ปลัด มท.ชื่นชม “ทีมอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม” พลังภาคีเครือข่ายเพื่อสร้างความสุขที่ยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชน

เพราะหน้าที่ของคนมหาดไทย คือการทำหน้าที่ให้พี่น้องประชาชนมีความสุขที่ยั่งยืน ทำให้ความทุกข์ของพี่น้องประชาชนหมดไปอย่างสิ้นเชิง” ปลัดมหาดไทยชื่นชม “ทีมอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม” พลังภาคีเครือข่ายเพื่อสร้างความสุขที่ยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชน

วันนี้ (10 มิ.ย.66) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงคำกล่าวที่ว่า “การทำงานของคนมหาดไทย ต้องทำงานให้รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” ซึ่งเป็นพระโอวาทที่สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ประทานไว้ให้เป็นอนุสรณ์เตือนในคนมหาดไทยทุกคนจากรุ่นสู่รุ่นเป็นระยะเวลากว่า 131 ปี สะท้อนถึงวิถีการทำงานที่สำคัญ คือ การทำงานราชการเพื่อสนองพระเดชพระคุณผืนแผ่นดินไทยในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ปฏิบัติงานในทั่วทุกหนทุกแห่ง เป็นขุนนางต่างพระเนตรพระกรรณในการดูแลราษฎรของพระองค์ท่านกระทั่งเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจของพี่น้องประชาชนนั้น “ต้องหมั่นลงพื้นที่โน้มตัวลงไปหาประชาชน ไปพูดคุย ไปสอบถาม ไปติดตาม ไปเยี่ยมเยียน จนกระทั่งรองเท้าที่สวมใส่นั้นสึกหรอ พื้นรองเทาแตก ส้นรองเท้าหลุด ไม่ใช่นั่งทำงานสั่งการในห้องทำงาน ออกคำสั่งอยู่บนอำเภอ บนศาลากลาง รับเรื่องแต่ในกระดาษ นั่งเซ็นงานอยู่บนเก้าอี้จนกางเกงขาด” นั่นเอง

“กระทรวงมหาดไทยในยุค 131 ปี ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่ย่างกรายเข้ามาเพื่อบั่นทอนพลกำลังความสามารถของคนมหาดไทย แต่ทว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเพียงอุปสรรคที่ถูกเปลี่ยนเป็นความท้าทายใหม่ในยุคดิจิทัลที่ชาวราชสีห์ทุกคนไม่เคยจะนำมาทำให้ความมุ่งมั่นตั้งใจของการทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” หยุดชะงักลง แต่กลับกลายเป็นแรงผลักดันส่งต่อมาสู่การขับเคลื่อนโครงการที่สำคัญ นั่นคือ “โครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นหล่อหลอม “ความเป็นผู้นำ” ให้กับนายอำเภอทั้ง 878 อำเภอทั่วประเทศ ให้ทำหน้าที่เป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลงแบบบูรณาการ” ด้วยการเชิญชวนภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีในพื้นที่ อันได้แก่ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน มาผนึกกำลังเป็น “ทีมอำเภอ (D-CAST)” ระดมสมอง ระดมสรรพกำลัง ร่วมคิด ร่วมปรึกษาหารือ ร่วมแก้ไขปัญหา ร่วมลงมือทำ และร่วมรับประโยชน์ รวมทั้งไปสร้าง “ทีมตำบล (T-CAST)” และ “ทีมหมู่บ้าน (V-CAST)” เพื่อให้ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน ได้มีทีมงานบูรณาการร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งทีมเหล่านี้จะกลายเป็น “ทีมงานแห่งความยั่งยืน (Sustainable Teamwork)” ที่จะอุดช่องว่างข้อจำกัดทางการบริหารราชการ คือ เมื่อนายอำเภอ ปลัดอำเภอ ต้องย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่น หรือเมื่อกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องหมดวาระลง สิ่งดี ๆ ที่เป็นความคิดร่วมกัน ที่เป็นการตกผลึกร่วมกัน จะยังคงได้รับการสานต่อ ได้รับการขับเคลื่อนต่อไป ด้วยทีมงานดังกล่าวนี่เอง” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่างต่ออีกว่า ตนได้รับรายงานจากท่านผู้ว่าฯ วันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ถึงความมุ่งมั่นตั้งใจด้วย Passion แห่งการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนของ “ที่ทำการปกครองอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม” ซึ่งมี “นายปรีชา สอิ้งทอง นายอำเภอท่าอุเทน” เป็นผู้นำการขับเคลื่อนงานในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีของพื้นที่ในการบูรณาการทีมภาคีเครือข่าย ทั้งทีมที่เป็นทางการ คือ ปลัดอำเภอ ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) และทีมจิตอาสา คือ ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ น้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “สืบสาน รักษา และต่อยอด” มาขยายผลในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผ่านการดำเนินโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน ตามพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้วยการระดมทีมของอำเภอทุกระดับ มาวิเคราะห์ สังเคราะห์สภาพปัญหา ความต้องการ และสิ่งที่จะตอบโจทย์การพัฒนาเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชนคนท่าอุเทน กระทั่งออกมาเป็น Agenda 9 ข้อเพื่อคนท่าอุเทน ภายใต้แนวคิด “ท่าอุเทนเมืองน่าอยู่ สู่ความพอเพียง 9 กิจกรรม ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน” ประกอบด้วย 1) สร้างความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” 2) หน้าบ้านน่ามอง นครพนมน่าอยู่ “หน้าบ้านสวย หลังบ้านสวน ในบ้านงาม” 3) ซุ้มปันสุข ทุกส่วนราชการส่งตาออย่างพอเพียง 4) พัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง (โคก หนอง นา) 5) ซ่อมแซมบ้านผู้ยากไร้ 6) งานสุขปลอดเหล้า งานเศร้าปลอดการพนัน 7) ตลาดนัดชุมชนถึงตลาดนัดชายแดนไทย-ลาว 8 ) ถังขยะเปียกลดโลกร้อน และ 9) ส่งเสริมการทำบุญตักบาตร ทุกวันเสาร์ (ถนนสายวัฒนธรรม)

