นิ้วกลม : เหตุใดเราจึงรู้สึกดีเมื่อเดินเล่นระหว่างท่องเที่ยว

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

1
เหมือนได้นำตัวเองออกไปจากโลกที่คุ้นเคย

ช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ผมใช้เวลาไปกับการเดินทางในต่างแดน ไอร์แลนด์ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ทั้งหมดเป็นการเดินทางท่องเที่ยวที่ไม่ได้มีเป้าหมายชัดเจน ในไอร์แลนด์เราขับรถไปเรื่อยๆ แวะพักตามจุดท่องเที่ยวสำคัญ บางแห่งก็จอดข้างทางแล้วลงมาเดินเล่นถ่ายรูปทิวทัศน์ ต้นไม้ใบหญ้า บางแห่งก็เดินเรื่อยเปื่อยดูกิจกรรมและผู้คนในเมือง เช่นกันกับที่ลอนดอนและนิวยอร์ก ซึ่งเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยผู้คนที่หลากหลาย การเดินดูเมืองและคนนับเป็นกิจกรรมหรรษาอย่างยิ่ง ในแต่ละวันก็เดินเข้าพิพิธภัณฑ์บ้างสักสาม-สี่ชั่วโมง บางวันก็ออกมานั่งๆ นอนๆ ในสวนสาธารณะเพราะเป็นช่วงกำลังเข้าสู่ฤดูร้อน อากาศกำลังดี ไม่ร้อนไม่หนาวจนเกินไป

กิจวัตรหลักในแต่ละวันคือการเดิน กลับมาจากสองทริปนี้พบว่าน่องแข็งแกร่งขึ้นมาก ระหว่างเดินเล่นด้วยความรื่นเริงและรื่นรมย์ ก็มีบางคำถามผุดขึ้นในหัวว่า “เหตุใดเราจึงรู้สึกดีเมื่อเดินเล่นระหว่างท่องเที่ยว” ไม่ว่าสถานที่เที่ยวใดก็ตาม เราจะพบเห็นนักท่องเที่ยวสนุกสนานกับการเดินเล่นแบบไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย (ที่จริงก็เหนื่อยแหละ แต่มันก็แค่เหนื่อย พวกเขาไม่รู้สึกเครียด หน้านิ่วคิ้วขมวดจากความเหนื่อยนั้น)

หากลองตอบง่ายๆ — แหม มันจะแปลกอะไร ก็ในเมื่อทุกคนอยู่ในอารมณ์ผ่อนคลาย พวกเขากำลังเที่ยวอยู่ บางคนอาจจะบอกว่า ไม่แปลกเลยถ้าเป็นเมืองนอก เพราะในช่วงอากาศดีมันน่าเดินมาก ไม่เหมือนเมืองไทยที่ร้อนจนเหนียวเหนอะหนะ ว่าแต่ว่า—มันมีอะไรมากกว่านั้นไหม

2
ผมพบว่าการเดินอย่างเพลิดเพลินนั้นให้อารมณ์ที่แตกต่างไปจากการเดินอย่างมีจุดหมายซึ่งเราทำกันอยู่ทุกวันในเมืองที่เรามีภาระหน้าที่ เช่น ต้องรีบจ้ำไปโรงเรียน ไปทำงาน ไปเจอลูกค้า ไปประชุม สังเกตง่ายๆ จากช่วงเวลาทั้งเร่งรีบและไม่ (เห็นจะต้อง) เร่งรีบในเขตเมือง บริเวณรถไฟฟ้าหรือถนนที่มีอาคารสำนักงานตั้งอยู่เนืองแน่น จะพบว่าผู้คนก้าวเท้ากันราวกับกำลังวิ่งแข่งเข้าเส้นชัย
ทุกคนรีบไปไหนสักแห่งอยู่เสมอ

ในชีวิตประจำวัน เมื่อเราเคลื่อนที่ เมื่อเราเดิน เราปักหมุดปลายทางไว้เสมอว่าเรากำลังมุ่งหน้าไปที่ใด ดังนั้นภารกิจสำคัญก็คือรีบไปให้ถึงที่นั่น ตรงนี้เองที่ต่างจากการเดินทอดน่องเรื่อยเปื่อยเวลาไปเที่ยว ซึ่งบางคนอาจไม่ได้กำหนดจุดหมายปลายทางที่แน่นอนเอาไว้ หรืออาจมีปลายทางในใจแต่ไม่ได้กำหนดเวลาไปถึงที่ชัดเจน จึงไม่จำเป็นต้องเร่งฝีเท้าไปให้ถึง และสามารถเพลิดเพลินใจไปกับสิ่งต่างๆ ข้างทางได้

