเทศซาอุดีอาระเบียขึ้นมาในปี 1932 ในฐานะเผ่าพันธุ์ทางการเมืองที่เคยรุ่งเรืองมาก่อนในคาบสมุทรอาหรับ

ด้วยเหตุดังกล่าวซาอุฯ จึงใช้อำนาจของพวกเขาขยายไปยังเผ่าเล็กเผ่าน้อยรวมทั้งเผ่าอัลมาอาดิด (al-Maadhid) อันเป็นเผ่าที่เป็นครอบครัวอัล-ษานีซึ่งปกครองกาตาร์อยู่ในปัจจุบัน ที่ผ่านมาซาอุดีอาระเบียหวังมาตลอดว่าตระกูลอัล-ษานีจะดำเนินนโยบายตามแนวทางของตนเพื่อให้เป็นไปตามการให้เกียรติแก่ระเบียบของเผ่าพันธุ์

การเปลี่ยนผ่านของเผ่าพันธุ์เบดุอินที่ถือกำเนิดในซาอุดีอาระเบียก็เช่นกัน ล้วนประกอบขึ้นเป็นส่วนสำคัญที่มีอยู่ในนโยบายของภูมิภาค

การกระจายตัวออกไปอย่างกว้างขวางของเผ่าพันธุ์ของซาอุฯ ไกลเกินกว่าเขตแดนทางภูมิศาสตร์ของซาอุดีอาระเบียเองเท่ากับเป็นการยืนยันอิทธิพลของซาอุดีอาระเบียที่มีอยู่รายรอบพื้นที่ของตน

จากตรรกะดังกล่าวสำหรับซาอุฯ แล้วเป็นเรื่องที่ไม่มีผลอะไรแม้ว่าฮาริรีจะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศอื่นก็ตาม ในเมื่อฮาริรีเองก็เป็นคนที่ถือสัญชาติซาอุดีอาระเบีย ด้วยเหตุนี้การภักดีต่อครอบครัวอัลสะอูดจึงต้องอยู่เหนือกว่าตำแหน่งของเขาที่มีอยู่ในประเทศอื่นๆ

 

เมื่อหันกลับมาดูการต่างประเทศของซาอุดีอาระเบียก็จะพบความพยายามที่จะรักษาความเป็นปึกแผ่นในดินแดนของราชอาณาจักรและความมั่นคงทางการเมืองเหนือสิ่งอื่นใด หลักการพื้นฐานที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะรักษาอำนาจเอาไว้ทำให้ครอบครัวของอัลสะอูดไม่สามารถกล่าวออกมาอย่างชัดเจนถึงจุดหมายอันกว้างขวางด้านการระหว่างประเทศหรือยุทธศาสตร์ที่ดีที่จะมาส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ได้

เป็นที่รับรู้กันดีอยู่แล้วว่าซาอุดีอาระเบียเองก็ไม่ได้มีความสนใจที่จะเป็นผู้กำหนดระเบียบของชาวอาหรับในภูมิภาค ยกเว้นแต่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะมากระทบกับการดำรงสถานภาพบนคาบสมุทรอาหรับซึ่งสนับสนุนผู้ปกครองซาอุดีอาระเบีย

ในทศวรรษ 1980 ซาอุดีอาระเบียได้เรียกร้องกองกำลังที่ยิ่งใหญ่ของอิรักให้หยุดยั้งอิหร่านจากการส่งออกการปฏิวัติอิสลามไปทั่วทั้งภูมิภาค

ต่อมาราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียได้ร้องขอความช่วยเหลือจากสหรัฐเมื่ออิรักรุกรานคูเวตในปี 1990

บ่อยครั้งที่การกระทำของซาอุดีอาระเบียนำไปสู่สิ่งที่ไม่ได้เป็นความปรารถนาของตนเอง

 

