ส่วนแบ่งลิขสิทธิ์เพลงยุค “ดิจิตอล” ถูกจัดสรรอย่างไร? ถึงมือผู้สร้างผลงานมากน้อยแค่ไหน?

บุญญฤทธิ์ บัวขำ www.facebook.com/matichonTV

ในยุคที่ธุรกิจเพลงไทยซบเซา ส่วนแบ่งจากการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง ถูกมองว่าเป็นรายได้หลักอีกหนึ่งช่องทางสำหรับค่ายยักษ์ใหญ่

ประเด็นนี้ถูกพูดถึงมากขึ้น เมื่อมีข่าวว่าผู้ประกอบธุรกิจร้านกาแฟในจังหวัดแพร่ ถูกเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์จากการเปิดเพลงของค่ายดังผ่านเว็บไซต์ยูทูบ

“กริช ทอมมัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจจีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ยืนยันจุดยืนของบริษัทว่า การเปิดเพลงจากเว็บไซต์ยูทูบในร้านอาหารถือเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชน

พร้อมทั้งชี้แจงว่าเงินที่จัดเก็บจะถูกแบ่งไปเป็นรายได้ให้กับผู้สร้างสรรค์งานเพลง

“ถ้าคิดว่าเพลงมันมีประโยชน์ต่อการค้าเขาเนี่ย เขาก็ต้องคำนึงถึงคนแต่งเพลงข้างหลังบ้าง คนที่สร้างมันขึ้นมาบ้าง ถ้าทุกคนซื้อ (เพลง) หมด ในประเทศที่เจริญๆ แล้ว เขาเคารพเรื่องนี้ เขาไม่มีปัญหามานั่งจับแบบเราหรอก” กริช กล่าว

อย่างไรก็ตาม “พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา” หรือ “ปุ้ม วงตาวัน” อดีตนักแต่งเพลงในสังกัดใหญ่ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงความคิดเห็นตรงกันข้ามกับค่ายเพลง

นักดนตรีชื่อดังมองว่าในกรณีนี้ ค่ายเพลงมีรายได้จากช่องทางยูทูบอยู่แล้ว อีกทั้งส่วนแบ่งรายได้ที่นักแต่งเพลง ผู้สร้างผลงาน ได้รับมาจากทางค่ายเพลงเป็นงวดๆ ก็ไม่เคยถูกชี้แจงโดยลงรายละเอียดชัดเจน ว่าเป็นเม็ดเงินจากช่องทางการเผยแพร่ไหนบ้าง

นับตั้งแต่ “ยูทูบ ประเทศไทย” เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2557 การหารายได้บนยูทูบ เป็นช่องทางที่ได้รับความสนใจจากประชาชนและศิลปิน ผู้ใช้งานที่ทำสัญญากับยูทูบและนำผลงานมาเผยแพร่บนเว็บไซต์ สามารถสร้างรายได้จากยอดผู้เข้าชมคลิป โดยยูทูบจะแบ่งรายได้โฆษณาให้แก่เจ้าของเนื้อหาที่ทำสัญญาเป็นพาร์ตเนอร์กับทางบริษัท

“ธนัญชัย ชนะโชติ” หรือ “โทนี่ ผี” นักร้องและนักแต่งเพลง จากค่ายเวิร์คแก๊ง สังกัดย่อยของแกรมมี่ พูดถึงส่วนแบ่งที่ได้รับจากค่ายเพลงว่า ตนไม่ได้เป็นเจ้าของสิทธิ์เนื้อร้องและทำนอง แม้จะเป็นคนแต่งเพลงเอง เพราะขณะทำสัญญา ตนยอมรับอยู่แล้วว่าจะให้แกรมมี่เป็นผู้ดูแลสิทธิ์เพื่อให้เพลงเผยแพร่สู่สาธารณชน

โทนี่ ผี เล่าว่า ส่วนแบ่งรายได้ที่ตนเองได้รับจะถูกจัดส่งมาเป็นบิลรวมรายได้ทุกประเภท ไม่ได้แยกแยะอย่างชัดเจน ว่าเป็นรายได้จากช่องทางไหนบ้าง