เป้าหมายไม่ใช่จุดหมายแค่อย่างเดียว แต่เป้าหมายของการเดินเล่นคือการเดินโดยตัวมันเอง
ไม่ต้องถึงจุดหมายเพื่อจะได้มีความสุข แต่มีความสุขไปเรื่อยๆ ระหว่างก้าวเท้าไป


แม้เป็น ‘การเดิน’ เหมือนกัน แต่แทบจะไม่เหมือนกันเลย

วิถีชีวิตสมัยใหม่ทำให้ความหมายของการเดินเป็นเพียง ‘พาหนะ’ เพื่อไปถึงสถานที่บางแห่งซึ่งเฉพาะเจาะจง ถ้าเทียบกับชีวิตก่อนสมัยใหม่ ‘ประสบการณ์’ จะเกิดขึ้นระหว่างที่เราเดิน ขณะที่ในสมัยนี้ ‘ประสบการณ์’ จะเกิดขึ้นที่จุดหมายปลายทาง

วิถีชีวิตในยุคก่อน การเดินในที่เดิมซ้ำๆ เป็นการสะสมประสบการณ์และความทรงจำร่วมกันของผู้เดินกับคนในชุมชน เกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างคนในชุมชน เมื่อรู้จักมักจี่กัน การเดินจึงไม่ใช่กิจกรรมที่น่าเบื่อ ไร้อารมณ์ เปล่าเปลี่ยว แปลกแยก ที่ควรรีบทำให้จบๆ ไป แต่การเดินกลับเป็นช่วงเวลาที่มีสีสัน มีบทสนทนากับผู้คนและสภาพแวดล้อมรอบตัว เป็นช่วงแห่งการสะสมความทรงจำใหม่ๆ และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากผู้คนและสิ่งแวดล้อม

เมื่อความรู้สึกต่อการเดินเป็นเช่นนั้น การเดินในแต่ละสถานที่จึงมอบ ‘อะไรบางอย่าง’ ที่ไม่เหมือนกัน ขณะที่หากมองการเดินเป็นเพียง ‘พาหนะ’ ทุกที่ก็จะกลายเป็นเพียง ‘เส้นทาง’ เพื่อพาเราไปสู่จุดหมายเท่านั้นเอง

การเคลื่อนที่ด้วยความรีบเร่งทำให้เรารู้สึกเบื่อหน่ายกับความเชื่องช้า อาจเป็นเพราะชีวิตสมัยใหม่ทำให้เราเคยชินกับประสบการณ์ที่ไม่ต่อเนื่อง คือเกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะบรรยากาศในโลกออนไลน์ที่มีเรื่องราวสารพัดหลั่งไหลอย่างรวดเร็วและไม่ปะติดปะต่อ เรื่องแรกไม่เกี่ยวกับเรื่องที่สอง เรื่องที่สองไม่เกี่ยวกับเรื่องที่สาม ทำให้เราเคยชินกับการกระโดดไปกระโดดมาของเนื้อหา อารมณ์ ความรู้สึก รวมถึงสถานที่ในจินตนาการ

มองเผินๆ การกระโดดไปกระโดดมาของเนื้อหาและความรู้สึกเช่นนี้ก็ตื่นตาตื่นใจดี เป็นจังหวะชีวิตที่ฉูดฉาดมีสีสัน แต่ถ้าลองมองกันยาวๆ สักหน่อยจะเห็นว่าความฉูดฉาดนี้เองที่นำมาซึ่งความน่าเบื่อ เพราะมันเป็นจังหวะฉูดฉาดในแบบเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เราเสพติดจังหวะอันฉูดฉาดฉับไว แต่เราก็เบื่อจังหวะเดิมๆ ของมัน จึงไม่แปลกที่เราอยากหลีกหนีไปจากโลกอันฉับไวใบนี้ เพราะมันน่าเบื่อ รวมทั้งความฉับไวตลอดเวลาของมันก็ค่อยๆ สร้างนิสัยขี้เบื่อหรือเบื่อง่ายให้กับเราอีกด้วย

