“เตรียมทหาร” ไม่ใช่ “สถานพินิจเยาวชน” ช่วยกันป้องกันไม่ให้ “โหด” กว่า

ในเมืองไทยกำลังร้อนแรงด้วยข่าวการเสียชีวิตของน้องเมย นตท.ภคพงษ์ ตัญกาญจน์ ที่เสียชีวิตเมื่อราวกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

เกิดกระแสข่าวในโลกโซเชียลในเมืองไทยมากมายหลายประเด็นที่น่าจับตามอง คือ

จากสมุดบันทึกของน้องเมยที่เขียนว่า เช้านี้ถูกต่อยท้องเจ็บมาก พอตอนกลางคืนโดนอีก “เหมือนอยู่ในนรก”

จินตนาการไม่ถูกว่า รุ่นพี่ “รุม” ทำกันรุนแรงแค่ไหน

ส่วนเรื่องใบมรณบัตรที่เขียนว่า “หัวใจวายเฉียบพลัน” นั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาของการออกใบมรณบัตร เพราะคนเราเมื่อตายคือหยุดหายใจนั่นหมายความว่า หัวใจหยุดทำงาน ซึ่งเข้าหลักหัวใจวายเฉียบพลัน

ถือว่ายอมรับได้

ส่วนที่ต้องวินิจฉัยว่าอะไรทำให้หัวใจวายนั้น จะต้องพิสูจน์จากการผ่าเอาอวัยวะภายในออกมาตรวจพิสูจน์อีกที

ดังนั้น ก้อนสมอง หัวใจ ปอด กระเพาะอาหาร ตับ ม้าม จึงถูกนำออกจากศพ มาดองใส่ฟอร์มาลินไว้ในขวดโหล รอการผ่าพิสูจน์ที่จะใช้เวลาประมาณ 15-30 วัน

ซึ่งจะบอกได้แน่นอนว่า คนตายเสียชีวิตจากสาเหตุอะไร

ข้อสำคัญ จะกล้าแถลงความจริงผลการผ่าพิสูจน์กันหรือเปล่า

นอกจากนั้น การตรวจสอบร่างน้องเมยที่พบว่าซี่โครงซี่ที่สี่หัก และมีรอยฟกช้ำตามร่างกาย

ก็บอกนัยอะไรได้บางอย่าง

ความผิดพลาดในขั้นตอนนี้คือ โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ไม่ได้บอกครอบครัวน้องเมยว่าจะต้องมีการผ่าเอาอวัยวะภายในออกมาเพื่อพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิต

ยังดีที่คุณพ่อน้องเมยเกิดเอะใจ ไม่เผาศพน้องเมยทั้งที่วางดอกไม้จันทน์กันแล้ว กลับนำร่างน้องเมยมาให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรมผ่าพิสูจน์ จึงทราบความจริงว่าไม่มีอวัยวะภายในอยู่ในร่างแล้ว

ซึ่งพี่สาวน้องเมยก็ได้ติดต่อนำอวัยวะภายในจากสถาบันพยาธิวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ มาให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรมตรวจสอบอีกครั้ง

ถึงตอนนี้ก็ต้องรอดูกันว่า กองทัพไทย โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ หรือสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรม จะแถลงผลการผ่าพิสูจน์ว่าอย่างไร

มีข่าวอย่างไม่เป็นทางการจากสถาบันพยาธิวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ว่าผลตรวจคือ กระดูกซี่โครงซี่ที่สี่ด้านขวาหัก ตับและม้ามมีอาการเลือดคั่ง ภาษาแพทย์เรียกว่า Trauma แปลง่ายๆ ว่า บาดเจ็บ ช้ำใน

คงไม่ต้องบอกว่าเกิดจากอะไร ทั้งๆ ที่กฎของโรงเรียนทหารทุกแห่งห้ามซ่อมด้วยการแตะต้องตัว

ก่อนหน้านั้น การเอะใจสงสัยของคุณพ่อน้องเมย มีมาตั้งแต่น้องเมยส่งไลน์มาว่า “อย่าไว้ใจผู้พัน”

และในงานศพที่มีเพื่อนเตรียมทหารของน้องเมยมางานมากมาย พอคุณพ่อเดินไปคุยกับนักเรียนเตรียมทหารเพื่อนลูก ผู้พันจะเดินตามประกบตลอดเวลา ป้องกันไม่ให้คุณพ่อหาข้อมูลจากเพื่อนลูก และป้องกันไม่ให้นักเรียนเพื่อนลูกพูดอะไร

