เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี : บันเทิงไทยใต้ร่มพระบารมี (9) – รางวัลแด่งานวัฒนธรรมที่ดี คนบันเทิงที่ดี

“พรจากฟ้า” ภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติเรื่องแรกหลังการสวรรคตที่ผลิตโดย GTH และให้ทุนสร้างโดย สิงห์ คอร์เปอเรชัน เป็นหนึ่งในงานวัฒนธรรมที่ไม่ประสบความสำเร็จในเชิงรายได้ สิ้นโปรแกรมฉายในสัปดาห์ที่ห้า ทำรายได้รวมไปเพียง 42 ล้านบาทเท่านั้น

แต่ในเชิงรางวัล ภาพยนตร์เรื่องนี้ไปไกลกว่าที่คิด เพราะได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงในหลายสถาบัน หลายสาขา เช่น เวที “สุพรรณหงส์ครั้งที่ 26” ซึ่งแม้ไม่สามารถคว้ารางวัลสูงสุดอย่าง รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีนั้นไปได้

แต่ก็สามารถคว้ารางวัลบันทึกเสียงและผสมเสียงยอดเยี่ยม รางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยมไปครองได้

ยิ่งไปกว่านั้น ยังคว้ารางวัลภาพยนตร์แห่งปี จากเวที “ไนน์เอ็นเตอร์เทน อวอร์ดส์ ครั้งที่ 10” และภาพยนตร์ไทยยอดนิยม จาก เวที “คมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 14” ไปครองได้สำเร็จ

เฉพาะสำหรับเวทีไนน์เอ็นเตอร์เทน อวอร์ดส์ พรจากฟ้าคว้าชัยชนะเหนือภาพยนตร์คุณภาพสูงอีกหลายเรื่องในปีนั้น เช่น แฟนเดย์,เทริด,ปั๊มน้ำมัน,ดาวคะนอง

ผลการตัดสินดำเนินไปโดยการลงคะแนนจากผู้ทรงคุณวุฒิ

 

ควรต้องหมุดไว้ว่า สำหรับ ดาวคะนอง ที่พรจากฟ้าเฉือนเอาชนะไปได้ ถือเป็นภาพยนตร์ในระดับเป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าประกวดชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม คัดเลือกตัวแทนภาพยนตร์ในแต่ละปีโดย สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ

โดยเอาชนะหนังคุณภาพสูงในประเทศไปได้สามเรื่องคือ ฉลาดเกมส์โกง ‘มหา’ลัยวัวชน’ และ ป๊อปอายมายเฟรนด์ แต่หนังเรื่องนี้ถูกสั่งห้ามฉายในไทยโดยอ้างเหตุสุ่มเสี่ยง

แม้พรจากฟ้า จะไม่ประสบความสำเร็จในเชิงรายได้ และไม่ได้มีคุณภาพในระดับสากลเทียบเท่ากับภาพยนตร์บางเรื่องซึ่งฉายในปีนั้น

ทั้งยังได้รับคำวิจารณ์จากผู้กำกับชั้นครูอย่าง “ยุทธนา มุกดาสนิท” ที่พิมพ์วิจารณ์บนเฟซบุ๊คจนเป็นข่าวดังช่วงนั้นว่า “ถ้าแยกเพลงพระราชนิพนธ์ออกไป หนังมีตรงไหนหรือที่เรียกว่าดีนักหนา ทั้งเรื่อง บท โปรดั๊กชั่นและวิธีการนำเสนอ…แต่จะไม่คอมเม้นท์หรอกครับเพราะดูฟรี!!”

จะอย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดภาพยนตร์เรื่องนี้มีรางวัลเป็นตราประทับ เช่นเดียวกับงานเฉลิมพระเกียรติ งานผลิตซ้ำความเป็นไทยอีกเป็นจำนวนมากในประเทศนี้ที่ได้รับรางวัลเป็นการยกย่องอยู่เสมอ

 

ประเมินกันบนฐานคิดแบบทางเลือกที่สมเหตุสมผล (rational choice) นอกเหนือไปจากรายได้ทั้งจากเอกชนหนุนบ้าง รัฐหนุนบ้าง รางวัลจาก “สถาบันของการยกย่องความเป็นไทย”​ จึงเป็นเหมือนแรงจูงใจเอื้ออำนวยให้ อุตสาหกรรมสื่อบันเทิงไทยผลิตสื่อเฉลิมพระเกียรติกันมากขึ้น ไม่เพียงในเชิงปริมาณ แต่ยังเน้นสร้างงานระดับคุณภาพ ระดับนวัตกรรม

