หนุ่มเมืองจันท์ : “เล่น” แต่ “จริง”

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

คอลัมน์ “พอดีคำ” ของ “ต้อง” กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร เคยเล่าเรื่องวิธีคิดแบบ “ข้ามสายพันธุ์”

คือ นำความเชี่ยวชาญของธุรกิจหนึ่งไปใช้กับอีกธุรกิจหนึ่ง

ตัวอย่างของเขาเป็นเรื่องผู้บริหารโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในอังกฤษต้องการปรับปรุงระบบงานในห้อง ICU ที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย

วันหนึ่ง ผู้บริหารคนนี้ไปชมการแข่งขันฟอร์มูล่าวัน และเห็นระบบการทำงานของทีมช่างที่ใช้เวลาเพียง 5 วินาทีในการจัดการรถแข่ง

โดยไม่มีการพูดกันสักคำเดียว

คุณหมอจึงเชิญทีมเฟอร์รารี่มาที่โรงพยาบาล

ไม่ต้องทำอะไร ขอแค่มานั่งดูระบบการทำงานของหมอและทีมพยาบาลในห้อง ICU

ดูเพียงแค่ครั้งเดียว ทีมเฟอร์รารี่ก็แนะนำระบบการทำงานใหม่

ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มคนหน้างาน การกระจายงาน การเช็กลิสต์ ฯลฯ

เอาแนวคิดจากระบบหนึ่งไปใช้อีกระบบหนึ่ง

ประสิทธิภาพงานสูงขึ้นทันที

AFP PHOTO/Pornchai KITTIWONGSAKUL / AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

เหตุผลที่โรงพยาบาลต้องการระบบที่มีประสิทธิภาพสูงมากโดยเฉพาะในห้อง ICU

เพราะทุกวินาทีมีค่ามาก

มันหมายถึงลมหายใจและชีวิตของคนคนหนึ่ง

ผมนึกถึงเรื่องนี้เมื่ออ่านเรื่องของคุณหมอร็อบ แฮ็กเค็ต วิสัญญีจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

ทุกครั้งที่อยู่ในห้องผ่าตัด คุณหมอและทีมงานทุกคนจะใส่หน้ากากปิดปากและผ้าคลุมผม

ปิดหน้าปิดตาจนจำกันแทบไม่ได้

เขาบอกว่าคุณหมอผ่าตัดบางคนไม่ได้ทำงานประจำที่โรงพยาบาลแห่งนี้

บางคนทำงานให้โรงพยาบาล 4-5 แห่ง

เจอทีมงานกว่าสิบคนที่ไม่ซ้ำหน้ากัน

บางคนก็เป็นคนใหม่ที่เพิ่งมาทำงาน

หมอร็อบเชื่อว่าหมอในห้องผ่าตัดจำคนในห้องได้ไม่เกิน 25%

อย่าลืมว่าในห้องผ่าตัด ทุกวินาทีมีความหมาย

การเสียเวลา 5 วินาทีเพื่อคิดว่าคนนั้นชื่ออะไร หรือทำหน้าที่อะไรถือเป็นการสูญเปล่าที่น่าเศร้าอย่างยิ่งในวินาทีแห่งความเป็นความตาย

หมอร็อบเล่าว่า ครั้งหนึ่งที่ทำ CRP ช่วยชีวิตผู้ป่วยอาการหัวใจวาย

เขาชี้ให้คนที่ยืนอยู่หลังสุดช่วยหยิบถุงมือโดยไม่เรียกชื่อ

เพราะจำชื่อไม่ได้

แต่มีคนอื่นที่ยืนบังอยู่ข้างหน้าคิดว่าหมอร็อบเรียกเขา

ความสับสนจึงเกิดขึ้น

วันนั้นเอง หมอร็อบจึงเกิดไอเดียใหม่

ทุกครั้งที่เข้าห้องผ่าตัด เขาเขียนชื่อเล่น และตำแหน่งงานบนหมวกคลุมผม

“ร็อบ วิสัญญีแพทย์”

เป็นวิธีการแก้ปัญหาแบบง่ายๆ

แต่กลายเป็นไอเดียระดับโลก

หมอร็อบรณรงค์ให้คนในห้องผ่าตัดทุกคนเขียนชื่อและตำแหน่งงานบนหมวกคลุมผมแบบเขา

แค่เงยหน้าขึ้นมองก็รู้ว่าใครชื่ออะไร และทำหน้าที่อะไร

เรียกชื่อและสั่งงานได้เลย

ทำให้ระบบงานคล่องตัวขึ้น

เชื่อไหมครับว่าเพียงแค่ 6 เดือน ไอเดียของเขากลายเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

