ฉัตรสุมาลย์ : เส้นทางสายไหม พิพิธภัณฑ์ซีเซี่ยที่เมืองอู๋เว่ย

เราเริ่มการเดินทางมาจากเมืองซีอัน เมืองหลวงเก่าหลายยุคหลายสมัย

เราเดินทางโดยรถทัวร์มาตลอด จนเริ่มเกิดความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นรถของเราไปตั้งแต่เมื่อไรไม่ทันรู้ตัว ข้าวของที่เราไม่ต้องใช้ที่โรงแรมก็ทิ้งไว้ตรงที่นั่งของเรานั่นแหละ มิหนำซ้ำมีชั้นข้างบนเหนือศีรษะขึ้นไป ก็ยังเก็บของได้อีก

และแม้ไม่ได้มีพันธะสัญญาใดๆ ต่อกัน ทุกคนก็จะไปนั่งที่เก้าอี้เดิมที่นั่งตั้งแต่วันแรก

ไกด์นับจำนวนลูกทัวร์ทุกครั้งที่ออกเดินทาง พอหลายวันเข้า จะถามว่า “ข้างหน้า” ข้างหน้าก็จะตอบพร้อมกันว่า “พร้อม” ตรงกลาง ก็ตอบว่า “พร้อม” ด้านหลังก็เช่นกัน

ในทีมของเราก็มีทั้งอาจารย์ วิศวกร สถาปนิก สว. ที่เกษียณแล้ว อดีตนางฟ้าทั้งจากสายการบินไทยและสายการบินญี่ปุ่น ฯลฯ

ไกด์ออกปากชมเลยค่ะ ว่าเป็นทัวร์คนไทยที่ตรงเวลามากๆ

 

เส้นทางการเดินทางของเราขึ้นตะวันตกเฉียงเหนือมาเรื่อยๆ จนถึงเมืองอู๋เว่ย ในอดีตเรียกเมืองนี้ว่า เมืองเหลียงโจว เป็นเมืองประวัติศาสตร์สำคัญบนเส้นทางสายไหม มองออกไปอาจจะเห็นจามรีนะคะ จามรีรูปร่างเหมือนวัว แต่ขนยาว ส่วนใหญ่สีดำ แต่ที่เมืองนี้ขึ้นชื่อว่าจามรีสีขาว เป็นที่ขึ้นชื่อมาก

เล่านอกเรื่อง ท่านผู้อ่านทราบไหมว่า ตอนเด็ก ผู้เขียนเข้าใจมาตลอดว่า จามรีเป็นนก (ว้ายตาย) กลอนบทที่ว่า “จามรีขนข้องอยู่ หยุดปลด” จำได้ไหมคะ นั่นแหละนึกว่านก เพิ่งมารู้ว่าจามรีเป็นวัว

เออน่า ใครๆ มันก็เชยกันได้นะ

เส้นทางที่เราเดินทางอยู่นี้ เป็นเส้นทางที่สมัยอดีตใช้เป็นเส้นทางเดินทางไปสู่ทิเบตตอนใต้ค่ะ เมื่อทำการสำรวจใน ค.ศ.2013 พบว่ามีประชากร 1.8 ล้าน แต่มาจาก 38 ชาติพันธุ์ หลักๆ คือ ฮั่น ฮุย มองโกล ตู้ และทิเบต

ในเมืองนี้มีบรรพบุรุษย้อนไปได้นานถึง 4,000 ปี

นอกจากจามรีแล้วก็มีชื่อเรื่องไวน์หลากชนิด ก็คิดดูว่าเขามีถึง 38 ชาติพันธุ์ วัฒนธรรมและอาหารการกินก็ต่างหันไปตามวัฒนธรรมเดิมของเขา โรงแรมขนาด 4 ดาวมี 1 แห่ง 3 ดาวมี 9 แห่ง และ 2 ดาว มี 6 แห่ง

คณะทัวร์เราค่อนข้างสูงอายุ เราเลือกโรงแรมที่ดีที่สุดที่เขาจะให้บริการได้ในเมืองนั้นๆ

ไม่ผิดหวังค่ะ ที่นอนดี มีน้ำอุ่น มีอาหารเช้าที่ดี ก็เพียงพอแล้ว

อุณหภูมิในห้องมักจะอุ่นเกินไป เราต้องเปิดหน้าต่างเล็กน้อยให้ลมเย็นจากข้างนอกเข้ามา เป็นการระบายอากาศไปในตัว