“ตัวอย่างการขับเคลื่อน 9 กิจกรรมข้างต้นที่เป็นร่องรอยแห่งความเจริญก้าวหน้าไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของอำเภอท่าอุเทน เช่น “กิจกรรมสร้างความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน” ทีมอำเภอฯ ได้ส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนทั้ง 9 หมู่บ้านในอำเภอท่าอุเทน น้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” โดยนายอำเภอได้เป็นผู้นำต้องทำก่อน เริ่ม kick off ปลูกพืชผักสวนครัวในบริเวณบ้านพักนายอำเภอก่อน และเชิญชวนประชาชนร่วมกันปลูกที่บ้านตนเอง พร้อมทั้งหมั่นลงไปเยี่ยมชม ไปให้กำลังใจ ไปติดตามถามไถ่การปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง การเลี้ยงไก่ไข่ไว้มีไข่บริโภคในครัวเรือน ลดรายจ่าย สร้างความรักสามัคคีในครอบครัว #บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง และยังเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนกิจกรรมวันดินโลก ปี 2565 (World Soil Day 2022) ภายใต้แนวคิด “อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน” และในส่วนของ “กิจกรรมหน้าบ้านน่ามอง นครพนมน่าอยู่ “หน้าบ้านสวย หลังบ้านสวน ในบ้านงาม”” กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้นำพี่น้องประชาชนทุกหมู่บ้าน 111 หมู่บ้าน ร่วมกันพัฒนา ตัดหญ้าถนนทางเข้าหมู่บ้าน และภายในหมู่บ้าน เพื่อความสะอาด และสวยงาม รวมถึงในส่วนของ “กิจกรรมซุ้มปันสุข” อำเภอท่าอุเทนได้เปิดให้บริการ #ซุ้มปันสุข บริเวณข้างที่ว่าการอำเภอท่าอุเทน จากการระดมสรรพกำลังภาคีเครือข่ายสนับสนุนอาหาร น้ำดื่ม เครื่องดื่มแก่ประชาชนที่มาใช้บริการ ณ ที่ว่าการอำเภอท่าอุเทน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ตั้งแต่เวลา 08.30 น. – 16.00 น. ในวันราชการ และอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำให้เกิดการเสริมสร้างหลักประกันไม่ใช้ชาวบ้านลุ่มหลงในอบายมุข คือ “กิจกรรมงานสุขปลอดเหล้า งานเศร้าปลอดการพนัน” โดยท่านนายอำเภอท่าอุเทน ได้กำชับให้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านกวดขัน “ห้ามเล่นการพนัน ในงานศพ” ทั้ง 111 หมู่บ้านในพื้นที่อำเภอท่าอุเทน” นอกจากนี้ ทีมอำเภอท่าอุเทน ยังได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ว่างเปล่าหลังที่ว่าการอำเภอท่าอุเทน จำนวน 2 ไร่ เป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โดยได้ขุดสระเลี้ยงปลา ปลูกพืชผักสวนครัว และไม้ผล รวมทั้งทำสถานที่พักผ่อน เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงาน และเป็นสถานที่พักผ่อนของประชาชนทั่วไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้กับท่านนายอำเภอท่าอุเทน ตลอดจนทีมงานของท่านนายอำเภอท่าอุเทน นั่นคือ “ทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” ที่ได้เป็นกำลังที่สำคัญของการทำหน้าที่ราชสีห์ผู้มี Passion ในการขับเคลื่อนงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง รับผิดชอบงานตามหลักการทำงานทั้ง 3 ประการ คือ งานตามอำนาจหน้าที่ (R : Routine Job) งานเพิ่มเติมจากหน้าที่ประจำ (E : Extra Job) และการรายงานผล (R : Report) เป็นอย่างดี กระทั่งทำให้พื้นที่อำเภอท่าอุเทนได้เป็นพื้นที่แห่งความเชื่อมั่น พื้นที่แห่งความสุข พื้นที่แห่งความศรัทธา เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาพื้นที่ด้วยพลังการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน และขอให้ได้ส่งต่อแนวทางการทำงานที่ดีนี้ไปสู่คนรุ่นต่อไป นั่นคือ “น้อง ๆ ปลัดอำเภอ” ให้ได้เรียนรู้สิ่งดีๆจากท่านนายอำเภอ ทำงานด้วยจิตวิญญาณของคนมหาดไทย ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคีในพื้นที่ เพื่อที่จะทำให้พวกเราชาวมหาดไทย ยังคงเป็นที่พึ่ง ยังคงเป็นที่ศรัทธาของพี่น้องประชาชนทุกคน “เพราะหน้าที่ของคนมหาดไทย คือการทำหน้าที่ให้พี่น้องประชาชนมีความสุขที่ยั่งยืน ทำให้ความทุกข์ของพี่น้องประชาชนหมดไปอย่างสิ้นเชิง