ส่วนตัวมองว่าส่วนแบ่งจากยูทูบที่ตนได้รับน่าจะน้อยมาก เพราะค่ายเป็นผู้ลงทุนในกระบวนการสร้างผลงานทั้งหมด

“แล้วแต่ช่วง ถ้าเกิดเพลงฮิต ผมอาจจะได้ 2 หมื่นก็มี หมื่นกว่าก็มี หมื่นนึงก็มี 4 พันบาทก็มี 3 พันยังมีเลย มันสะวิงขนาดนี้อะ

“บางเดือนผมได้แค่ 3 พันบาท แต่มันก็ได้ มันคือ passive income ผมไม่ต้องทำอะไรเลย ผมนอนอยู่เฉยๆ เดือนนี้ผมไม่มีงานจ้างเลย มีเงินโอนเข้ามา 2 หมื่น บางเดือน 2 หมื่นนี่คือเพลงฮิตแล้วนะ เยอะแล้วนะ

“สมมติว่าบางที บางเดือนผมไม่มีงานจ้างเลย มีเงินโอนเข้ามาหมื่นนึงอะไรอย่างงี้ แบบเฮ้ย! มาจากไหน มันก็คือค่าขายดิจิตอล (โดยมีรายได้จากยูทูบรวมอยู่ในนั้นด้วย) ทั้งหมดอะครับ” โทนี่ ผี กล่าว

เช่นเดียวกันกับ “แมว – จิรศักดิ์ ปานพุ่ม” ร็อกเกอร์ชื่อดังที่มีผลงานกว่า 100 เพลง ซึ่งเผยว่าได้รับเงินค่าลิขสิทธิ์เพลงจากต้นสังกัดเดิมและต้นสังกัดใหม่มาโดยตลอด แต่โชคดีที่ตัวเองเป็นคนทำงานเพลง คือมีส่วนในการสร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง ดังนั้น ยอดเงินที่ได้รับกลับมาจึงเยอะกว่าศิลปินทั่วไป ที่ไม่มีส่วนในการสร้างสรรค์งานเพลง

“ผมจะได้ (รายได้) จากการที่เวลาผมไปเล่นคอนเสิร์ต ผมก็จะจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพลง (ของตัวเอง) ให้กับการแสดงของผมด้วย จ่ายให้กับทางค่ายที่ถือลิขสิทธิ์เพลงของผม ก็จ่ายให้ไป ปรากฏว่ายอดต่างๆ เหล่านั้น มันก็จะตัดกลับคืนมาให้ผม ในฐานะที่ผมเป็นคนทำงาน

“มีค่าโปรดิวเซอร์ ค่าประพันธ์เพลง และค่าทำนองเรียบเรียง แล้วก็มีค่าศิลปินด้วย ศิลปินบางคนที่ไม่ได้ทำงานเอง ก็จะได้รับแค่ค่าศิลปิน แต่ผมจะได้ครบทุกส่วนเลย ผมก็จะได้เยอะกว่า” แมว จิรศักดิ์ อธิบาย

แมว จิรศักดิ์ เปิดเผยว่า ยอดเงินที่ได้รับจากต้นสังกัดเดิม จะถูกแบ่งจ่ายจากค่ายเพลง 3 เดือนต่อครั้ง โดยครั้งล่าสุดที่ได้รับ มียอดรวมอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นบาท ซึ่งรายได้จากช่องทางยูทูบถูกระบุรวมอยู่ในยอดนี้ด้วย

โดยน่าจะมียอดอยู่ที่ประมาณ 3 พันบาท

สําหรับระบบการจ่ายเงินให้แก่ผู้สร้างสรรค์ผลงานเพลงบนช่องทางดิจิตอลจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ “งานสิ่งบันทึกเสียง” กับ “งานดนตรีกรรม” ซึ่งผู้ดูแลสิทธิ์ให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานจะเป็นผู้รับเงินจากเจ้าของช่องทาง ก่อนส่งต่อให้กับผู้สร้างสรรค์งานอีกที

