เช็กสต๊อกหนังสือ : เกษียร เตชะพีระ – เกาะบ่าครูเบ็น ส่องเลนส์ดูโลก

เกาะบ่าครูเบ็น ส่องเลนส์ดูโลก จัดพิมพ์โดย มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เกษียร เตชะพีระ ผู้เขียน จำนวน 206 หน้า ราคา 250 บาท

เรื่องราวความประทับใจที่ศิษย์ก้นกุฏิอย่าง ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีต่อครูเบ็น หรือ ศ.เบเนดิกส์ แอนเดอร์สัน ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล 1 ใน 4 คนที่มีส่วนเปลี่ยนวิธีมองโลกของเขา โดยอีก 3 คนที่เหลือ คือ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และ นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผู้เขียนเล่าว่า ในฐานะอดีตคนรุ่น 6 ตุลาที่กลับเข้ามาเรียนในธรรมศาสตร์อีกครั้ง เมื่อได้ทุนไปเรียนด้านเอเชียอาคเนย์ศึกษาที่คอร์แนลก็ยังคุ้นชินกับวิธีการเรียนรู้ที่มองหาทฤษฎีทั้งชุดอย่างเป็นระบบมาอธิบายครอบคลุมภาพรวมแบบเบ็ดเสร็จ แต่กลายเป็นว่าครูเบ็นไม่มีทฤษฎีสำเร็จรูปแบบนั้น ทำให้เขา “หงุดหงิดว่างโหวงใจเหลือกำลัง” ยิ่งเรียนยิ่งรู้สึกไม่เข้าใจ จนนับวันแปลกต่างห่างครูเบ็นไปเรื่อยๆ

จนวันหนึ่งจึงตั้งใจใหม่ขอเรียนรู้ตามวิธีของครูเบ็นที่เน้นศึกษาประเทศหนึ่งๆ อย่างลงลึกรอบด้านและลองลอกเลียนกลวิธีของครูมาใช้ในกรณีของประวัติศาสตร์การเมืองและวัฒนธรรมไทยดู เมื่อส่งการบ้านเรื่อง “Pigtail : A Pre-History of Chineseness in Siam” หรือ “หางเปีย : บุพประวัติของความเป็นจีนในสยาม” ปรากฏว่าครูเบนชอบอกชอบใจเป็นอันมาก

เนื้อหาใน “เกาะบ่าครูเบ็นฯ” เป็นการนำข้อคิดงานเขียนของครูบางชิ้นบางประเด็นมาประยุกต์อธิบายหรือแปลเรียบเรียงเพื่อเผยแพร่แก่วงวิชาการและสาธารณชนไทย ซึ่งที่ผ่านมากระจัดกระจายอยู่หลายที่ มารวบรวมไว้ในโอกาสใกล้ครบรอบการจากไปครบ 2 ปีของครูเบ็น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เรามองโลกได้กว้างไกลออกไปจากกรอบคิดบางอย่างที่ครอบงำสังคมไทยอยู่ ผ่านแว่นของครู ทั้งต่อการเมืองไทย การศึกษา และปัญญาชนไทย

การเคลื่อนย้ายของบางสิ่ง สำนักพิมพ์นาคร วัชระ สัจจะสารสิน ผู้เขียน จำนวน 272 หน้า ราคา 210 บาท

งานรวมเรื่องสั้นชุดที่ 2 ของผู้เขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์ปี 2551 จากงานเขียนรวมเรื่องสั้น “เราหลงลืมอะไรบางอย่าง” เป็นการนำมาตีพิมพ์ซ้ำ หลังจากที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อตุลาคม 2553

“การเคลื่อนย้ายของบางสิ่ง” เป็นความต่อเนื่องของ “เราหลงลืมอะไรบางอย่าง” ที่คว้ารางวัลซีไรต์มาได้จากเนื้อหาที่สะท้อนภาพชีวิตและสังคมในยุคที่กำลังเปลี่ยนแปลง และมนุษย์ก็เปลี่ยนไปตามโลกอย่างไม่รู้ตัว โดยเล่มนี้มุ่งสะท้อนปัญหาในสังคมที่บางทีจากเรื่องเล็กๆ ก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ บานปลายจนแก้ไม่ตก การเคลื่อนย้ายบางสิ่งในสังคมที่มีการปะทะสังสรรค์กันอย่างรวดเร็วด้วยอิทธิฤทธิ์ของโลกที่หมุนเร็วขึ้น ด้วยอำนาจการเมืองการปกครอง ทำให้สายตาที่เคยมองไกล รู้สึกได้ถึงรอยเคลื่อนของดาวหาง กลับมองเห็นสิ่งเล็กๆ ใกล้ตัวไม่ชัดเจน เมื่อมันเคลื่อนไปจากตำแหน่งเดิม

ผู้เขียนเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า อะไรกันแน่คือศูนย์กลางของมนุษย์ จนพบว่ามนุษย์เราเองนี่แหละที่เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง เพียงแค่ลมหายใจขาดห้วง ดวงตามืดมิดปิดลง ความจริงต่างๆ ที่มนุษย์คนพบและยึดมั่นก็จะหลุดห้วงการรับรู้ไปด้วย ทิ้งให้โลกและจักรวาลยังคงหมุนเวียนต่อไป เราจึงคล้ายรอยเคลื่อนอันนิ่งงันของเศษเสี้ยวธุลีฝุ่นของดวงดาวในจักรวาลหรือรอยขีดข่วนบนผืนทราย เพียงแค่การเคลื่อนขยับของพายุใหญ่ มันก็สูญหายไปในพริบตา