ทำไมจึงต้องปกปิด กีดกันจนขนาดนั้น น่าสงสัยว่ามีอะไรซ่อนเร้นอยู่

ยังดีที่กองทัพไทยต้นสังกัดของโรงเรียนเตรียมทหารตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการเสียชีวิตของน้องเมย และสั่งย้ายผู้บังคับการโรงเรียนและผู้พันออกไปเพื่อให้คณะกรรมการทำงานได้สะดวกขึ้น

ตอนนี้ผลออกมาแล้วว่า ตกบันได 8 ขั้น ไม่ได้โดน “ซ่อม” จนเสียชีวิต แค่เคยถูก “ซ่อม” จนสลบ

ผมใกล้ชิดกับครอบครัวทหาร ด้วยพ่อตาเป็นทหารยศพันเอก พี่ภรรยา 2 คน เรียนจบ จปร.9 และ จปร.11 จึงพอเข้าใจระบบทหารได้ดี แถมน้องสาวภรรยายังเป็นทหาร เกษียณที่ยศพลโท ภรรยาก็เคยเป็นทหารยศพันเอกพิเศษ

พี่ จปร.9 สอบเข้าคะแนนดี ได้เป็นหัวหน้าตอน ส่วนพี่คนรอง จปร.11 เล่าว่า สมัยเรียน เวลาขานชื่อไม่อยากเอ่ยนามสกุลเลย เพราะกลายเป็นเป้าว่าเป็นน้องของ จปร.9 จึงโดน “ซ่อม” หนักเป็นพิเศษจากเพื่อนของพี่ชาย

เขาเล่าว่าเคยโดน “ซ่อม” หนักขนาดนอนเพ้อตลอดคืน

นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนนายร้อย จปร. เมื่อ 58 ปีมาแล้ว

พี่ภรรยาทั้งสองคนผ่านสงครามในลาวและเวียดนาม เกษียณที่ยศพลโททั้งคู่

ทุกวันนี้การ “ซ่อม” ยังคงอยู่ และเล่นกันหนัก โหดกว่าเดิม ภายใต้คำว่า “ซ่อม” “แดก” ทั้งแดกเดี่ยวและแดกหมู่ จนถึงคำสวยหรูว่า “ธำรงวินัย”

รมต.กลาโหม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ยืนแถลงเรื่องนี้บนโพเดียมว่า

“ถ้ากลัว (การแดก) ก็ไม่ต้องเข้ามา”

แล้วยังมีเพจของนักเรียนเตรียมทหารออกมาปกป้องการธำรงวินัยและเขียนข้อความว่า นตท. นั้นเหนือชั้นกว่าประชาชนธรรมดา

การที่โรงเรียนเตรียมทหารให้สิทธิ์รุ่นพี่ “แดก” รุ่นน้องได้รุนแรงเช่นนี้ จึงเกิดเรื่องการ “แดก” จนตายมาตลอด 3-4 ปีนี้ จากข้อมูลของเพจ “กวดวิชาเข้าเตรียมทหาร” ทั้งนี้เป็นเพราะวุฒิภาวะของเด็กอายุแค่ 18-19 ปียังอ่อนวัย ไม่รู้ความควรไม่ควร หรือยังไม่ Mature คือเจริญวัยเท่าที่ควร ได้แต่จะคิดเอาคืน “แดก” รุ่นน้องให้หนักกว่าที่ตัวเองเคยโดน “แดก” มาก่อน

จนเลยเถิดถึงตายอย่างที่เกิดขึ้น

ด้านทหารเกณฑ์ก็เหมือนกัน มีข่าวถูก “ซ่อม” ซ้อมจนตายออกมาทุกปี ปีที่แล้วมีคลิปพลทหารถูกรุมเตะแถมกระทืบออกมาให้ดูด้วย คนเป็นพ่อเป็นแม่ได้แต่เสียใจที่ลูกชายเข้ามารับใช้ชาติ กลับถูกกระทำเหมือนไม่ใช่ “คน” จนเสียชีวิต

ที่จริง ทหารเกณฑ์หลังจากฝึกและส่งไปรบที่ปักษ์ใต้แล้ว ถ้ารอดชีวิตกลับมา กองทัพควรมีรางวัลสินน้ำใจให้เป็นพิเศษ

ทั้งหมดมีข้อมูลว่า ตั้งแต่ปี 2550-2560 มีนักเรียนทหารและทหารเกณฑ์ถูกซ่อมจนตาย 13 คน เฉลี่ยปีละ 1.3 คน

ในอเมริกา หลังสงครามเวียดนามไม่มีการเกณฑ์ทหารกันแล้ว แต่กองทัพต่างๆ เช่น หน่วยมารีน (นาวิกโยธิน), ทหารบกและหน่วยอื่นๆ จะส่งหน่วยประชาสัมพันธ์ออกไปพูดกับเด็กไฮสกูลปีสุดท้ายตามโรงเรียนให้สมัครเข้าเป็นทหาร แถมมีหนังโฆษณาทางทีวีชักชวนให้สมัครเป็นทหารอีกด้วย