โดยงานสิ่งบันทึกเสียงส่วนใหญ่ ค่ายเพลงจะเป็นผู้ถือสิทธิ์ดูแลเอง แต่สำหรับศิลปินไร้สังกัดหรือผู้สร้างสรรค์งานอื่นๆ ปัจจุบันมีบริษัท “โมบาย อินดี้ ดิจิตอล จำกัด” เป็นผู้ดูแลสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้สร้างสรรค์ผลงานบนช่องทางดิจิตอล

ส่วนงานดนตรีกรรม ปัจจุบันมีบริษัทดูแลสิทธิ์คือบริษัท “ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด” หรือ MCT ซึ่งบริษัทยอมรับว่าส่วนแบ่งจากระบบดิจิตอลยังเป็นเรื่องใหม่

“จิตราภา พยัคฆโส” ผู้จัดการทั่วไปของ MCT เผยว่า ระบบงานดิจิตอลเพิ่งเข้ามาสู่ประเทศไทยประมาณ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งในช่วง 3 ปี ถือเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงระบบ การที่จะนำระบบของ MCT เข้าไปรับเงินหรือเข้าไปเป็นตัวแทนของนักแต่งเพลงยังทำได้ค่อนข้างยาก เพราะเป็นเรื่องของระบบดิจิตอล

ซึ่งอาจจะต้องใช้การจับคู่ข้อมูลหลักของนักแต่งเพลงไทยเข้าไปในระบบ โดยขณะนี้ยังอยู่ในช่วงดำเนินการนำเพลงเข้าสู่ตัวระบบทั้งหมด ส่วนรายได้ที่เข้ามาระหว่างช่วงเปลี่ยนแปลงระบบจะยังอยู่ในช่องทางต่างๆ และไม่สูญหายไปไหน เพราะระบบจะจัดเก็บไว้ให้

ด้าน “พันธุ์ศักดิ์ ลิ้มวัฒนายิ่งยง” ผู้ก่อตั้งบริษัทโมบาย อินดี้ ดิจิตอล ระบุว่า รายได้จากยูทูบจะคิดจากจำนวนผู้เข้าชม และแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ เจ้าของคลิป 50 เปอร์เซ็นต์ และยูทูบ 50 เปอร์เซ็นต์ หากผู้สร้างสรรค์งานคนใดมีบริษัทช่วยดูแลสิทธิประโยชน์ รายได้ก็จะถูกแบ่งออกมาอีกส่วนหนึ่งเป็นค่าทำงาน

“โดยปกติแล้ว เนื่องจากเราทำหลายเซอร์วิส เราก็จะดูว่าถ้าทุกเซอร์วิสไม่ได้มีปัญหาอะไร ทุกเซอร์วิสจ่ายเงินมาที่โมบาย อินดี้ เป็นประจำอยู่แล้วทุกๆ เดือน

“เมื่อเราได้รีพอร์ต (รายงานรายได้) มา เราก็แตกรีพอร์ตไปยังเจ้าของเพลงแต่ละคนหรือค่ายหนังอะไรก็แล้วแต่ แล้วเราก็สรุปรีพอร์ตรวบยอดให้เขาเดือนละ 1 ครั้ง โดยอาจจะมีขั้นต่ำ ว่าขอให้ยอดการจ่ายเงินไม่ต่ำกว่า 1 พันบาท (ถ้าต่ำกว่านั้น ก็ไม่จ่าย แต่จะนำไปทบกับรายได้เดือนถัดไป)” พันธุ์ศักดิ์ กล่าว

ประเด็นนี้ จิตราภากล่าวว่า ปัจจุบัน MCT มีนักแต่งเพลงที่เป็นสมาชิกถึง 600 คน ในรอบปีที่ผ่านมา มีการแบ่งรายได้ไปสู่นักแต่งเพลงบ้างแล้ว โดยนักแต่งเพลงจะได้รับเงินเฉพาะในส่วนของเนื้อร้องและทำนองเท่านั้น แต่ยอมรับว่ามีนักแต่งเพลงหลายคนที่ไม่ได้รับเงินจากการจ่ายเงินในรอบที่ผ่านมา เนื่องจากไม่ได้แจ้งอัพเดตรายชื่อเพลงเข้ามายัง MCT