 

จุดที่เราแวะชมคือสุสานเหลอไถ เดิมเป็นศาลเจ้าของเทพแห่งสายฟ้า เมื่อขุดพบห้องลับใต้ศาลเจ้า เมื่อ ค.ศ.1983 นี้เอง รัฐบาลมณฑลกานซู ประกาศให้เป็น 1 ใน 5 โบราณสถานที่รัฐให้ความคุ้มครอง มีของเก่ามากได้พบทองคำ

คนที่ค้นพบก็เก็บไว้ แล้วติดต่อคนมาซื้อ พอจะขายจริง พบว่า ที่แท้เป็นสัมฤทธิ์ จึงเอาไปให้รัฐบาล จึงพบเป็นสุสานของแม่ทัพคนสำคัญของราชวงศ์ฮั่นตะวันตก เพิ่งมีการขุดค้นพบโดยบังเอิญ เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.1969 ในช่วงชีวิตของเรานี่เอง

มีทหารและม้าศึกจำนวนมาก ที่สำคัญ พบรูปม้าที่มีทรวดทรงงามกำลังเหินอยู่ในอากาศและมีเท้าข้างหนึ่งเหยียบอกนกนางแอ่นไว้

รูปม้าเหินนี้จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยวของจีน

อู๋เว่ยนี้เคยเป็นเมืองหลวงของซีเซี่ย ให้ความสำคัญกับการมีม้าศึกมาก ถึงกับมีคำพูดว่า ต้องนำผู้หญิงสี่คนมาแลกม้าศึกจากตะวันตกได้ 1 ตัว

แม่ทัพใหญของซีเซี่ย ไม่ใช่พวกฮั่น ชื่อ จิงจี่ตี้ เป็นคนแซ่หลี่ เลี้ยงม้าศึกเพื่อส่งไปขายในเมืองหลวงฉางอัน

ซีเซี่ยอยู่ในมองโกลใน มีถึง 5 มณฑล แต่ถูกเจงกิสข่านฆ่าตายหมดในคืนเดียวด้วยลูกธนูอาบยาพิษ

อู๋เว่ยมีพระพุทธรูปใหญ่ที่เขาเทียนตี้ เมืองฉางยี่ อ.เลี่ยงฮัว ห่างจากเมืองอู๋เว่ยออกไป 50 ก.ม. สร้างในสมัยจิ๋นตะวันออกเมื่อ 1,600 ปีมาแล้ว

นอกจากนั้น ยังมีถ้ำอีก 18 ถ้ำ บางถ้ำสูงถึง 30 เมตร พระพุทธรูปสูง 28 เมตร มีพระอานนท์ และพระมหากัสสปะอยู่สองข้าง

 

เท่าที่ดูถ้ำต่างๆ มา ในประเทศจีน เช่นเดียวกับมหายานทั่วไป พระอัครสาวกไม่ใช่พระโมคคัลานะและพระสารีบุตร แต่จะเป็นพระอานนท์และพระมหากัสสปะทั้งนี้ เพราะพุทธศาสนาในจีนถือว่า ผู้สืบทอดพระศาสนาต้องทำงานต่อจากพระพุทธเจ้า แต่พระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรทั้งสององค์มรณภาพก่อนพระพุทธเจ้า

ต่างจากพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรที่ศิลปินจะทำหน้าตาเหมือนกัน เพราะเป็นเพื่อนกัน วัยก็ไล่เลี่ยกัน

พอเป็นพระอานนท์ ศิลปินจะทำเป็นพระภิกษุหน้าตาอ่อนวัยกว่า

ในขณะที่พระมหากัสสปะจะเป็นพระภิกษุที่มีอายุมากกว่าอย่างเห็นได้ชัดเจน

ทุกถ้ำที่เราได้มีโอกาสได้ไปสักการะในทริปนี้ จะเห็นพระอานนท์และพระมหากัสสปะอยู่เคียงข้างพระศากยมุนีพุทธเจ้าเสมอ

เราได้แวะชมพิพิธภัณฑ์ซีเซี่ย เป็นสถานที่แสดงโบราณวัตถุสมัยซีเซี่ย (ค.ศ.1038-1227)