ความเบื่อจึงเกิดขึ้นบ่อยและง่ายดายอย่างยิ่ง

“หาอะไรทำแก้เบื่อกันดีกว่า” ว่าแล้วเราก็จะเดินเข้าโรงภาพยนตร์หาหนังระทึกขวัญดู หาสถานที่ใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้น ลิ้มลองประสบการณ์แปลกใหม่ที่ไม่เคยสัมผัส โลกทุกวันนี้จึงขับเคลื่อนไปด้วยความเบื่อของผู้คน สินค้าและบริการทั้งหลายรับหน้าที่แก้เบื่อเป็นระยะๆ ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ

เรื่องตลกก็คือ ยิ่งเบื่อง่ายมากขึ้นเท่าไหร่เราก็ยิ่งเบื่อง่ายมากขึ้นอีกเท่านั้น เพราะกิจกรรมที่เราเลือกทำเพื่อแก้เบื่อไปเรื่อยๆ ยิ่งกระตุ้นนิสัยเบื่อง่ายมากขึ้นเรื่อยๆ

4
คำตอบง่ายๆ ว่าทำไมเราจึงรู้สึกดีเมื่อเดินเล่นระหว่างท่องเที่ยวก็คือ เพราะทุกสิ่งมันแปลกตา เป็นสิ่งใหม่ที่เราตื่นเต้นไปหมด แค่ดอกไม้ที่งอกออกมาจากซอกคอนกรีตซึ่งไม่มีในเมืองไทยก็ทำให้เราต้องหันไปมองหรือบางทีอาจต้องยกกล้องขึ้นมาเก็บภาพ ร้านรวงต่างๆ ก็ขายของที่ยังไม่เคยเห็น ก็ไม่แปลกที่เราจะไม่รู้สึกเบื่อ หรือมองสิ่งเหล่านี้เพียงผ่านๆ เพื่อเร่งฝีเท้าให้ถึงจุดหมายอย่างที่ทำเป็นปกติในเมืองที่เราอยู่อาศัยมาเนิ่นนาน

ฟังเผินๆ ช่างขัดแย้งกับความรู้สึกดีในอดีตที่ผู้คนเดินอย่างมีความสุขเพราะพวกเขารู้สึกเชื่อมโยงกันเพราะเดินผ่านชุมชนนั้นซ้ำๆ เป็นสถานที่อันคุ้นเคย แต่ถ้าลองใคร่ครวญดูดีๆ อาจพบว่ามีบางอย่างคล้ายกันอยู่ นั่นคือ ‘mind set’ ระหว่างก้าวเท้าเดิน

สิ่งที่ทำให้การเดินในแต่ละครั้งแตกต่างกันคือความรู้สึกภายในของผู้เดิน

เราสามารถเดินผ่านสถานที่เดิมๆ ด้วยความรู้สึกเปิดรับต่อประสบการณ์ใหม่ได้ไม่ต่างจากการเดินในสถานที่ไม่คุ้นตา แต่วิถีชีวิตปัจจุบันอาจไม่เอื้อให้รู้สึกเช่นนั้น ด้วยความเร่งที่ต้องการไปถึงจุดหมาย เพราะเรารู้สึกตลอดเวลาว่า ความช้าคือความไร้ประสิทธิภาพสำหรับมนุษย์ยุคนี้ ใครช้าก็เท่ากับว่าคุณสามารถสร้างผลงานหรือผลผลิตออกมาได้น้อยกว่าคนอื่น คุณสร้างผลกำไรได้น้อยกว่าคนที่เคลื่อนที่เร็วกว่า ชีวิตยังมีอะไรอีกมากมายให้ทำ