รางวัลกลายเป็นตราประทับ ใช้รับรองมาตรฐานของการผลิตงาน สร้างสรรค์งานสื่อบันเทิงที่มีคุณภาพสูง ใบประกาศ หรือถ้วยรางวัล เป็นหนทางช่วยให้มีงานจ้าง ดึงสายป่านให้นานออกไป

ตัวอย่างข้างต้นที่ยกมาเป็นการมอบรางวัลให้กับงานทางวัฒนธรรมที่เหมาะสม ควรค่าแก่การยกย่องว่าเป็นงานที่ดี แต่รางวัลจากราชสำนักอีกหลายชิ้น ยังมีไว้เพื่อยกย่อง คนบันเทิงที่(ดี) และในอีกทางหนึ่งยังได้กลายเป็นเป้าหมายสูงสุดของวิชาชีพไปด้วย เช่น

“ไนน์เอ็นเตอร์เทนอวอร์ด”​ จัดต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 10 แล้ว โดย บริษัท อสมท. จำกัด(มหาชน) ใช้คำขวัญในการจัดงาน “หน้าม่านคุณภาพ หลังม่านคุณธรรม”​ ในทุกปีจะมีการมอบ “รางวัลพระราชทานบันเทิงเทิดธรรม” ผู้ได้รับรางวัลจะได้รับถ้วยพระราชทานจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

เกณฑ์ของผู้ได้รับรางวัลก็คือ “ศิลปินนักแสดงที่มีความประพฤติดี ยึดมั่นในคุณธรรม และสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพ เป็นเกียรติประวัติแก่วงการบันเทิงสืบต่อไป”

คนบันเทิงที่ได้รับรางวัลก็เช่น …​สรพงษ์ ชาตรี,เศรษฐา ศิระฉายา,อดุลย์ ดุลยรัตน์,พิศมัย วิไลศักดิ์,สุประวัติ ปัมสูต,แอน ทองประสม,ปาน ธนพร,จินตรา สุขพัฒน์,มยุริญ ผ่องผุดพันธ์,เขมนิจ จามิกรณ์  ชื่อชั้นเหล่านี้มีผลงานการผลิตงานทางวัฒนธรรมเพื่อความเป็นไทยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และมีภาพที่ปรากฎว่าเปี่ยมคุณธรรม

 

อีกหนึ่งสถาบันมอบรางวัลสำหรับผลงานทางโทรทัศน์ที่อยู่มายาวนานที่สุด ตั้งแต่ปี 2529 จนถึงปัจจุบันคือ เวที “รางวัลโทรทัศน์ทองคำ”​ โดยมีรางวัลให้กับสื่อเฉลิมพระเกียรติอีกไม่น้อย เช่น รางวัลรายการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมดีเด่นประเภทรายการสั้น เช่น ถ้อยธรรมพระราชดำรัส (2552) กระจกหกด้าน(2557) ,รางวัลรายการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมดีเด่น เช่น เสด็จประพาสต้น (2552) พินิจนคร(2553)

รางวัลรายการสารคดีเทิดพระเกียรติดีเด่น เช่น ฟ้าห่มดิน (2453) ประเทศไทยโชคดีที่มีในหลวง (2554) ฟ้าห่มดิน(2557) สายธารพระการุณย์ โดย มูลนิธิสมสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์(2558)  และ รายการแผ่นดินวัยเยาว์ (2559) งานชิ้นนี้ได้รับทุนสนับสนุนโดย เครือซีพี กลุ่มทรู ถ่ายทอดเรื่องราวเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ของในหลวง ร.9

ถือเป็นงานสารคดีที่สมบูรณ์ที่สุดชิ้นหนึ่งในการเล่าเรื่องในหลวง ร.9

 

เวทีที่สำคัญคือการยกย่องบุคลากรในแวดวงบันเทิงในฐานะ “ศิลปินแห่งชาติ”​ ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2528 จนถึงปัจจุบัน มีศิลปินที่ได้รับการยกย่องแล้วร่วม 270 คน

แบ่งออกเป็นสี่สาขาคือ ศิลปะทัศนศิลป์,ศิลปะสถาปัตยกรรม,วรรณศิลป์ และ ศิลปะการแสดง สาขานี้เกี่ยวข้องกับการแสดงโดยตรง ทั้งการละคร นักแสดง ผู้กำกับ ผู้อำนวยการสร้าง ,การดนตรี (ดนตรีไทย ดนตรีสากล) ทั้งที่เป็นนักดนตรี นักร้อง นักประพันธ์เพลง ผู้อำนวยเพลง ไปจนถึงการแสดงพื้นบ้าน

ศิลปินแห่งชาติ จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณสูงสุด ให้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเข็ม และโล่เชิดชูเกียรติจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันศิลปินแห่งชาติ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกๆ ปี