โรงพยาบาลต่างๆ นำไปใช้กันอย่างกว้างขวาง

ทั้งในออสเตรเลีย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา

จนมีแฮชแท็กชื่อว่า #TheatreCapChallenge

หมอจากทั่วทุกมุมโลกโพสต์รูปที่เขียนชื่อและหน้าที่บนหมวกคลุมผมและติดแฮชแท็กนี้

เรื่องนี้ให้บทเรียนอยู่ 2 เรื่อง

เรื่องแรก ความง่ายคือความงาม

การแก้ปัญหาใหญ่ไม่จำเป็นต้องใช้วิธียากๆ เสมอไป

บางทีเราสามารถแก้ปัญหาแบบง่ายๆ ไม่ต้องคิดซับซ้อนก็ได้

เรื่องที่สองคือ ความสำคัญของ “การจำชื่อ”

กรณีนี้ การเรียกชื่อทำให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น

เพราะไม่เสียเวลาคิด

แต่อีกมุมหนึ่ง การจำชื่อคู่สนทนาได้จะทำให้เราคุยกันได้เต็มที่

จะขอความช่วยเหลืออะไรก็ไม่ขัดเขิน

เช่นเดียวกับถ้าใครจำชื่อเราไม่ได้ ใช้ภาษากลางๆ ในการสนทนา

เราก็รู้สึกไม่สู้ดีนัก

จะแบบว่า…เอ๊ะ ทำไมจำชื่อเราไม่ได้

หลักสูตร ABC ก็เคยนำวิธีการทำนองเดียวกันนี้ไปใช้

คนเรียน 130 คน ช่วงแรกๆ ไม่มีใครจำชื่อกันได้

เราจะให้นักเรียนทุกคนติดสติ๊กเกอร์ชื่อตัวใหญ่ทุกครั้งที่เรียน

เพื่อทำให้การสนทนากันไม่ขัดเขิน

เจอหน้าก็เรียกชื่อเล่นกันได้ทุกคน

เป็นการเร่งทำให้คนสนิทกันเร็วขึ้น

แค่เรียก “ชื่อเล่น”

“เป๊ป กวาร์ดิโอล่า” กุนซือสมองเพชรของ “แมนเชสเตอร์ ซิตี้” ก็ใช้วิธีนี้เช่นกัน

Manchester City’s Spanish manager Pep Guardiola gestures on the touchline during the English Premier League football match between Manchester City and Tottenham Hotspur at the Etihad Stadium in Manchester, north west England, on January 21, 2017.
The game finished 2-2. / AFP PHOTO / Paul ELLIS / RESTRICTED TO EDITORIAL USE. No use with unauthorized audio, video, data, fixture lists, club/league logos or ‘live’ services. Online in-match use limited to 75 images, no video emulation. No use in betting, games or single club/league/player publications. /

สไตล์การทำทีมของ “เป๊ป” จะต้องอาศัยความเข้าอกเข้าใจกันเป็นอย่างมาก

ตอนที่ทำทีมบาร์เซโลน่า ทีมของเขายุคนั้นได้รับการขนานนามว่า “ทีมมนุษย์ต่างดาว”

คือ เล่นกันเหมือนไม่ใช่คน

ต่อบอลกันแบบรู้ใจ

ส่งบอลเหมือนมีตา 360 องศา

รู้ว่าใครจะวิ่งไปทางไหน

ตอนมาทำทีมบาเยิร์น มิวนิกก็เช่นกัน แม้จะไม่ถึง “ต่างดาว” แบบบาร์ซ่า

แต่ก็เห็นลีลาที่คล้ายคลึงกัน

ตอนนี้ทีมเรือใบสีฟ้าก็เริ่มคล้ายๆ บาร์ซ่าเข้าไปทุกที

นักเตะเล่นบอลแบบรู้ใจกันมาก

ถามว่า “เป๊ป” ทำได้อย่างไร

คำตอบก็คือ เขาต้องทำให้นักเตะทุกคนเชื่อใจเขา

ทำให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

กลยุทธ์หนึ่งของ “เป๊ป” คือ เรื่อง “ชื่อเล่น” ครับ

ทุกครั้งที่เขารับงานไปคุมทีมไหน “เป๊ป” จะศึกษานักเตะทุกคนเป็นอย่างดี

ที่สำคัญที่สุดคือ จำ “ชื่อเล่น” นักเตะทุกคนให้ได้

วันแรกที่เจอกัน “เป๊ป” จะเอ่ยทักทายนักเตะทุกคนด้วยการเรียก “ชื่อเล่น”

คิดดูสิครับ เจอผู้จัดการทีมวันแรก

เขาเรียกชื่อเล่นเราได้ด้วย

แค่นี้ก็ปลื้มแล้ว

ความประทับใจครั้งแรกเป็นเรื่องสำคัญครับ

เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

“ชื่อเล่น” จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

แต่เป็น “เรื่องจริง” ที่สำคัญมาก