เฮนรี่ เดวิด ธอโร-หนึ่งในนักเดินตัวยงตั้งคำถามกับ ‘ผลกำไร’ ทำนองว่าหากเราเรียกมันว่า ‘กำไรชีวิต’ เราจะวัดคุณค่าสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปไหม แน่นอนว่าการเดินเรื่อยเปื่อยหลายชั่วโมงไม่ได้ทำกำไรอะไรเลยในแง่การค้า ดูไร้ค่าอย่างยิ่ง แต่ถ้ามองถึงสิ่งที่ได้รับอย่างการได้อยู่กับตัวเอง คลายกังวลจากเสียงวุ่นวายของสังคม ปราศจากความรู้สึกแปลกแยกแข่งขัน เป็นตัวของตัวเอง เพิ่มความเข้มแข็งให้ภาวะภายใน จิตใจที่สงบ รวมทั้งความรู้สึกดีๆ ที่ได้สัมผัสธรรมชาติ แสงแดดที่เปลี่ยนแปลง ลมเย็นปะทะใบหน้า ดอกไม้ที่ไม่เคยเห็น สิ่งเหล่านี้นับเป็น ‘กำไรชีวิต’ ได้หรือไม่

ถ้าเราต้องก้มหน้าก้มตาทำงานหนักหลายปีแล้วละเลยว่าอากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง พลาดที่จะเห็นสีสันของท้องฟ้าที่สวยงามในยามเย็น นับเป็นการแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่าหรือไม่

การทำงานหนักทำให้เราร่ำรวยและยากจนไปพร้อมๆ กัน

ร่ำรวยเงินทอง และยากจนความรื่นรมย์ในชีวิต

ไม่แปลกที่จะเป็นคำถามที่ถูกตั้งขึ้นมาจากชายหนุ่มผู้หลีกหนีเมืองออกไปอาศัยในกระท่อมริมบึงวอลเดน ผู้ใช้เวลากับการเดินเล่นทุกวันอย่างน้อยวันละห้าชั่วโมง

การเดินอย่างเปิดรับต่อสรรพสิ่ง สังเกต รับรู้ ใส่ใจต่อสิ่งต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นรอบตัว ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเฉพาะการเดินอยู่ท่ามกลางธรรมชาติป่าเขาเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกสถานที่ ด้วยหัวใจที่มองเห็นความมหัศจรรย์ของสรรพสิ่งรอบตัว (คล้ายสายตาของตัวเราเวลาเป็นนักท่องเที่ยว) แล้วการเดินก็จะเปลี่ยนไป ทั้งความรู้สึกและความหมาย

นี่เองที่ทำให้เรารู้สึกเชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ที่เรากำลังเดินอยู่

5
ประสบการณ์รื่นรมย์จากการเดินในโลกใบใหม่ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาจุดประกายให้ผมสนใจการเดินมากขึ้น ในความหมายที่แตกต่างไปจากแค่การขยับขาให้ถึงจุดหมาย แม้ยังไม่มีแผนการย้ายบ้านไปอยู่ริมบึงในป่าอย่างธอโร แต่คิดว่าเราอาจหาวิธีเดินในโลกอันเร่งรีบใบเดิมนี้ให้ ‘รู้สึกดี’ ได้ไม่แพ้ในเวลาที่เราเดินเล่นตอนไปเที่ยวบ้านเมืองอื่น แต่แล้วก็พบว่ามันไม่ง่าย เพราะเมื่อกลับมาสู่สิ่งแวดล้อมเดิมๆ ก็พบว่าสิ่งที่คอยบงการขยับแข้งขาและควบคุมความรู้สึกของเราให้ต้องเดินในแบบที่ผู้คนทั้งหลายเขาเดินกันมันดูเป็นบางสิ่งที่ยากจะต้านทาน มีโครงสร้างความคิด เศรษฐกิจ สังคม ค่านิยม เทคโนโลยี อีกหลายอย่างคอยกำหนดจังหวะและวิธีการเดินของเราให้เราต้องเดินในวิธีและวิถีเดียวกัน เพียงไม่กี่วันที่กลับมา ผมก็กลับไปเดินในจังหวะและรูปแบบเดิมอีกครั้ง

จึงเข้าใจว่า เหตุใด ‘วอลเดน’ ของธอโรจึงตั้งตระหง่านอยู่ในชั้นหนังสือคลาสสิกของร้านหนังสือต่างๆ วันเวลาผ่านมาเป็นร้อยปี การเดินในวิถีของตัวเองอย่างที่ธอโรกระทำและนำเสนอกลับยิ่งยากมากขึ้นเรื่อยๆ