“บางครั้งเวลาสมาชิกแต่งเพลงใหม่ๆ ขึ้นมาแล้วไม่ได้อัพเดตกับเรา เราก็จะไม่ทราบว่าเพลงเพลงนี้จะต้องเอาเข้าระบบเมื่อไหร่ หรืออย่างไร ถ้าหากมีการอัพเดตขึ้นมาปุ๊บ เราก็สามารถที่จะเคลมเงินตรงนี้กลับเข้ามาให้กับสมาชิกของเราได้

“แต่ด้วยกระบวนการของการเคลมเงินในระบบดิจิตอล ต้องบอกว่ามันมีระบบไทม์ไลน์ของมันอยู่ ก็คืออย่างเช่นเพลงนี้ถูกใช้เมื่อปีที่แล้ว เวลาเราจะเคลม เราจะเคลมย้อนหลังประมาณสัก 3 เดือน แล้วก็ในช่วงไทม์ไลน์ กว่าจะมีการจ่ายเงินถึงเมืองไทย กว่าจะมาเข้าระบบการแจกจ่ายรายได้ ก็อาจจะเป็นหนึ่งปีถัดไป” จิตราภา อธิบาย

น่าสังเกตว่า เมื่อพิจารณายอดเงินที่ศิลปินและนักแต่งเพลงได้รับจากช่องทางดิจิตอลต่างๆ รวมทั้งยูทูบ รายได้ดังกล่าวกลับยังไม่สูงนัก สวนทางกับยอดรวมของการเข้าชมคลิปออนไลน์ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

พันธุ์ศักดิ์ชี้ว่ารายได้จากยูทูบทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับมูลค่ารวมของโฆษณาที่เข้ามา

“(รายได้จาก) ยูทูบเองเนี่ย ในแต่ละเดือนก็ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับโฆษณาที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน แต่ผมบอกได้ว่าขอบเขตคร่าวๆ เนี่ย เป็นไปได้ว่าอัตราเฉลี่ยอาจจะอยู่ประมาณสักวิวละประมาณสตางค์นึง เพราะฉะนั้น วิวละประมาณสตางค์ก็คือส่วนแบ่งที่ได้มา แล้วเราก็มาแชร์กันภายใต้จำนวนเงินก้อนนั้น

“แต่ไม่ใช่เป็นการกำหนดจำนวนเงินกัน เพียงแต่จะได้เข้าใจว่าถ้ามียอดวิวสัก 10 ล้าน ฉันจะได้เงินสักประมาณ 1 แสนบาท ให้เห็นภาพ” พันธุ์ศักดิ์ อธิบาย

ขณะที่ในต่างประเทศก็เกิดข้อถกเถียงประเด็นนี้เช่นกัน เมื่อ “มาร์ก มุลลิแกน” นักวิเคราะห์ของศูนย์วิจัย “มีเดีย” พูดถึงยอดการเติบโตของยูทูบและช่องวีโว่ ที่มีอัตราการเข้าชมเพิ่มขึ้นถึง 132 เปอร์เซ็นต์ แต่อัตราส่วนแบ่งรายได้ที่คืนสู่ศิลปินกลับสูงขึ้นเพียง 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

จากข้อสรุปพบว่าส่วนแบ่งรายได้ต่อยอดเข้าชมวิดีโอนั้นถูกปรับลดลงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมยูทูบจ่ายให้เจ้าของคลิป 0.002 เหรียญสหรัฐ ต่อ 1 ยอดเข้าชม ก็เหลือเพียง 0.001 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 1 ยอดเข้าชม

ข้อสรุปดังกล่าวถูกเชื่อมโยงไปยังสภาวะซึมเซาของอุตสาหกรรมดนตรีโลก เนื่องจากยอดขายเพลงลดลงต่อเนื่อง ผิดกับการสร้างรายได้จากการขายโฆษณาในยูทูบ ที่กราฟยังคงพุ่งสูงอยู่

คงต้องจับตาดูกันว่า ทางฝั่งยูทูบจะอธิบายปรากฏการณ์นี้ด้วยมุมมองเช่นใด?