เพื่อนสาวสแปนิสของลูกสาวเรียนจบแล้วไม่มีเงินเข้าเรียนมหาวิทยาลัย จึงสมัครเป็นมารีน หลังจากฝึกแล้วถูกส่งไปรบในสงครามอิรักรอดชีวิตกลับมา ได้เข้าเรียนวิศวกรรมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของมารีน ตอนนี้จบออกมาเป็นวิศวกรตัวจริงแล้ว

ทุกกองทัพของอเมริกันมีมหาวิทยาลัยในสังกัดให้ทหารอาสาสมัครได้เข้าเรียนฟรีจนจบปริญญา ดูแลกันอย่างดีโดยตลอด

มีวิชาความรู้ไปประกอบอาชีพให้ก้าวหน้ารุ่งเรือง

ผมเคยดูรายการ “เจาะใจ” สัมภาษณ์อดีต “ขาใหญ่” ใน “สถานพินิจเยาวชน” เล่าว่าข้างในนั้นมีการ “ซ่อม” กันตอนกลางคืน โดยสองคนจับรุ่นน้องที่ขัดขืนไม่ยอมลงให้ แล้วรุ่นพี่อีกคนวิ่งโยนเข่าลอยเข้าทรวงอก จะโยนเข่าลอยกันกี่ครั้งขึ้นอยู่กับความหนักเบาของโทษ การลงโทษแบบนี้มีชื่อเรียกเฉพาะ แต่จำไม่ได้แล้วว่าเรียกว่าอะไร

อย่างไรก็ดี การลงโทษด้วยการโยนเข่าลอยก็ไม่เคยมีข่าวว่าทำกันถึงตาย

ดังนั้น การ “แดก” กันในเตรียมทหารจนถึงตาย จึงถือว่า “โหด” กว่าสถานพินิจเยาวชน ซึ่งไม่ควร และหาทางป้องกันไม่ให้เป็นเช่นนั้น

ส่วนการออกข่าวว่ามีการลงโทษรุ่นพี่สองคนที่กระทำการ ด้วยการตัดแต้มแล้ว 30 แต้มนั้น

ขอให้กองทัพไทยใช้ดุลพินิจว่า ชีวิตคนไม่ได้มีค่าแค่แต้ม 30 แต้ม ถ้าถอดเครื่องแบบออกมา คนเหล่านั้นคือผู้กระทำผิด สมควรถูกลงโทษตามกบิลเมือง

วันนี้หลายคนมีคำถามว่า ถ้าเหตุการณ์ยังเป็นเช่นนี้ สมควรที่จะให้มีโรงเรียนเตรียมทหารอีกต่อไปหรือไม่ ถึงแม้ว่าจะมีมาแล้ว 60 รุ่นก็ตามที ควรจะเอาเงินงบประมาณก้อนนี้มาปรับปรุงชีวิตทหารเกณฑ์ให้ดีขึ้น

แล้วให้โรงเรียนนายร้อย จปร. โรงเรียนนายเรืออากาศ โรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รับนักเรียนที่จบ ม.ศ.5 โดยตรงน่าจะดีกว่า เพราะอย่างน้อยเพราะมีวุฒิภาวะเป็นผู้ใหญ่ขึ้น

วันข้างหน้าเมื่อเป็นใหญ่เป็นโต การจะคิดรวบรัดปฏิวัติยึดอำนาจปกครองประเทศจะทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะต่างคนต่างมาเป็นใหญ่ การจะทำอะไรจึงต้องขอความร่วมมือ ไม่ง่ายเหมือนสมัยที่ทุกคนในทุกเหล่าทัพมาจากก๊วนเดียวกัน

การรวมตัวกินข้าวเช้าของผู้บัญชาการเหล่าทัพเพื่อกดดันรัฐบาลจึงเคยเกิดขึ้น จนถึงการรวมหัวปฏิวัติยึดอำนาจปกครองประเทศ

ในอินเดีย แค่ผู้บัญชาการทหารบกนัดกินข้าวกับผู้บัญชาการทหารอากาศ ถ้าสายลับไปเห็นแล้วรายงานรัฐบาล แม่ทัพทั้งสองคนจะโดนปลดทันที

เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม

สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ผมมีเพื่อนที่ลาออกจากเตรียมทหารมาเรียนกวดวิชาสอบเทียบ ม.ศ.5 แล้วสอบเอ็นทรานซ์เข้าวิศวะ จุฬาฯ เรียนจบออกมาพร้อมกัน

“เตรียมทหาร” จึงอาจไม่ใช่ที่สุดของชีวิตเสมอไป