ราชวงศ์นี้เคยปกครองดินแดนภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน รวมมณฑลกานซู ภายใต้พื้นดินที่กว้างขวางของประเทศจีนยังมีสมบัติอันล้ำค่าที่ยังจมอยู่ในดินอีกมายมายเพียงใด แต่ละแห่งที่เพิ่งขุดพบ ส่วนใหญ่โดยบังเอิญ ล้วนแล้วแต่ยืนยันในความเป็นชาติที่มีอารยธรรมที่รุ่งเรืองยาวนาน สมกับที่เป็นแหล่งอารยธรรมของเอเชียตะวันออกคู่มากันกับอารยธรรมอินเดีย

เราที่เป็นประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ไม่มีประเทศไหนเลยที่จะไม่ได้รับอิทธิพลมาจากทั้งจีนและอินเดีย

เราจึงเรียกได้ว่า จีนและอินเดียเป็นอารยธรรมพ่อและแม่

 

ไม่ได้เล่าเรื่องอาหารนะคะ ทัวร์เรารับประทานอาหารตามภัตตาคารใหญ่ที่จองเข้าไปล่วงหน้า สะดวกสบายทุกประการ มีทั้งโต๊ะที่กินอาหารมังสวิรัติ และอาหารธรรมดา ทัวร์จัดให้เรียบร้อย และค่อนข้างจะมากเกิน มีอาหารทิ้งทุกมื้อ

อีกจุดหนึ่งที่เราได้แวะวันนี้คือ วัดของจิวหมอโหล เราก็นึกไม่ออกว่าล่ามพูดถึงใคร จนไปเห็นรูปปั้นของท่านจึงถึงบางอ้อ ว่าท่านกุมารชีพ (ค.ศ.344-414)

จิวหมอโหลนี้ มีความพิเศษมาแต่เด็กทีเดียว เป็นลูกของพระราชครูเมืองชิวซือ

มารดาชื่อเจ้าหญิงชีผอ หรือ ชีวะ เป็นพระขนิษฐาของเจ้าเมือง สามารถท่องคัมภีร์ได้ตั้งแต่ตอนที่อายุ 2 ขวบ

พอ 7 ขวบก็ออกบวชพร้อมพระมารดา

เมื่ออายุ 9 ขวบพระมารดาพาไปแคว้นกัศมีระ (แคชเมียร์) ได้รับการอบรมสั่งสอนจากพระอาจารย์พันธุทัตตะเถระ พระอาจารย์คนสำคัญของกัศมีระ ได้เล่าเรียนพระคัมภีร์มาธยมะ ภาษาสันสกฤต การแพทย์ ฯลฯ

สามเณรกุมารชีพสามารถแสดงธรรมได้อย่างชัดเจนตั้งแต่เด็ก

ต่อมา พระมารดา ภิกษุณีชีวะเดินทางกลับแควันชิวซือ ระหว่างทางพบกับพระอรหันต์ที่ได้ให้คำพยากรณ์ว่า สามเณรจะได้เป็นผู้เผยแผ่พระธรรมแก่ปวงชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

 

เมื่อบวชพระอายุ 20 ท่านปรารถนาจะเดินทางไปศึกษาความรู้ทางธรรมในประเทศจีน แต่พระมารดาเชื่อว่า แคว้นชิวซือกำลังอ่อนแอและจะล่มสลาย จึงประสงค์จะเดินทางกลับไปศึกษาที่กัศมีระ

เมื่อไม่อาจเลิกล้มความตั้งใจของพระโอรสได้ จึงแยกทางกัน โดยเตือนพระโอรสว่า “ขอให้ท่านอดทนที่จะต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานที่กำลังรออยู่เบื้องหน้า” นั่นเป็นการลาจากกันเป็นครั้งสุดท้าย

พระกุมารชีพต้องประสบกับเคราะห์กรรม ถูกกักตัว เพราะต่างเป็นที่ต้องการของเจ้าเมืองทั้งสองฝ่าย จนในที่สุด เหยาซิ่ง จักรพรรดิองค์ที่สองของราชวงศ์โฮ่วฉิน ส่งทูตมาเจรจาให้แม่ทัพหลีกวงยอมสวามิภักดิ์ แต่ถูกปฏิเสธ จึงยกทัพมาปราบ