ทั้งยังได้รับเงินตอบแทนรายเดือนตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่เดือนละ 20,000 บาท

เช่นเดียวกับ รางวัลพระราชทานบันเทิงเทิดธรรม เมื่อไล่เรียงประวัติผู้ได้รับรางวัลย้อนหลัง ไม่เพียงแต่เด่นชัดในความสามารถแต่ละสาขา แต่ยังมีงานทางวัฒนธรรมเพื่อการเฉลิมพระเกียรติเป็นที่ประจักษ์ด้วย

 

ในบางเวที ไม่ได้มีรางวัลมอบให้กับงานเฉลิมพระเกียรติคุณภาพสูง หรือ อาจไม่ได้มีรางวัลจากราชสำนัก มอบให้กับคนบันเทิง แต่ในงานประกาศผลรางวัล ซึ่งถ่ายทอดสดไปยังทั่วประเทศของแทบทุกเวที ล้วนมีช่วงการแสดงเฉลิมพระเกียรติเป็นหนึ่งในไฮไลต์ของงาน

เช่นเวทีประกาศผลรางวัล “รางวัลนาฏราช” โดยสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ โดยในช่วงเวลาราว 2 ชั่วโมงของการถ่ายทอดสดในแต่ละปี ผู้จัดงานได้ใช้เวลาราว 8-10 นาที  เล่าถึงความสำคัญของในหลวง ร.9 และสถาบันกษัตริย์ของไทยผ่านการแสดงเฉลิมพระเกียรติ

ในปีแรก “ถกลเกียรติ วีรวรรณ” (ผู้กำกับและผู้สร้าง สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล) ได้สร้างมาตรฐานของจัดงานไว้สูงมาก ก่อนค่อยๆ ลดลงเมื่อเปลี่ยนมือผู้จัด แต่ยังคงรักษาช่วงการแสดงเฉลิมพระเกียรติไว้อยู่ทุกปี

ในโชว์แต่ละปี มักมีวิธีการเล่าเรื่องถึงสถาบันกษัตริย์อย่างหลากหลาย ซึ่งมักเริ่มต้นด้วยการกล่าวสุนทรพจน์สั้นๆ ของ นักแสดง/ศิลปิน บางคน ก่อนนำเข้าสู่บทเพลง เช่น ในปี 2553 พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง กล่าวนำเข้าสู่บทเพลง ว่า  “อย่าอายถ้าจะลุกขึ้นมาบอกใครว่าเรารักชาติ …และอย่าหวั่นเกรงต่อภยันตรายใดๆ ทั้งสิ้น ที่จะบอกใครว่าเรารักพระมหากษัตริย์” ตามด้วยเพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด”

ในปี 2554 นักแสดงคนหนึ่ง นำเข้าสู่บทเพลงด้วยการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ว่า “กาลเวลาทำให้เราไม่ได้เห็นท่าน (ในหลวง) ทำงานหนักเหมือนอย่างก่อน แต่สิ่งที่ไม่เคยลดน้อยลงไป และกลับจะมีมากขึ้นด้วยซ้ำ คือ ความห่วงใยของท่านที่มีต่อทุกข์สุขของคนในผืนแผ่นดินไทย”, “ดังนั้น ความอุดมสมบูรณ์บนผืนแผ่นดินนี้ จึงไม่ใช่ความโชคดีอย่างแน่นอน แต่หากจะนับสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นความโชคดี คือ พวกเราทุกคนโชคดีที่ได้บุรุษที่ยึดมั่น และรักษาคำพูด มาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน” ก่อนตัดเข้าสู่เพลงพระราชนิพนธ์ “แผ่นดินของเรา”

รางวัลจากสถาบันของการยกย่องความเป็นไทยทั้งหลาย ไม่เพียงเป็นแรงจูงใจชั้นดี ให้ได้เห็น ผู้ผลิตมากหน้าหลายตาวิ่งเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตซ้ำความเป็นไทยนี้ แต่ยังเป็นการรับรอง ให้ความชอบธรรม รังสรรค์นิยามของงานวัฒนธรรมที่(ดี) คนบันเทิงที่(ดี) ที่ควรดำเนินไปในประเทศนี้

และในฐานะที่คนบันเทิงทั้งหลาย ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นแบบอย่าง เป็นผู้มีศักยภาพในการโน้มน้าวคน ก็ยิ่งทำให้การเผยแพร่แนวคิดต่างๆ เป็นไปอย่างมีทิศทาง กว้างขวาง สม่ำเสมอ ถึงผู้รับสารที่หลากหลาย

รางวัล ยังชี้ชวนให้เห็น ความเป็นคนบันเทิงไทยใต้ร่มพระบารมีอย่างแท้จริงไปพร้อมกันอีกด้วย