ตัวอย่างเช่น ในปี 2011 ซาอุดีอาระเบียได้เรียกร้องให้รัฐบาลซีเรียปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองออกมาเพื่อลดอันตรายของการลุกฮือของคนเหล่านี้

ประธานาธิบดี บาชัร อัลอะสัด ก็ทำตามโดยปล่อยนักโทษจำนวนนับพันออกมาโดยส่วนหนึ่งของนักโทษเหล่านี้ได้สร้างกองกำลังที่มีชื่อว่าญะบัร อัลนุสเราะฮ์ขึ้นมาและเพื่อที่จะปิดล้อมกลุ่มก้อนนักต่อสู้เหล่านี้ อะสัดได้หันเข้าหาอิหร่านและกองกำลังอิสบุลลอฮ์เพื่อขอความช่วยเหลือ

อิทธิพลที่เติบโตขึ้นของอิหร่านในซีเรียบีบให้ซาอุดีอาระเบียติดอาวุธให้กับกลุ่มนักต่อสู้เดนตายเหล่านี้เพื่อโค่นอำนาจการบริหารของอะสัดและพยายามยุติความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับซีเรียลง การที่ราชวงศ์หันไปสนับสนุนกลุ่มที่ชอบใช้ความรุนแรงเหล่านี้ได้นำไปสู่การวิพากษ์ของตะวันตกซึ่งไม่เป็นไปตามความมุ่งหวังของซาอุดีอาระเบียที่เคยบีบให้อัลอะสัดปล่อยตัวนักโทษเหล่านี้

มองจากประสบการณ์ในอดีตของซาอุดีอาระเบียหลายคนคงมุ่งหวังให้ผู้นำของประเทศนี้ จัดระเบียบการระหว่างประเทศเสียใหม่

แต่ในทางกลับกันซาอุดีอาระเบียเองยังคงใช้นโยบายเดิมๆ อย่างไม่เสื่อมคลายก่อให้เกิดการตั้งคำถามถึงอำนาจของราชวงศ์ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

 

การกระทำของมกุฎราชกุมารหนุ่มผู้นี้ซึ่งมีความพยายามจะครองอำนาจในราชวงศ์ทั้งในทางเศรษฐกิจการทหารและการเมืองก่อให้เกิดความขัดแย้งในหมู่สมาชิกของครอบครัวและทำให้นานาชาติจับตาดูซาอุดีอาระเบียอย่างใกล้ชิด

ก่อนหน้านี้ Gabriel รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนีได้เคยกล่าวตักเตือนซาอุดีอาระเบียที่ปิดล้อมกาตาร์ ในเวลาเดียวกันกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐได้ยกเอาบทความใน New York Times ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ปี 2017 มาวิพากษ์ MBS ว่าได้กระทำการที่ขาดความยับยั้งชั่งใจ

จนนำไปสู่เหตุการณ์ที่ตามมาหลายเหตุการณ์และมีพลังอย่างพอเพียงที่จะทำลายผลประโยชน์ของสหรัฐลงในที่สุด

อาจกล่าวได้ว่าซาอุดีอาระเบียกำลังตกอยู่ในภาวะเปลี่ยนผ่านในทางประวัติศาสตร์ของตน การที่จะลดการพึ่งพาน้ำมันและการคาดหมายถึงการเติบโตอย่างยั่งยืนของ MBS นั้นจะต้องมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ แนวทางการระหว่างประเทศแบบเผ่าพันธุ์ของซาอุดีอาระเบียก็ถึงเวลาที่ต้องมีการปรับเสียใหม่

ถ้าหากว่าครอบครัวอัลสะอูดยังไม่เปลี่ยนยุทธศาสตร์ที่มีอยู่หรือยังมีวิสัยทัศน์ที่ขาดความรอบคอบที่มีต่อภูมิภาคและโลกแล้ว ซาอุดีอาระเบียก็จะค่อยๆ สูญเสียอำนาจที่ตนเคยมีอยู่ไปจนหมดสิ้น