ซึ่ง 11 เรื่องสั้นในเล่ม ล้วนสะท้อนสัจธรรมนี้ ที่ท้าทายความคิดและการถกเถียงเป็นอย่างยิ่ง

กุญแจปรัชญา สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก เดฟ โรบินสัน เขียน ธีรวัฒน์ อธิการโกวิทย์ และ ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ แปล เกษม เพ็ญภินันท์ คำนิยม จำนวน 171 หน้า ราคา 200 บาท

เมื่อเอ่ยถึงปรัชญา เราก็มักคิดว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำความเข้าใจ ขณะที่พื้นฐานการเข้าถึงแก่นของปรัชญา คือการทำความรู้จักกระแสความรู้ ทั้งเก่าและใหม่อันซับซ้อนเพื่อจับประเด็นโต้แย้งสำคัญ การศึกษาปรัชญาจึงเปรียบเสมือนเดินในเขาวงกต ที่ผู้เรียนต้องแสวงหาหนทางสู่ภูมิปัญญาให้ได้ สำหรับผู้ที่ไม่ได้ฝึกฝนการศึกษาเรื่องนี้มาโดยตรง หนังสือเล่มนี้ก็ถือเป็นตัวช่วยที่น่าสนใจ เพราะได้นำรูปแบบการ์ตูนกราฟฟิคมาถ่ายทอดเนื้อหาสาระอันสลับซับซ้อนให้เราเข้าถึงได้ง่าย ทั้งการใช้ภาษาและถ้อยคำก็สั้น กระชับ ทำให้ไม่ยากเกินไปสำหรับผู้เริ่มสนใจในปรัชญาตะวันตกที่เกิดจากความสงสัยต่อสรรพสิ่งรอบกายที่นำไปสู่การครุ่นคิดหาคำตอบ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่กลุ่มนักปรัชญาโสเครติส ถึงแนวคิดหลังโครงสร้างสังคม และกระแสหลังสมัยใหม่นิยม

ปรัชญาแห่งนักปราชญ1

ในเล่มยังเล่าเรื่องราวทางความคิดที่ร้อยเรียงสัมพันธ์กันกับพัฒนาการของปรัชญาสกุลอื่นๆ ในแต่ละยุคสมัย ซึ่งเป็นความพยายามที่ผู้เขียนต้องการถ่ายทอดพันธกิจของปรัชญาว่า ยังจะดำเนินไปไม่รู้จบ ไม่มีวันสิ้นสุด ตราบที่มนุษย์ยังไม่สิ้นคิด

บ้านสีรุ้ง สำนักพิมพ์พิมพ์คำ จำปาลาว ผู้เขียน จำนวน 504 หน้า ราคา 350 บาท

ผลงานจากโครงการ “Good Plot พล็อตเด่นเป็นละคร Season 2” ของสถาพรบุ๊คส์ที่มีประเด็นการ “สะท้อนความจริงในสังคม” เป็นแนวคิดหลัก ทำให้ผู้เขียนนำเรื่องราวปัญหาในครอบครัว ความไม่เข้าใจกันระหว่างพ่อ แม่ ลูก ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ซึ่งทำให้ความคิดของคนต่างรุ่นเป็นดั่งเส้นขนาน ความรักของพี่น้อง ของเพื่อน ของคนหนุ่มสาว ความมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการทำงาน การเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกไม่อาจไปถึงฝั่งฝัน หากขาดความรักและความเข้าใจซึ่งกันและกัน

หฤหรรษ์มีความสุขกับชีวิตที่ใช้หลักความพอเพียงและการนำเกษตรอินทรีย์มาใช้บริหารจัดการไร่ แต่เธอก็มีจุดด่างในชีวิตที่ไม่อาจลบเลือนได้ จากที่หนีไปสุดหล้า วันนี้เธอกลับมาเพื่อกอบเก็บความทรงจำที่เหลืออยู่และพลิกฟื้นไร่ชาของครอบครัว โดยไม่ยอมเปิดใจให้ใครก้าวล้ำเข้ามา

แต่เมื่อพฤกษ์เยี่ยมหน้ามาทักทาย เธอก็หนีใจตัวเองไม่พ้น เขาเป็นเหมือนป่าใหญ่โอบล้อมบ้านสีรุ้งของเธอให้มีแต่ความสุข ทว่า…แม้หฤหรรษ์ต้องการที่จะรักษาความลับของเธอต่อไปแล้วตัดใจจากเขา แต่หัวใจกลับดื้อรั้นและรบเร้าให้ต้องเลือก แล้วพฤกษ์ล่ะ เขาจะเลือกเธอเป็นรุ้งงามกลางใจหรือหลีกหนีไปแล้วทิ้งให้เธอกอดอยู่กับความเจ็บปวดตามลำพัง

คํา คม คิด

“คนที่เติบโตมากับการใช้คอมพิวเตอร์ตั้งแต่เด็ก จะเติบโตโดยไม่มีการดึงข้อมูลจากตัวเองมาใช้ การถ่ายทอดข้อมูลที่ไม่ได้มาจากรหัสสมองด้านการจดจำของตัวเองเป็นการเร่งให้สมองเสื่อมเร็วขึ้น”

นพ.คะโตะ โทะชิโนะริ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์สมอง จากหนังสือ ปรับสมองไม่ให้เสื่อม