พร้อมกันนั้น ได้อาราธนาพระกุมารชีพเข้าสู่นครฉางอัน เมืองหลวง ค.ศ.401 ขณะนั้นท่านมีอายุ 57 แล้ว

จักรพรรดิถวายความเคารพโดยแต่งตั้งให้เป็นพระราชครู เพื่อให้สืบสานงานแปลพระธรรมคัมภีร์ต่อไป ท่านเป็นหัวหน้าคณะสงฆ์ และราชบัณฑิตกว่า 800 นาย ท่านได้แปลพระสูตรหลักไว้จำนวนมาก โดยที่วิธีการแปลของท่านไม่แปลคำต่อคำ แต่แปลเอาความ คำว่า อวโลกิเตศวร ท่านแปลว่า กวนซื่ออิน ที่เราได้ยินมาจนทุกวันนี้

ในตอนที่ท่านจะมรณภาพ ท่านอธิษฐานว่า หากพระธรรมคัมภีร์ที่ท่านแปลไม่ผิดความหมายไปจากคำสอนของพระพุทธองค์ ขอให้เมื่อเผาศพท่านแล้ว ลิ้นไม่ไหม้

พระกุมารชีพมรณภาพอายุ 70 ใน ค.ศ.413 ภายหลังการฌาปนกิจศพ ลิ้นของท่านไม่ไหม้ตามคำอธิษฐาน

 

ชื่อของท่านได้รับการจารึกว่าเป็นหนึ่งในสี่นักแปลพระธรรมคัมภีร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชาติ ท่านกุมารชีพเป็นนักแปลพระธรรมคัมภีร์พุทธศาสนามหายานที่สำคัญที่สุดรูปหนึ่ง ได้จำพรรษาอยู่ที่เมืออู๋เว่ยนานถึง 17 ปี

ท่านได้ศึกษาภาษาจีนอย่างแตกฉาน และแปลพระคัมภีร์ไว้มากมาย

คัมภีร์ของมหายานต่างๆ ที่ตกทอดมาสู่นักวิชาการสมัยปัจจุบัน ลองไปศึกษาดูประวัติความเป็นมาของการแปลพระคัมภีร์ณ์นั้น จะพบว่า คนที่แปลไว้เป็นฉบับแรกมักจะเป็นท่านกุมารชีพเสมอ

สมัยที่เรียนหนังสือ ศรัทธาท่านมาก เวลาจะหยิบคัมภีร์เล่มใดมาศึกษาก็น้อมใจไหว้ท่านก่อน เพราะหากไม่มีท่านได้ช่วยกรุยทางครั้งแรกไว้ เราคงหาพระธรรมที่มาถึงเราได้ยาก

ที่วัดนี้ มีเจดีย์พระกุมารชีพ รูปทรง 8 เหลี่ยม 12 ชั้น สูง 32 เมตร สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์โฮ่วเหลียง ค.ศ.386-402 เดิมเป็นไม้ ผ่านการบูรณะในหลายยุคหลายสมัย ต่อมาในราชวงศ์หมิง ค.ศ.1926 ได้มีการบูรณะสร้างใหม่ด้วยดินและปูน ได้ค้นพบพระคัมภีร์ที่กุมารชีพแปลเก็บไว้มิดชิดภายในเจดีย์นี้ พระบรมธาตุของพระกุมารชีพเองอยู่ในชั้นที่ 5 ของพระเจดีย์

ในการบูรณะครั้งล่าสุด เมื่อ ค.ศ.2007 นี้เอง เป็นนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่พยายามบูรณะซ่อมแซมวัดที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เพื่อพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวพุทธจากต่างชาติ ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จจริงๆ

เนื่องจากกุมารชีพไม่ใช่ชาวจีน ศิลปินจึงปั้นหน้าตาคล้ายมาทางแขกมากกว่าจีน ตรงกันข้ามกับรูปของพระถังซำจั๋ง ที่จะเป็นรูปพระจีนเต็มที่

ได้ถ่ายรูปท่าน ได้กราบพระรูปของท่าน ขอบคุณที่ท่านกรุยทางให้กับนักแปลในสมัยหลัง รวมทั้งผู้เขียนด้วย